วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/36 (2)


พระอาจารย์
15/36 (570729C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/36  ช่วง 1 

พระอาจารย์ –  เหล่านี้เราจะต้องมาทำความรู้ตัวให้สำคัญให้มาก ยืนหยัดตั้งมั่นให้ได้อยู่บนฐานแห่งความรู้ตัว ...จนต่อไป มันเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญมาก-น้อย มันก็ลดน้อยลงไป

จนแม้กระทั่งจิตเล็กจิตน้อย สะเก็ดแห่งความคิดนี่ มันยังไม่เอาไว้เลย ไม่ไปปล่อยให้มัน แม้แต่จิตนิดหน่อยที่นึกคิดไปในเรื่องใด หรือจะสร้างเรื่องเต้าเรื่องอะไรขึ้นมา มันก็ยังไม่ปล่อยให้มันออกมาได้เลย

เพราะมันจะเห็นเลยว่า เหล่านี้ ทุกดวงจิตที่นึกคิด...จะเป็นเรื่องใหญ่โต หรือเรื่องแค่นิดหน่อย มันจะเห็นเลยว่าทั้งหมดนี่ มันเป็นตัวที่เซาะกร่อนศีลสมาธิปัญญา กัดกร่อนความมั่นคงของศีลสมาธิปัญญาได้หมดเลย

มันเห็นกระทั่งเข้าใจเลยว่า น้ำหยดลงหิน ทุกวันหินมันยังกร่อน ...แค่น้ำหยดเดียว ถ้าจิตผู้ปฏิบัติจะเห็นเลยว่า แค่จิตคิดนึกขณะเดียวนี่ ก็เหมือนกับน้ำหยดลงหินน่ะ มีสิทธิ์ที่จะทำให้ศีลสมาธิปัญญานี่แตกสลายได้

ท่านไม่เอาไว้เลย ท่านชำระทันทีทันควันเลย ไม่รอให้มันเป็นเรื่องใหญ่ก่อนค่อยละ ไม่รอให้เป็นความคิดใหญ่ๆ อารมณ์แรงๆ ค่อยละ ค่อยทำ...ไม่ใช่เลยนะ

ท่านจะอยู่ด้วยความพรักพร้อมอย่างเต็มรูปแบบ ไม่มีคำว่าผ่อนผัน ไม่มีคำว่าผ่อนปรนต่อกิเลสตัวใดตัวหนึ่งเลย ...ถือว่าจิตทุกดวง คือกิเลสหมด 

ที่เราเรียกว่าไม่ให้กิเลสเป็นใหญ่ เราหมายถึงจิต เพราะกิเลสมันเกิดที่จิต มันไม่ได้เกิดที่กาย มันไม่ได้เกิดที่ใจ ...จิตทั้งนั้น มันไม่ได้มาจากไหนเลยนะ มาจากจิต

เพราะนั้นจิตทุกดวงเราถือว่าเป็นกิเลสหมด ออกมาจากความไม่รู้ ก็ออกมาจากอวิชชา ออกมาจากความมืดบอด ...มันจะไปหาแสงสว่างที่ไหนได้ มันจะพาไปสู่แสงสว่างไหนได้ หือ

ก็ตัวมันคือความมืดบอดน่ะ แล้วมันก็ออกมาจากโคตรเหง้าคือความมืดบอด มีหรือมันจะพาไปสู่แสงสว่าง ...มันก็มืดบอดวันยันค่ำ

แต่มันมาหลอกล่อด้วยการมาสร้างนิมิตหมายเป็นแสงสว่าง แล้วก็หลอกว่านั่นน่ะคือความสว่าง นี่ ...แต่ถ้าสืบค้นทบทวนรากเหง้า จะเห็นเลยว่า มันมาจากความมืด มันจะสว่างได้ยังไง

มันคือความปรุงแต่งสังเคราะห์ให้เกิดสีสันวรรณะ สภาวะจิต สภาวธรรมนั้นสภาวธรรมนี้อะไร มันปรุงแต่งหลอกเข้าไปได้จนถึงอรูปภพ อรูปนาม อรูปธาตุ

นั่น มันยังสามารถทำได้หมด ว่าเป็นอารมณ์นั้นอารมณ์นี้...ที่ดี ที่เลิศ ที่วิเศษ...ท่านเรียกว่าอภิปุญญาภิสังขาร ก็ต้องละก็ต้องเลิกโดยทันที

คงไว้แต่กายใจเท่านั้นเอง ในทุกที่ทุกสถาน ทุกกาลทุกเมื่อ ...ไม่เว้น ไม่มีคำว่าเว้น ไม่มีคำว่าว่างเว้น ต้องเติมเต็มศีลสมาธิปัญญาทุกเมื่อทุกปัจจุบัน ไม่ขาด ไม่ให้อะไรมาสำคัญกว่า

ฝืน ทวน กับสิ่งที่มันเคยให้ค่าให้ความสำคัญ ...จนศีลสมาธิปัญญาเป็นหนึ่ง เป็นเอก เป็นสาระแก่นสารอย่างยิ่ง แล้วทุกอย่างจะหมดราคาไปเอง หมดราคาพร้อมกับหมดความหมายไปในตัวของมัน

