วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/10


พระอาจารย์
15/10 (570606B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 มิถุนายน 2557


พระอาจารย์ –  ต้องข้ามกายข้ามศีลให้ได้  เพราะว่ากาย เพราะว่าขันธ์ที่เรียกว่ากาย หรือว่าศีล...กายเป็นศีลนี่ มันเป็นส่วนที่ละได้ยาก ใช้เวลานานในการละ ในการข้ามกายนี่

ไอ้ที่เราว่ากายนี่หยาบๆ ...หยาบๆ นี่ มันติดลึก ติดนาน ติดแน่น ติดแบบไม่มีเหตุไม่มีผล ติดกันแบบเอาเป็นเอาตาย ติดกันแบบไม่ยอมถอยไม่ยอมถอนเลย

มันติดมาก ติดเข้าไปถึงก้นบึ้ง ...เพราะว่ามันเกิดตายมากับความเป็นคนมากมายมหาศาล เกิดตายมากับความเป็นมหาภูตรูป ธาตุสี่ ดินน้ำไฟลมนี่ ...มันมาก

แล้วทุกการเกิดแต่ละครั้งก็เพิ่มพูนความยึดความถือตัวเราของตลอดเวลา  เพราะนั้นมันสะสมจนหมักดองแนบแน่น จนเป็นเนื้อเดียวกันไปหมด...เรากับกาย กายกับเรานี่

มันสนิท ลึก จนเรียกว่ามันเป็นธาตุเดียวกันไปเลย ธาตุเรากับธาตุมหาภูตรูป มันกลายเป็นอันเดียวกันเลย แบบไม่มีรอยต่อรอยโหว่ ไม่มีช่องว่างช่องเว้นเลย

แต่เมื่อใดมาฝึกในองค์มรรค ศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่  มันจึงจะเห็นกายตามความเป็นจริง...และกายตามความเป็นเท็จ ...มันจะเห็นรอยแยกรอยต่อระหว่างจริงกับเท็จ

เพราะนั้นจากกายที่ว่าเป็น "เรา" ร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มเลยนี่ เป็นชายเป็นหญิงเต็มร้อย มีชื่อนั้นชื่อนี้แบบเต็มภาคเต็มภูมิ เต็มบัญญัติเต็มสมมุตินี่ ...มันก็จะเริ่มเห็น...แบบเหมือนกับเราเห็นจิ๊กซอว์น่ะ

แต่ก่อนนี่มันไม่เห็นว่าเป็นจิ๊กซอว์หรอก มันเห็นเป็นรูปอย่างนี้ เป็นรูปแบบเนื้อเดียวกัน ...ต่อไปมันก็จะเห็น...รูปไม่ใช่รูป ...มันเป็นจิ๊กซอว์ มันมีรอยต่อ มันไม่ใช่เป็นเนื้อเดียวหมด

เพราะนั้นเมื่อมันเห็นเป็นจิ๊กซอว์ มันก็จะเริ่มถ่างออก ปัญญามันก็จะค่อยๆ แยกออกๆๆ มันก็จะเริ่มเป็นคนละชิ้น กายมันก็จะเริ่มแยกออกมาจากกายเรา

ซึ่งแต่ก่อนกายเรากับกาย มันเชื่อมสมานสนิทกัน จนแยกไม่ได้เลยว่า มันไม่ใช่กายเราได้ยังไง ยืนเดินนั่งนอน ทำนั่นทำนี่กับมันวันยันค่ำ มันไม่มีทางเลยที่มันจะไม่เป็นเราได้ยังไง

นี่ มันเป็นเนื้อเดียวกันสนิท ด้วยอำนาจดึงดูดของกิเลส ดึงดูดกลืนกินจนเป็นเนื้อเดียวกันซะอย่างนั้น

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญาที่ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติเข้าไปในความเป็นจริงของขันธ์ปัจจุบัน กายปัจจุบัน  แล้วมันก็จะเกิดการแยก ...เห็นรอยแยก รอยต่อ รอยเชื่อม ว่ามันไม่ใช่เนื้อเดียวกัน

