วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/1 (2)


พระอาจารย์
15/1 (570601A)
1 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 15/1  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่เมื่อใดที่มันไม่ได้อยู่ในภาวะอารมณ์ดึงดูดลงไป ภาวะความคิดดึงดูดลงไป  มันเป็นภาวะที่บางๆ เบาๆ ในความคิดหรือในอารมณ์ ...นี่ ตรงนี้ต้องเอาให้มาก 

เอาให้เนื่อง เอาให้อยู่ เอาให้ต่อ ...ทรงไว้...ทรงความรู้กับทรงตัวไว้ ทรงความรู้กับความรู้ตัวไว้ คอยจับอิริยาบถใหญ่-ย่อย ...อิริยาบถใหญ่ คือ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน  

อิริยาบถย่อย ก็เช่น การเอี้ยว การหมุน การเหยียด การคู้ การก้าว การยก การเคลื่อน การกระเพื่อม การกลืนน้ำลาย การกระพริบตา  นี่คืออิริยาบถย่อย หรือความรู้สึกย่อยในความรู้สึกใหญ่ของกาย

ทำความคุ้นเคยกับการรู้ในอิริยาบถต่างๆ นานาเหล่านี้ ไม่ต้องไปพะว้าพะวงภาวนาในที่อื่นเลย ...ถือองค์กายองค์ศีลนี่เป็นองค์ภาวนาหลัก แล้วออกจากรูปแบบซะ ไม่ขึ้นกับรูปแบบ

ถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบ ก็อาศัยกายนี้เป็นองค์ภาวนา คือจะนั่งสมาธิ ...นั่งก็นั่ง หลับตาก็หลับตา  ก็จะนั่งรู้ว่ากำลังนั่ง จะทำความรู้ว่ากำลังนั่งในระหว่างที่หลับตานั่งสมาธิ

คือนั่งทำความรู้ตัว ไม่นั่งเอาความสงบ ไม่นั่งเอาปัญญาอะไร นั่งเอารู้ตัวอย่างเดียว...ว่าตัวกำลังนั่ง แล้วก็จะรู้ว่ากำลังนั่งอย่างเดียว ไม่เอาอะไรอย่างอื่น

จิตจะให้หาอะไร จิตมันแนะนำอะไร จิตมันให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้อะไร ...ไม่ฟังมัน ไม่เอากับมัน จะเอารู้ตัวอย่างเดียว นอกนั้นไม่เอา ...จนรู้กับตัวนี่มันอยู่คู่กันแบบแนบแน่น ไม่ห่าง ไม่พรากจากกัน

นั่นน่ะ เรียกว่าสมาธินี่มันอยู่ในระดับทรงตัวหรืออยู่ตัว ...แล้วออกจากท่านั่ง ก็ไม่ทิ้งการรู้ตัว จนไปถึงที่นอน จนไปถึงการเอนตัวลงนอน จนไปถึงล้มตัวลงนอน จนถึงนอนกลิ้งเกลือกไปมาบนที่นอน 

ก็ยังรู้ตัวจนกว่ามันจะหลับไป ...ตื่นขึ้นมาก็ตั้งแต่ลืมตาขึ้น ขยับ มือหยิบเอาผ้าออก ... คือประเภทรู้ว่าลืมตาขึ้นคงไม่รู้ถึงขนาดนั้นหรอกพวกเราน่ะ

แต่เวลาเราฝึกนี่เรารู้นะ เราฝึกนี่ รู้จนเรียกว่าไม่มีอะไรที่ไม่รู้ ในองค์กายนี้ ไม่ว่ากายมันจะอยู่ลักษณะไหนมีอาการใด ไม่มีว่างเว้นเลย นับเป็นอณูได้ ไม่ได้นับเป็นวินาทีเลยนะ

