วันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/33


พระอาจารย์
15/33 (570723E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 กรกฎาคม 2557


พระอาจารย์ –  อยู่คนเดียวแค่ทรงสภาพกายใจก็เหนื่อยแล้ว ไม่ต้องไปเอาเรื่องเอาราวกับทุกข์กับโลกหรอก กับคนอื่นน่ะ ...แค่ทรงสภาพยืนเดินนั่งนอนของตัวเองไปนี่ 

ก็ยังหนีมันไม่พ้น หนีมันไม่ขาด วางมันไม่ได้ ...ก็ต้องอยู่กับมันไป มันเป็นภาวะจำยอม หนีไม่ได้นะ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายของมันไป เป็นภาวะที่ต้องอยู่กับมัน ...นี่มันเป็นภาระที่มันไม่มีวิธีแก้


โยม –  แค่อยู่กับมันให้ได้

พระอาจารย์ –  ด้วยความยินยอม ...เนี่ย มันชอบมาถามกันว่า อาจารย์สบายดีมั้ย ...สบายยังงั้ย กูต้องยืนเดินนั่งนอน กูคงไม่สบายหรอก...ต้องลากมัน ต้องแบกมัน ต้องหามมัน ทั้งวันน่ะ

นั่งอยู่เฉยๆ นี่ยังต้องทรงกายไว้ให้อยู่เลย ใช่มั้ย ...จะถามว่าสบายดีมั้ย ...ก็งั้นๆ น่ะ ขึ้นๆ ลงๆ ก็งั้นๆ น่ะ ตามประสามัน จะทำให้มันดีกว่านี้ มันก็คงไม่ดีกว่านี้น่ะ

ก็ไม่ไปคิดไปหาอะไรกับมัน เพราะเข้าใจน่ะ...เข้าใจว่ามันเป็นอย่างนี้ เป็นธรรมดาของมัน มันเป็นทุกข์ในตัวของมันเอง เป็นทุกข์ตามสภาพ ไม่มีหรอกที่มีกายแล้วไม่มีทุกข์...ไม่มีหรอก ตราบใดที่กายยังคงอยู่นี่

เออ ถ้ามันตาย...ก็แล้วไป หมดเรื่อง แต่ต้องถามตัวเองให้ได้ ตอบตัวเองให้ได้ว่าหมดจริงรึเปล่า ...อันนี้ทางใครทางมัน ช่วยไม่ได้  ก็เป็นเรื่องหมดแล้วก็หมดเลย สำหรับบางท่านบางองค์บางคน

หรือว่ายังไม่ยอมหมดกับมัน นี่ โดยส่วนมากก็ไม่ค่อยยอมหมดกับมัน ยังคาดหมายอะไรกับมัน ยังฝากผีฝากไข้ ยังเผื่อมีเผื่อได้กับมันอยู่ ...อันนี้ก็ทิ้งเชื้อไว้แล้วกัน...ไว้เกิดใหม่

แต่ถ้าเข้าใจแล้วว่ามันเป็นอย่างงี้ ก็..เออๆๆ จะดี-จะไม่ดี ก็เรื่องของมัน ...ก็ไม่ใช่ผิดหรือถูกนะ ก็มันเป็นอย่างนี้อ่ะ มันไม่เป็นอย่างอื่นหรอก จะให้มันเป็นยังไงมันก็ไม่เป็น มันเป็นอย่างงี้ จะทำไงล่ะ

แล้วจะเอาอะไรกับมันดีล่ะ หนีก็ไม่ได้ จะเอามีดมาเชือดคอก็ไม่กล้า ก็เลยต้องอยู่กับมัน แล้วก็ดูสภาพมันไป แล้วก็ไม่เป็นเดือดเป็นร้อน ...เพราะอะไร เพราะไม่ไปคาดหมายคาดหวังอะไรกับมัน

ไอ้ที่พวกเราเดือดร้อนเพราะอะไร ...เพราะไปคาดหวังกับมัน คาดเอาไว้สูง ไปหมายไว้ไกลเกินความจริง ..แต่ถ้าดูมันไปเรื่อยๆ จนเข้าใจ นี่ จึงจะเข้าใจ

ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้ จะกี่ปีกี่เดือนมันก็จะเป็นอย่างนี้แหละ..จนวันตาย ...แล้วมันก็จะหนักขึ้นๆ ไปของมัน ไปจบกันที่ก็ตรงลมหายใจสุดท้ายน่ะ...เวทนากับกาย

