วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/12 (1)



พระอาจารย์
15/12 (570614A)
14 มิถุนายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความ)

ผู้ถาม –  วันนี้แขกมาเยอะมั้ยครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็อย่างนี้ ไปๆ มาๆ ...ตัวผู้ชายเมื่อกี้นี่ก็เป็นอาจารย์ 


ผู้ถาม –  น่าจะอายุพอสมควรแล้ว น่าจะเกินหกสิบแล้ว ...ก็ดูนับถืออาจารย์นะ

พระอาจารย์ –  นับถือก็ส่วนนับถือ ส่วนจะเอาไปปฏิบัติรึเปล่านี่คนละเรื่องกัน ...นับถือแล้วมันเอาไปปฏิบัติหรือเปล่า เท่านั้นเอง

การฟังธรรมเหมือนกัน ถ้าฟังแล้วไม่เอาไปปฏิบัติ มันก็ได้แค่ฟัง ...แต่ว่าข้อสำคัญคือว่ามันต้องเอาไปปฏิบัติ...ให้ได้


ผู้ถาม –  เขามานี่ เขาเข้าใจวัตถุประสงค์ตัวเองรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ก็ประมาณนั้นน่ะ คือตั้งใจจะบวช...ตั้งใจ 

เราก็บอกว่า จะมาบวชทำไม ...อยู่อย่างงี้ หาที่อยู่คนเดียวสบายๆ แล้วปฏิบัติไป


ผู้ถาม –  มาบวชก็ต้องปฏิบัติตามสงฆ์ มันลำบาก

พระอาจารย์ –  แก่ด้วยอะไรด้วย มันลำบาก จะไปทำแบบเข้มข้นแบบพระหนุ่มๆ อะไรเลยไม่ได้ มันยาก ไหนจะระเบียบวินัยอีก ...ต้องปรับตัวอีก 

พอดีกว่าจะปรับได้...ตายซะก่อน อายุก็มากแล้ว นี่ ยังไม่ทันภาวนาเลย ต้องเสียเวลามานั่งปรับให้เข้าใจกฎระเบียบวินัยทางสงฆ์อีก ...เพราะงั้นก็อยู่อย่างเงี้ย แล้วก็ภาวนาไป


เพราะนั้นว่า ฟังให้เข้าใจในหลักการปฏิบัติ ...แล้วในหลักของการปฏิบัติจริงๆ น่ะ มันจะไม่ขึ้นกับสถานะ เพศ หรือสถานที่ เวลา สถานการณ์เลย  

มันจะต้องสร้างศีลสมาธิปัญญาได้ทุกที่ ทุกสถาน ทุกกาล ทุกเมื่อ ...โดยอาศัยสตินี่เป็นตัวน้อมนำ

การระลึกรู้นี่เป็นการน้อมนำ หรือเป็นธรรมเบื้องต้น หรือเป็นธรรมพี่เลี้ยง ให้มันเกิดการระลึก  แล้วก็น้อมเข้าสู่ธรรม...ที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญา

ถ้ามันไม่มีสติเป็นตัวริเริ่มก่อร่างสร้างศีลสมาธิปัญญาแล้ว ศีลสมาธิปัญญามันจะเกิดขึ้นเองไม่ได้หรอก มันจะเกิดไม่ได้ด้วยตัวของมันเองเลย ...มันต้องอาศัยสติเป็นตัวน้อมนำระลึกขึ้น

แล้วก็หยั่ง เอาความรู้ เอาการระลึกรู้นี่มาหยั่ง...หยั่งลงที่กาย ลงที่ใจ ใจปัจจุบัน จิตปัจจุบัน คือรู้...ลงที่ศีล คือลงที่กาย ให้สติมันคอยระลึกแล้วก็กำกับ...อยู่กับกายอยู่กับศีล อยู่กับใจอยู่กับรู้

วนเวียนอยู่อย่างนี้ สร้างรากฐานของศีล ของสมาธิอยู่อย่างนี้ ด้วยความสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง บ่อยๆ ...นี่คือพื้นฐานเบื้องต้นของการปฏิบัติ