ทีนี้มันจะเอาอะไรมาหลอกล่ะ มันหลอกไม่ได้แล้ว รูปสวย เสียงเพราะ อะไรพวกนี้หลอกไม่ได้แล้ว ความคิดในข้างหน้าข้างหลังอดีตอนาคต มันจะมาหลอก เอาอะไรมาหลอกไม่ได้แล้ว

มันเห็นชัด เห็นจนทุกอณูเซลเลยว่า ล้วนแล้วแต่ความหลอกลวง คือปรุงแต่งขึ้นมาล้วนๆ หาความเป็นตัวตนที่แท้จริงไม่มีเลย หาความเที่ยงแท้ถาวรคงทนก็ไม่มี

เนี่ย เขาเรียกว่าสารระเหย อย่าไปเมาสารระเหยมาก เดี๋ยวมันจะบ้า โดนเข้าโรงพยาบาลบ้าเหมือนพวกเมาสารระเหย ดมกาว เนี่ย ติดอารมณ์ พวกนี้ คืออารมณ์

ชื่อก็บอกแล้วว่าลม ติดอารมณ์ อะไรก็ไม่รู้ ...แต่เวลาติดมันไม่เรียกว่าอารมณ์อะไรก็ไม่รู้ มันจริงจัง จริงจังจนน้ำหูน้ำตาไหล ร้องไห้ หัวเราะระริกระรี้ กระโดดโลดเต้นเลย ตีอกกระทืบเท้าก็ยังได้นะ

มันจริงจังขนาดนั้น เนี่ย ติดสารระเหย เมายา ..ถ้ามันออกไปเมื่อไหร่ มันจะไปเมากับอารมณ์ มัวเมา ...แล้วดูท่าทางไม่ออกด้วย เพราะคนในโลกมันเมาทั้งโลก เหมือนกันหมดเลย

เพราะนั้นมีที่เดียวเท่านั้นน่ะที่คนดีอยู่ คนบ้าเข้าไม่ถึง คือที่ศีลสมาธิปัญญาปรากฏอยู่ ที่นี้ปลอดภัย 

เอ้า เอาล่ะ


โยม – (กล่าวขอขมา) สิ่งใดที่ได้ล่วงเกินพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ข้าพเจ้าทั้งหลายขอขมา ขอให้อาจารย์อดโทษให้ด้วยครับ 

พระอาจารย์ –  บอกแม่เขาไว้ เอากายน่ะเป็นจุดยืน


โยม –  ครับ พยายามบอก แม่เขาก็ไม่ชอบดู

พระอาจารย์ –  อย่าเอารู้เป็นจุดยืนอย่างเดียว มันยังรู้ไม่ได้ ยังรู้ลอยๆ ไม่ได้ ยังรู้เป็นอิสระไม่ได้


โยม –  ครับ เดี๋ยวผมจะไปจัดการ เมื่อกี้ทบทวนคำสอนอยู่ เดี๋ยวจะไปบอกแม่ ...แม่เขาเป็นแบบต้องนุ่มนวลน่ะครับ เพราะว่าเราพูดแรงแม่เขารับไม่ได้

ขอบคุณพระอาจารย์มากครับ ...ครั้งนี้ไม่ค่อยโดนว่า รู้สึกดีใจ เดี๋ยวจะกลับไป...รู้สึกว่าจะกลับไปฟิตได้มากขึ้นครับ ผมต้องฝึกแบบลำบากน่ะ ผมพึ่งรู้ (หัวเราะ) 

เพราะว่าช่วงเมื่อก่อนนี่ฝึกสบาย มันก็เจริญนะครับ เจริญมาช่วงหนึ่ง มาถึงจุดนี้แล้วกลายเป็นว่าฝึกสบายมันไปไม่รอดแล้ว

พระอาจารย์ –  มันปล่อยปละละเลยมากไป


โยม –  ต้องเอาให้มันเข้มข้นแล้วอาจารย์

พระอาจารย์ –  มันเกิดความตายใจในศีลสมาธิปัญญามากไป


โยม –  มันก็อย่างนี้ครับ อินทรีย์อ่อนก็ประมาทขึ้นมาได้ครับ

พระอาจารย์ –  มันจะกลายเป็น.. พอปฏิบัติไปๆ นี่ แล้วมันล้า พอมันล้าลงปึ้บ มันจะไปถือศีลสมาธิปัญญาในอดีต แล้วมันจะตายใจกับศีลสมาธิปัญญาในอดีต

จริงๆ น่ะ...ศีลสมาธิปัญญามันต้องเป็นปัจจุบัน ไม่ใช่ไปมีในอดีต


โยม –  ครับอาจารย์ นี่ตอนนี้เห็นชัดเลย พอปัจจุบันปรับใหม่นี่

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญาในอดีตช่วยอะไรไม่ได้


โยม –  ช่วยไม่ได้แล้ว ไม่ได้กลับมาช่วยอะไรเลย อาจจะไปช่วยกันตอนมรรคนู้น แต่ว่าตอนนี้ไม่ได้ มรรคไม่เกิด (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  กิเลสมันจะสอดแทรกได้ตลอดเส้นทางของมรรค แม้แต่อยู่ในมรรค หรือว่ากำลังเดินมรรคอยู่ก็ตาม มันก็ยังมีทางที่มันจะสอดแทรกขึ้นมา ถ้าเกิดความตายใจกับมัน