ไม่มีทางเอาชนะ ไม่มีใครชนะได้น่ะ แม้แต่พระพุทธเจ้า ...ไม่มีใครชนะธรรมชาติได้ ไม่มีอะไรบังอาจมาชนะลบล้างธรรมชาติได้ ...ทั้งหมดคือความอหังการของเรา..ผู้ไม่รู้ เท่านั้นเอง

เมื่อยอมรับสภาพธรรมชาติตั้งแต่ขันธ์ห้า..จนถึงสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ว่ามันเป็นอย่างนี้ ...มันก็จะหมดสิ้นผู้ซึ่งเข้าไปควบคุมธรรมชาติด้วยความโง่เขลา

นั่นแหละ ผู้ที่ทำได้คือเหล่าผู้มีปัญญาสูงสุด จึงจะอยู่กับธรรมชาติทั้งหลายทั้งปวงด้วยความเป็นกลาง ...ไม่ใช่กลางแบบบังคับ ไม่ได้กลางแบบต้องคอยบอกคอยเตือน

แต่มันเป็นกลาง...ด้วยความถ่องแท้ ด้วยปัญญา ด้วยความเข้าใจทุกแง่ทุกมุม ทุกการปรากฏ ทุกแง่ทุกมุมแห่งการตั้งอยู่ ทุกแง่ทุกมุมแห่งองค์ประกอบแห่งการเกิด แห่งการตั้งอยู่

จนไม่สงสัยในการเกิด การตั้ง การดับ ในธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...ไม่สงสัยว่านี้ยังเป็นเราไหม ไม่สงสัยในการเกิดว่าเป็นของเราไหม ไม่สงสัยในการตั้งอยู่ว่าเป็นของเราไหม ไม่สงสัยในการดับไปว่าเป็นของเราไหม ไม่สงสัย

มันดูแล้ว เรียนรู้แล้ว สำเหนียกแล้วสำเหนียกอีก จนแจ้งชัดว่าไม่มีเลยความเป็นเราในที่ทุกสิ่งทุกประการ ...มันจึงหมดสิ้นซึ่งพันธะสัญญากับสรรพสิ่ง ไม่ติดหนี้เป็นสินกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง 

จึงเรียกว่าหมดจด เป็นผู้ที่หมดจด เกลี้ยงเกลา ขาวรอบ บริสุทธิ์จิตบริสุทธิ์ใจ ...จะเรียกอะไรก็ได้ ไม่เรียกอะไรก็ได้  จะเชื่อก็ได้ จะไม่เชื่อก็ได้ ไม่มีปัญหาสำหรับผู้นั้น

นั่นแหละสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอกว่า...ลงทุนลงแรง สี่อสงไขยแสนมหากัป...เพื่อให้ถึงที่สุด  แล้วสามารถนำที่สุดนี่มากล่าวสอนผู้คน ...นี่คือจุดนี้ 

ท่านลงทุนถึงสี่อสงไขยแสนมหากัป กว่าจะค้นเจอ แล้วมาสาธยายเป็นภาษา...ทั้งตื้น ลึก หนา บาง ครอบคลุมกิเลสน้อยใหญ่ ครอบคลุมความเป็นไปของสรรพสิ่งในทุกแง่ทุกมุม

เพราะนั้นสาวกนี่เป็นพวกชุบมือเปิบนะ มานั่งมาไหว้ปะลกๆ ...ได้แล้ว ได้ความรู้ ได้ความเห็น ได้ความเข้าใจอันชัดอันตรง หรืองอบ้างตามวาสนาบารมีภูมิปัญญา ...นี่ถือว่าง่ายที่สุดแล้วนะ

ถ้าเทียบกับพระพุทธเจ้า..แต่ละท่านแต่ละพระองค์นี่  สี่อสงไขยแสนมหากัป แปดอสงไขยแสนมหากัป สิบหกอสงไขยแสนมหากัป ...กว่าจะพบหนทางแห่งมรรค

ซึ่งจริงๆ มรรคนี่มันไม่หายไปไหนหรอก  มันมีอยู่ในสามโลกธาตุอยู่แล้ว มันมีอยู่ในสัตว์ในบุคคลอยู่ตลอด  มันไม่เคยหาย และไม่มีอะไรมาทำลายมรรค ...แต่มันเพียงแค่ถูกคลุม บัง ปิดไว้

แล้วเวลาปิดทีนี่ เมื่อหมดสิ้นกัป แห่งพุทธกัป หรือภัทรกัป ...มันบังทีนี่ นับเป็นหลายๆ อสงไขยปี อสงไขยกัปเลย  กว่าจะได้บังเกิดพุทธะขึ้นมาจรรโลงศีลสมาธิปัญญาขึ้นมาใหม่