ถ้าไม่อย่างนั้น จิตที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมโดยศีลโดยสมาธิ ด้วยสติแล้วนี่ ...จิตมันจะไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกสอนได้ จะเป็นจิตที่ดื้อ จะเป็นจิตที่รั้น จะเป็นจิตที่มีข้อแม้มีเงื่อนไข

จะเป็นจิตที่ไม่หยุดไม่ยั้ง จะเป็นจิตที่มีแต่ความทะยานไปทะยานมา ไม่หยุดหย่อน ...เพราะนั้นจะต้องฝึกในเบื้องต้นให้มันได้ฐานของศีล ฐานของสมาธิ ...นี่เป็นฐาน

พอมันเป็นฐานนี่ จิตมันก็ได้รับการอบรมด้วยศีล สมาธิ ...จิตมันก็จะค่อยๆ สำรวม หรือว่าสงบระงับราบคาบลง 

ความคิด อารมณ์ ความฟุ้งซ่าน ความปรุงแต่งไปในที่ต่างๆ เรื่องราวต่างๆ ตามอายตนะผัสสะ...ที่มันมากระทบสัมผัส  มันก็จะเริ่มอ่อนตัวลง...ค่อยๆ อ่อนตัวลง

มันก็เริ่มมีความนอบน้อมต่อธรรม นอบน้อมต่อศีล...คือกายปัจจุบัน  นอบน้อมต่อใจ...สมาธิ...ก็คือใจรู้ใจเห็น  ...จิตมันก็จะสำรวม นอบน้อม สงบ

นั่นแหละ แล้วมันจึงจะเป็นบาทฐานให้เกิดปัญญา ปัญญาที่จะเข้าไปรู้เห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ ของกาย...เป็นเบื้องต้น เป็นสิ่งแรกที่มันจะต้องเรียนรู้เป็นอันดับแรก

กายนี่...เป็นธรรมเบื้องต้น ที่มันจะต้องทำความแจ้งชัด ชัดเจน เข้าใจ ...ด้วยความถ่องแท้ ด้วยความไม่สงสัยลังเล ด้วยความไม่คลางแคลงใจ

ว่ากายนี้จะเป็นอย่างที่มันเข้าใจมั้ย อย่างที่จิตมันเข้าใจมั้ย อย่างที่จิตมันเคยเข้าใจมั้ย อย่างที่คนอื่นเขาเข้าใจมั้ย อย่างที่ตำราเขาเขียนมามั้ย อย่างที่เขาพูดๆ กันมั้ย อย่างที่เคยให้ค่าให้ความสำคัญมั้ย

จนกว่ามันจะหายคลางแคลง ...จนกว่าจิตมันจะหายคลางแคลง ว่ากายนี้...ตามความเป็นจริงของมันจริงๆ แล้วนี่ มันคืออะไร 

จิตมันก็จะเริ่มหายจากคลางแคลง หายจากความสงสัยลังเล ว่ากายนี้ยังเป็นเราอยู่จริงมั้ย ยังเป็นสัตว์บุคคลจริงมั้ย ยังมีชื่อมีเสียง ยังเป็นที่ตั้งของสุขและทุกข์ของเราได้จริงมั้ย

อะไรต่างๆ นานานี่ มันจะต้องมาเรียนรู้กับเรื่องของกายนี่เป็นลำดับแรก เรื่องของศีลนี่เป็นลำดับแรก จนมันเกิดความไม่สงสัยในกองกาย ไม่สงสัยในการรวมตัวกันขึ้นของกายนี้ ว่าคือใครอย่างไรแค่ไหน

ปัญญามันจึงจะค่อยๆ เปิดกระจายออกไปสู่ขันธ์ภายในที่ละเอียดกว่า จนตลอดถึงขันธ์ภายนอก ...ซึ่งไม่รวมแต่เฉพาะสัตว์บุคคล มันรวมถึงวัตถุธาตุทั้งหลายทั้งปวงหมดเลย

