วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/11


พระอาจารย์
15/11 (570606C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
6 มิถุนายน 2557



พระอาจารย์ –  เมื่อมันคุ้นเคยกับสภาวะศีล สภาวะอารมณ์ในศีลมากขึ้น  มันจะค่อยๆ เริ่มเห็นคุณงามความดีของอารมณ์นี้มากขึ้นไปเองว่า...มันเป็นที่นิราศปราศจากทุกข์และสุข 

ตรงนี้ดีกว่าสุขล้วน ดีกว่ามีสุขเป็นเครื่องเสวยของเรา นี่ มันเริ่มมีน้ำหนักมากขึ้น จิตเริ่มมีปัญญา จิตมันจะเริ่มเห็นความสำคัญของอารมณ์นี้มากขึ้น...ว่าดีกว่าอารมณ์ที่มีเราเป็นสุข มีเราเป็นผู้เสวยสุข

แต่นี่เป็นอารมณ์ที่ไม่มีเราเข้าไปเสวย มันจะเริ่มเห็นว่าอารมณ์นี้เป็นอารมณ์ที่ชอบและเป็นอารมณ์ที่ควร ...นี่ อารมณ์ในมรรค หรือว่าเป็นอารมณ์กลางๆ หรือว่ามัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง

และมันก็จะมีความชัดเจน มีความกระจ่างแจ้งอยู่ในตัวของมัน มันมีความสว่างปราศจากความสงสัยในตัวของมัน ไม่มีอะไรปิดบังครอบงำ เคลือบแฝงอยู่  มันสว่าง สะอาด บริสุทธิ์ อยู่ในตัวของมัน

มันก็จะเริ่มเข้าไปลึกซึ้งในสภาพธรรม สภาพขันธ์ สภาพศีล สภาพปกติธรรม สภาพธรรมชาติของธรรม ธรรมชาติของขันธ์ ...ซึ่งแต่ก่อนมันเห็นว่าไม่ค่อยน่าอยู่เลย 

เรียกว่าไม่น่ามอง ไม่น่าเหลือบ ไม่น่าแล ไม่อยากแลเลย นีี่ เขาเรียกว่านอกสายตา ...แต่ก็โดนครูบาอาจารย์ท่านผลักดันขึ้นมา...เป็นแบบม้ามืดน่ะ แล้วตัวม้ามืดนี่จะแซงเข้าวิน

คือตอนนี้พวกเราอยู่กับกาย อยู่กับขันธ์ปัจจุบันนี่...เหมือนม้านอกสายตา เหมือนไม่เหลือบแลเลย  แบบกูกะเต็งหามเต็งโต๊ดอยู่นั่น ...มีแต่ข้างหน้า ข้างนอก 

มีตัวกายที่วิ่งวนสาละวน คือตัวเรากายเราในอดีต-ในอนาคตน่ะ วิ่งสาละวนจะเข้าเส้นชัยอยู่ตรงนั้นน่ะ หวังจะก้าวให้ไกลไปให้ถึง ...ก็ไม่ถึง ไม่ถึงฝั่งฝัน

เพราะนั้นก็บอกแล้ว อย่างที่ตอนแรกเราบอกว่า...ฝั่งฝัน  มันเป็นฝั่งฝัน ฟากฝัน ไม่ใช่ฟากฝั่งที่มีอยู่จริง

แล้วก็โดยสันดานตัวมันเอง ไม่มีทางหรอกที่จะเห็นม้ามืด จะไม่รู้เลยว่ามีม้ามืดนี่...ที่เป็นม้านอกสายตาตัวนี้ ที่เข้าวินได้ทุกงวด ...เพราะมันตัวจริง เป็นม้าตัวจริง

ท่านจึงเปรียบ พระพุทธเจ้า เหล่าสาวก เหมือนบุรุษอาชาไนย เพราะท่านขี่อาชาไนย ...ตัวนี้คืออาชาไนย  ...แต่เราไปมองเป็นม้านอกสายตา 

ตัวขันธ์ตัวศีลนี่เป็นม้าอาชาไนย แข่งกี่สนามก็ชนะ เพราะมันมีอยู่จริง เป็นม้าตัวจริง ...ไม่ใช่ม้าเมืองทรอย

