วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/13 (3)


พระอาจารย์
15/13 (570614B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
14 มิถุนายน 2557
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 15/13  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  เนี่ย คือการถ่ายถอนออก...แบบเบ็ดเสร็จนะ ไม่ใช่แบบชั่วคราวด้วย ...นี่เรียกว่าถ่ายถอน เรียกว่าขุด ลอกล้างบาง แก้ที่เรียกว่าโคตรเหง้าเลย ...จนถึงที่เรียกว่าโคตรภูญาณ เข้าถึงโคตรเหง้าเลย 

โดยอาศัยหมุดมาตรฐานคือกายปัจจุบัน เป็นหมุดมาตรฐาน เป็นตัวยืนยันความเป็นจริง เป็นตัวยืนยันธรรม เป็นตัวยืนยันสัจจะของขันธ์ที่แท้จริงอยู่ตลอด ไม่ให้มันคลาดเคลื่อนจากขันธ์นี้ กายนี้เลย 

เดี๋ยวมันก็จะถึงโคตรเหง้าของกาย โคตรเหง้าของกิเลส ที่มันมาจับกาย...ให้มันเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง 

ปัญญาก็จะเข้าไปถึงจุดนั้น เข้าไปเห็นทันจุดนั้น แล้วก็ทันแล้วทันอีกๆ นี่เรียกว่าลบล้างอยู่ที่เดียว ...อย่าเบื่อ อย่าเปลี่ยน อย่าท้อ อย่าเลิก อย่าไปคาดหมายกับธรรมข้างหน้า 

ซ้ำๆๆๆ แค่นี้ก็คือแค่นี้ ...แล้วคอยเท่าทันจิตทุกดวง ที่มันจะชักนำให้ออกนอกนี้ไป ที่มันจะพาไปหาอะไรที่นอกจากนี้ไป ...นี่ต้องเท่าทันแล้วละเลย

เพราะนั้นในระหว่างที่เท่าทันแล้วละจิตทุกดวงที่กำลังปรากฏ ถือว่าในขณะนั้นน่ะ มันเรียนรู้ลักษณะของจิตไปพร้อมกัน เห็นจิตตามความเป็นจริงไปพร้อมกัน

ว่ามันไม่มีสาระอย่างไร มีความเกิด มีความดับไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่อย่างไร ...นี่ เรียนรู้พร้อมกันเลย ระหว่างที่มันคอยเท่าทันแล้วมาจรดอยู่ที่กายเดียว

เห็นมั้ย พอมันเรียนรู้เรื่องกาย มันจะพร้อมไปกับการเข้าใจสภาพที่แท้จริงของจิตพร้อมกันด้วย....โดยไม่ใช่ไปตั้งหน้าตั้งตาดูแต่จิตแบบเอาเป็นเอาตาย


โยม –  เหมือนกับมันตั้งอยู่กับกาย พอมันจะออกไปจากกายมันก็เห็น

พระอาจารย์ –  มันก็เห็น...ไอ้ตัวที่ออกไปนั่นแหละคือจิตและก็เรา ...เรามันจะไปเกิดพร้อมกับจิตที่มันออกจากกาย เข้าใจมั้ย 

แล้วเราในจิตมันจะไปสร้างกายเราขึ้นมาในอดีต-อนาคต เป็นกายที่ ดีบ้าง ร้ายบ้าง เลิศบ้าง ถูกกระทำบ้าง กระทำเขาบ้าง เป็นกายที่ได้สุขมีสุข สุขทุกข์มากบ้าง นั่นแหละจิตจะเป็นผู้สร้างกายขึ้นมาใหม่


โยม –  มันจะเห็น ...แบบเมื่อก่อนบางทีมันจะเห็นวึ้บพร้อมกับความคิดไปเลย

พระอาจารย์ –  อือฮึ  ทันแค่ไหนก็แค่นั้น จนเรียกว่า...แค่กระเพื่อมก็รู้แล้ว เคยรู้สึกมั้ยว่ากระเพื่อม ...เออ