กายส่วนกาย...เราส่วนเรา คนละส่วนกัน ...แล้วก็ยังมี แยกออกไปอีก ก็ยังมีใจอีกส่วนนึง เป็นรู้เป็นเห็นอีกส่วนนึง จากที่มันเป็นเนื้อเดียวกันโดยสนิท ...เอ๊ะ มันเริ่มเห็นเป็นหลายส่วนประกอบกัน

ทีนี้มันก็เริ่มแยกออก ห่าง ห่างไปเรื่อยๆ ไม่ท้อถอย มันก็ห่าง มันก็แยกห่างยิ่งขึ้น ...กายก็แยกออกไปจากเราชัดเจนขึ้น แล้วก็มีใจรู้ใจเห็นทั้งสองสภาพชัดเจนขึ้น

ทีนี้มันก็เริ่มเรียนรู้ความเป็นจริงแล้ว อันไหนจริงกว่ากัน ในสามสี่ส่วนนี่  สมมุติบ้าง บัญญัติบ้าง ความเห็นบ้าง รูปลักษณ์ของมันบ้าง อารมณ์บ้าง ที่มันเคยเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกับกาย

เมื่อมันแยกออกมาห่างจากกัน ต่างอันต่างแยกออกมา ไม่เชื่อม ไม่สมาน ติดชิดกันเป็นเนื้อเดียวกันที่ใกล้จนมองไม่ออก ...เมื่อมันแยกออกมามันก็จะเริ่มเห็น ทั้งที่จริงและทั้งที่ไม่จริง

ไอ้ทั้งที่จริงน่ะอยู่ ...แต่ไอ้ทั้งที่ไม่จริงน่ะมันไม่อยู่หรอก มันจะเริ่มวูบวาบไปมา ...ก็จะเริ่มเห็นว่ามันมีความเสื่อมสลายโดยที่...มีก็ได้ไม่มีก็ได้ ...แต่ถ้าไอ้ในส่วนที่เป็นความจริงนี่...ไม่มีไม่ได้ ต้องมีอยู่ตลอด 

นี่ มันก็เริ่มเห็นว่าอันไหนจริงกว่ากัน ...แล้วไอ้ตอนที่มีก็ได้ไม่มีก็ได้นี่ มันก็เห็นอีกว่า...เอ๊ะไอ้ตอนที่มีก็ได้นี่ มันไม่ค่อยดีเท่าไหร่ว่ะ ...แต่ไอ้ตอนไม่มีก็ได้นี่ดีว่ะ เออ

ปัญญามันเกิดการแยกแยะเปรียบเทียบ เห็นมั้ย วิจยะธรรม ...เมื่อใดที่มีเราอยู่นี่ ทุกข์ก็มีพร้อมกับเรา สุขก็มีทุกข์ก็มีว่ะ ความอยากมีสุขความไม่อยากมีทุกข์...ก็มีว่ะ เอ๊อะ ไอ้ตอนที่มีก็ได้ นี่ชักไม่ดีแล้วว่ะ

แต่ไอ้ตอนที่ไม่มีก็ได้นี่ มันไม่มี ไม่ค่อยมีอารมณ์เป็นสุข ไม่ค่อยมีอารมณ์เป็นทุกข์ ไม่ค่อยมีความอยาก ไม่ค่อยมีความไม่อยาก ถ้ามันเลือกได้ มันก็จะเลือกไอ้ตรงที่ไม่มีน่ะ

พอมันเห็นสภาพธรรม สภาพกิเลสในการปรุงแต่งร่วมด้วยกับขันธ์อย่างนี้แล้ว ยังไงมันก็ต้องเลือกในส่วนที่...ไม่มีแล้วมันไม่มีสุขไม่มีทุกข์ดีกว่า ไม่มีความปรารถนาทะยานอยาก มันก็เลือกส่วนนี้มากกว่า