โยม –  ครับ ตอนนี้ไม่ตายใจแล้วครับอาจารย์ อาจารย์บอกแค่มันพร่องไปนี่ ก็รู้สึกไม่ถูกต้องแล้ว เราต้องเพิ่มเข้าไปอีกด้วยซ้ำ

พระอาจารย์ –  อือ คอยหมั่นคอยเติมอยู่ตลอด อย่าให้มันต่ำลงไป ต่ำกว่าเดิม

ถึงบอกว่าการทบทวนบ่อยๆ ในทุกวันว่า เมื่อวานนี้กับวันนี้ มันรู้ตัวได้มากขึ้นหรือน้อยลงกว่าเดิม อย่าให้มันต่ำว่ามาตรฐานเดิม แล้วพยายามให้มากขึ้น มากกว่าเดิม


โยม –  ก็โมหะมันก็บางไปหน่อยครับ เลยเห็นผลขึ้นมา

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นมันจึงเกิดความขยันหมั่นเพียรขึ้น


โยม –  ครับ เพราะมันเห็น แต่ช่วงต่อสู้มันนานมากเลยครับ กว่าจะโมหะมันจะจางลงไปได้

พระอาจารย์ –  เข้าใจคำว่า...ก้าวข้ามได้ เป็นจังหวะ เป็นส่วนๆ ไป เพราะนั้นอย่าไปอ่อนข้อให้มัน อย่าอ่อนข้อให้กิเลส เหนื่อยก็เหนื่อย ทนเอา


โยม –  เดี๋ยวความท้อแท้มันจะกลับมาอีก เราก็ต้องสู้อีก

พระอาจารย์ –  ใช่ กิเลสมันจะคอยมาอยู่เรื่อยน่ะ คอยมาดึงให้รามือจากการปรารภความเพียร ...เพราะนั้นการปรารภความเพียร เป็นการปรารภอยู่ภายใน คือไม่หยุด ไม่ย่อท้อ


โยม –  ก็ช่วงนี้ฮึกเหิม มันก็คงไม่ย่อท้อ ...เดี๋ยวพอช่วงย่อท้อกลับมาอีก ผมก็ต้องต่อสู้น่ะครับ

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะ อยู่อย่างนั้น จนกว่ามันจะขึ้นแท่นขึ้นบัลลังก์ได้


โยม –  ก็คงไม่เป็นไรแล้วอาจารย์ ผมก็จะสู้ไปเรื่อยๆ ยังไงก็ฝากเอาไว้กับอาจารย์ด้วยครับ ตอนนี้ไม่มีที่พึ่งที่ใด ยังพึ่งตัวเองไม่ได้ครับ ต้องพึ่งอาจารย์ก่อน

พระอาจารย์ –  จนกว่าจะเอาศีลสมาธิปัญญาของตัวเองเป็นที่พึ่ง ขึ้นแท่นศีลสมาธิปัญญา คือจับได้อยู่ จับแล้วหยุดเลย อยู่แล้วให้อยู่แบบสต๊าฟได้เลย นั่นแหละ


โยม –  แบบอัตโนมัติ ตอนนี้ยังอัตโนมือ (หัวเราะ) ...ขอบคุณครับอาจารย์ครับ


..................................



วันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/36 (1)


พระอาจารย์
15/36 (570729C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  เวลาเดินจงกรมน่ะครับอาจารย์ เหมือนกับยังแบบไม่เข้าทางเท่าไหร่  ก็เลยตอนนี้ยังใช้วิธีอดทนทำไปเฉยๆ ครับ แล้วก็ผลยังไม่รู้ ก็เลยกะว่าจะทำไปเรื่อยๆ ก่อนครับ

แล้วก็เวลาจะเยอะ-น้อย ยังบอกไม่ได้ครับ แต่จิตมันจะตั้งมั่นรึเปล่า ก็ยัง...

พระอาจารย์ –  อะไรไม่สำคัญ ขอให้มีกายไว้


โยม –  ก็คือพยายามเห็นมันเดินไปมาอยู่

พระอาจารย์ –  แค่นั้นแหละ ดูแค่อาการกาย ...มีแต่กายอย่างเดียวก็ช่าง


โยม –  เมื่อก่อนมันจะเหมือนกับว่าเรารู้สึกตัวได้บ่อย ระหว่างวันนี่มันจะเห็นอิริยาบถอยู่แล้วครับ แต่พอเดินจงกรมในรูปแบบนี่ ความมั่นคงมันแตกต่างกัน ก็เลยจะปรึกษาอาจารย์ว่า ก็ควรทำให้มากไว้หรือยังไง

พระอาจารย์ –  ทำให้มากไว้


โยม –  แต่มันก็ต้องต่อสู้กับความขี้เกียจ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ...เดินขนาดไหนล่ะ กี่ชั่วโมง


โยม –  อู้หู อาจารย์ ชั่วโมงหนึ่งก็แย่แล้วครับ

พระอาจารย์ –  โธ่ ...เวลาเราเดินจงกรมนี่ ไม่ต่ำกว่าสี่ชั่วโมง


โยม –  ก็หืม...อาจารย์ครับ ผมก็พยายามอยู่

พระอาจารย์ –  วันพระวันโกนนี่ เราเดินทั้งคืน


โยม –  ครับอาจารย์ คือยิ่งเดินมาก เดี๋ยวมันมั่นคงขึ้นมาเอง

พระอาจารย์ –  เออ ไม่ต้องกลัวว่าจะเดินมากไป


โยม –  ผมไม่ได้กลัวว่าเดินมากไปครับ แต่มัน..