รู้จักม้าเมืองทรอยมั้ย สงครามกรุงทรอยน่ะ ข้าศึกซ่อนอยู่ในม้าไม้ตัวใหญ่เอามาล่อไว้หน้าประตูเมือง พวกไม่รู้ก็ลากเอาเข้าเมืองเลย  ...เมืองทรอยล่มก็เพราะม้านั่นแหละ ม้ายักษ์นี่ ตื่นตาอลังการไม่เคยเห็น

เหมือนกัน ...เพราะมองข้ามกาย มองข้ามศีล มองข้ามปัจจุบันกายปัจจุบันศีล ...แม้แต่ศีลสมาธิปัญญา จิตผู้ไม่รู้นี่ก็ยังไปแอบอ้างขึ้นมาใหม่ ว่าอย่างนั้นเรียกว่าศีล อย่างนี้เรียกว่าศีล

ก็ตั้งกันเข้าไป วางกฎของศีลขึ้นมา เยอะเท่าไหร่ยิ่งดี ยุ่บยั่บๆ ยุ่บยั่บไปหมด ...สมาธิก็ หูย ยุ่บยั่บๆ กี่ขั้นตอน กี่ลักษณะอาการ ว่ากันไป แล้วก็ไปอีก ลักษณะนั้นลักษณะนี้เรียกว่าน้อยเรียกว่ามาก

จิตน่ะมันแอบอ้างศีลสมาธิปัญญา ตีความเอาเอง เข้าใจเอาเอง ...นั่นน่ะกำลังสร้างม้าศึกเมืองทรอย แล้วก็จะเอาเข้าบ้านเข้าเมือง เพื่อมาตีตัวมันเอง กรุงทรอยก็ล่ม เสื่อมไป ถูกตีด้วยกิเลสแบบไม่มีชิ้นดี

ก็ทำกายทำจิตทำใจให้เหมือนบุรุษอาชาไนย ขี่บนม้าอาชาไนย ทะยานสู่จุดหมาย คือนิพพานเป็นที่สุด สุดที่แจ้ง เพราะม้าตัวนี้ไม่วิ่งออกนอกเส้นทางหรอก ...ศีลไม่ออกนอกเส้นทางเลย

ถ้าอยู่บนศีลแล้ว เป็นบุรุษสตรีที่ขี่บนหลังม้าอาชาไนย หรือยืนอยู่บนศีลน่ะ ควบอยู่บนศีลนั่นน่ะ ...นั่นน่ะคือตัวจิต ให้มันเกาะกุมอยู่บนศีล แล้วให้ศีลวิ่งนำไปสู่เส้นชัยคือนิพพาน

ม้าตัวนี้ไม่มีคำว่าออกนอกเส้นทาง ...นี่คือเป็นกฎเหล็ก กฎตายตัวของมรรค ที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญา 

ศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สมาธิเป็นเหตุให้เกิดปัญญา ปัญญาเป็นผลทำให้เกิดความหลุดและพ้นจากขันธ์และโลก มันต้องเป็นอย่างนี้ไม่เป็นอย่างอื่น

กี่พระพุทธเจ้า กี่พระองค์ ทุกพระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ ล้วนแล้วแต่ตรัส บอก สอน แนะนำ ทำให้เกิดการกระทำเยี่ยงอย่างตามมา ...ก็ศีลสมาธิปัญญาทั้งสิ้น ไม่เคยผิดแผกแตกต่างกันเลย 

เพราะมันเป็นหนึ่ง มันเป็นเอกายนมรรค เป็นทางเอก ทางเดียว ไม่มีทางอื่น

แต่กว่าที่เราจะร่วมจิตร่วมใจ ปลงจิตปลงใจต่อกายเดียว ที่ภาวนาที่เดียวนี่  บางท่าน บางผู้ บางคน ก็ใช้เวลาหลายภพหลายชาติ กว่าที่มันจะยอม...ยอมต่อศีล 

แล้วก็รวมการปฏิบัติร้อยแปดเหมือนแม่น้ำร้อยสายนี่ ให้มารวมอยู่ในศีลเดียวกัน ...เนี่ย กว่าที่มันจะยอม มันต้องผ่านการอบรมสติ ศีลสมาธิปัญญา ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด มาเรื่อยๆ เรื่อยๆ 