เพราะว่าในส่วนที่เป็นความจริงที่เรียกว่ามันแยกออกมาแล้วนี่ มันจะไม่มีกิเลส มันจะไม่มีอารมณ์ในตัวมันเอง มันจะไม่มีสุขไม่มีทุกข์ในตัวมันเอง มันจะไม่มีความอยากความไม่อยากในตัวของมันเองหรอก 

แล้วทำยังไงล่ะ ถึงจะไม่ให้มันมีก็ได้ไม่มีก็ได้นี่ เอาให้จนมันไม่มีโดยสิ้นเชิง ...นั่นแหละปัญญา ที่จะต้องเข้าไปเห็นส่วนนี้ ส่วนที่ความเป็นจริงนี้ ซ้ำซาก 

จนเห็นว่า มันก็ไม่ใช่เรา เราก็ไม่ใช่มัน  ตัวมันก็คือตัวมัน ไม่ได้เป็นเรา ไม่ได้เป็นของเรา ...แล้วมันมี มันตั้ง มันดำรง มันเกิด มันจาง มันนาน มันช้า มันดับ มันก็ไม่ต้องอาศัย "เรา" มันก็อยู่ได้ 

ไม่จำเป็นต้องมี "เรา" มันก็อยู่ได้ ...แล้วจริงๆ มันก็ไม่ได้ต้องการความเป็นเราด้วยซ้ำ แล้วตัวมันก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นเราด้วยซ้ำ

ตรงนี้ที่มันจะทำให้ความเป็นเราที่มีก็ได้ไม่มีก็ได้ ที่เริ่มเห็นว่าไม่มีก็ได้ดีกว่าแล้วนี่ ...ต่อไปก็ไม่มีโดยสิ้นเชิง นี่ ปัญญามันก็เข้าไปพัฒนาความรู้ความเห็นเข้าไปเรื่อยๆ

แต่ไอ้ตอนมีก็ได้ไม่มีก็ได้นี่ ตอนนี้ก็ชั่งน้ำหนักมันก่อน ...เรียกว่ามันเกิดเสียดายความเป็นเรา เสียดายอารมณ์ของเรา เสียดายผลประโยชน์ที่เราได้เราเสีย 

นี่ มันยังติดใจบางผลประโยชน์ที่จะได้จากเราอยู่ แล้วยังห่วงหาอาวรณ์สิ่งที่มันน่าข้อง ยังข้อง แล้วยังได้ประโยชน์จากการข้องนั้นอยู่ เป็นผล ...ตรงนี้ มันก็เสียเวลาชั่งน้ำหนักกันอยู่ตรงนี้ 

บางทีก็ตัดสินใจเลือกได้แล้วแหละ แต่ว่าไม่กล้าทิ้งมัน ไม่กล้าทิ้งเพราะว่ากลัว ไม่กล้าทิ้งเพราะว่าเคยชิน ไม่กล้าทิ้งเพราะไม่เห็นคนในโลกเขาทิ้งกันเลย ...มันหลายอย่าง 

ชั่งน้ำหนักไปชั่งน้ำหนักมา ก็เลย..."เอาไว้ก่อน" ...เอาไว้ก่อนนี่ ให้รู้สึกว่าเป็นยังไง คือเหมือนขี้แล้วไม่เช็ดก้นน่ะ ขี้แล้วไม่ล้างก้นน่ะ แล้วบอกว่าเอาไว้ก่อน 

แต่พวกเราไม่รู้สึกว่ามันเป็นอย่างงั้นนะ มันยังรู้สึกว่ายังได้ประโยชน์อะไรจากขี้อยู่นั่นน่ะ คือมันไม่มองเห็นว่าเป็นขี้ไง มันก็เลยไม่กล้าเช็ดไม่กล้าล้างออก ...นี่ ความโง่มันก็ยังบังอยู่

จนกว่ามันจะเห็นว่ามันเป็นทุกข์นะ เอาไว้ก็เป็นทุกข์ ถึงมันจะดูเหมือนไม่เป็นทุกข์ก็ยังเป็นทุกข์ ...มันเป็นภาระ มันเป็นความห่วงหาอาลัย มันเป็นความติดข้อง

