วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/36 (1)


พระอาจารย์
15/36 (570729C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  เวลาเดินจงกรมน่ะครับอาจารย์ เหมือนกับยังแบบไม่เข้าทางเท่าไหร่  ก็เลยตอนนี้ยังใช้วิธีอดทนทำไปเฉยๆ ครับ แล้วก็ผลยังไม่รู้ ก็เลยกะว่าจะทำไปเรื่อยๆ ก่อนครับ

แล้วก็เวลาจะเยอะ-น้อย ยังบอกไม่ได้ครับ แต่จิตมันจะตั้งมั่นรึเปล่า ก็ยัง...

พระอาจารย์ –  อะไรไม่สำคัญ ขอให้มีกายไว้


โยม –  ก็คือพยายามเห็นมันเดินไปมาอยู่

พระอาจารย์ –  แค่นั้นแหละ ดูแค่อาการกาย ...มีแต่กายอย่างเดียวก็ช่าง


โยม –  เมื่อก่อนมันจะเหมือนกับว่าเรารู้สึกตัวได้บ่อย ระหว่างวันนี่มันจะเห็นอิริยาบถอยู่แล้วครับ แต่พอเดินจงกรมในรูปแบบนี่ ความมั่นคงมันแตกต่างกัน ก็เลยจะปรึกษาอาจารย์ว่า ก็ควรทำให้มากไว้หรือยังไง

พระอาจารย์ –  ทำให้มากไว้


โยม –  แต่มันก็ต้องต่อสู้กับความขี้เกียจ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ...เดินขนาดไหนล่ะ กี่ชั่วโมง


โยม –  อู้หู อาจารย์ ชั่วโมงหนึ่งก็แย่แล้วครับ

พระอาจารย์ –  โธ่ ...เวลาเราเดินจงกรมนี่ ไม่ต่ำกว่าสี่ชั่วโมง


โยม –  ก็หืม...อาจารย์ครับ ผมก็พยายามอยู่

พระอาจารย์ –  วันพระวันโกนนี่ เราเดินทั้งคืน


โยม –  ครับอาจารย์ คือยิ่งเดินมาก เดี๋ยวมันมั่นคงขึ้นมาเอง

พระอาจารย์ –  เออ ไม่ต้องกลัวว่าจะเดินมากไป


โยม –  ผมไม่ได้กลัวว่าเดินมากไปครับ แต่มัน..

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นตอนเดินจงกรมนี่ แค่หนึ่งชั่วโมงไม่พอ เข้าใจมั้ย ไม่พอที่จะกำราบจิต เพราะจิตมันจะอย่างนี้ แล้วมันจะสับสน ...เราจะต้องอดทนฝืนเดินไปอย่างงั้นน่ะ 


โยม –  เหมือนหุ่นยนต์เดินไป เดิมมันปวดไปหมด แล้วผมก็เดินแหลก ไม่สนใจ

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ เดินเข้าไปเหอะ ไม่ได้อะไรหรอก เดินไป  ดีกว่านอน ดีกว่านั่ง อะไรอย่างนี้ ...ให้มันมีการเคลื่อนไหว มันก็รู้บ้างเห็นบ้างน่ะ รู้ไป


โยม –  ครับ เหมือนกับ...จิตมันเหมือนค่อยๆ ตั้งทีละน้อยๆ ก็เดินไปโดยที่ไม่สนใจอะไรเลย  มันตั้งของมันเองโดยที่ไม่ต้องสังเกตจิตเลยครับ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ เดินไปเถอะ เพราะยังไงๆ มันก็เห็นความรู้สึกกระทบ กระแทก กระเทือนอยู่แล้ว ...นั่นน่ะ จิตก็จะค่อยๆ ตั้งมั่น รวมขึ้นมา


โยม –  ครับ ก็ไม่รู้กำลังมันมาจากไหน มองไม่เห็น

พระอาจารย์ –  แต่ว่ามันใช้เวลานาน เข้าใจมั้ย ...ทีนี้พอมันตั้งได้ที่ได้ฐานแล้วนี่ ปึ้บ ทีนี้มันจะเดินด้วยความคล่องเลย อยู่ตัวเลย


โยม –  อ๋อ จิตมันก็จะตั้งรู้ขึ้นมา

พระอาจารย์ –  รู้ขึ้นมา ทีนี้มันเดินไม่อยากเลิกเลย ...แต่ไอ้ตอนช่วงต้น กว่าที่มันจะก้าวข้าม...ไอ้ตอนที่เดินแล้วอยากจะเลิกตลอด


โยม –  ถ้ามันถึงจุดที่มันติด...สตาร์ทติดปุ๊บ มันจะอยากเดิน ไม่อยากเลิกแล้ว

พระอาจารย์ –  ทีนี้ไม่เลิกแล้ว ...มันจะต้องผ่านจุดนั้นไปทุกครั้ง อย่าไปยอมๆ ...เพราะนั้นเดินเข้าไปเหอะ เดินไป จะได้อะไร ไม่ได้อะไรก็เดินไป ดีกว่าไปนั่งจมแช่อยู่ในอารมณ์


โยม –  ตอนนี้ก็คือเดินจงกรมกับอิริยาบถสามครับที่ทำได้ แต่ผลไม่ค่อยได้อะไรครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องหวังผลมันมาก


โยม –  แต่อรูปภพ ผมยังมีปัญหาอยู่นะครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปสนใจมันแล้ว