ความรู้มันจะเต็มอยู่ในองค์กายนี้เลย ไม่ว่ากายนี้จะอยู่ในท่าไหน อิริยาบถใหญ่-ย่อยอย่างไร ไม่มีคำว่าคลาดเคลื่อนไปจากสติ คลาดเคลื่อนไปจากการระลึกรู้ในลักษณะกายนั้นๆ ได้เลย

เพราะนั้นขนาดหลับตาไปแล้วลืมตาปั๊บนี่ สติแรกจับเลย ตั้งแต่จิตตื่นขึ้นมา ฟื้นจากการไปพักกายพักขันธ์นี่ พอลืมตาปึ้บนี่ รู้ตั้งแต่ลืมตา เปลือกตาขยับขึ้นปึ๊บนี่ รู้ แล้วก็จับความรู้สึกตั้งแต่นั้นมา จนหลับ 

แล้วก็ไม่เคลื่อนจากกายจากรู้เลย จนมันเป็นอัตโนมัติ ... ถ้าเป็นถึงระดับนี้ มันจะเป็นอัตโนมัติ ...หมายความว่า ไม่ใช่แมนน่วล (manual) 

อย่างที่พวกเราทำนี่คือแมนน่วล คือยังต้องกำหนด ยังต้องคอยระลึก ...ถ้าไม่ค่อยกำหนด ไม่ค่อยระลึก มันจะหาย  ถ้าไม่คอยรักษาประคองไว้ มันจะหลุด

กายมันก็จะหายไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวว่ามันหายไปตอนไหนกับอะไรน่ะ กว่าจะรู้ใหม่อีกครั้งนึงก็ทิ้งช่วงเวลาเป็นชั่วโมงหลายชั่วโมง ถึงกลับมา...เอ๊อะ มันหายไปตั้งนาน ...เนี่ย มันหายตอนไหนยังไม่รู้เลย

เราก็เป็น เราก็ฝึกอย่างนี้ ไม่มีใครไม่เป็น ไม่มีใครไม่ผ่าน ...แต่ว่าสิ่งที่เรามี สิ่งที่เราทำคือความเพียร คือไม่ล้มเลิก ไม่ล้มเลิกแล้วก็ไม่รามือ ...เอาใหม่โว้ย นับหนึ่งใหม่ รู้ใหม่

ไม่มาพิรี้พิไร ไม่มาคร่ำครวญว่า...มันหายไปตั้งนาน จะทำยังไงกับมันดีน้อ ไปให้อาจารย์ช่วยดีมั้ย ...นี่ ไม่มี ไม่มีพิรี้พิไรน่ะ หรือไปหากุศโลบายวิธีที่จะมาทำการสนับสนุนให้รู้ตัวนานๆ ไม่มี

พอรู้ตัวว่าหายก็เอาใหม่เลย นี่เรียกว่า ยูเทิร์น (u-turn) ทันทีเลย ...ไม่มาเสียเวลาคร่ำครวญหวนไห้ พิรี้พิไร อาดูรอาวรณ์ เป็นเดือดเป็นร้อนกับสิ่งที่มันล่วงไปแล้ว...ว่าทำไมมันถึงหายไปได้ยังไงวะ

แล้วก็เริ่มใหม่ๆๆ วันนึงนี่เริ่มใหม่เป็นหมื่นเป็นแสนครั้งน่ะ ...แต่ไม่หยุด ลืมตรงไหนรู้ตรงนั้น รู้ตรงนั้นต่อ ต่อได้เท่าที่ต่อ นานเท่าที่จะทำได้ ช่างหัวมัน หาย ช่างหัวมัน เอาใหม่

จะนาน จะช้า ก็เอาใหม่ คือเราไม่ล้มเลิก ...เนี่ย เราก็พยายามจะสอนให้ทุกคนมีนิสัยเยี่ยงเรากันทุกคน ...ก็หานิสัยเยี่ยงเราไม่ค่อยเจอน่ะ มันขี้เกียจ มันขี้อ้าง มันมักจะอ้างนั้นอ้างนี้