เพราะนั้น อย่ามัวมานั่งท้อๆ แท้ๆ ปวกๆ เปียกๆ ปล่อยให้เวลามันล่วงเลยผ่านเลยไป...แบบสูญสิ้นเปล่าประโยชน์...กับวิธีการต่างๆ นานา กับเรื่องราวในโลก อารมณ์ในโลก

ถ้ามาเกิดตายนอกพุทธกัป ภัทรกัป นี่ ยาว ยุ่งเลย ...ก็อย่ามาเห็นแก่กินแก่นอนมาก จนละเลย ปล่อยเวลาอายุขัยให้ล่วงเลยผ่านไป หรือไปมุ่งภาวนาสะเปสะปะ หาค้นธรรมไปทั่ว

หาอยู่ในศีล หาอยู่ในสมาธิปัญญา ...อะไรที่มันนอกศีลสมาธิปัญญา อย่าไปหาอะไรกับมัน ไม่มีประโยชน์ เสียเวลา ...หากายใจให้เจอ เข้าถึงกายใจให้ได้ 

รักษากายใจให้อยู่ ทำความแจ้งกายใจให้ได้ ทุกอย่างก็จะงวดลงมาเอง ...อะไรที่งวดลง ...ภพแลชาติ กิเลสความทะยานอยากที่เนื่องออกไปด้วยจิตที่ไม่มีประมาณ

เพราะนั้นไม่ว่าโยมจะมาหาเรากี่ครั้งกี่คราวนี่ ต่อให้เราอายุแปดสิบปี เราก็จะพูดเรื่องเดิม ...เพราะมันมีหนทางเดียว ไม่มีทางสำรอง ไม่มีทางอื่น ไม่มีวิธีอื่น ไม่มีหลักการอื่น

พ่อสั่งไว้ว่ามึงอย่าพูดนอกเรื่อง มันเป็นเดรัจฉานวิชชา ...เดรัจฉานวิชชา หมายถึงเป็นวิชชาที่ต่ำ ที่พาให้เกิดในสามภพ ท่านเรียกว่าต่ำหมด ...มันไม่ได้เป็นวิชชาที่พ้นขันธ์พ้นโลก ท่านถือว่าต่ำ

แล้วไม่ใช่แค่โลกเดียวด้วย...สามโลกเลยนะ ...เพราะบางวิชชาที่ต่ำนี่ บางทีมันพ้นจากโลกมนุษย์ แต่ไปอยู่ในโลกเทวะ โลกพรหม โลกอรูปพรหม ...ท่านก็ยังเรียกว่าต่ำ

เพราะนั้นวิชชาของพระพุทธเจ้ามีวิชชาเดียว วิชชา ๓ นี่ เป็นวิชชาแห่งการหลุดพ้นจากขันธ์และโลก หรือลดทอนการเกิดในขันธ์และโลก ...จึงจะเรียกว่าชอบและใช่ ถูกและตรง

ควรค่าแก่การน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิต ไม่ใช่ไปปฏิบัติแค่ในเวลาใดเวลาหนึ่ง นี่ เหล่าสาวกท่านทำ ท่านปฏิบัติมาให้เป็นแบบอย่าง ...ก็รู้จักเอาเยี่ยงอย่างท่านซะบ้าง ไม่เอากิเลสมาเป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่ชี้นำ

สงฆ์สาวกพระพุทธเจ้า ท่านเป็นแบบอย่างที่ดี ควรแก่การเอาเยี่ยงอย่าง ยากก็ยาก ลำบากก็ลำบาก แต่เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ไปสู่นรก สวรรค์ เดรัจฉาน ...ไปถ่ายเดียวคือนิพพาน

กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ไม่คลุกคลีมาก ...ทุกอย่างน้อยลงหมด ยกเว้นศีลสมาธิปัญญา..มากขึ้น ...นี่คือเยี่ยง นี่คือแบบอย่างให้เอาตาม

ถ้ามันง่ายก็คงไม่มีใครมานั่งฟังเราแล้ว มันคงไปหมดแล้ว กูคงเทศน์ให้ลมแล้วแหละ ...ก็เพราะมันยากไง มันถึงมานั่งกันหน้าสลอนอยู่นี่ ทำให้เราไม่หมดอาชีพ

ก็ต้องใช้วาระที่เหลือพร่ำบ่นไป ไล่ตีไล่ขวิดให้มันเข้าที่เข้าทาง ...ไอ้พวกวัวนอกคอก ไอ้ควายที่ไม่มีหลักผูกน่ะ มันก็ไปหาบ่อน้ำกิน บ่อน้ำซับ บ่อน้ำแช่ของมันไป

