วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/34 (1)



พระอาจารย์
15/34 (570729A)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  ช่วงนี้เหมือนแม่เขาภาวนาดีขึ้นครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  เป็นยังไงดีขึ้น


โยม –  เหมือนว่าจิตเขามีกำลังมากขึ้นอะไรอย่างนี้ครับ เหมือนกับว่ามันรู้ได้ชัดเจนขึ้นอย่างนี้ครับ แต่ผมก็ไม่ชัวร์เท่าไหร่ ผมก็เลยมาหาอาจารย์ เผื่อว่าได้คุยกับแม่ จะได้บอกว่ายังไม่ดีนะ หรือว่าดีอยู่แล้ว อย่างนี้ครับ บอกว่าพระอาจารย์ฝากบอก

พระอาจารย์ –  ก็ขอให้มันรู้ แต่ว่ามันต้องรู้อยู่กับที่กับฐาน อย่าให้มันไปรู้อะไรเรื่อยเปื่อย  ต้องรู้อยู่ในฐาน...ฐานกาย ฐานขันธ์ อย่าไปรู้ลอยๆ 

รู้นี่ต้องมารู้กับธรรม...มีคู่ ต้องจับคู่ จับคู่รู้เห็นอะไร มันต้องมีอะไรเป็นสิ่งที่ถูกรู้ด้วย


โยม –  แปลว่ายังไม่มั่นคงดี

พระอาจารย์ –  ถ้ามันเป็นรู้ลอยๆ อย่างนี้  ถึงจะรู้ชัดในตัวมันเองขนาดไหนก็ไม่มีประโยชน์


โยม –  จะได้บอกแม่เขาถูก ว่ามันยังไม่มั่นคงพอ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ...เพราะนั้นมันยังต้องรู้กับสิ่งหนึ่ง ยังต้องเรียน เหมือนกับมันต้องมีตำราเรียนน่ะ ถ้ามันไม่มีตำราเรียน มันจะเอาความรู้มาจากไหน เอาความรู้ความเข้าใจอะไร 

เพราะนั้น มันจะเป็นตัวรู้ลอยๆ ว่างๆ ไม่ได้ 


โยม –  ครับ เดี๋ยวผมไปบอกแม่ให้

พระอาจารย์ –  มันก็มีความสุขความสบายดี รู้แต่กับสภาวะที่มันอย่างนี้


โยม –  แสดงว่าจิตผู้รู้ยังไม่แข็งแรงเท่าไหร่

พระอาจารย์ –  ยังไม่เรียกว่าเป็นจิตผู้รู้ด้วยซ้ำ ...ถ้ามันดวงจิตผู้รู้นี่ ถ้าเป็นดวงจิตผู้รู้จริงๆ มันจะเป็นดวงจิตที่มันประกอบด้วยศีลสมาธิปัญญาอยู่ในตัวของมัน

เพราะนั้นเมื่อมันมีศีลสมาธิปัญญาอยู่ในตัวของมันนี่ มันจะพรั่งพร้อมทั้งสิ่งที่รู้ ทั้งสิ่งที่รู้อยู่ ...แล้วก็ชัดในสองสิ่ง มันจะมีความชัดในสองอย่าง ไม่ใช่ชัดในที่ใดที่หนึ่ง

เพราะนั้นถ้ามันไปรู้อย่างเดียว อยู่ได้ไม่นาน


โยม –  ของผมครั้งที่แล้ว เดินจงกรมทุกวันครับ แล้วอาจารย์ก็เหมือนกับบอกว่ายังไม่ดีเท่าไหร่  คราวนี้เลยไปถืออิริยาบถสามเจ็ดวัน หยุดเจ็ดวันครับอาจารย์ แต่ว่ายังไม่ได้มาขออนุญาตแจ้งให้อาจารย์ทราบ ใจก็ยังอยากจะทำต่อไปครับอาจารย์ อีกใจก็กลัวอาจารย์จะห้าม

พระอาจารย์ –  ห้ามทำไม


โยม –  ก็ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้ จิตมันก็ไม่ได้ดีขึ้นหรือแย่ลงนะอาจารย์