โยม –  มันเวลาเข้าอรูปปุ๊บ มันจะมีโมหะคลุมปึ้บขึ้นมาอย่างนี้ครับ

พระอาจารย์ –  รีบละทันที


โยม –  พอเห็นโมหะปุ๊บนี่ มันเหมือนไม่ทันแล้วครับอาจารย์ โมหะคลุมปึ้บ หมายความว่าเราติดอรูปภพเรียบร้อย

พระอาจารย์ –  เดิน เคลื่อนไหว ทำความรู้สึกในกายให้ปรากฏ สูดลมหายใจแรงๆ อะไรก็ได้ ...อย่าไปพะวง อย่าไปดันทุรังอยู่กับมัน 

อย่าไปอยู่กับโมหะ อย่าไปอยู่กับอะไร อย่าไปทำความแจ้งชัดในมัน...ไม่ได้ ...ละเลิกทันที โดยทำอาการของกายปัจจุบันให้ปรากฏ

เพราะนั้นในท่าทางนั่ง กำลังนั่งหรืออะไรก็ตาม สูดลมเลย สูดลมแรงๆ เข้าไป แล้วก็ทำความรู้สึกกับลมเข้าลมออกเลย  แล้วมันจะค่อยๆ สลายอารมณ์เอง อารมณ์จะสลายไปเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปหรืออรูป


โยม –  อันนี้มันเป็นอุบาย ผมก็ใช้วิธีนี้อยู่ครับ แต่ว่าบางครั้งถ้าเยอะ หรือเรารู้ตัวช้าเกินไป ก็อาจจะไปเดินหรืออะไร

พระอาจารย์ –  ลุกหนีเลย เออ ทำอะไรแทนเลย ...อย่าไปจมแช่อยู่กับมัน ทั้งในแง่ทำ ทั้งในแง่ละ ทั้งในแง่หาความจริงกับมัน ...ไม่เอาเลย 

เพราะว่ากำลังของศีลสมาธิปัญญาเราไม่พอที่จะไปสู้กับอารมณ์อย่างนี้ ไม่สามารถไปแยกแยะอารมณ์แบบนี้ได้

โยม –  ครับ ผมก็ไม่สู้ ...แสดงว่ามันก็ไม่ค่อยติดอรูปแล้ว


โยม (อีกคน)  พระอาจารย์ แนะนำอะไรโยมเป็นพิเศษบ้างไหมครับ เพื่อความเจริญก้าวหน้า

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วว่ารู้ตัวให้มากที่สุด ...แล้วก็อะไรที่มันจะเป็นเหตุให้เกิดความรู้ตัวได้น้อยนี่ หรือมีความสำคัญกว่าความรู้ตัวนี่  ต้องกล้าที่จะละมัน ทิ้งมัน ไม่เอากับมัน ไม่ไปเอาธุระกับมัน

คือในตัวจิตกิเลส จิตเรานี่  มันยังมีความเห็นอะไรต่างๆ สำคัญกว่าการรู้ตัวอยู่เยอะ ...การกระทำ เหตุการณ์ เรื่องราว นี่ มันยังมีอีกมากเลย...ที่มันให้ความสำคัญกว่าคำว่ารู้ตัว

เราจะต้องคอยเปลี่ยนค่าให้ความสำคัญกับการรู้ตัวนี่ ให้มากกว่าไอ้สิ่งที่เคย...ที่จิตเรานี่ให้ความสำคัญกับมันมาก ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ควร สิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่ช่วยเกื้อกูล

อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่จิตมันให้ความสำคัญ  ตัวนี้...ที่จิตมันให้ความสำคัญทั้งหลายนี่ คือความดีทั้งนั้นแหละ คือบุญๆ คือความสุขในที่ทั้งปวง สำคัญกว่ารู้ตัวหมด

บอกแล้วว่าต้องแลก ...พอมารู้ตัวเข้าจริงๆ นี่ มันจะเป็นภาวะที่ปราศจากบุญและบาป  เพราะในขณะที่มันรู้ว่านั่ง กำลังนั่งนี่ ...มันจะไม่มีบุญ-บาปแทรกขึ้นมาได้เลย 

ระหว่างการนั่งจะไม่เกิดบุญและไม่เกิดบาป ไม่เป็นความรู้สึกที่เราพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจอะไรหรอก มันจะไม่มี ...มันจะมีแต่กาย มีแต่รู้ แล้วมันจะดูเหมือนไม่มีค่า 

เพราะมันไม่มีเป็นบุญอย่างชัดเจน ไม่เป็นบาปอย่างชัดเจนอะไร ...ตรงนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ให้มาก มากกว่าไอ้ความสำคัญอย่างอื่นที่จิตมันเคยให้ค่า จิตเรานี่เคยให้ค่า แล้วกำลังให้ค่าอยู่

เช่นเวลาเราไม่พอใจนี่ แล้วมันอยากจะพูดอะไร ให้ร้าย ให้เสียดแทงใจเขานี่ ...แล้วมันให้ความสำคัญกับการที่จะพูด ต้องการพูดตามอารมณ์นี่ ให้มันเกิดผลแก่เราอย่างนั้นอย่างนี้ 

หรือให้เขาเจ็บช้ำแล้วเราจะได้ผลประโยชน์ในความพึงพอใจอย่างนั้นอย่างนี้ เนี่ย มันให้ความสำคัญอย่างนี้มาก มากกว่าที่จะเอาการรู้ตัวมารู้ตัวแทนตรงนั้น 

นี่คือการที่ให้ค่าให้ความสำคัญ นี่ในแง่บาปอกุศล ...แม้แต่อกุศลนี่ มันก็ยังให้ค่าให้ความสำคัญกว่ารู้ การรู้ตัว


(ต่อแทร็ก 15/36  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น