วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/12 (2)


พระอาจารย์
15/12 (570614A)
14 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 15/12  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ว่ากว่าที่หรือว่าก่อนที่มันจะเข้าใจในธรรมทั้งหลายทั้งปวงน่ะ มันจะต้องมาเริ่มที่จุดแรก จุดเริ่มต้นที่จะลับที่จะฝนปัญญา ฝนสร้างสมาธิ ...ก็คือต้องที่ศีล ต้องที่กายนี่ เป็นจุดเริ่มต้น

มันจะไปขยายก่อนไม่ได้ มันจะไปรู้รอบ รู้ภายนอกทุกเรื่องทุกราว แล้วไปดูสภาพตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ แต่ละธรรมๆ แต่ละอายตนะ แต่ละผัสสะไม่ได้ ...ไม่สามารถทำได้

มันจะเกิดความสับสน ฟุ้งซ่าน แล้วก็ไม่รวมเป็นหนึ่ง ไม่มีกำลังเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงในแต่ละจุด ในแต่ละสิ่งต่างๆ ที่มันแปรเปลี่ยนไปมาในหลายๆ สภาพ 

แล้วมันมากมายจนไม่สามารถประมาณได้ มันจึงต้องมารวมธรรมนี่ให้มันมาเป็นหนึ่ง ... เพราะนั้นรวมธรรม...ก็คือการรวมกายรวมศีลน่ะ...ให้มันเป็นหนึ่ง 

แล้วก็อาศัยกายอาศัยศีลนี่เป็นบาทฐานในการเรียนรู้...ให้เกิดสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ ให้เกิดปัญญาที่เป็นญาณเบื้องต้นเสียก่อน แล้วมันจึงจะค่อยๆ รู้แจ้งในจุดเล็กๆ นี่ก่อน

จุดกายนี่ คือเป็นจุดที่เล็กที่สุดแล้ว และเป็นจุดที่มันไม่ต้องสร้าง มันไม่ต้องหา มันไม่ต้องทำขึ้นมาใหม่ ...มันมีอยู่แล้ว ตลอดเวลาอยู่แล้ว ฆ่าไม่ได้ขายไม่ขาด 

คือจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม...มันก็มี  จะมีความคิด จะมีอารมณ์ หรือจะไม่มีความคิด จะไม่มีอารมณ์...มันก็มี ...ถึงว่ามันเป็นจุดตายตัวที่สามารถที่จะตั้งมั่น ยืนหยัดตั้งมั่นอยู่กับมันได้ด้วยความต่อเนื่อง

เพราะนั้นตัวสมาธิ ที่เรียกว่าสัมมาสมาธิ หรือว่าสมาธิที่มันจะสามารถจะยั่งยืนได้ หรือว่ามั่นคงถาวรได้ ไม่เสื่อมสลายไปง่าย ไม่บุบสลายเจือจาง ไม่เสื่อมไม่ถอยลงง่ายๆ 

นี่ มันจึงต้องอาศัยกายหรือศีลนี่เป็นบาทฐานแห่งการระลึกรู้ ...สมาธิมันจึงเกิดความตั้งมั่นและมั่นคง ไม่ล้มง่าย ไม่กระจัดกระจายหายไปง่าย

นี้จึงเป็นรากฐานของสมาธิที่แข็งแกร่ง แล้วก็สืบเนื่อง ยืดยาว ไม่กระพร่องกระแพร่ง ไม่อ่อนแอปวกเปียก เดี๋ยวล้มเดี๋ยวลุก ...นี่ มันก็จะยืนพื้น สมาธิตัวนี้ก็จะยืนพื้น

เพราะนั้นตัวสมาธิที่ยืนพื้นนี่ ...จะยืนพื้นในลักษณะที่ไม่ใช่สงบนิ่ง ไม่ใช่ว่างจากอารมณ์จากความคิดถ่ายเดียว แต่มันมั่นคงด้วยสภาวะรู้และเห็น

หรือว่ามันรวมลงเป็นดวงจิตผู้รู้อย่างชัดเจน แล้วมันจะเกาะกุม...เหมือนมันเกาะกุมอยู่ในขันธ์ เหมือนมันคุมเชิงอยู่ในขันธ์ เหมือนมันคุมเชิงอยู่ทุกปัจจุบันขันธ์

เหมือนทหารที่เฝ้าอยู่บนเชิงเทินกำแพงเมือง แล้วก็เข้าเวรยามแบบไม่มีออกเวรน่ะ ...มันจะคุม มันจะระวังอยู่ในกายในขันธ์นั้นด้วยความมั่นคง