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ความเพียร ทำไปเถอะ แต่ว่าอย่าไปทำเพื่อให้มันได้สภาวะ


โยม –  ครับ รู้อยู่แล้วว่ามันคงไม่ได้สภาวะอะไร เพียงแต่ว่าก็ตอนแรกใจก็ตั้งใจว่าจะถวายพระพุทธเจ้าอย่างเดียว เหมือนกับว่า เออ มีการกระทำนะ มีการตั้งใจ มีการแบบ..ชำระกิเลส อดทนต่อสู้อะไรอย่างนี้ครับอาจารย์ ก็เหมือนกับว่าเป็นคนดีกับเขาบ้างน่ะครับ

พระอาจารย์ –  อือ คือต้องทรงน่ะ ให้มันมีการเพียรคือทรงสภาพศีลสมาธิปัญญาให้มันต่อเนื่อง มันไม่ใช่ว่าให้ไปได้สภาวะใดหรือไปเห็นสภาวะใด

แต่ว่าทรงรู้ทรงเห็นกับสภาวะปกติธรรมดาของกาย ปกติธรรมดาของขันธ์ ถ้ามันทรงอยู่กับกายได้นี่ รู้นี่ๆ ดวงจิตผู้รู้นี่ ด้วยสติที่มันรักษา สัมปชัญญะที่มันคุ้มครอง มันเกิดความต่อเนื่อง

แล้วมันทรงรู้เห็นอยู่กับกาย ด้วยความสม่ำเสมอต่อเนื่องนี่ มันจะเห็นอาการของขันธ์นี่ ท่ามกลางกายใจ มันจะปรากฏขึ้นมาด้วยความเป็นปกติของมัน

แล้วมันก็จะเกิดการรับรู้รับทราบ กับทุกสิ่ง กับทุกสภาวะในขันธ์นี่ ตามความเป็นจริง โดยที่มันไม่ต้องไปแยกแยะพิจารณาค้นหาอะไรเลย


โยม –  ครับ ไม่ได้แยกแยะอะไร

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะ มันก็จะเรียนรู้ขันธ์ มันก็จะเป็นการเรียนรู้ขันธ์...โดยขันธ์เขาจะแสดงอาการให้เรียนรู้ไปตามลำดับลำดาของเขาเอง

เพราะนั้นในท่ามกลางการเรียนรู้นั้นน่ะ มันจะไม่เกิดสภาวะอะไรหรอก ...แต่มันจะมีภาวะอย่างหนึ่งที่มันเกิดลึกซึ้งเข้าใจในสภาพขันธ์ที่แท้จริง ว่ามันเป็นอย่างนี้ๆๆ มันเป็นอย่างนี้เอง

มันไม่ได้เป็นอย่างอื่นเลย มันเป็นอย่างนี้ๆ มันก็เป็นแค่นี้ มันก็เป็นอย่างนี้ ...เนี่ย มันก็เห็นแต่สภาวะขันธ์ตัวเจ้าของมัน อะไรปรากฏผุดโผล่ขึ้น มันก็เพียงแค่รับรู้รับทราบแล้วก็วาง


โยม –  แสดงว่าช่วงนี้สติมันเร็วขึ้นแล้วใช่ไหมอาจารย์ เพราะว่าเวลามันนั่งสัปหงกเอา แล้วมันปึ้บ มันก็เหมือนกับมันไม่ได้นอนยาว พอมันชั่วโมงหนึ่งหรืออะไรอย่างนี้ มันก็ดีดตัวขึ้นมาดู  

บางทีก็เจ็บอะไรอย่างนี้ เจ็บ เมื่อย ง่วง ใช้นั่งเอา  ก็รู้สึกมันก็ดีเหมือนกัน แต่ว่าพอกลับเจ็ดวันที่นอน คราวนี้ก็กลายเป็นหลง มึน มากกว่าเดิม แต่จะให้รวดเลยอย่างนี้ ใจก็ยังไม่กล้า กลัวมันจะผิดสัจจะ