จนกว่ามันจะยินยอมต่อศีล แล้วก็เอาศีลน่ะเป็นที่มั่นที่หมาย ...เป็นฝั่งให้จิตนี่เกาะ แล้วก็ขึ้นขี่เหมือนกับขี่ม้าอาชาไนย 

แล้วให้ม้าอาชาไนยนี่โลดแล่นไปเอง โดยที่ไม่ต้องถือบังเหียนเลย ...เพราะสันดานของม้าอาชาไนยตัวนี้ มันมีที่หมายที่เดียวคือนิพพาน 

แต่กว่าที่มันจะยอมปลงใจต่อศีลได้ อย่างยินยอมพร้อมใจ หรือว่าถึงเนื้อถึงตัวถึงใจ นี่ ต้องผ่านการเคี่ยวกรำมาทั้งนั้น

เพราะนั้นมาอยู่ในจุดนี้แล้วนี่ อย่ามัวแต่เลือก อย่ามัวแต่เฟ้นธรรม อย่ามัวแต่ไปสาธยายธรรม วิจิกิจฉาในธรรม ในมรรค ...ขี่ไปเหอะ ม้ามันพาไปเองแหละ 

จะหันหลังขี่ หันหน้าขี่ นอนขี่ นั่งขี่ ตะแคงตัวขี่ ขี่เข้าไปเหอะ ม้ามันพาไปเองแหละ ...อย่าตกม้าแล้วกัน เดี๋ยวจะโดนม้าข้างๆ มันเหยียบเอา 

เหยียบไม่พอ ลุกขึ้นยืนได้ดันกระโดดขี่ม้าเลย...แต่ม้าคนอื่น ม้าอะไรก็ไม่รู้ โงหัวมากูขี่หมดแหละ ...นี่ ต้องเลือกให้ดีนะ ม้าอาชาไนยมีตัวเดียวนะ กายปัจจุบันมีกายเดียวนะ 

นอกนั้นไม่ใช่กายนะ เป็นกายปรุงแต่ง กายหลอก กายจอมปลอม เป็นกายที่สร้างมาจากความไม่รู้ เป็นกายที่เรียกว่าประกอบขึ้นมาจากจิต อวิชชา ตัณหาอุปาทาน

มันจะสร้างเป็นม้าเมืองทรอย ม้ากำมะลอ ม้าขาแพลง ม้าเพชรม้าทอง ม้ายนต์ ม้าหุ่นยนต์ เยอะแยะเลยนะ มันสร้างได้หมด อย่าหลงไปขี่มันแล้วกัน มันจะพาออกนอกมรรค 

หรือเรียกว่าหันหลังกลับ ไปคนละทางกับมรรคก็มี ...ดีไม่ดีมุดลงดินไปเลย แบบเป็นพวกสายลับใต้ดิน แบบกูไม่ผุดไม่โผล่เลยน่ะ ไปทำงานใต้ดินซะแล้ว 

หรืออาจจะได้ขี่ม้าเพกาซุสมีปีก นี่กูไปบนสวรรค์เลยนะ อย่างนี้ ...นี่สร้างได้หมด จิตสร้างได้หมด แล้วแต่มันจะพาให้ขี่อะไรไป ...นั่นน่ะคือความทะยานอยาก ต้องเลือกให้ดี ตาดีได้ ตาร้ายเสีย

สัมมาทิฏฐิเบื้องต้นก็คือว่า ตาดีได้ ตาร้ายเสีย ...เป็นผู้ที่เปิดตาก่อน ว่าเลือกม้าให้ถูก เลือกม้าให้ดี ...ศีลอยู่ไหน สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร นี่คือเรียกว่าตาดีได้ตาร้ายเสีย

เปิดตาซะ แล้วก็ขี่ม้าให้ถูกตัว มันก็พาเข้าเส้นชัยไปตามครรลองของมันเอง  จะช้าจะเร็ว ถึงแน่ ยังไงก็ถึง ...ช้าก็ชั่ง เร็วก็ชั่ง ยังไงก็ถึง ไม่ออกนอกไม่พาวกวน

เพราะนั้นสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา จูงก็ได้ขี่ก็ได้ เอาเหอะ ขี่ไม่ได้ก็จูงเอา จูงไม่ได้เดินตามก้นเกาะหางม้าจับหางม้าไว้ ก็ได้ ขอให้เป็นม้าตัวนี้เถอะ รับรองมันไม่พาออกนอกลู่นอกทางหรอก 

