วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/13 (2)


พระอาจารย์
15/13 (570614B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
14 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 15/13  ช่วง 1


โยม –  นี่ต้องไม่ให้กิเลสมารวมกันได้

พระอาจารย์ –  ใช่ กิเลสมันก็จับกันไม่ติด ...ถ้ามันจับกัน คลุมกันพรึ่บนะ ขันธ์ห้าทั้งหมดเป็นเราเลยนะ โดยไม่มีสาเหตุเลย เหมาเลย เหมารวมเลย...ทั้งหมดนี่เรา

คิดก็เรา เดินก็เรา นั่งก็เรา พูดก็เรา อารมณ์ก็ของเรา ไอ้ที่เห็นนี่ก็เราเห็น  นี่มันจะรวม เหมารวมหมดเลย


โยม –  กลายเป็นสติรวมกับกิเลสตรงนั้นไป

พระอาจารย์ –  เขาเรียกว่ามันยึดพื้นที่หมดไง ยึดพื้นที่ในขันธ์หมดแล้ว 

แต่พอเราขอคืนพื้นที่...ด้วยศีลสมาธิปัญญา ...นี่ มันกลืนกินไม่เต็ม เริ่มกลืนกินไม่เต็ม มันเริ่มเห็นรอยแยกรอยแตกของกิเลส ว่า...เอ๊อะ เดี๋ยวก็เรา เดี๋ยวก็ไม่เป็นเรา เอ๊ะ มันเราจริงรึเปล่า 

เนี่ยมันเริ่ม...กิเลสมันเริ่มลังเลนะ ความเห็นน่ะ ความเห็นผิดน่ะ มันเริ่มลังเลว่า...นี่ใช่เราจริงๆ รึเปล่า ไอ้กายที่ว่าเป็นเราแต่ก่อน...ร้อยเปอร์เซ็นต์ พันเปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์ 

มันเริ่มลังเลแล้ว...เอ๊ ใช่เราจริงรึเปล่า ...เนี่ย เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญามันกลับไปทำให้กิเลสความหมายมั่นนี่ลังเลในขันธ์


ผู้ถาม –  ทางกลับกัน

พระอาจารย์ –  แล้วมันกลับกัน ที่มันเคยร้อยเปอร์เซ็นต์ ล้านเปอร์เซ็นต์ว่าเราล้วนๆ มันเริ่ม..เอ๊ ไม่น่าจะใช่จริงๆ น่ะ ...คือลึกๆ ก็ยังมีอยู่นะ ยังหมายว่ายังเป็นเราอยู่

แต่มันก็มีส่วนที่มาคัดง้างกับมัน มีความเห็นหนึ่งมาคัดง้างอยู่กับมัน เพราะที่มันเคยเห็นอย่างนี้ เคยเห็นกายอย่างนี้...ที่ไม่ใช่เรา แล้วก็เคยเห็นลักษณะของใจที่เป็นแค่การรู้เฉยๆ 

รู้...โดยไม่นำพากับอารมณ์ ไม่ปรุงแต่งกับอารมณ์ ไม่เจือปนกับอารมณ์ ไม่เข้าไปร่วมกับอารมณ์ ...อารมณ์ที่เป็นนามที่เป็นรูป มันก็แค่รู้ๆๆ มันไม่เข้าไปร่วม นี่ มันก็เห็น

ทีนี้ มันเริ่มไม่แน่ใจ...ว่าเป็น "เรา" จริงร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย ...เนี่ย แล้วก็พอค่อยๆ แทรกซึมศีลสมาธิปัญญาขึ้นไป...จากที่ว่าเริ่มไม่แน่ใจ...ก็เริ่มไม่เชื่อแล้วว่าเป็นเรา

เห็นมั้ย มันก็จะกลืนกินเอาคืน เรียกว่าคืนพื้นที่ คืนพื้นที่ขันธ์ คืนพื้นที่ใจ ...เนี่ย เขาเรียกว่าชำระกิเลส