โยม –  อย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ตั้งมั่นด้วยรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  เข้าใจมั้ยว่า คำว่าตั้งมั่นนี่คือภาษา 

ในขณะที่จะเข้าสู่ความตั้งมั่นนี่ มันจะอยู่ด้วยความกระเพื่อม แล้วก็เท่าทันความกระเพื่อมของจิต การหมุน การไปการมาของจิต แต่มันจะเท่าทัน  แล้วเมื่อเท่าทันไปบ่อยๆ มากๆ มันจะยิ่งตั้งมั่นขึ้นเรื่อยๆ


โยม –  แล้วไอ้ที่กระเพื่อมก็จะน้อยลงไป

พระอาจารย์ –  น้อยลงไป ...ไอ้ที่เรียกว่าไม่กระเพื่อมเลยเนี่ย ท่านเรียกว่ามหาสมาธิ ...เพราะนั้นในระดับพวกเรานี่จะเรียกว่ามหาสมาธิไม่ได้ แล้วจะไปสร้างขึ้นมาเองก็ไม่ได้ ...มันจะแค่เท่าทันอย่างนี้


โยม –  ทันเห็นกระเพื่อม

พระอาจารย์ –  แล้วก็ละ ...ไม่ต่อ ไม่เติม แล้วก็ไม่สร้างมันขึ้นด้วยเจตนา แค่นี้เอง 

แล้วก็เอากายนี่เป็นที่หมายที่มั่น แล้วก็ดูไปซ้ำๆๆๆ ...ไม่ใช่เราๆ นะ เป็นก้อนอาการ เป็นก้อนกอง ก้อนหนัก ก้อนเบา ก้อนแข็ง ก้อนตึง ก้อนแน่น เห็นเป็นก้อนๆ ก้อนความรู้สึก

มันก็จะเห็นเป็นก้อนขึ้น แล้วก็เชื่อในความเป็นก้อนของก้อนธาตุก้อนกาย ก้อนธรรม หรือก้อนทุกข์ แต่ไม่ใช่ก้อนเราเลย  มันก็จะเห็นชัดขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นที่มั่นที่หมายไว้ ...นี่คือฐาน

แล้วระหว่างที่มันทำความรู้ทำความเห็นกับกายอย่างนี้ จิตมันก็จะโผล่ขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ น่ะแหละ


โยม –  แต่เมื่อก่อนมันจะมีอีกแบบนึงนะคะ ถ้าเพ่งกายมากๆ มันจะไม่เห็นตัวนี้กระเพื่อมเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่มหาสติหรอก คือมันไปครอบ ...เห็นด้วยความอยากเต็มๆ

พระอาจารย์ –  ก็ทำไปน่ะ แล้วก็...เข้าใจมั้ยว่ามันจะปรับสมดุลเอง 

แล้วมันก็จะเกิดความพอดีในการวางจิต วางสติอย่างไร วางสมาธิประมาณไหน วางเจตจำนงขนาดไหน แล้วมันจึงจะเห็นอาการที่มัน...เห็นได้พร้อมกันทั้งกายและจิต


โยม – คือโยมรู้สึกว่า อย่างถ้าดูจิตน่ะมันจะไม่เห็นความอยากชัดเจน  แต่ถ้าดูกายนี่ คือมันจะมีความชัดเจน คือมันจะแข็งมาก มันจะเกร็งมาก แล้วการติดเพ่งในช่วงแรก มันก็เป็นเรื่องปกติ แล้วหลังๆ พอมันตรงนี้ มันก็จะไปเห็นสมดุล

พระอาจารย์ –  ปัญญาน่ะ มันจะปรับสมดุลเอง  ประสบการณ์หรือว่าความคล่อง การทำบ่อยๆ การทำแบบไม่ถอย ...เดี๋ยวมันจะคลายออกเองน่ะ 