เนี่ย มันจึงจะเกิดรากฐาน...เป็นรากฐานของปัญญา หรือการรู้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียดต่อไป อย่างที่ไม่หวั่นไหวต่อธรรม

แต่ถ้ามันไม่ตั้งมั่นอย่างมั่นคงแท้จริงแล้วนี่ ...ด้วยสภาพธรรมที่มันจะหลากหลายมาก แล้วสภาพธรรมที่หลากหลายนี่  มันจะสร้างความหวั่นไหวได้ง่าย...ต่อจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

อะไรวูบหนึ่ง อะไรวาบหนึ่ง ก็ไปแล้ว หวั่นไหวได้ง่ายมาก ...แล้วก็ด้วยสภาพธรรมที่หลากหลายนี่ แล้วเราไม่สามารถคาดเดาในสภาพธรรมที่หลากหลายนี้ได้เลย...ว่ามายังไง เกิดยังไง

คือส่วนมากมาทีไรก็...ปั่ก มันจะตีเข้าขนดหางทุกทีเลย ...เนี่ย เพราะว่า จิตไม่ตั้ง...ไม่สามารถตั้งจิตเป็นสมาธิได้เลย ไม่มั่นคงเลย

ถึงบอกว่าสมาธินี่ เป็นรากฐานของปัญญาจริงๆ ...ถ้าไม่มีสมาธิแล้วนี่ มันจะไปเรียนรู้ธรรมอะไรไม่ได้เลย ...เละเทะ เลอะเทอะหมดเลย 

มันจะเจือปนแทรกซึมด้วยอำนาจของเราบ้าง มันจะเจือปนแทรกซึมด้วยความคิดความเห็นของคนอื่นบ้าง มันจะเจือปนแทรกซึมด้วยตำรับตำราบ้าง เหล่านี้

มันจะไม่สามารถเลยที่จะไปเรียนรู้ธรรมที่หลากหลายได้...ด้วยความมั่นคง ไม่หวั่นไหวในธรรม

เพราะนั้นการสร้างฐานของศีลและสมาธิ จึงสำคัญอย่างยิ่งยวดเลย ...เพราะในระหว่างที่มันสร้างฐานของสมาธินี่ มันเป็นการเรียนรู้ธรรมเบื้องต้นของศีลนี่เป็นหลัก ของกายนี่เป็นหลักอยู่แล้ว

แต่ในขณะที่มันเรียนรู้ธรรมกับกายเป็นหลักนี่ มันไม่ได้หมายความว่าธรรมอื่นไม่ปรากฏนะ ...ความคิดก็ยังปรากฏ อารมณ์ก็ยังปรากฏ สิ่งที่รักสิ่งที่ชอบสิ่งที่ชังก็ยังปรากฏอยู่ตลอดเวลา

เพราะนั้น ถ้ามันไม่สามารถที่จะไม่หวั่นไหวต่อธรรมสัพเพเหระนี้ได้นะ  การเรียนรู้ในธรรมเดียวธรรมหนึ่ง คือธรรมกายธรรมศีล หรือปกติกายปัจจุบันกายนี่ ...มันก็จะไม่สามารถลุล่วงโดยตลอดเลย

เพราะนั้นในระหว่างที่มันสะสมสร้างพลังและก็เรียนรู้เรื่องของกายนี่ ...มันก็จะต้องไม่หวั่นไหวไปกับสิ่งต่างๆ พร้อมกันไป ...นี่ มันต้องอยู่กันอย่างนี้ มันต้องสร้างอย่างนี้

ไม่ใช่ทิ้งนี้ไปเอานั้น ทิ้งนี้ไปเอาโน้น ทิ้งนี้ก็กระโดดโผไปจับตรงนั้น  ไอ้นั่นมาก็โผไปจับ หยิบยกเป็นเครื่องรู้เครื่องพิจารณา ...มันไปเอาธรรมหลากหลายเกิน 

คือไปเข้าใจว่าการรู้ธรรมโดยกระจายธรรมทั้งหลายแล้วมันจะเกิดความรอบรู้ มีปัญญาแตกฉาน ...นี่เข้าใจผิดนะ ...รู้มาก เห็นมาก เขาเรียกว่ารู้มากจะยากนาน  แต่ถ้ารู้น้อยน่ะ...พลอยชำนาญ 

รู้น้อยๆ นี่ แต่มันจะชำนาญ ...คือรู้ที่เดียวทีเดียว อย่างอื่นไม่ต้องไปรู้มันน่ะ ...มันจะดึงไปให้รู้ น่ารู้ อยากรู้ หรือต้องการให้รู้ หรือเขาบอกให้รู้ อย่างนี้ ...อย่าไปเชื่อมัน 