แค่ติดข้องก็เป็นทุกข์แล้ว ...ไม่ต้องรู้สึกเป็นทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส มันก็รู้เลยว่าติดข้องก็เป็นทุกข์แล้ว กังวลก็เป็นทุกข์แล้ว เคยทำแล้วไม่ได้ทำ มันเกิดกังวลถ้าไม่ได้ทำ ก็เป็นทุกข์แล้ว 

กังวล ทำแล้วไม่เหมือนคนอื่นทำก็กังวลอีก ...ก็เป็นทุกข์รึเปล่าล่ะ นี่ มันก็ต้องตัดสินใจเด็ดขาดลงไป คราวนี้ก็เริ่มเด็ดขาดขึ้น คือ...ทิ้งไป นี่

แล้วมันก็จะเลือกข้างเลือกฝั่งอย่างเดียว คือฝั่งที่ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ ฝั่งนั้นน่ะ ...ฝั่งไหนล่ะ ฝั่งศีล ฝั่งกายไง ฝั่งที่ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ของเราน่ะนะ ฝั่งที่ไม่เป็นทั้งสุขและทุกข์เลย ของเรา อย่างนั้น

แต่ไอ้ที่อีกฝั่งหนึ่งจะมีสุขและทุกข์ให้เลือก แล้วมันยังเลือกไม่ได้ เลือกไม่ขาด ทิ้งไม่ได้ ทิ้งไม่ลง โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นสุข ...นี่ เดี๋ยวมันก็ต้องเลือกฝั่งแล้ว 

กายธาตุไม่ใช่กายเรา เพราะนั้นกายธาตุ ความเป็นธาตุไม่มีเรา  เมื่อความเป็นธาตุไม่มีเรา แล้วมันจะมีเราเป็นทุกข์เป็นสุขได้อย่างไร ...ฝั่งนี้จึงเป็นฝั่งที่ใช่ เป็นฝั่งที่ชอบ แล้วก็เป็นฝั่งที่ควร แล้วก็เป็นฝั่งที่จริง

คือศีลนั่นเอง คือกายศีล คือกายธรรม คือกายมหาภูตรูป คือกายปัจจุบัน คือกายอาการ คือกายความรู้สึก คือกายเวทนา คือกายวิญญาณ นั่นแหละ กายนี้แหละ ...นี่คือฝั่งที่ไม่เป็นสุขและทุกข์ 

แต่มันจะมีสุขและทุกข์มากระทบฝั่งอยู่ตลอดเวลา เหมือนลูกคลื่นมาเกยหาด กระทบโดนหาดน่ะ ...ถามว่าหาดเดือดร้อนมั้ย...ไม่เดือดร้อน ต่อให้คลื่นแรงเป็นระดับมหาสึนามิน่ะ 

ชายหาดก็คือชายหาด มันก็ซับคลื่นดูดซึมคลื่นหายไป โดยที่ตัวมันก็ยังอยู่อย่างนั้นน่ะ ทนฟ้าทนแดดทนฝนของมันไป อยู่อย่างนั้นน่ะ…นี่ เหมือนกัน...ศีล กาย

พอปัญญามันเริ่มเข้าไปเห็นอย่างนี้ มันก็เลือกฝั่งได้ แล้วก็จะเริ่มเด็ดขาดขึ้นไปเรื่อยๆ  พอเด็ดขาดก็หมายความว่าไม่มีตัวเลือกแล้ว...ที่เดียว อันเดียว กายเดียว จิตมันมีที่ให้อยู่ที่เดียวเท่านั้นเอง 

นี่ เลือกได้แล้ว แล้วไม่ได้เลือกความอยากด้วย เลือกความจริง ...แต่ตอนนี้เรายังมีความอยากเลือก ก็อยากจะเลือกฝั่งศีลอยู่นะ แต่จิตมันไม่ยอม มันยังเลือกที่จะมีเรื่องมีอารมณ์ เลือกที่จะมีความสุขบ้าง 