ต่อรองด้วยนะ ต้องอย่างนั้นซะก่อน ต้องอายุประมาณนั้น เอ้า ต้องให้งานมันอยู่ในระดับนี้ก่อนแล้วมันจะมาทำได้ เนี่ย ต่อรองด้วยนะ ...แล้วก็ยอมให้มันมีข้อต่อรอง ไม่ทำลายข้อต่อรอง

คือการปกครองกายใจ การปกครองขันธ์ เป็นการปกครองแบบระบบเผด็จการเต็มรูปแบบ ...ด้วยศีลสมาธิปัญญานี่ เป็นเผด็จการเต็มรูปแบบเลยนะ ไม่มีรอมชอม ไม่มีปรองดองกับกิเลส...ไม่มี

คือมันเป็นสภาวะที่คัดกรองออกโดยตรง ไม่มียอมกัน ไม่มีอ่อนข้อให้กัน ไม่มีคำว่าสมานฉันท์ ไม่มีคำว่าต่างฝ่ายต่างเสีย ต่างฝ่ายต่างได้...ไม่มี  ...ศีลสมาธิปัญญานี่ถือเป็นระบบเผด็จการเต็มรูปแบบ

นี่ จึงจะเข้าไปลบล้างอำนาจที่แท้จริงของกิเลสอาสวะภายในได้ ...ถ้ายังปล่อย "เออๆ เดี๋ยวก่อน" ...นี่เขาเรียกว่ารอมชอมนะ เขาเรียกว่าปรองดองกับกิเลสอยู่นะ เขาเรียกว่ายังอ่อนข้อให้กิเลสอยู่นะ

อ่อนไปๆ เดี๋ยวคราวนี้มันขี่เลย ขี่คอเลย ขี่หัวเลย บงการชี้นิ้วเลย  จะเอาอะไรล่ะ มันก็จะสร้างความอยากได้นั้น อยากเป็นนี้ อยากให้เกิดนั้น อยากให้เป็นอันนี้

แล้วก็จะต้องตามมันต้อยๆๆ ตามกิเลสความอยากความไม่อยากต้อยๆ แบบหลีกไม่ได้ เลี่ยงไม่ได้เลย ...นี่ถ้ายอมมันบ่อยๆ น่ะ มันก็จะมีกำลังขึ้นมาปกครองเลย ปกครองขันธ์ ปกครองกายใจ

แล้วก็อาศัยความคิดความเห็นของมัน...ว่าเรา คือเรา เป็นเรา ไม่มีเป็นอื่นน่ะ มันเป็นอย่างแข็งขัน อย่างแน่นหนาถาวรเลย

นั่นแหละ ถ้ากิเลสมันได้ใหญ่ได้ครองแบบเต็มตัวเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ ...นั่นแหละ ผลที่ได้รับก็คือมีแต่ทุกข์กับทุกข์ มีแต่ทุกข์มาก ทุกข์สั้น หรือทุกข์ยาว ไม่มีสุขหรอก

แต่ถ้าเราแข็งขืนกับมัน ตลอด ...ไม่ฟังหรอก จิตน่ะ ความเห็นของเราน่ะ ...อะไรที่มันออกจาก “เรา” น่ะ พยายามอย่าเชื่อมัน อย่าฟังมัน อย่าอยู่ใต้อำนาจมัน

หรือถ้าอยู่ ถ้าใต้ ถ้าทำตาม ก็ต้องทำด้วยระมัดระวังและมีสติอย่างยิ่งยวด ...แบบรู้น่ะว่ากำลังทำตามความอยากอยู่ แต่ว่ากูห้ามไม่ได้น่ะ ...ก็ทำ

แต่ว่าในขณะที่ทำตามความอยากนั้นๆ จะต้องมีกอปรด้วยสติอย่างยิ่ง...ระหว่างการกระทำและคำพูดนั้น  ...มันจึงจะมีจุดจบในการกระทำ จะไม่มีการเยิ่นเย้อ ยืดยาว