พระอาจารย์ –  ตามกำลัง


โยม –  ตอนนี้มันจำได้ง่ายดีครับ เจ็ดหยุดเจ็ด ตอนแรกก็เจ็ดหยุดหนึ่ง หรือเจ็ดหยุดสาม กำลังคิดอยู่ แต่เจ็ดหยุดเจ็ดมันจำง่าย ว่านี่ต้นสัปดาห์นะ ก็พออีกสัปดาห์หนึ่งก็ ใจก็คลิกขึ้นมาว่า เออ เดี๋ยวสัปดาห์หน้าจะได้นอนแล้ว 

พอจะพลิกมาเป็นสัปดาห์ที่จะต้องนั่ง ก็กลัวอีกแล้ว แต่จะฮึกเหิมเป็นบางครั้ง สัปดาห์แรกน่ะครับยากที่สุด คราวนี้มันเหมือนมีทุนแล้ว พอจะถึงสัปดาห์ที่จะต้องนั่งนี่ มันบอก เอ้ย เคยทำได้แล้วนี่ มันก็เลยกล้าหาญขึ้นมา

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะ เรียนรู้ทุกขเวทนาไป


โยม –  ก็พอใช้ได้ครับอาจารย์ แต่จิตมันไม่ได้เดินเข้าทางที่ดีเท่าไหร่ครับ ไม่ได้มีอะไรแปลกใหม่ แต่ศีลสมาธิปัญญาก็เร็วขึ้นมาอีกหน่อย แต่ยังไม่มากพอ

พระอาจารย์ –  ถ้ามันมากพอ พรักพร้อมพอ มันก็จะเกิดความต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย


โยม –  ยังขาดเยอะเลย ระหว่างวันเอย อะไรเอย นี่ยังไป เละ

พระอาจารย์ –  ต้องฝึกมากๆ ช่วงไหน อาการใดที่มันขาดหายไป


โยม –  เผลอไปคิดบ่อยครับ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ก็ต้องทัน แล้วก็เติม..เติมสติสัมปชัญญะลงไปตรงนั้น ...ที่นี้ว่าถ้ามันคอยใส่ใจระวังช่องว่าง อุดช่องว่างรอยโหว่ไว้ จิตมันก็จะตั้งมั่นขึ้นเอง ตั้งมั่น มีกำลัง

ทีนี้เมื่อมันตั้งมั่น อุดรอยโหว่รอยรั่วที่ไหลไปไหลมา เผลอเพลินไปมานี่ จิตมันก็เหมือนกับถูกซีลไว้น่ะ ซีลไว้อยู่ภายใน ...มันก็มั่นคง มีกำลัง

คราวนี้ความรู้ชัดเห็นชัดในสภาพขันธ์โดยรวม มันก็จะเห็น มันไม่จำเพาะแต่กายแล้ว มันเห็นทุกองคาพยพของขันธ์ เห็นทุกสภาพขันธ์ ...แล้วก็มันเห็นด้วยความที่ไม่เข้าไปมี ไม่เข้าไปเป็นกับมัน

คือมันเห็นแบบไม่มีความเข้าไป มันเห็นแบบลักษณะที่ไม่มีเราเข้าไปหมายมั่นกับอาการ ในยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง มันก็เห็นกลางๆ เห็นไป ตรงนั้น

ถ้าเห็น..เรียกว่าอยู่ในสภาพตรงนั้น แล้วมันทรงความเป็นกลางอยู่อย่างนั้นได้ ตรงนั้นเรียกว่าเดินปัญญาเต็มตัวเลย...เดินปัญญาเต็มตัว ...มันก็หมดคำพูดตรงนั้น มันก็เรียนรู้ดูเห็นเอา

เฝ้ารู้ดูเห็นสภาพขันธ์ สภาวะขันธ์ ...สภาวะกายสภาวะขันธ์ปรากฏให้...เขาก็แสดง..เหมือนเขาแสดงธรรมให้ดู สภาวะภายนอกเป็นอายตนะผัสสะเล็กน้อย มันก็มี มันก็ผ่านๆ ทั้งภายในภายนอก ก็เรียนรู้

