วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/4 (2)


พระอาจารย์
15/4 (570601D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจาก แทร็ก 15/4  ช่วง 1

พระอาจารย์ –   เพราะนั้นตัวศีลน่ะเป็นตัวยึดหยั่ง ให้มันอยู่ในความพอดี ...อย่าให้มันเกินนี้ มันจะหาอะไรเกินนี้...ไม่เอา 

หาอยู่ในกายนี้ หาอยู่ความรู้สึกในกายนี่...พอแล้ว  เรียกว่าค้นคว้าความเป็นจริงในความรู้สึกของกาย ...แค่เนี้ย ก็ถึงนิพพานได้แล้ว 

ก็ถึงความเป็นจริงของกาย ก็ถึงความเป็นจริงของขันธ์ ก็ยอมรับความเป็นจริงของกาย ก็ค่อยๆ ยอมรับความเป็นจริงของขันธ์ขึ้นไปตามลำดับ...พอแล้ว

เพราะนั้น ถ้าเริ่มต้นให้ถูก เริ่มต้นให้ตรงแล้วนี่ ... กลาง..ปลาย มันไม่เบน ไม่เฉ ไม่ซ้าย ไม่ขวา ไม่เอนเอียง ...มันก็จะตรงไปถึงที่สุด ที่ยอด หรือว่าบั้นปลาย...คือนิพพาน

แต่ถ้าเริ่มต้นไม่ตรงแล้ว ทุกอย่างผิดหมด 

เพราะนั้น อย่าปรามาสศีล อย่าประมาทในศีล อย่าดูถูกศีลว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หรือเป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำได้ 

เพราะไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ทำได้จริงๆ นะ ...การที่จะรู้ตัวว่ากายอยู่ยังไงต่อเนื่องไปนี่ ไม่ใช่ของที่ใครๆ จะทำได้...ถ้าไม่มีความตั้งใจอย่างยิ่งจริงๆ

ไปยิงนกตกปลา ไปเที่ยวไปเตร่ยังง่ายกว่าอีกนะ ไปทำบุญหล่อพระสร้างวิหาร ทำสังฆทาน เป็นเจ้าภาพกฐิน ยังง่ายกว่านะ ...แต่ถ้ามารักษาศีลกายตัวนี้ ไม่ใช่ของง่าย...ถ้าไม่ตั้งใจจริงๆ นะ

เห็นมั้ยว่า ไม่ใช่ใครๆ ก็บอกแบบประมาทว่า "เอ้ย ใครๆ ก็รู้  ใครๆ ก็ทำได้" ...เออ มึงลองทำดูดิ มึงลองทำดู ... แล้วจะรู้เลยว่า ถ้าไม่ตั้งใจมุ่งมั่นจริงๆ นี่ กิเลสมันตีกินหมดน่ะ บอกให้ 

จิตเรา ความเห็นของเรา เรื่องราวภายนอกที่ล้อมรอบเรานี่ มันตีกินหมดน่ะ มันกลบฝังหมดเลย ...มันจะกลบฝังศีลหมดเลย

นี่แหละ ที่ว่าต้องอาศัยครูบาอาจารย์ เป็นเหมือนพวกเชียร์แขก เติมกำลัง เติมศรัทธา ...เพราะลำพังตัวมันเอง บางทีมันไม่ค่อยรอด ไม่ค่อยไหว 

ก็ต้องอาศัยครูบาอาจารย์ คอยแนะ คอยเตือน คอยให้กำลัง คอยเน้นย้ำ ...มันก็เกิดกำลังใจ มีกำลังความพากเพียรขึ้นมาได้ ...ลำพังเจ้าของมันเองนี่เสร็จกิเลสหมด

นี่แหละ พอเข้าใจรึยัง ...พอจะเอาไปปฏิบัติได้มั้ย 

เพราะนั้นในเวลาทำงานน่ะ ให้ใช้อุบาย...ถามตัวเองว่า "ทำอะไรอยู่ รู้มั้ย  เดี๋ยวนี้ รู้มั้ย"  ถามอย่างนี้...แล้วทำความรู้ซะตรงนั้น ทำอะไรอยู่ ก็ดูลักษณะไป 

ไม่ต้องไปโปรเจ็คอะไรมากมาย อย่างว่า "กำลังขึ้นรถไฟฟ้ามาหาเธอนะจ๊ะ แล้วกำลังจะไปลงที่ป้ายนั้นนะจ๊ะ"...ไม่ใช่  เอาแค่กำลังนั่งหรือเดิน ง่ายๆ สั้นๆ ไม่ต้องไปอารัมภบทยืดยาวเหมือนเป็นมินิซีรีส์ 