ไม่ต้องมีใครมาบอกหรอก ไม่ต้องเปิดตำรามาอ้างอิงหรอก ...มันจะปรับในตัวของมันเอง ด้วยการรู้และเห็นนี่แหละ


โยม –  โยมเห็นจิตมันเหมือนกับดิ้นออกมาสู้ๆๆ แต่หลังๆ มันก็เริ่มแบบทันแล้วมันก็ยอมมากขึ้น

พระอาจารย์ –  เนี่ย เขาเรียกว่า จิตที่ผ่านการอบรมหรือได้รับการอบรม มันก็จะอ่อนตัว ไม่แข็งกระด้าง ...จะไม่กระด้าง จะไม่ดื้อ จะว่านอนสอนง่าย ไม่ดื้อรั้น ไม่ดันทุรัง

ถ้าเป็นแต่ก่อนน่ะ พวกเราที่ไม่ได้ฝึกอย่างนี้ ...กำลังคิด กำลังมีอารมณ์นี่ บอกให้มันเลิกคิด ไม่ต้องคิดสิ มันไม่ยอมหรอก มันกระด้าง มันดื้อ แล้วมันก็มีแต่จะบวกเพิ่มขึ้นไปด้วย “มึงอย่ามาห้ามกูนะ” จะเป็นอย่างนั้น

แต่เดี๋ยวนี้ พอผ่านการอบรมอย่างนี้ จิตมันจะอ่อนตัว เหมือนกับว่านอนสอนง่ายขึ้น ...แต่อาจจะมีแย็บๆ ออกไปบ้าง แต่ไม่รุนแรง แล้วก็ไม่จริงจัง แล้วก็ไม่แข็งขัน จะไม่แข็งขันออกไป

แต่มันก็ยังไม่ยอมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ...คือเห็นมั้ยว่า มันยังวางใจไม่ได้ ยังวางมือไม่ได้ ...มันแค่แกล้งๆ ยอมๆ ไปก่อน ยังอยู่ในขั้นนี้อยู่


โยม –  เมื่อก่อนเวลาใครแบบเหตุผลอะไรงี่เง่า โยมจะไม่ยอม แต่เดี๋ยวนี้คือจะเงียบๆ มากขึ้น

พระอาจารย์ –  ปล่อยผ่านได้ง่ายขึ้น


โยม –  แต่มันก็ยังมีแบบทรมานจิตใจข้างในน่ะค่ะ แต่มันก็จะเป็นบางเรื่อง

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะต้องอดทน...ต้องอดทน ...เพราะว่า "เรา" ยังกำเริบอยู่  ยังมี “เรา” กำเริบอยู่เป็นอารมณ์ ว่ามันมากระทบเรา ว่าความรู้ของเราความเห็นของเรา...ยังมี 

มันยังตั้งความรู้ตั้งความเห็นของเรามารองรับอยู่ แล้วมันไม่ตรง มันไม่แมทช์กับความรู้ความเห็นที่เราตั้งไว้ นั่นเอง มันจึงเกิดความรับไม่ได้ ต่อต้าน อยากเข้าไปเปลี่ยนไปแก้ เหล่านี้คืออำนาจของ "เรา" ยังมี


โยม –  ซึ่งโยมว่าสมัยนี้คนเรียนสูงๆ น่ะ จะเป็นกันเยอะ

พระอาจารย์ –  ธรรมดา ...การเรียนนี่ ยิ่งสูงนี่ มันพอกพูนทิฏฐิมานะ โดยที่ไม่รู้ตัวเลย

โยม –  คนดีก็มีทิฏฐิเยอะ

พระอาจารย์ –  มีหมดน่ะ ...คือการใช้ชีวิตแบบไม่รู้จักศีลสมาธิปัญญาเลยนี่ ไม่เคยเจริญเลย  ยังไงๆ ก็เป็นไปเพื่อสะสมทิฏฐิมานะหมด 