และต่อไปมันก็จะกระชับได้ มันก็จะมีกำลังของศีลสติสมาธิที่แข็งแรงที่จะทวน...ทวนอำนาจความอยากของจิตเรา ทวนอำนาจความอยากต่างๆ นานา

นี่ ทวนอำนาจความอยากพูด อยากทำ  ทวนอำนาจความอยากแสดงอารมณ์ แสดงอาการความรู้สึกอย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ...มันก็จะค่อยๆ เก็บอารมณ์ เก็บความรู้สึกไว้ได้แต่ผู้เดียว

ไม่เจือจานไปภายนอก ไม่แจกจ่ายไปผู้อื่น ไม่ปรากฏแสดงให้ผู้อื่นรับรู้รับเห็น ...เนี่ย มันก็เก็บงำอารมณ์ เก็บงำความรู้สึก เก็บงำความคิด เก็บงำความเห็น มันจะเริ่มเก็บได้น่ะ

แล้วตอนที่มันเก็บน่ะ ก็หมายความว่าไง...รับทุกข์แต่ผู้เดียว ...นี่ทางการแพทย์เขาบอกว่าเป็นคนเก็บกดล่ะมั้ง แต่ทางศาสนาพุทธ ก็กดมันเข้าไว้ จนมันโงหัวไม่ขึ้น แล้วมันจะสลายอยู่ภายใน

ให้มันสลายอยู่ภายใน ไม่ไปสลายกับวัตถุบุคคลภายนอก รู้จักมั้ย เวลาเกิดอารมณ์น่ะ เรามักจะไปสลายกับวัตถุ อารมณ์ สัตว์บุคคลภายนอก

เวลาโกรธ เจอหมาก็เตะ เครียดโว้ย เครียด  เจอกระป๋องเจอขวด...เตะ เจอจานช้อนส้อม เขวี้ยงแตก ...เนี่ย มันระบายอารมณ์ เข้าใจมั้ย ระบายอารมณ์กับวัตถุแล้วมันรู้สึกคลาย

เจอผัวด่าผัว เจอเมียด่าเมีย เจอลูกน้องด่าลูกน้อง เจอใครที่มันมาเข้าข่ายเรดาร์ กูด่าหมดแหละ แล้วมันสบาย ...นี่เขาเรียกว่ามันเจือจานกิเลสให้ผู้อื่น แล้วมันรู้สึก...เออ หายแล้ว หายเครียดแล้ว

มึงหายคนเดียว แต่คนอื่นเขาไม่หายกับมึงนะ แบบ "มึงอย่าเผลอนะ เดี๋ยวทีกู" อะไรอย่างนี้ ...มันแก้กันไม่จบ แล้วก็ทำอย่างนี้จนเป็นนิสัย แล้วก็เข้าใจว่า เออ ดี มันไม่เก็บกด  ก็แจกจ่ายไปทั่วสามโลกธาตุเลย

อย่าลืมว่า...มีหนี้ต้องชดใช้นะ ...นี่คือกฎ...กฎเหล็กนะ  กฎธรรมชาติหรือกฎแห่งกรรมนี่คือกฎเหล็กนะ ไม่มีใครมาเปลี่ยนกฎนี้ได้เลย เพราะกฎนี้จะไม่มีคำว่าลูกหนี้เอ็นพีแอล(NPL) จะไม่มีหนี้สูญนะ

ต้องคืนทุกเม็ด พร้อมดอก เมื่อเวลาเพิ่ม ...น่ากลัวนะกรรม ...เราไม่รู้หรอกเราทำอะไรมาเท่าไหร่ เราเกิดมานี่ยังไม่รู้เลยว่ากี่ภพกี่ชาติ แล้วในระหว่างที่เกิดมาแต่ละภพแต่ละชาติ เราทำอะไรไว้บ้างกับใคร