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นตอนเดินจงกรมนี่ แค่หนึ่งชั่วโมงไม่พอ เข้าใจมั้ย ไม่พอที่จะกำราบจิต เพราะจิตมันจะอย่างนี้ แล้วมันจะสับสน ...เราจะต้องอดทนฝืนเดินไปอย่างงั้นน่ะ 


โยม –  เหมือนหุ่นยนต์เดินไป เดิมมันปวดไปหมด แล้วผมก็เดินแหลก ไม่สนใจ

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ เดินเข้าไปเหอะ ไม่ได้อะไรหรอก เดินไป  ดีกว่านอน ดีกว่านั่ง อะไรอย่างนี้ ...ให้มันมีการเคลื่อนไหว มันก็รู้บ้างเห็นบ้างน่ะ รู้ไป


โยม –  ครับ เหมือนกับ...จิตมันเหมือนค่อยๆ ตั้งทีละน้อยๆ ก็เดินไปโดยที่ไม่สนใจอะไรเลย  มันตั้งของมันเองโดยที่ไม่ต้องสังเกตจิตเลยครับ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ เดินไปเถอะ เพราะยังไงๆ มันก็เห็นความรู้สึกกระทบ กระแทก กระเทือนอยู่แล้ว ...นั่นน่ะ จิตก็จะค่อยๆ ตั้งมั่น รวมขึ้นมา


โยม –  ครับ ก็ไม่รู้กำลังมันมาจากไหน มองไม่เห็น

พระอาจารย์ –  แต่ว่ามันใช้เวลานาน เข้าใจมั้ย ...ทีนี้พอมันตั้งได้ที่ได้ฐานแล้วนี่ ปึ้บ ทีนี้มันจะเดินด้วยความคล่องเลย อยู่ตัวเลย


โยม –  อ๋อ จิตมันก็จะตั้งรู้ขึ้นมา

พระอาจารย์ –  รู้ขึ้นมา ทีนี้มันเดินไม่อยากเลิกเลย ...แต่ไอ้ตอนช่วงต้น กว่าที่มันจะก้าวข้าม...ไอ้ตอนที่เดินแล้วอยากจะเลิกตลอด


โยม –  ถ้ามันถึงจุดที่มันติด...สตาร์ทติดปุ๊บ มันจะอยากเดิน ไม่อยากเลิกแล้ว

พระอาจารย์ –  ทีนี้ไม่เลิกแล้ว ...มันจะต้องผ่านจุดนั้นไปทุกครั้ง อย่าไปยอมๆ ...เพราะนั้นเดินเข้าไปเหอะ เดินไป จะได้อะไร ไม่ได้อะไรก็เดินไป ดีกว่าไปนั่งจมแช่อยู่ในอารมณ์


โยม –  ตอนนี้ก็คือเดินจงกรมกับอิริยาบถสามครับที่ทำได้ แต่ผลไม่ค่อยได้อะไรครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องหวังผลมันมาก


โยม –  แต่อรูปภพ ผมยังมีปัญหาอยู่นะครับ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปสนใจมันแล้ว


โยม –  มันเวลาเข้าอรูปปุ๊บ มันจะมีโมหะคลุมปึ้บขึ้นมาอย่างนี้ครับ

พระอาจารย์ –  รีบละทันที


โยม –  พอเห็นโมหะปุ๊บนี่ มันเหมือนไม่ทันแล้วครับอาจารย์ โมหะคลุมปึ้บ หมายความว่าเราติดอรูปภพเรียบร้อย

พระอาจารย์ –  เดิน เคลื่อนไหว ทำความรู้สึกในกายให้ปรากฏ สูดลมหายใจแรงๆ อะไรก็ได้ ...อย่าไปพะวง อย่าไปดันทุรังอยู่กับมัน 

อย่าไปอยู่กับโมหะ อย่าไปอยู่กับอะไร อย่าไปทำความแจ้งชัดในมัน...ไม่ได้ ...ละเลิกทันที โดยทำอาการของกายปัจจุบันให้ปรากฏ

เพราะนั้นในท่าทางนั่ง กำลังนั่งหรืออะไรก็ตาม สูดลมเลย สูดลมแรงๆ เข้าไป แล้วก็ทำความรู้สึกกับลมเข้าลมออกเลย  แล้วมันจะค่อยๆ สลายอารมณ์เอง อารมณ์จะสลายไปเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปหรืออรูป


โยม –  อันนี้มันเป็นอุบาย ผมก็ใช้วิธีนี้อยู่ครับ แต่ว่าบางครั้งถ้าเยอะ หรือเรารู้ตัวช้าเกินไป ก็อาจจะไปเดินหรืออะไร

พระอาจารย์ –  ลุกหนีเลย เออ ทำอะไรแทนเลย ...อย่าไปจมแช่อยู่กับมัน ทั้งในแง่ทำ ทั้งในแง่ละ ทั้งในแง่หาความจริงกับมัน ...ไม่เอาเลย 