ยิ่งแก่ยิ่งมานะมาก มากขึ้น ดื้อขึ้น เห็นมั้ย เปลี่ยนแปลงอะไรยาก ไม่ยอมเปลี่ยนง่ายๆ กูถูกคือกูถูก ถ้าได้ลงความเห็นแล้ว อย่ามายุ่งกะกูเลย ..แก่แล้วจะเป็นอย่างนี้เลย

เห็นมั้ย ยิ่งอายุมาก ...ถ้าไม่อยู่ ถ้าไม่แก่ด้วยศีลสมาธิปัญญานะ  มันจะแก่กิเลส แก่ความถือตัว แก่ความอหังการ แก่มานะทิฏฐิ  จนมีคำว่า “กูอาบน้ำร้อนมาก่อนมึงนะ”

นี่เพราะทิฏฐิมานะนะนี่ มันจึงไม่ฟังอะไรเลย หรือว่าฟังแต่ว่าเปลี่ยนแปลงไปตามความเห็นคนอื่นได้ยาก หรือว่ายอมรับในความคิดความเห็นหรือคำพูดของผู้อื่นได้ยากขึ้น

แต่ถ้าเราอยู่ด้วยศีลสมาธิไปเรื่อยๆ มันจะอ่อนโยนลง ...ความเป็นเราที่กระด้างกระเดื่องหรือว่าแข็งขัน หรือว่าแข็งแรงนี่ มันจะค่อยๆ ซอฟท์ลง แล้วก็อ่อนตัวลง แล้วก็เจือจางลง 

แล้วก็หมดกำลังลงไปเรื่อยๆ จนสามารถปล่อยผ่านได้กับทุกสิ่งเลย ...ไม่มีเราเอาธุระกับอะไร กับเสียง กับรูป ทั้งที่เคยว่าดี ทั้งที่เคยว่าไม่ดี ทั้งที่เคยชอบ ทั้งที่เคยไม่ชอบ 

มันก็ปล่อยผ่าน มันเหมือนไม่มีเราออกไปแปลความหมายอะไร ...แต่มันจะค่อยเป็นไปนะ ไม่ใช่ทีเดียวเลย ...มันจะต้องผ่านการเคี่ยวกรำ อบรมด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างต่อเนื่อง

เพราะนั้นอย่างลักษณะของปัญญาวิมุติ จะเป็นลักษณะนี้ ค่อยเป็นไปอย่างนี้ ค่อยๆ เหือดแห้งหายไป ค่อยๆ ซึมหายไป ค่อยๆ หมดหายไป ทีละเล็กทีละน้อย ...ไม่ใช่ฮวบฮาบ แต่ค่อยเป็นไป

แต่มันก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า...ได้บังเกิดผลที่เปลี่ยนแปลงไปจริง  ...ซึ่งแต่ก่อนที่เคยปฏิบัติเคยกระทำมานี่ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย 

ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงกิเลส ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความยึดมั่นถือมั่น ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความมีอารมณ์ เข้าไปเป็นอารมณ์กับอะไรเลย ...มันเพียงแค่หลบลี้หนีหน้าหายไปเท่านั้น

แต่ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ ฝึกอย่างนี้ รู้ตัวไปเรื่อยๆ อยู่ในศีล อยู่ในสมาธิ อยู่ใน..."อะไรก็รู้ๆ" ...มันจะเห็นในความเปลี่ยนแปลงของกิเลส 

ความแข็งขันของกิเลส ความแข็งขันของเรา ความจริงจังมั่นหมายในทุกสิ่ง ...มันจะซอฟท์ลงไปเรื่อยๆ

นั่นน่ะคือผลในองค์มรรค ...แล้วมันเป็นของมันอย่างนั้น โดยที่ไม่ต้องไปสั่ง โดยที่ไม่ต้องไปบอกให้มันเป็น มันเป็นของมันเอง โดยอำนาจของมรรค โดยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา


(ต่อแทร็ก 15/14)

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น