เข้าใจคำว่าชำระกิเลสออกจากใจออกจากขันธ์มั้ย ...คือสิ่งที่มันมาทาบทา ปิดบัง เหมือนกับทอดเงาแผ่มาคลุมน่ะ ...แล้วทีนี้ความสว่างมันไปเปิดเงาออก


โยม –  ก็จริงๆ มันคือพอกิเลสมันแยกออกไปแล้ว ...พอสว่างมันก็เห็น

พระอาจารย์ –  ก็กายกับใจคือความสว่างอยู่แล้ว คือความบริสุทธิ์ เข้าใจมั้ย ...คือความไม่มีมลทิน คือความไม่มีความสุข ความทุกข์ ความเรียกร้อง ความต้องการ ความปรารถนา มันไม่มี

นั่นน่ะคือความบริสุทธิ์ คือกายวิสุทธิ คือจิตวิสุทธิ ...ใจคือความบริสุทธิ์อยู่แล้ว มันแค่รู้ มันไม่มีอารมณ์

เพราะนั้นพอเงาหายไป ความสว่างก็เปิด...แจ้ง  กายก็สว่าง ใจก็สว่าง ...แล้วมันก็จะเห็นว่า อ้อ นี่กิเลสมาเริ่มครอบคลุม ...ปุ๊บน่ะ มันก็เห็น มันแยกออกชัดเจนเลย

เพราะนั้นสว่างคือจริง ไอ้ที่มาครอบคลุมคือไม่จริง ...มันก็จะเริ่มเห็นว่าอะไรไม่จริง แล้วมันจะมาทำให้ความจริงนี้บิดเบือน ...เนี่ย มันก็เกิดความเท่าทันจิต


ผู้ถาม –  ที่อาจารย์พูดนี่คือปัญญาเกิดใช่มั้ยครับ

พระอาจารย์ –  ปัญญาเห็น ...มันอยู่ในฐานของศีลสมาธิอย่างมั่นคงแล้ว มันก็จะเห็นว่ากิเลสมันมาจากไหน ...มันก็มาจากจิต 

มันมาพร้อมกับจิต...ที่ออกมาให้ค่าให้ความหมาย ให้ความคิด ให้ความจำ ให้ความเห็น ...นี่ มันมาพร้อม คือมาคลุมกายเมื่อไหร่ปุ๊บ ... นี่ มี "ขา" ขึ้นมาเลย 

แค่มี "ขา" นี่ ก็หมายความว่ามันบิดเบือนธรรมแล้วนะ มีคำว่า "ขา" ขึ้นมานี่ก็บิดเบือนธรรมแล้ว ...แล้วพอมันเห็นทันปุ๊บ "ขา" ก็หาย ...ข. สระอา ที่ว่า "ขา" นี่หายไป 

แต่ขา(ธาตุ)นี้อยู่นะ เออ ไอ้ตัวนี้ไม่หาย ...เนี่ย มันก็จะเห็นว่าอันไหนธรรมจริงธรรมแท้ ... แล้วอันไหนคือธรรมที่จะมาบิดเบือนธรรม ที่จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในธรรม เกิดความเศร้าหมองในธรรม 

มันเกิดความคลาดเคลื่อนในกาย เกิดความเศร้าหมองในกาย ...เนี่ย คือความเศร้าหมองในกาย ...แค่มี “ขา” นี่ก็เศร้าหมองแล้ว ...นี่ ไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นเราของเราเลย 

ไม่ต้องไปพูดถึงเราที่เป็นผู้หญิงที่หน้าตาดี ผู้ชายที่หน้าตาหล่อ ที่ชื่อนั้นชื่อนี้เลย ...ไอ้นี่ไม่เรียกว่าเศร้าหมอง ไอ้นี่เรียกว่ามืดตึ้บ มันคลุมจนไม่เห็นเนื้อแท้ของกายเลย

เพราะนั้นถ้าไม่อาศัยการคอยรู้ คอยหยั่งลงไป คอยเปิดออก เปิดกายออก ...คือตัวศีลสมาธิปัญญาเบื้องต้นนี่...มันจะเป็นตัวเปิดออก คอยเปิด