เพราะว่ากำลังของศีลสมาธิปัญญาเราไม่พอที่จะไปสู้กับอารมณ์อย่างนี้ ไม่สามารถไปแยกแยะอารมณ์แบบนี้ได้

โยม –  ครับ ผมก็ไม่สู้ ...แสดงว่ามันก็ไม่ค่อยติดอรูปแล้ว


โยม (อีกคน)  พระอาจารย์ แนะนำอะไรโยมเป็นพิเศษบ้างไหมครับ เพื่อความเจริญก้าวหน้า

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วว่ารู้ตัวให้มากที่สุด ...แล้วก็อะไรที่มันจะเป็นเหตุให้เกิดความรู้ตัวได้น้อยนี่ หรือมีความสำคัญกว่าความรู้ตัวนี่  ต้องกล้าที่จะละมัน ทิ้งมัน ไม่เอากับมัน ไม่ไปเอาธุระกับมัน

คือในตัวจิตกิเลส จิตเรานี่  มันยังมีความเห็นอะไรต่างๆ สำคัญกว่าการรู้ตัวอยู่เยอะ ...การกระทำ เหตุการณ์ เรื่องราว นี่ มันยังมีอีกมากเลย...ที่มันให้ความสำคัญกว่าคำว่ารู้ตัว

เราจะต้องคอยเปลี่ยนค่าให้ความสำคัญกับการรู้ตัวนี่ ให้มากกว่าไอ้สิ่งที่เคย...ที่จิตเรานี่ให้ความสำคัญกับมันมาก ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ สิ่งที่ควร สิ่งที่มีประโยชน์ สิ่งที่ช่วยเกื้อกูล

อะไรต่างๆ เหล่านี้ ที่จิตมันให้ความสำคัญ  ตัวนี้...ที่จิตมันให้ความสำคัญทั้งหลายนี่ คือความดีทั้งนั้นแหละ คือบุญๆ คือความสุขในที่ทั้งปวง สำคัญกว่ารู้ตัวหมด

บอกแล้วว่าต้องแลก ...พอมารู้ตัวเข้าจริงๆ นี่ มันจะเป็นภาวะที่ปราศจากบุญและบาป  เพราะในขณะที่มันรู้ว่านั่ง กำลังนั่งนี่ ...มันจะไม่มีบุญ-บาปแทรกขึ้นมาได้เลย 

ระหว่างการนั่งจะไม่เกิดบุญและไม่เกิดบาป ไม่เป็นความรู้สึกที่เราพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจอะไรหรอก มันจะไม่มี ...มันจะมีแต่กาย มีแต่รู้ แล้วมันจะดูเหมือนไม่มีค่า 

เพราะมันไม่มีเป็นบุญอย่างชัดเจน ไม่เป็นบาปอย่างชัดเจนอะไร ...ตรงนี้ จะต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ให้มาก มากกว่าไอ้ความสำคัญอย่างอื่นที่จิตมันเคยให้ค่า จิตเรานี่เคยให้ค่า แล้วกำลังให้ค่าอยู่

เช่นเวลาเราไม่พอใจนี่ แล้วมันอยากจะพูดอะไร ให้ร้าย ให้เสียดแทงใจเขานี่ ...แล้วมันให้ความสำคัญกับการที่จะพูด ต้องการพูดตามอารมณ์นี่ ให้มันเกิดผลแก่เราอย่างนั้นอย่างนี้ 

หรือให้เขาเจ็บช้ำแล้วเราจะได้ผลประโยชน์ในความพึงพอใจอย่างนั้นอย่างนี้ เนี่ย มันให้ความสำคัญอย่างนี้มาก มากกว่าที่จะเอาการรู้ตัวมารู้ตัวแทนตรงนั้น 

นี่คือการที่ให้ค่าให้ความสำคัญ นี่ในแง่บาปอกุศล ...แม้แต่อกุศลนี่ มันก็ยังให้ค่าให้ความสำคัญกว่ารู้ การรู้ตัว


(ต่อแทร็ก 15/36  ช่วง 2)



วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/35 (2)


พระอาจารย์
15/35 (570729B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/35  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้ามันไปรู้รอบ รู้ไปทั่วปัจจุบันนี่ ก็เรียกว่าสติสมาธิปัญญานี่ มันกว้างเกินไป ...มันกว้างแล้วมันจะไม่มีกำลังที่จะไปทำความแจ้งในแต่ละส่วน

ท่านก็เลยต้องให้บีบๆๆ บีบให้มันมาแค่จำเพาะที่จำเพาะทาง ให้มันเป็นสติสมาธิปัญญาในวงแคบ แคบที่สุด มันจะได้มีกำลังมากที่สุดในการรู้และเห็น

ท่านก็เลยให้รวมปัจจุบันทั้งหมดภายนอก ก็ให้มันรวมลงที่ปัจจุบันกาย ...เพราะว่าตัวกายนี่มันเป็นศูนย์กลาง การที่มันมีภายนอกได้ ตาหูจมูกลิ้นกาย รับรู้กับอายตนะ ...ก็กายนี่แหละเป็นยานแม่