ก็ต้องใช้ไม้เรียวบ้าง ถีบเตะบ้าง ...คือควายนี่เกลี้ยกล่อมไม่ค่อยได้หรอกนะ แบบ "ไปเข้าคอกหนูๆ"  มันคงไม่ค่อยฟังหรอก เพราะมันเป็นควาย ไอ้คนพูดน่ะเป็นคน ก็ต้องเฆี่ยนตี

พอมันเข้าคอกแล้วนี่ เขามันก็หด หูมันก็หด หางมันก็หด จากยืนสี่ตีนมันก็เริ่มยืนเป็นสองตีนสองขาขึ้นมาบ้าง ...ก็เริ่มจะฟังภาษาคนรู้เรื่อง ทีนี้ก็ใช้ภาษาดอกไม้

แต่มันก็สันดานเดิมยังไม่เลิก ยังไม่ละน่ะ ...ก็จะลงคลานสี่ตีน เขาเริ่มงอก จะทะลายคอก จะแหกบังเหียนสายตะพายออกไปหาอยู่หากินตามประสาควายๆ ร่ำไป

แล้วก็สอบถามควายข้างๆ กันว่า ที่ไหนมีบ่อน้ำใสให้กูกินโปรดชี้นำ แล้วยังไม่ถึงบ่อนั้น ระหว่างทางก็มีควายสวนมาว่า ชั้นไปบ่อโน้นดีกว่า นั่น ก็จะไปกับเขาอีก

กว่าจะไปตามกลับคอกมาก็เลือดซิบๆ แล้ว โดนเฆี่ยน เจ็บนะ ...แต่มันควายนะ เจ็บแล้วไม่ค่อยจำ แบบ “อาจารย์ก็ว่าไปงั้นๆ ว่าเล่นๆ” ...กูว่าจริงๆ นะเนี่ย ไม่ได้ว่าเล่นๆ

ให้มันจำ ให้มันหลาบ ให้มันกลัว ...ไม่ให้มันทะยานออกนอกกายใจออกไป แล้วไปเห็นดีเห็นงามกับอะไรว่ามันจะเป็นทางมรรคทางผล เป็นทางหลุดพ้นจากความเป็นควาย...สุดท้ายก็เข้าโรงเชือด

อย่าลืม...เดี๋ยวนี้ศีลมีมั้ย สมาธิมีมั้ย ปัญญามีมั้ย ...อย่างน้อยต้องมีศีล ต้องเรียกร้อง ต้องหยั่งลง ต้องค้นหาลงที่ศีล เหยียบหยั่งยืนหยัดลงให้ได้ นิดนึงก็เอา หน่อยนึงก็เอา

กายนี่มันไม่ได้ลอยอยู่กลางอากาศ ไม่ว่านั่งนอนยืนเดิน ยังไงมันต้องมีจุดตกกระทบ ใช่มั้ย อย่างน้อยต้องมีลมหายใจเข้าออก ...มันจะยากแสนยาก ยังไงก็ต้องหยั่งให้เจอ จับให้อยู่ในความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่ง 

ท่ามกลางมรสุม อารมณ์บ้าง เหตุการณ์บ้าง กิเลสบ้าง ภายในบ้าง ภายนอกบ้าง ...ต้องฟันฝ่าเอาศีลสมาธิปัญญา ฟันฝ่าลงสู่ศีลสมาธิปัญญา ...อย่าท้อแท้ อย่าสิ้นหวัง อย่าขี้เกียจ อย่าปล่อยปละละเลย

นั่นแหละ มันจะเป็นคน และจะฟังเรารู้เรื่องมากขึ้น เพราะเราพูดนี่ภาษาคน ให้คนฟัง ...มันยังฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง คือรู้..แต่ไม่ค่อยตรงเรื่อง ยังไม่ตรงดี เพราะมันยังมีสันดานควายแอบอยู่ ...นี่ไม่ได้ว่า...แต่ด่า

แล้วมันก็จะค่อยแปลงสภาพจากควายมาเป็นคน คือไม่ใช่รู้ในฐานะควาย นี่ บุคคลาธิษฐาน "ควาย" ในความหมายจริงๆ คือความไม่รู้ ...อย่าคิดมาก เดี๋ยวมันจะกลับไปนอนร้อง “มอๆ”

นี่ ให้เข้าใจ รู้..แทนที่ไม่รู้ ...นี่คือสติตัวแรก  แล้วก็น้อมให้เกิดสัมมาสติ คือน้อมลงที่กาย ...ไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังแล้ว ถ้าคิดหน้าคิดหลังแล้วมันจะไพล่ออกจากกายหมด