พอเปิดปุ๊บ เดี๋ยวก็ปิดอีก ...เมื่อใดที่หลงที่ลืมนะ เมื่อใดที่มุ่งมั่นจริงจังกับความคิดการกระทำคำพูด...นี่คือปิด เนี่ย กายหายเลยนะ กายที่เป็นกายความรู้สึก กายทรวดทรง กายอิริยาบถ ...หายแล้ว ปิดแล้ว

แล้วก็ไปเผลอเพลิน สนุกสนาน สบายใจ หรือไปงมโข่งเป็นสุขเป็นทุกข์น้ำหูน้ำตาไหล ...ล้วนแล้วแต่ของไม่จริงล้วนๆ ไปอยู่ในเงามืดของความปรุงแต่งของเรา ที่มันปรุงแต่งเรื่องราว

แล้วก็ไปแก้ไขในความมืด แล้วก็ไปหาถูกหาผิดในความมืด แล้วก็ไปเอาสุขเอาทุกข์ในความมืด ...มันมีหมดน่ะในความมืด จะเอาอะไรล่ะ

ถ้าจิตมันมีปากมันก็บอกว่า “พี่จัดให้ ...น้องอยากได้อะไรเดี๋ยวพี่จัดให้” ...คือมันให้ได้หมดน่ะ ความปรุงแต่ง มีอะไรที่มันจะปรุงแต่งให้ไม่ได้

จิตนี่...ความสามารถในจิตนี่ ความสามารถของกิเลสนี่ อย่างนี้ เราถึงตายอยู่กับกิเลสแบบไม่สามารถจะออกจากมันได้เลย ...เพราะมันสามารถสร้างอะไรได้หมด ดูเหมือนจริงยิ่งกว่าจริงอีก

แต่ศีลสมาธิปัญญาที่เราเจริญขึ้น ที่ประกอบขึ้น ที่กระทำขึ้นนี่ คืออุปกรณ์ที่จะไปเปิดธรรม เปิดขันธ์ตามความเป็นจริงให้ปรากฏ ...ไม่ใช่ไปสร้างความเป็นจริงขึ้นมาใหม่นะ เพียงแค่ไปเปิดออก

ท่านถึงเปรียบว่า เหมือนน้ำในบ่อ แล้วถูกจอกแหนบัง ... ตัวศีลสมาธิปัญญานี่...เป็นตัวที่แหวกจอกแหนออก แล้วเห็นว่าใต้จอกแหนนั่นมีน้ำใสอยู่ 

ก็กินอาบได้สบาย ไม่เป็นสุข ไม่เป็นทุกข์ ไม่ให้โทษให้ภัยกับใคร ...นั่นน่ะคือความบริสุทธิ์กาย มีอยู่... ทุกคนมีอยู่แล้ว แต่ว่าหาไม่เจอ หาไม่เห็น และไม่รู้จัก

แล้วไม่ใส่ใจที่จะหาความเป็นจริงตรงนี้ ไม่ค้นคว้าความเป็นจริงในกาย ไม่ค้นคว้าความเป็นจริงในขันธ์ แต่กลับไปมุ่งมั่นค้นคว้าความเป็นจริงภายนอก ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง 

หรือในบุคคลอื่น หรือในสถานการณ์โลก หรือในวัตถุในโลก ... นี่ มันกลับไปค้นหาในสิ่งต่างๆ นานา ที่ล้อมรอบขันธ์หรือเกินขันธ์ คืออดีต-อนาคต

แล้วก็ไปเอาเป็นเอาตายอยู่อย่างนั้นน่ะ จนหมดอายุขัย...ก็ยังไม่เลิก ก็ยังไม่แล้ว ก็ยังไม่หยุด ก็ยังไม่อิ่ม ก็ยังไม่พอ ก็ยังไม่เต็ม ก็ยังไม่ถึงที่สุด...ในการค้นหา

เนี่ย คืออำนาจของตัณหา ที่ว่า นัตถิ ตัณหา สมานที ไม่มีฝั่งไหนจะเสมอน้ำได้  นั่นน่ะคือท่านเปรียบตัณหาอย่างนั้น คือไม่มีวันเต็ม ต่อให้ฝั่งสูงขนาดไหน น้ำมาก็ล้นฝั่งได้หมด นั่นคืออำนาจของตัณหา