อย่าไปเข้าใจว่ามันจะเกิดปัญญาจากการไปรู้อะไรหลายๆ เรื่อง หลายๆ ลักษณะอาการ ...จิตบ้าง อารมณ์บ้าง กิเลสบ้าง รูปบ้าง เสียงบ้าง อดีตบ้าง อนาคตบ้าง ...มันเยอะแยะไปหมด 

รู้ไปเรื่อยนี่ ...สุดท้ายนะไอ้ตัวรู้นี่ ล้มเหลวหมด จะล้มสลายกระจายหายไป...โดยที่ไม่รู้ตัวเลยว่ามันหายไปตอนไหน ไปรู้ตัวต่อเมื่อมันทุกข์ขึ้นมาแล้วน่ะ 

แล้วไม่สามารถตั้งรู้ตั้งเห็นขึ้นมาได้เลย มันไปหมกจมหายไปในอารมณ์ แช่อยู่ในอารมณ์ แช่อยู่ในทุกข์ แช่อยู่ในสุข จนเนื้อตัวเปื่อยไปแล้ว ถึงได้สติขึ้นมาทีนึง

ถึงบอกว่าศีลน่ะเป็นรากฐาน...ทิ้งไม่ได้ กายนี่ทิ้งไม่ได้  มันจะต้องยืนหยัด ตั้งมั่น เอาเป็นที่หมาย เอาเป็นมาตรฐาน เอาเป็นตัวอ้างอิงอยู่ตลอด

เอาเป็นตัวที่คอยกำกับการกระทำคำพูด การดำรงชีวิต การดำเนินชีวิต การไปมาในโลก การสัมผัสสัมพันธ์กับคนในโลก กับเรื่องราวในโลก 

นี่ จะต้องเอาตัวกายตัวศีลนี่เป็นมาตรฐาน ทิ้งไม่ได้ ห่างไม่ได้ ขาดไม่ได้ เว้นไม่ได้ วางไม่ได้ ทิ้งขว้างไม่ได้

ถ้าตั้งมั่นมั่นคงอยู่ในหลักนี้แล้วนี่ ...ตรงนี้จึงจะเป็นเหตุให้เกิดการเพาะบ่มสมาธิ ให้เกิดความเข้มแข็งตั้งมั่น แนบแน่น หนักแน่น ไม่หวั่นไหวกับธรรมทั้งหลายทั้งปวง

เมื่อมันยิ่งเกิดความแนบแน่น หนักแน่น ในจิต ในสมาธิ ในผู้รู้ มากขึ้นมาเท่าไหร่ ...สภาวะกายสภาวะศีลที่กำลังปรากฏอยู่เบื้องหน้ามัน จะชัดเจนตามความเป็นจริงเท่านั้น

สมาธิเท่าไหร่...ปัญญาเท่านั้น  ตั้งมั่นเท่าไหร่...ความรู้เห็นตามความเป็นจริงของกายจะชัดเจนขึ้นเท่านั้น ...มันเป็นธรรมที่เอื้อกันอย่างนี้ 

ศีล..สมาธิ..ปัญญา เอื้อกันตลอดสายอย่างนี้ ...จะขาดจะเว้นตัวใดตัวหนึ่ง จะปรากฏขึ้นตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ...มันจะต้องเนื่องกันอยู่อย่างนี้ 

จะต้องอาศัยกัน...เหมือนเป็นสามเส้า ก้อนเส้า สงเคราะห์ เอื้อกัน หนุนกัน หมุนวนหนุนกันอยู่ตลอด เป็นเกลียวพันกันอยู่ตลอดเวลา

แล้วก็เกิดความชัดเจนมั่นคง...มากขึ้นๆ อยู่ในปัจจุบัน มั่นคงกับปัจจุบันกายปัจจุบันรู้มากขึ้นๆ ...จนมันสามารถละทิ้งได้ในทุกอย่าง โดยไม่ไปเอาธุระกับอะไรมาเป็นเรื่องผูกพันเป็นอดีตอนาคต 

ไม่เอาเรื่องมาเป็นเรื่องจริงเรื่องจัง เรื่องเป็นเรื่องตาย เรื่องใหญ่เรื่องโต เรื่องสลักสำคัญ เรื่องที่มีค่า เรื่องที่ว่าเป็นสุขจริงๆ เป็นทุกข์จริงๆ จังๆ ...ไม่มี มันจะทิ้ง มันจะวางหมดเลย


(ต่อแทร็ก 15/13)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น