ก็รู้ไป ถามตัวเองว่ากำลังทำอะไร กำลังนั่ง กำลังยืน กำลังมีอารมณ์อะไร กำลังมีอารมณ์หงุดหงิดงุ่นง่าน อึดอัด ไม่สบายใจ ...ก็รู้เฉยๆ ไม่ต้องไปยุ่งไม่ต้องไปแตะ ให้แค่รู้ไว้

แล้วก็กลับมาน้อม มาหยั่งกับกายไว้เป็นหลัก ยืนเดินนั่งนอนนี่เป็นหลัก อย่าออกนอกหลัก ยืนเดินนั่งนอน คอยถามตัวเอง...วันนึงสักร้อยครั้งพันครั้ง

กำลังหยิบจับอะไรนี่..รู้  ถามตัวเองกำลังทำอะไร กำลังขยับ กำลังเกา กำลังหมุน กำลังยก กำลังเอี้ยวตัว ...ถามตัวเองแล้วก็ดูความรู้สึกที่มันกำลังเอี้ยวตัว กำลังหมุน กำลังขยับ กำลังลุก

เวลามันโดนแดด โดนฝน โดนร้อนอะไร ก็ให้รู้ว่ามันกำลังร้อน มันกำลังหนาว มันกำลังเมื่อย มันกำลังหิว ...รู้มันเข้าไป ไม่ต้องไปทำอะไรนอกจากรู้ แล้วก็ดูอาการที่มันกำลังปรากฏ

นี่เขาเรียกว่ารู้แบบโง่ๆ และตรงๆ ไม่ต้องไปคาดหมายอะไร  เผลอเอาใหม่ มันจะไปไหน มันจะไปไหนได้แค่ไหน มันจะทันสติได้มั้ย มันจะเกินกำลังของสติมั้ย ...รู้ใหม่ เอาใหม่

แล้วก็ทรงรักษาความต่อเนื่องในกายไว้ ทั้งวี่ทั้งวัน ตลอดวี่ตลอดวัน ไม่เปลี่ยน ...อย่าเปลี่ยนวิธีการ อย่าไปหาวิธีใหม่แบบหัวคิด ใช้หัวคิด เพื่ออะไร เพื่อจะให้เร็ว เพื่อจะให้ดีกว่านี้...อย่า

พวกนี้พาเสียศูนย์หมด พาออกนอกฐานปัจจุบันความเป็นจริงหมด มันกลับพาให้วกวนและเนิ่นช้า ...ทั้งๆ ที่ว่าไอ้ตรงที่รู้อยู่แค่นี้แล้วมันรู้สึกว่าช้านี่...นี่คือเร็วที่สุดแล้ว

เพราะมันตรงที่สุด ไม่มีตรงกว่านี้แล้ว ไม่อ้อมค้อมแล้ว นะ ...ให้เข้าใจอย่างนี้ แล้วไปทำกัน ไปลองทำ

ที่จริงน่ะ มันไม่ต้องไปลองทำ มันต้องทำแต่เดี๋ยวนี้เป็นต้นไป ...ระหว่างที่นั่งฟังนี่ ก็รู้อยู่แล้วนี่ ใช่มั้ย  ก็ทำความรู้อยู่อย่างนี้ ประคับประคองไว้

มันหลุดๆ ร่อนๆ หายไปบ้าง ก็เป็นธรรมดา ไม่ต้องไปบังคับมัน ไม่ต้องไปห้ามมัน ไม่ต้องไปหงุดหงิดกับมัน ...ให้มันเป็นอย่างนี้แหละ แต่ว่ารู้ใหม่ได้ นะ

ก็เรียกว่าตะล่อมๆ เหมือนกับถือไก่ไว้ในมือน่ะ...อย่าไปบีบแรง เดี๋ยวไก่มันจะเละ  แต่ก็อย่าปล่อยมาก เดี๋ยวไก่มันจะกระโดดลงหนี

เนี่ย การรู้ศีล การรักษาศีลนี่ จะรักษาในลักษณะกำหลวมๆ จะว่าแน่นก็ไม่แน่น จะว่าแบหรือปล่อยเลยก็ไม่ปล่อย ...แต่พอหยั่งพอรู้ๆ เรียกว่าไก่ในกำมือ ประมาณนั้น 

ให้มันอยู่ในลักษณะพอดี หลวมๆ แต่ก็ไม่หลวมจนเกินไป แล้วก็ไม่แน่นจนเกินไป คือรู้ธรรมดานั่นเอง ...แล้วจะรู้จัก แล้วจะเข้าใจเองว่า รู้ธรรมดากับกายธรรมดา อยู่ในภาวะปัจจุบันธรรมดามันเป็นอย่างไร