ไม่ต้องไปรันนิ่งนัมเบอร์เลย นับไม่ถ้วนเลย ...โจทก์นี่เพียบ จำเลยก็เพียบ  ตัวเองก็ตกเป็นทั้งโจทก์ ตัวเองก็ตกเป็นทั้งจำเลย จนงงกันไปหมดน่ะ

แล้วเหล่านี้มันจะเป็นตัวที่มากำหนดวิถีในปัจจุบัน...ให้จะต้องพบ จะต้องเจอ ในสิ่งที่คนอื่นเขาไม่เจอ ...แต่กูดันเจอคนเดียว ทำไมลงแต่กูวะ อย่างนี้ ...แล้วมันไม่มีคำตอบ มันหาคำตอบไม่ได้ 

ก็เลยไปหาหมอดู เอ้า หมอดูก็บอกวิธีแก้เคล็ด สะเดาะเคราะห์สิ ปล่อยปลา ปล่อยเต่า ...  เออ มึงแก้กันง่ายๆ อย่างงั้นนะ ก็แก้กันโง่ๆ เง่าๆ กันไป

แต่การกระทำคำพูดของเราก็ยังไม่ได้ระวังรักษา ก็ประกอบกรรมซ้ำซากอีกมันจะหมดเมื่อไหร่ล่ะ  ...ไอ้ที่แก้น่ะแก้ได้จริงรึเปล่า หรือว่าผัดวันประกันพรุ่ง ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ

ก็เรียกว่าทำบุญ ผลบุญเกิด รับผลของบุญก่อน บุญแซงหน้า อกุศลกรรมไว้หลัง แค่นั้นแหละ พอบุญหมด อกุศลกรรมมาเข้าคิว ...เอ้า มันจะหมดยังไง มันจะหมดกันได้ยังไง

ไม่มีอะไรแก้กรรมได้ ยิ่งแก้ยิ่งโง่ ยิ่งแก้ยิ่งมีความอหังการ...ว่ากูเหนือกรรมไง จะทำอะไรก็ได้ เดี๋ยวก็หาทางแก้เอา 

มึงแก้กันอย่างงั้นไง มันถึงเละเทะเลอะเทอะ ทั้งผู้ภาวนาและไม่ภาวนา ...มันภาวนานอกศีลนอกมรรคก็เละเทะอย่างนี้แหละ 

แต่ถ้ายินยอม เข้าใจคำว่ายินยอมมั้ย ...แบบลูกผู้ชายน่ะ กล้าทำกล้ารับสิโว้ย ทำเท่าไหร่ก็รับเท่านั้น ไม่มีเกินไม่มีขาดนะ...กรรมนี่ เขาเรียกว่ายุติธรรมที่สุดแล้ว

ศาลน่ะยังไม่ยุติธรรม เพราะหัวใจของศาลมันมีกิเลส มันเลือกข้างได้ ต่อให้เป็นศาลจะตีความยังไงก็ได้ ...เพราะนั้นมันไม่มีหรอกความยุติธรรมในคน

แต่กรรมนี่ยุติธรรม เพราะมันไม่มีความเป็นบุคคล มันเป็นกฎ มันเป็นระบบ มันเป็นวัฏจักร มันเป็นพลังของธรรมชาติที่มันเป็นไปโดยอำนาจของธรรมชาติที่แท้จริงของเขา

จึงไม่มีคำว่าบิดพลิ้วบิดเบือนเลย ยังไงยังงั้น ...ไม่มีเลือกว่า...เออ เห็นมันกำลังจะตายแล้วก็อ่อนข้อให้มันหน่อยนะ ด้วยความสงสาร...ไม่มี ซ้ำเลยๆ

ตราบใดที่อำนาจกรรมนั้นส่งผลมาถึง...ก็ซ้ำ  แล้วที่ก่อกรรมอีกส่วนๆ ก็มาเป็นลูกระนาด มันต่อเนื่องสืบเนื่อง มันก็ซ้ำลงมา ...นี่ ไม่มีใครไปจัดระบบกรรมได้จริงเลย


(ต่อแทร็ก 15/2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น