ท่านก็เลยให้รวมลงมารู้อยู่จำเพาะที่ เหมือนกับมันก็บีบสติสมาธิปัญญาให้มันจำกัด ให้มันแคบที่สุดต่อความเป็นจริงในปัจจุบัน ...จึงเหมือนกับบีบน้ำสายยางให้มันเป็นลำเล็กที่สุด แรงที่สุด มันก็จะมีกำลังแรงที่สุด

เมื่อมีกำลังแรงที่สุด มันก็ฉีดพ่นทำความชะล้างสิ่งที่มันห่อหุ้มปกคลุม ครอบงำ ปัจจุบันกายนี้ออก ด้วยอำนาจพลังของศีลสมาธิปัญญาที่มันรวมกัน

มันก็ชะล้าง ความเชื่อ ความเห็น ความคิด ความจำ ภาษา ที่มันมีต่อกายเบื้องหน้ามัน ...กายตามความเป็นจริงก็ปรากฏอย่างชัดเจนชัดแจ้ง โดยที่ไม่ต้องไปลงทุนค้นหาเลย 

ไม่ต้องไปเปิดตำรามากางเทียบ เหมือนกับไปเปิดสารานุกรม นี่เรียกว่าอะไร นั่นเรียกว่าอะไร ...มันก็จะปรากฏอย่างชัดเจนตามสภาพแบบเงียบๆ ของเขาเอง

ก็อาศัยกายนั้นแหละเป็นแหล่งเรียนรู้ กายตามความเป็นจริงนี่เป็นแหล่งเรียนรู้ ...เพราะมันไปเรียนรู้กายอื่นมาเป็นอเนกชาติแล้ว กูก็ยังไม่ไปนิพพานเลย

แล้วไม่เห็นทางด้วย กูจะไปนิพพานยังไง ตั้งแต่อเนกชาติแล้ว  เรื่องนั้น กายคนนี้เขาทำอย่างนั้น กายคนโน้นเขาพูดอย่างนี้ กายเราข้างหน้าข้างหลังจะเป็นยังไง

เรียนรู้กับกายนั้นมาเป็นอเนกชาติแล้ว กูยังมาเดินง่อกแง่กอยู่บนโลกนี้ ...ก็ให้มันมาเรียนรู้กายตามความเป็นจริง ที่เป็นลักษณะอาการความรู้สึก

จะหนัก เบา ตึง ไหว ขยับ แน่น หรือว่าเป็นทรวดทรง รูปลักษณ์ รูปพรรณสัณฐาน  ณ ขณะนี้เวลานี้มันเป็นยังไง ก็ให้มันมาเรียนรู้แต่จำเพาะกาย แวดวงกายปัจจุบัน

พระพุทธเจ้าท่านให้รู้อย่างนี้ ศีลสมาธิปัญญา ...เออ รู้ไปเหอะ จะเกิดมรรค แล้วจะเข้านิพพาน เนี่ย ก็ต้องลองเชื่อท่านดู เพราะเรียนรู้มานานแล้วนะ กายอื่นน่ะ เรียนรู้มานานแล้ว

ไม่ใช่แต่แค่ชาตินี้นะ อเนกชาติแล้ว ไม่เคยอยู่กับกายนี้ หากายนี้ยังไม่เจอเลย ไม่รู้มันมีจริงรึเปล่า ไม่รู้อ่ะ แล้วไม่ได้สนใจใยดีอินังขังขอบอะไรกับมันเลยน่ะ

แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าให้มารู้ดูสิ ให้มาลองรู้ดู ให้มาลองค้นคว้าดูสิ ให้มาลองสำเหนียกด้วยโยนิโส แยบคาย ด้วยความมนสิการ นึกน้อมบ่อยๆ โอปนยิโกบ่อยๆ 

เดี๋ยวจะค่อยๆ เข้าอกเข้าใจถ่องแท้ขึ้นมาเองว่าอะไรเป็นอะไร ความเป็นจริง ผลจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงคืออะไร ...ซึ่งมันยังไม่รู้หรอกผลแห่งการรู้เห็นตามความเป็นจริงคืออะไร ถ้าแค่อ่านตำราหรือฟังคนอื่นเล่านะ

แต่ถ้ามันมาเรียนรู้จากความเป็นจริงนี้แล้ว ผลแห่งการรู้เห็นตามความเป็นจริงนี่ มันจะบังเกิดขึ้น ประจักษ์แก่ใจตัวผู้รู้ผู้เห็นนั้นเอง

แล้วมันเกิดความเป็นอิสระ จากกายทุกกายที่แวดล้อมมัน จากกายทุกกายที่ "เรา" สร้างขึ้น ...มันจะเป็นอิสระจากกายเหล่านั้น มันจะไม่ขึ้นไม่ลงกับกายเหล่านั้น มันจะขึ้นตรงต่อกายนี้กายเดียว

แล้วก็เรียนรู้ไปเรื่อย ผลแห่งการรู้แจ้งเห็นจริงก็มีขึ้นเรื่อยๆ ...มันก็ยังอาจขึ้นลงกับกายปัจจุบัน ก็เรียนรู้ไปสิ ผลของมันก็...ต่อไปมันก็จะไม่ขึ้นลง แม้กระทั่งกายปัจจุบัน หรือกายตามความเป็นจริงจะเป็นยังไงก็ช่างมัน