มันก็จะพาให้วนเวียนๆ ท่องไปในสามภพ ท่องไปในความเป็นไปในจิต แล้วก็พาลากกายลากขันธ์ขึ้นมา...ตามจิตที่มันไปก่อร่างสร้างโมเดลสร้างภพขึ้นมาลอยๆ นั่นแหละ

เพราะนั้น เมื่อจับจิตให้มันมาหยุดอยู่กับปัจจุบัน ด้วยอำนาจของสติสมาธิปัญญาแล้วนี่ ...จิตผู้โง่เขลา มันก็จะถูกอบรมให้เกิดเป็นจิตผู้ฉลาด ผู้รู้ ผู้เห็น ตามความเป็นจริงขึ้นมา

มันจะมีปัญญาขึ้นในตัวของจิต แล้วมันจะเปลี่ยนตัวจิตเป็นตัวรู้ เป็นตัวผู้รู้ขึ้นมา ทดแทนจิตที่ช่างคิด ช่างฝัน ช่างหาไปข้างหน้าข้างหลัง ไปในอากาศธาตุ ไปในสิ่งที่ไม่มี ไปในสิ่งที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน 

มันก็จะเริ่มฉลาดขึ้นว่า...ไม่ต้องไปหาอีกแล้ว ความจริงอยู่ตรงนี้แล้ว ...แล้วก็จ่อแล้วก็จรดอยู่บนความเป็นจริงของกายของศีล...พอแล้ว

มันก็จะเรียนรู้คำว่า "พอแล้ว" มากขึ้น มันจะเรียนรู้คำว่า "พอดี" มากขึ้น  มันจะเรียนรู้คำว่าความสันโดษในธรรม ...เพียงแค่นี้ก็พอแล้ว รู้เท่านี้ก็พอแล้ว

ซึ่งไอ้ตอนแรกนี่ ที่มันบอกว่ารู้เท่านี้ไม่พอ เพราะอะไร ...เพราะมันกลัวว่าจะไม่ถึงที่สุด เพราะมันกลัวว่าจะไม่ถึงนิพพาน เพราะกลัวว่ามันจะไม่เกิดปัญญาอันสูงส่ง นี่มันกลัว

แต่มันจะเริ่มเรียนรู้ขึ้นเรื่อยๆ ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ว่า พอ ...แล้วจิตจะปรับคืนสู่มัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง คืออยู่ด้วยความพอดีกับปัจจุบันธรรม

แล้วก็รู้เห็นแจ้งกับปัจจุบันธรรมแต่ละขณะน่ะพอแล้ว ...แม้จะเป็นขณะที่หมุนมาซ้ำเดิม เดี๋ยวก็หมุนมาซ้ำเดิม ...ก็ซ้ำลงไป ไม่ต้องกลัว

มันจะหายกลัว หายกังวลในธรรม ว่าจะได้หรือไม่ได้ ว่าจะถึงหรือจะไม่ถึง ว่าจะช้า หรือว่ามันจะเร็ว หรือว่ามันจะไม่ถึงเลย ...ไอ้ความกลัวเหล่านี้มันจะสลายไปเอง

ความไม่อาจหาญในธรรมมันจะหายไป ...เกิดความอาจหาญในธรรม...ที่เท่านี้ ที่กำลังแสดงอยู่เบื้องต้น แค่ศีลแค่นี้พอแล้ว แค่กายแค่นี้พอแล้ว ...แล้วมันก็จะเรียนรู้อยู่เรื่องเดียว...อย่างยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นๆๆ 

ความชัดเจนในกายก็จะปรากฏชัดขึ้นๆๆ ...ก็จะเห็นว่ามันไม่ใช่เรายิ่งชัดขึ้นเท่านั้น ความหมายมั่นในกายในขันธ์ก็ยิ่งลดน้อยถดถอยลงเท่านั้น...เท่าที่กายชัดเจนขึ้นตามความเป็นจริง


(ต่อแทร็ก 15/13  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น