จะไม่ไปพาวกวน กินลมชมวิว แวะข้างทาง เสียเวลาเข้าตรอกซอกซอย ไม่มีอ่ะ ...มันมีทางเดียว จุดหมายปลายทางคือนิพพาน  สิ่งที่ดีสิ่งที่ใช่ ยังไง้ยังไงก็นิพพาน ช้าเร็วชั่งหัวมันเถอะ

แต่ถ้าตาไม่ดี ตาร้าย ก็ได้ม้าเลว ...ทีนี้ไปใหญ่เลย ไปเกินแล้ว เกินจริง เกินธรรม 

ในฝันน่ะอะไรก็ได้บอกให้เลย ถ้าในฝันน่ะจะเป็นพระอรหันต์เลยในฝันก็ยังได้ เป็นได้หมด อยากเป็นอะไรเป็นได้หมด ฝันน่ะ ฝันว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็ยังได้เลย ...แต่เราบอกให้เลยว่าไม่จริง ฝันหมด

ศีลนี่จึงเป็นตัวยืนยันความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน แล้วคุณภาพอารมณ์ของความเป็นจริงก็ไม่มีอะไร แค่นี้ ธรรมดา เป็นอารมณ์ที่ธรรมดาที่สุด ด้านๆ ไม่มีทั้งสุขและทุกข์แต่ประการใดในตัวของมันเอง

เพราะนั้นก็เกาะให้แน่น จับให้อยู่ โดยไม่ปล่อยมือรามือในความเพียร  แล้วมันจะเกิดความชำนิชำนาญในการที่จะขี่มันยังไง ...เพราะว่าระหว่างทางที่มันวิ่งไปนี่ มันไม่ใช่แต่ถนนที่ราบเรียบ 

ในทางเดินบนโลกน่ะ มันก็มีทั้งขึ้นเขาลงห้วย ขรุขระ คับแคบ ตกหล่ม ตกคู นี่มีตลอดทางเส้นทางน่ะ ถ้าผู้ขับขี่ไม่ชำนาญ ก็ตกหลังม้า ...เพราะม้ามันก็จะไปตามทางในโลก

ซึ่งเส้นทางในโลกก็คือทางไปนิพพาน ...เพราะนั้นมันจะต้องผ่านเส้นทางที่มันธุรกันดารอยู่แล้ว เพราะโลกคือความไม่สม่ำเสมอ โลกคือความบกพร่อง 

โลกคือความไม่พอดี โลกคือความที่เอาแน่เอานอนอะไรกับมันไม่ได้ โลกนี้ไม่สมประกอบ เพราะมีแต่เอาประโยชน์ส่วนตน ...ถ้าขี่ไม่เป็นไม่ชำนาญก็ตกหลังม้า

เพราะนั้นเมื่อฝึกไปเรื่อยๆ มันก็จะเกิดความชำนิชำนาญ ไม่ตกหลังม้า ...เปรียบเสมือนผู้ปฏิบัติที่เข้าสู่ภาวะที่เรียกว่ามหาสติ จิตไม่หลุดเลยจากกาย...แม้แต่ขณะวินาทีหนึ่ง 

นี่ชำนาญถึงขนาดร้องรำทำเพลงอยู่บนหลังม้าได้ ไม่ตก จะนั่งไขว่ห้าง จะนั่งกินลมชมวิว ต่อให้ม้ามันขึ้นลงที่ธุรกันดารขนาดไหนก็ยังไม่ตก ...นี่ ชำนาญ

แล้วมันก็พาผ่านไป...สองข้างทางมันก็จะเห็นทั้งหลายทั้งปวง...โดยไม่เข้าไปติดข้อง ข้องแวะ ค้างคา ระหว่างทางเดิน  มันก็ผ่านด้วยการรับรู้...เข้าใจ

ด้วยความเข้าใจในความหมายในแต่ละสิ่งแต่ละอันที่มันผ่านไปตามเส้นทาง ที่มาให้เกิดการรับรู้ทางจิตบ้าง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ...ว่าไม่มีอะไร

เพราะกายนี่มันเองไม่มีอะไรกับอะไรเลย ...ฝนจะตก แดดจะออก มันจะไปเจอกับอะไร เห็นกับอะไร ได้ยินกับอะไร มันไม่เคยติดกับอะไรเลย ...มันผ่าน 