มันก็จะค่อยๆ กระจาย ปัญญามันก็เข้าไปรู้ไปเห็นสภาพที่แท้จริงของธรรมนั้นๆ ตามจริงตามควรแก่ธรรมนั้นๆ ...ไม่เกินจริง ไม่เกินควรแก่ธรรม

เพราะนั้นไอ้ธรรมที่เรารู้นี่ ไอ้ธรรมที่เราเห็นนี่ ไอ้ธรรมที่เราเสพสัมผัสข้องแวะอยู่นี่ ...ทุกสภาพธรรมที่มี "เรา" เข้าไป มันล้วนแต่ถูกบิดเบือนโดย "เรา" ถูกให้ความหมายในธรรมที่ผิดไปจากความเป็นจริง

เพราะ “เรา” นี่เป็นตัวแปลความ แปลความหมายในธรรม แปลสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ กำลังแสดงอยู่ กำลังมีลักษณะอาการใดอาการหนึ่งอยู่

เมื่อมันเกิดความรับรู้โดย “เรา” ... "เรา" นี่มันจะไปแปลความธรรม ให้เกิดเป็นถูกบ้าง ผิดบ้าง สวยบ้างไม่สวยบ้าง ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง ควรบ้าง ไม่ควรบ้าง สุขบ้าง ทุกข์บ้าง 

เนี่ย ตัวเราจะเป็นตัวแปลความตลอดเวลา ทำให้เกิดการบิดเบือนในธรรม ...มันเกิดการบิดเบือนในธรรมอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดความหมายมั่นในธรรมนั้นผิด

การที่เข้าไปหมายมั่นในธรรมนั้นผิดไปจากสภาพธรรมที่แท้จริง นั่นแหละ...เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดความไม่จบสิ้น เป็นเหตุให้เกิดความซ้ำซากหมุนวน 

เป็นเหตุให้เกิดความพัวพันมั่นหมาย เป็นเหตุให้เกิดความเป็นสุขของเรา ความเป็นทุกข์ของเรา...ไม่หยุดไม่ยั้ง ไม่ย่อไม่หย่อน ต่างๆ นานาเลยนี่

เพราะนั้น การที่จะทำอย่างไร ที่จะไม่ให้ “เรา” ไปแปลความในธรรมนั้นได้ ... มันต้องอาศัยอะไร ...มันก็ต้องอาศัยสมาธิ มันก็ต้องอาศัยจิตหนึ่ง จิตตั้งมั่น 

จิตระงับความปรุงแต่ง จิตระงับความเห็น จิตระงับความคิด จิตระงับอารมณ์ จิตระงับสมมุติบัญญัติภาษา จิตระงับความจำได้หมายรู้ในสัญญา ในอดีต ในอนาคต

นี่ มันต้องอาศัยจิตที่มันหยุดอยู่ ...เพราะนั้นไอ้จิตที่มันระงับหรือว่าหยุดอยู่นั่นน่ะ ที่เรียกว่าสมาธิ หรือว่าจิตหนึ่ง จิตตั้งมั่น

เพราะนั้นถ้ามันไม่สามารถสร้างพื้นฐานของศีลกับสมาธิได้ ...มันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร มันจะเกิดความเห็นตรงต่อธรรมได้อย่างไร มันจะเกิดความรู้จริง รู้ตรง รู้ชอบต่อธรรมนั้นได้อย่างไร

ไม่ได้ ...เพราะมันจะรู้ผ่าน “เรา”  แล้วจะมี "เรา" เป็นผู้แปลความธรรมตลอดเวลา...ตั้งแต่ธรรมภายใน คือขันธ์ ตลอดจนถึงธรรมภายนอกที่มากระทบขันธ์

มีรูปมากระทบปุ๊บ มันแปลความ สวย-ไม่สวย ดี-ไม่ดี น่ารัก-น่าชัง น่าชอบ หรือชอบมากชอบน้อย ...นี่ มันแปลความ มันไม่ได้ผ่านมาถึงใจโดยตรง ...แต่มันผ่านตัวกางกั้น 