แต่ก่อนอื่นน่ะ ผลอันดับแรกก็คือ มันจะไม่ขึ้นไม่ลงกับกายอื่น กายคนนั้นกายคนนี้ การกระทำที่เนื่องด้วยกายคนนั้นกายคนนี้ รวมถึงกายของตัวเองข้างหน้าข้างหลัง ที่มันคิดนึกปรุงแต่ง

มันจะไม่ขึ้นกับกายนั้น มันจะเห็นความไร้สาระ มันจะเห็นความว่าไม่มีค่าเพียงพอที่จะให้ไปยินดียินร้าย หรือหาค่าไม่ได้เลย ไม่รู้อะไรจะมีค่าทำให้เกิดความยินดียินร้ายได้ 

เพราะมันไร้สาระอย่างยิ่ง ไม่มีอยู่จริง เป็นความหลอกลวงของจิตทั้งหมดเลย ...แต่มันยังจะขึ้นลงกับเวทนา ใช่มั้ย นี่ มันยังขึ้นลงกับปัจจุบันกายอยู่ 

มันก็ต้องเรียนรู้อีกต่อไปเรื่อยๆ จนถึงกายในกาย กายในกาย จนถึงกายอนัตตา มันก็เกิดการรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นไปตามลำดับอย่างนั้นน่ะ ...แต่มันขึ้นลงกับกายปัจจุบันนี่ ก็ถือว่าดีแล้ว 

แต่ไปขึ้นลงกับคำพูดคนอื่นนี่ไม่ดี นี่แปลว่ามันออกนอกกายตามความเป็นจริง แล้วก็ไปดีใจเสียใจ ไปหงุดหงิดงุ่นง่าน รำคาญ อึดอัดคับข้อง หรือไปสืบเนื่องต่อเนื่องต่อการกระทำคำพูดของกายอื่นอย่างนี้

เพราะนั้นมันจะต้องบีบ...ให้มันเหลือกายเดียว ให้มันอยู่กับกายเดียว แล้วก็เรียนรู้กับกายเดียว  ทีนี้มันก็ไม่ไปเสียเวลาไปเรียนรู้กับกายอื่นแล้ว...ซึ่งมันก็ยังอยากรู้อยู่น่ะ ก็ต้องตัดบ่อยๆ ว่าช่างหัวมัน

นี่ ตัดแบบตัดทิ้งเลย ช่างหัวมัน ใครเขาจะพูดอะไร ใครเขาจะทำยังไง เหตุบ้านการเมืองจะเป็นยังไง ช่างหัวมัน ไม่สน มีคนเขาสนแทนอยู่เยอะแยะไปหมดแล้ว เราไม่สน ประเทศชาติก็คงไม่ล่มจมหรอก  

หรือการกระทำคำพูดที่จะต้องมีเราไปสนับสนุนในการไปด่าไปชมมัน...ไม่ต้องกลัวหรอก มีคนด่า มีคนชมเยอะแยะแล้ว ว่ามึงทำถูก มึงพูดผิด มึงทำไม่ถูกนะ อย่างนั้นอย่างนี้ 

ไม่ต้องไปสนับสนุน ไปลงคะแนนโหวตกับเขาหรอก เราก็ไม่เอามาเป็นธุระ นี่เรียกว่าไม่เอามาเป็นธุระ ...แต่เผลอเมื่อไหร่ มันก็เอาๆ เอามาเป็นเรื่อง แล้วก็ไปจมแช่หมุนวน 

นี่ กว่าจะรู้ตัวได้ ก็ต้องหักอกหักใจๆ ...เห็นมั้ย เวลาหักอกหักใจ มันต้องใช้กำลัง เหนื่อย ...พอมันต้านทานไม่พอ มันก็ เออ เลยตามเลย ให้ไหลวนเข้าไป ทุกข์ทั้งนั้น

แต่เมื่อใดที่มันเคยลิ้มรสของการอยู่กับศีลสมาธิปัญญา มันจะเห็นเองน่ะ ทุกข์ทั้งนั้นเลย ...แต่ถ้าใครยังไม่เคยลิ้มรสศีลสมาธิปัญญามา มันก็ไม่ว่าเป็นทุกข์ สนุก มีสาระ เป็นคนที่มีคุณค่าแก่การจดจำในโลก

แน่ะ มันได้โลกธรรม ๘ มาเป็นสิ่งตอบแทน สุข สรรเสริญ มีลาภ มียศ พวกนี้ มันเป็นตัวตอบแทน ในการที่เข้าไปหมุนวนในอาการ ในความเป็นไป การกระทำคำพูดของสัตว์บุคคลในโลก รวมทั้งตัวเราข้างหน้าข้างหลัง

เป้าประสงค์ของมันที่มันจะได้เป็นผลตอบแทน ก็คือโลกธรรม ๘ ...ซึ่งมันจะได้มาทั้ง ๘ แต่มันก็จะดันทุรังให้เหลือแค่ ๔ อีก ๔ ไม่เอา


โยม –  ไม่เอาความเสื่อม

พระอาจารย์ –  เออ ความเสื่อมไม่เอา เสื่อมลาภไม่เอา เสื่อมยศไม่เอา สุขเอาทุกข์ไม่เอา ซึ่งมันจะได้ทั้ง ๘ ...จริงๆ มันต้องได้ ๘ ด้วยตลอดเวลา แล้ว ๘ ในข้างทุกข์นี่จะได้มากกว่าข้างสุขด้วย