ตัวมันเองยังผ่านของมันเลย...ตลอด ...มันไม่เคยเก็บ มันไม่เคยคา มันไม่เคยข้องกับอะไรเลย มันไม่เคยหยุด มันไม่เคยรั้ง มันไม่เคยเหนี่ยว มันไม่เคยไปพึ่งไปพิงไปแอบไปอิงกับอะไรเลย

ถ้าผู้ที่ขี่บนหลังม้านั้นได้ ก็จะไปแบบกายที่ไม่นำพาต่อสิ่งใดเลย  

มีแต่ “เรา” เท่านั้นแหละที่นำพากับทุกสิ่ง ...ทั้งดีและไม่ดี ทั้งชอบและไม่ชอบ ทั้งควรและไม่ควร ทั้งใช่และไม่ใช่ ทั้งถูกและผิด ทั้งสุขและทุกข์ ...มันนำพาหมด

แต่ขันธ์ที่แท้จริงน่ะ ไม่เคยนำพากับโลกเลย ไม่เคยนำพากับอารมณ์ในโลกเลยด้วยซ้ำ ...เพราะอะไร ...เพราะมันเป็นธาตุขันธ์ เพราะมันเป็นรูปธาตุ เพราะมันเป็นนามธาตุ 

มันไม่มีอารมณ์ไม่มีความรู้สึกในตัวของมันเอง คือไม่มีความเป็นสัตว์บุคคลในตัวของมัน...ที่จะให้เกิดภาวะที่เรียกว่าเลือกที่รักหรือมักที่ชัง ต่อสิ่งใดๆ

เพราะนั้นถ้ายืนหยัดบนหลังม้า ขี่บนมันไป รู้กับมันไป อยู่กับมันไป เรียนรู้กับมันไป นั่นแหละจะเข้าใจว่า ท่ามกลางขันธ์ ท่ามกลางโลกนี่ มันอยู่ยังไงถึงจะเรียกว่าปราศจากทุกข์และสุขโดยสิ้นเชิง

เพราะนั้นการรู้ตัวคือการภาวนา การภาวนาคือการรู้ตัว...อย่างเดียว หน้าเดียว 

รู้เข้าไปเถอะ จะอยู่ในท่านั่งสมาธิหรือท่านั่งธรรมดา จะอยู่ในท่าเดินธรรมดาหรือท่าเดินจงกรม ก็รู้ตัวเหมือนเดิม ไม่มีคำว่าออกจากการปฏิบัติเลย ไม่มีคำว่าพักจากการปฏิบัติเลย

แต่ว่ากายอาจจะเปลี่ยนท่าทาง ชั่งมัน มันอยากเปลี่ยนท่านั่งสมาธิเป็นท่านั่งธรรมดา  แต่การปฏิบัติไม่ออกไม่ละเลย ก็อยู่ในท่าทางของนักปฏิบัติ ท่าทางของจิตที่กำลังปฏิบัติในศีลอยู่

เพราะนั้นจิต...ต้องเอาจิตมาปฏิบัติตลอดเวลา ไม่ขึ้นกับท่าทาง เวลา สถานการณ์ บุคคล ...รู้ตัวนั่นน่ะ คือเอาจิตมารู้กับตัว 

ก็เรียกว่าเป็นผู้ที่ภาวนาโดยไม่เว้นวรรคขาดตอน ไม่ตกหล่น ไม่แวะข้างทาง ไม่ไปหลงกับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ที่ใดที่หนึ่ง จนลืมเนื้อลืมตัวไปเลย

เมื่อได้สติก็แล้วรีบเร่งรัด อยู่ในกาย อยู่ในรู้ อย่าปล่อยปละละเลย รักษาทรงสภาพไว้ รู้และเห็นกับกายไว้ อย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ เข้มข้นขึ้นไป ...แล้วก็จะเห็นเองว่ากิเลสมันจะเจือจางลงไปยังไง

แต่ถ้าเมื่อใดศีลสมาธิปัญญาเจือจาง กิเลสจะเข้มข้นขึ้นเท่านั้น ...มันเป็นปฏิภาคซึ่งกันและกันอยู่อย่างนี้ 

ก็ให้เรียนรู้แล้วก็ไปปฏิบัติ ให้ได้ ให้ถึง ทั่วทุกคนไป นะ


..................................





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น