เพราะมันรู้สึกว่ามาอยู่ฝั่งนี้โคตรเหงาเลยว่ะ หือ อ้างว้าง เบื่อ เพื่อนก็ไม่มี คนปรับทุกข์ปรับสุขก็ไม่มี มีแต่ตึง ไหว แน่น หนัก เบา ซาบซ่านบ้างเป็นบางครั้ง ยืดๆ หยุ่นๆ โดนร้อนก็ร้อน โดนหนาวก็หนาว

นี่ มันเหงา เดี๋ยวออกไปหาอะไรเล่นซะหน่อย...จะได้สุข ...ก็ติดอยู่อย่างนี้ ยังทิ้งอารมณ์ไม่ได้

แล้วพอออกไปปุ๊บก็เป็นเรา จิตเรา จิตเราปุ๊บก็จะมีเราเสวยอารมณ์ เป็นเวทนาของเรา แล้วก็อิ่มเอมเปรมปรีด์กับเวทนาสุขที่เกิดจากจิตเรา ...มันยังเสียดายนะ

แล้วยังมีตัวใหญ่ๆ อีกที่มันเป็นสุขอย่างล้ำลึก เช่นกามราคะ ทั้งโดยวัตถุ ทั้งโดยบุคคล ...มันไม่ได้หมายความว่าราคะนี่แค่หญิง-ชายอย่างเดียวนะ วัตถุทั้งหลาย มือถือเอย เทคโนโลยีแปลกๆ ใหม่ๆ

ถ้าเป็นผู้ชายก็รถ ถ้าเป็นผู้หญิงก็เครื่องแต่งตัว เครื่องแต่งหน้า เข็มขัดกระเป๋ารองเท้า ตามแบรนด์เนมดังๆ การเป็นอยู่ที่สุขสบายเลิศหรูอลังการ ไปไหนมาไหนเป็นที่นบนอบยอมรับ

มันมีความสุขน่ะ มันมีความสุขนะที่อยู่ในอาการนั้น ...ติดนะ ติด  จะละก็...ก็อยากละนะ แต่กูก็ชอบ ก็เรียกว่ามันละไม่ขาด มันไม่ยอมละจริงๆ

แต่ถ้ามาอยู่ฝั่งนี้ ก็อยากมาอยู่นะ ...คือยังไม่ใช่มาอยู่โดยความเป็นจริงนะ แต่เพราะอาจารย์บอกก็เลยอยากอยู่ ...ฟังแล้วโคตรน่าเชื่อถือเลยว่ะ อาจารย์กูนี่พูดซะกูหลงเคลิ้มไปเลย กูเลยอยากอยู่เหมือนกัน

แต่จิตไม่อยาก มันไม่อยากอยู่ด้วยน่ะ ...มันไม่เห็นพ้องต้องกันอย่างนั้น มันก็เลยเผื่อเหลือเผื่อขาดๆ อยู่อย่างงี้  เนี่ย คือจุดเริ่มต้นน่ะ...เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นแหละ

แต่คราวนี้ว่าการได้ยินได้ฟังบ่อยๆ แล้วก็ด้วยการสร้างความเพียร วิริยะบ่อยๆ นี่ สร้างฉันทะขึ้นมาบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ...ก็ค่อยๆ มาอยู่ในฝั่งนี้นานๆ หน่อย

ทนเหงาทนเบื่อไปหน่อย ทนที่จะไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ...อยู่เฉยๆ นิ่งๆ สงบๆ เงียบๆ อยู่กับกายเงียบๆ ไม่มีสุขไม่มีทุกข์ปรากฏ ไม่มีอารมณ์ที่น่าใคร่ปรากฏ ไม่มีสภาวะที่น่าพึงพอใจปรากฏ 

นี่ มันเริ่มอ้างว้างโดดเดี่ยวเดียวดายมากขึ้นแล้ว ...แล้วมันจะเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น


(ต่อแทร็ก 15/11)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น