แต่มันก็ดันทุรังจะต้องให้ได้ นี่ ตรงนี้ที่เรียกว่ามันเกิดเข้าไปมัวเมา หมกมุ่นอย่างไม่ลืมหูลืมตาเลย ...ศีลสมาธิปัญญาไว้ทีหลังหมดเลย เรื่องสำคัญคือโลกธรรมนี่ ต้องเอาให้ได้

ทีนี้ ตัวที่กำหนดโลกธรรมนี่ มันไม่ใช่ความปรารถนาของเราเป็นใหญ่ถ่ายเดียวแล้วจะได้นะ มันกอปรด้วยกรรมวิบาก กอปรด้วยเหตุปัจจัยล้านแปดพันเก้าเลยน่ะ กว่าที่มันจะได้มาเป็นสุขครั้งหนึ่งคราวหนึ่งนี่

หรือที่จะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ครั้งหนึ่งช่วงหนึ่งเวลาหนึ่ง มันต้องมีองค์ประกอบ accessory ค้ำจุน เป็นเหตุผสมรวมให้เกิดปัจจัยประกอบขึ้นมา ...มันไม่ใช่แค่จำเพาะความอยาก ความไม่อยากของเรานะ

แต่มันไม่รู้ไม่เข้าใจอะไร เพราะอาศัยความอยาก ความไม่อยากของเรานี่เป็นใหญ่น่ะ ดันแบบหัวชนฝา ...ทีนี้มันก็ทั้งเจ็บ ทั้งทุกข์พัวพัน ทั้งมีอารมณ์ สะเปะสะปะ วุ่นวี่วุ่นวาย

จนเป็นทุกข์ทับถม อึดอัดคับข้อง มีแต่ความเศร้าหมอง...ท่ามกลางความเศร้าหมอง ด้วยการค้นหา มันอยู่ด้วยความเศร้าหมองหมดเลย

เพราะว่าไม่รู้จะได้เมื่อไหร่ เมื่อไหร่จะถึง วันไหน  เมื่อถึงแล้วได้แล้ว ก็จะรักษาไว้ได้อยู่นานมั้ย ...นี่ มันอยู่ด้วยความเศร้าหมองตลอด

ก็ต้องกล้าที่จะไม่เอา สละ แลก สละเพื่อแลกศีลสมาธิปัญญา ...ศีลสมาธิปัญญาก็ไม่ใช่ว่าได้มาฟรีๆ ด้วยนะ มันต้องแลก...แลกกับโลกธรรม ๘ น่ะ

สุขก็ไม่เอา ทุกข์ก็ไม่เอา มีชื่อมีเสียง มีหน้ามีตาก็ไม่เอา มีลาภมียศก็ไม่เอา คือต้องแลกหมดแหละ แลกกับไม่เอาอะไรเลย ทั้งสุขและทุกข์ ดีและไม่ดี ถูกหรือไม่ถูก ชอบหรือไม่ชอบ ควรหรือไม่ควร

เอาแค่ศีลสมาธิปัญญา ธำรงไว้แค่ศีลสมาธิปัญญาคือความรู้ตัวนั่นแหละ เรียกว่ารู้ตัวนั่นแหละ รู้อยู่กับปัจจุบัน ถือกายเป็นปัจจุบัน ถือตัวเป็นปัจจุบัน แล้วก็รู้อยู่กับปัจจุบัน

ถือปัจจุบันเป็นที่เดียว แล้วก็ต้องแลกกับทุกสิ่งเลยแลกเท่าไหร่ได้เท่านั้น แลกมากได้มาก แลกน้อยได้น้อย ไม่แลกไม่ได้ ศีลสมาธิปัญญานี่

ปัจจุบันนี่อยู่ไม่ได้เลย มันจะต้องเอาอดีตอนาคตมาแลกน่ะ ...เพราะนั้นถ้ามันอยู่ในปัจจุบันเลย อดีตจะเกิดไม่ได้ อนาคตจะเกิดไม่ได้

แล้วต่อไปแม้กระทั่งความคิดหรือแม้กระทั่งอารมณ์ก็เกิดไม่ได้  มันต้องแลก แลกจนไม่มีอะไรแลกน่ะ ...คือมันแลกจนไม่มีอะไรแลก คือกูแลกหมดแล้ว ไม่มีอะไรไปแลกแล้ว คือมันไม่เอาอีกแล้ว

ทีนี้มันก็อยู่ตัว มันก็คงสภาพศีลสมาธิปัญญาด้วยความเต็มเปี่ยมพรักพร้อมบริบูรณ์ ไม่ขาดไม่เกิน ไม่มีคำว่าบกพร่อง มันจะเติมเต็มอยู่ตลอดเวลา

เมื่อมันพร่องไปเมื่อไหร่ มันจะเติมเต็มตลอดเวลา...ในระดับผู้ปฏิบัติอย่างยิ่งยวดแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้น มันจะทนอยู่ไม่ได้เมื่อมีความบกพร่องไปในศีลสมาธิปัญญา


(ต่อแทร็ก 15/36)