นี่ ที่เรียกว่ากิเลสเป็นตัวกางกั้น มันผ่านตัวนี้ ...แล้วตัวกิเลส คือตัวจิต คือตัว “เรา” ในจิต มันตีความมาหมด มันให้ค่าให้ความสำคัญไว้หมด  เพราะนั้น มันจึงเกิดความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากธรรมหมดเลย

ซึ่งไอ้ความเห็นที่คลาดเคลื่อนจากธรรมนี่...ที่ท่านเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ  ...เห็นขันธ์ก็เห็นด้วยมิจฉาทิฏฐิ เห็นกายก็เห็นด้วยมิจฉาทิฏฐิ เห็นผู้อื่นก็เห็นด้วยมิจฉาทิฏฐิ 

เห็นโลก เห็นความเป็นไปในโลก เห็นวัตถุข้าวของในโลก มันก็เห็นผ่านมิจฉาทิฏฐิ ...เพราะอะไร ...เพราะมันผ่าน “เรา” ที่เข้าไปแปลความให้มันผิดจากไปสภาพของธรรมนั้นๆ ที่เขากำลังปรากฏอยู่

เพราะนั้นถ้ายังไม่สามารถหยุดจิต หยุดใจ ให้มันมาอยู่ในที่เดียวกัน ให้มันระงับ ให้มันออกจากความปรุงแต่ง ระงับจากความปรุงแต่งแล้วนี่ ..ปัญญาจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

ต่อให้ไปคิดค้นในแง่มุมไหนแง่มุมหนึ่งก็ตาม คิดไปคิดมา คิดหน้าคิดหลัง คิดตลบวกวน คิดซับคิดซ้อน คิดตรงตามตำรา คิดผ่านตามที่ตำราว่าไว้

จะตามกระบวนการแห่งความคิด ในแง่มุมของธรรมต่างๆ นานา ยังไงก็ตาม ...ก็จะไม่เข้าถึงสภาพธรรมที่แท้จริง ก็จะไม่เกิดการเห็นสภาพธรรมที่แท้จริงเลย 

เพราะมันก็ยังผ่านความคิด มันก็ยังผ่าน...ตัวเราที่กำลังคิดอยู่

ถึงบอกว่าสัมมาสมาธินี่ จึงจะเป็นบาทฐานของญาณ ของปัญญาญาณ ...ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากการไม่คิด ไม่จำ ไม่เกิดจากการใช้ภาษาใช้บัญญัติมาอธิบายตีความธรรม

แต่มันเป็นการรู้เห็นไปโดยสภาวะที่ว่าตรงไปตรงมา โดยไม่ผ่านอะไรมาขวางกั้น หรือมาแปรเปลี่ยนสภาพธรรมไปในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งเลย ...นี่เขาเรียกว่ารู้ตรงๆ หรือรู้โง่ๆ

รู้แบบไม่ต้องหาเหตุหาผล รู้แบบไม่เอาถูกเอาผิด รู้แบบชั่งหัวมัน รู้แบบไม่เข้าไปเกาะเกี่ยวข้องแวะกับมัน รู้แบบไม่ไปหมายอดีตหมายอนาคตกับมัน ...นี่เขาเรียกว่ารู้แบบโง่ๆ รู้แบบตรงๆ


นั่นน่ะมันจึงจะค่อยๆ ซึมซาบกับธรรมนั้นๆ ด้วยความเห็นด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจในสภาพธรรมนั้นลึกซึ้งขึ้นไป ตามความเป็นจริงของเขาที่เขากำลังแสดงลักษณะอาการนั้นๆ ...อย่างไรก็อย่างนั้น 

ก็เรียนรู้ไป เป็นธรรมเบื้องหน้าไปแต่ละเบื้องหน้า...เป็นปัจจุบันแต่ละขณะปัจจุบันๆ ไปเรื่อยๆ ...จนมันถ่องแท้ เข้าใจถึงสภาพที่แท้จริงของธรรมทั้งหลายทั้งปวง


(ต่อแทร็ก 15/12  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น