แล้วมันจะเกิดความไม่แบ่งแยกในหน้าที่การงานกับการภาวนาเลย  ภาวนานี่...ทำงานก็ภาวนาได้ ทำงานก็เกิดปัญญาได้ในกองกาย กองขันธ์ กองความเป็นจริงได้

อย่างพวกโยมเป็นพยาบาล เป็นแพทย์ เป็นหมอเป็นอะไรนี่ มันไปเรียนรู้แต่สรีระคนอื่น มันไม่ดูสรีระของมันเอง ...เพราะนั้นให้กลับมาดูสรีระของตัวมันเอง เท่าที่มันเห็น...คือตัวกาย

ไม่ใช่สรีระภายในนะ ถ้าสรีระภายในมันจะต้องใช้มโน หรือจินตา ...อย่าง ตับ ไต ไส้ พุง ปอด เลือด ...นี่ ต้องคิดนะ มันถึงเห็นภาพ 

แต่กายตรงนี้ไม่ต้องคิด มันเป็นกายความรู้สึกที่มันมีอยู่แล้ว ปรากฏอยู่แล้ว ...นี่คือสรีระ นี่คือกายภาคตามความเป็นจริง พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นเช่นนี้เอง


โยม –  แสดงว่าถึงจุดนึง ก็เหมือนพระอานนท์ใช่ไหมครับ ...ก็คือมีสติตามไปเรื่อยๆ ถึงว่ามันปุ๊บ มันก็พึ้บไป

พระอาจารย์ –  ถ้ามันสมบูรณ์...สมบูรณ์เมื่อไหร่คือเมื่อนั้น ...แล้วมันก็จะสมบูรณ์เป็นพักๆ ไป


โยม –  มันค้นคว้าวิจัยในตัวเองไปเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  มันดูความเป็นจริงน่ะ แล้วมันจะเกิดความถ่องแท้เอง


โยม (อีกคน)   บางครั้งถ้าเรารับงานใหญ่แล้วก็งานยาก แล้วมันรู้สึกว่าเกินกำลัง  เราควรจะฝึกแล้วคอยต่อ หรือควรจะหยุดแล้วทำเท่าที่กำลังที่มี

พระอาจารย์ –  ทำไปท่ามกลางงานนั้นน่ะ เข้าใจมั้ยว่า ท่ามกลางมรสุม ...คือการหยั่งรู้ดูเห็นในกายนี่ มันไม่ได้หมายความว่ามันทำอย่างนี้แล้วทุกอย่างจะต้องหยุดหมด เข้าใจมั้ย

เราจะต้องอยู่ได้ท่ามกลางสึนามิน่ะ ...ทำยังไงถึงจะยืนหยัดได้ล่ะท่ามกลางสึนามิ ...ไม่ให้ปลิวน่ะ 

นั่นแหละคือการตั้งฐานนี้ไว้ ...ไม่ใช่ต้องรอให้สึนามิหายก่อน แล้วกูค่อยยืน ...ไม่งั้นก็ไม่ต้องภาวนาหรอก นอนอยู่เฉยๆ ซะเลย ใช่มั้ย

เพราะว่าอะไร ...เพราะว่าในขณะที่มันเจอเหตุการณ์นั้นน่ะ คือเวลาที่กิเลสเริงร่า เป็นเวลาที่กิเลสนี่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์เลย อารมณ์เอย ความขุ่นมัว ความเอาจริง มุ่งมั่นหมายมั่นกับมัน

สิ่งไม่จริงก็จะทำให้มันมีจริง อะไรดูน่าจะจริงก็จะให้จริงยิ่งกว่านั้น ต้องให้ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์เพอร์เฟ็ค ...นี่ มันหมายความว่าอนาคตนี่ "เรา" โคตรจะเที่ยงเลยน่ะ เข้าใจมั้ย คือเวลานั้นเลย

เพราะนั้นเวลานั้นน่ะ เป็นเวลาที่จะต้องเอาศีลสมาธิปัญญา...มาต่อต้าน หรือมาชะลอ ...เพราะนั้นเราจะต้องสร้างมันขึ้นมา ท่ามกลางงานที่ยาก สถานการณ์ที่ลำบาก ...ซึ่งดูเหมือนมันขัดขวาง กินแรงอย่างยิ่ง 

ก็สอดแทรกความรู้ตัวนี่...หยั่งลงไปๆ ...ไม่ใช่ไปห้ามอารมณ์ ไม่ใช่ไปห้ามกิเลส ไม่ใช่ไปละไม่ให้คิดไม่ให้นึกอะไร ...แต่สอดแทรกความรู้ตัวไว้

ตัวนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวชะลอ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะชะลอเลย เข้าใจมั้ย ...ตอนนี้พวกเรายังไม่รู้หรอก มันชะลอยังไง ทำไปเหอะ แกล้งเชื่อเราไปก่อน

คือมันต้องแกล้งเชื่อเราไปก่อน ถ้าไม่แกล้งเชื่อมันไม่ทำ นี่ มันค่อยแกล้งเชื่อแล้วทำ ...แล้วพอทำไปแล้ว  เออ กูไม่แกล้งเชื่อแล้ว เห็นแล้ว กูเชื่ออาจารย์จริงๆ แล้ว ...นี่ผลมันจะเกิดเอง

แต่แรกๆ ทุกคนน่ะ ในระดับปุถุชนน่ะ มันต้องแกล้งเชื่อในศีลสมาธิปัญญาทั้งนั้นแหละ ...เพราะมันไม่รู้ มันไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจว่าจะให้ผลจริงรึเปล่า 

ก็ฟังๆ กันมา ใช่มั้ย หือ มาฟังกับเรานี่นะ ลึกๆ มันยังบอก...กูไม่รู้จะได้ผลหรือเปล่า ฟังไว้ก่อน ...นี่ก็คือแกล้งเชื่อไว้ก่อน แล้วไปทำ...แล้วก็ไปลองทำ

แล้วพอทำไปเรื่อยๆ ด้วยความไม่ท้อถอย ...ทีนี้ ความซาบซึ้งในศีลสมาธิปัญญา ความเชื่อว่ามีจริง มีอานุภาพจริง ให้ผลได้จริง มันเริ่มบังเกิดขึ้นแก่ใจตัวเอง ทีนี้มันไม่แกล้งเชื่อแล้ว...กูเชื่อจริงๆ แล้วโว้ย 

แล้วไอ้คำกล่าวของเราที่เราพูดมานี่ ต่อไปมันจะมาตลบหลังให้เอง มันจะ...อ๋อ ในสิ่งเราพูด วลีเหล่านี้ไม่ใช่แค่วรรคทองนะ วรรคเพชรเลยแหละ ...เพราะมันเถียงไม่ได้เลย นี่ แล้วมันจะมาสำทับไอ้ที่ทำนี่ 

อย่างนี้ ตอนที่ฟังนี่ ก็ฟังงั้นๆ น่ะ เชื่ออยู่นะในระดับนี้ ...แต่พอถึงจุดนั้น มันเชื่อในระดับวรรคเพชรเลยนะ โคตรจะเชื่อแบบสุดหัวใจเลย มันจะเกิดความเชื่อแบบสุดหัวใจขึ้นมา 

นั่นน่ะ มันจะเป็นอย่างนั้นขึ้นไปเรื่อยๆ ทีนี้ความถึงในศีลสมาธิปัญญาก็ถึงอย่างจริงจัง ถึงจิตถึงใจ  ไม่ใช่ถึงแบบปากเปล่า ไม่ใช่ถึงแบบอ่าน คิด จำเอา ...แต่มันถึงใจ ถึงจริงๆ เชื่อจริงๆ

แล้วคราวนี้มันเชื่อในระดับที่...ไม่สามารถจะอยู่ในโลกนี้ได้โดยปราศจากศีลสมาธิปัญญาแม้แต่ขณะหนึ่ง นี่เขาเรียกว่าอาจลศรัทธาอย่างสูงสุด ...นี่คือระดับพระอริยะขึ้นแล้ว

คือหมายความว่า...แม้ชีวิตจะแตกดับก็ไม่ทิ้งศีลสมาธิปัญญา ต่อให้ความตายมาอยู่เบื้องหน้าก็จะไม่ออกจากศีลสมาธิปัญญา นี่คือความเชื่อในระดับนี้เลย

ต่อให้กายนี้แตกดับตายไปนี่...ก็ทรงความรู้ ทรงความรู้ตัวอยู่นี่ โดยไม่พราก โดยไม่ออกจากการรู้ตัวเลย 

ต่อให้ขันธ์นี่แตกทลาย สลาย หรือถูกมอดไหม้ไปต่อหน้า หรือว่าเปื่อยเน่าไป จะไม่มีคำว่าออกไปหมายมั่นเลย ...อยู่ในศีลสมาธิปัญญาคือรู้ตัว รู้ๆๆ รู้อยู่อย่างนั้น ...นี่คือผู้ที่เข้าถึงอย่างแท้จริง 

เพราะนั้น พวกเราก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าถึงขึ้นตามลำดับ 

ตอนแรกนี่ก็แกล้งเชื่อแกล้งทำไปก่อน ...แต่แกล้งเยอะๆ หน่อย นะ 



................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น