นี่ จิตถ้ามันมั่นคงจริงๆ มันจะไม่เข้าไปแตะต้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย จะไม่เข้าไปแตะต้อง ไม่เข้าไปหมุนวนในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ในขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง ในอาการใดอาการหนึ่ง

จิตตรงนั้นเรียกว่ามหาสมาธิ มันก็จะเริ่มทำงานในปัญญาแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยขึ้น มันก็เห็นทุกสิ่งทุกสภาพ เริ่มเห็นเริ่มเข้าใจในทุกสิ่งทุกสภาพขันธ์ ทุกสิ่งทุกสภาพที่แวดล้อมขันธ์นี่

มันมีค่าเหมือนกัน เท่ากัน อย่างเดียวกัน คือมีค่าเป็นความไม่มีค่าเหมือนกัน เป็นสุญตะ เป็นสุญโญ มันก็รับรู้รับทราบแล้วก็ปล่อยผ่าน


โยม –  เมื่อก่อนผมสมาธิดีกว่านี้มั้ยอาจารย์ เมื่อหลายปีก่อน

พระอาจารย์ –  ความเพียรมันมีน่ะ ถ้ามันมีความเพียรมาก ความมุ่งมั่นมาก


โยม –  แต่มันก็วิปัสสนูมากเหมือนกัน

พระอาจารย์ –  เขาเรียกว่ามันปรับสมดุลไม่เป็น มันยังปรับสมดุลระหว่างศีลสมาธิปัญญาไม่เป็น มันก็ล้ำ มันล้ำไปส่วนใดส่วนหนึ่ง

ล้ำไปทางสมาธิ ก็เป็นวิปัสสนู ล้ำไปทางสติก็เป็นวิปัสสนู ล้ำไปทางปัญญาก็เป็นวิปัสสนู ล้ำไปทางศีลก็เป็นวิปัสสนู ...ทุกอย่างแหละ


โยม –  ครับ แต่ตอนนี้มันชำนาญเรื่องวิปัสสนูมากขึ้นแล้วครับ แต่ก็เหมือนมันพยายามปรับให้สมดุลขึ้นเรื่อยๆ น่ะครับ จิตมันไม่ได้ดีเท่าไหร่ เพียงแต่ว่ามันคล้ายๆ กับเก๋าเกมน่ะอาจารย์ เริ่มมองว่าตรงนี้มั่นคงนะ อย่างพอดีที่สุด

พระอาจารย์ –  ภาวนาไม่ได้เอาจิตดีหรอก ภาวนานี่เอาจิตรู้ จิตดีจิตไม่ดี มันเป็นเรื่องของจิต ...แต่ตัวศีลสมาธิปัญญามันอยู่ที่จิตรู้ ไม่ใช่จิตดีหรือไม่ดี...จิตดีก็รู้ จิตไม่ดีก็รู้ อย่างนี้

ถ้ามันไปเอา แล้วไปตั้งเป้าว่าให้จิตดี มันจะไปมุ่งที่ตัวความปรุงแต่งในจิต แต่ถ้าไม่เอา ไม่ไปมุ่งหมายว่าดีหรือไม่ดี ช่างหัวมัน มุ่งเอาอะไรเกิดขึ้นก็รู้ นี่เรียกว่ามันจะถอนมาอยู่ที่ตัวสัมมาสมาธิ

แต่สัมมาสมาธิน่ะ มันจะอยู่ลอยๆ ไม่ได้ มันจะต้องมีศีลเป็นตัวประคับประคอง มันจะต้องมีกายนี่เป็นจุดยึดโยง เพราะนั้นสมาธิมันถึงจะแน่น ถึงจะต่อเนื่อง มันถึงจะเกิดความต่อเนื่อง 

มันต่อเนื่อง มันถึงจะเกิดมีสัมปชัญญะรักษาตัวเอง สติสัมปชัญญะ ถึงบอกว่า สติมา อาตาปี สัมปชาโน นี่ มันจะต้องเกิดจากศีลเป็นตัวหล่อเลี้ยง เป็นลูกคู่ของมันน่ะ...เหมือนกับเป็นลูกคู่


(ต่อแทร็ก 15/34  ช่วง 2) 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น