อย่าให้ความคิดหน้าคิดหลังนี่มามีอารมณ์เหนือกว่า มีกำลังเหนือกว่าศีล นี่ ทวนกันอย่างนี้ ...เพราะกายนี่เหมือนหลัก หมายความว่ากายนี่มันเป็นหลัก มันมีอยู่ประจำอยู่แล้ว

แต่จิตนี่มันไม่ชอบอยู่กับหลัก ...ความรู้สึก ความเห็น ความอยาก ความไม่อยากนี่ มันจะทะยานออกนอก ...สติเท่านั้นจะเป็นตัวเชือกรัดจิตให้มัดอยู่กับกาย กับหลัก คือศีลนี่แหละ

เมื่อมันหนีออกจากหลักไม่ได้ ...มันก็เห็นอยู่อย่างเดียวว่ามีหลัก แล้วมันไม่เห็นอะไรนอกจากหลัก นี่ แล้วมันจะไม่เข้าใจหรือว่าหลักนี้เป็นหลักไม้ หรือหลักโคลน หรือหลักดิน หรือหลักปูน

หรือจริงๆ คือหลักมหาภูตรูป ๔ ดินน้ำไฟลมที่ประชุมรวมตัวกันขึ้นมา เนี่ย...ก็ลืมตาตื่น ยันหลับตานอน ก็เห็นแต่หลักทนโท่อยู่อย่างนี้ ...ไม่แจ้งให้มันรู้ไป

คนที่ทำมาอย่างนี้ แจ้งกันมานับไม่ถ้วนแล้ว นับกันไม่หวาดไม่ไหวเลย ...แต่พอดีท่านตายไปหมดแล้ว หาได้ยากในปัจจุบัน ก็เลยมาตอกย้ำในหลักศีลสมาธิปัญญาให้ไอ้พวกขี้เท่อฟังไม่รู้เรื่องเหล่านี้ไม่ได้

นี่คือความเรียวลงของศาสนาไง เป็นสภาพที่หนีไม่ได้ หนีไม่พ้นหรอก ยังไงก็ต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา...แม้แต่ศาสนา แม้แต่มรรคผลนิพพาน มันจะต้องถูกครอบคลุมไป เจือจางลง

ก็เอาตัวเองน่ะเป็นตัวจรรโลงศีลสมาธิปัญญาขึ้นมาใหม่ แล้วประกาศธรรมด้วยการปฏิบัติ  ไม่ใช่พูด ไม่ใช่แสดงธรรม แต่ประกาศการดำรงชีวิตของตัวเองด้วยศีลสมาธิปัญญา

เนี่ย คือตัวประกาศธรรม จรรโลงศีลสมาธิปัญญาให้ปรากฏอยู่ในสามโลกธาตุ สืบอายุพระศาสนาโดยไม่ต้องลงทุนเสียเงินเลย


....................................





วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/32 (2)


พระอาจารย์
15/32 (570723D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/32  ช่วง 1

โยม    คือเราก็แค่รู้มันไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ แค่นั้นพอ

พระอาจารย์ –  ไม่ลืมกาย แค่นั้นแหละ จิตมันจะตั้งมั่นถึงระดับอุปจาระ ...อุปจาระในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ใช่อุปจาระในท่านั่งสมาธิหรือเดินจงกรมด้วย


โยม –  หมายถึงอะไรคะ

พระอาจารย์ –  สมาธิมีอยู่สามลำดับ ระดับที่รู้แล้วก็หาย เห็นแป๊บนึงแล้วก็หาย แวบๆ แล้วก็หาย...กายนะ เราพูดถึงกายนะ เดี๋ยวก็ลืมเดี๋ยวก็หาย นี่ เดี๋ยวก็ลืมเดี๋ยวก็หาย

อย่างนี้ ลักษณะนี้เรียกว่าเป็นสมาธิระดับที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ …แต่ถ้าไม่มีสมาธิระดับขณิกะ จะไม่รู้เลยว่ากายนี้มีอยู่ เข้าใจไหม นี่ จิตมันจะหยุด แล้วมันจึงจะรู้เห็นความปรากฏของกายในปัจจุบัน

นี่ระดับนี้ เรียกว่าสมาธิขั้นระดับที่เรียกว่า ขณิกะ เรียกว่าเป็นสมาธิที่ยังไม่มั่นคงและแนบแน่นพอ พอเพียงแก่ปัญญาญาณอันกล้า เข้าใจมั้ย ปัญญาอันคมกล้า

แต่ปัญญาก็เกิดอยู่ในทีอยู่ แต่ยังไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งในความหมายที่ว่ากายไม่ใช่เราของเราอย่างชัดเจน เข้าใจมั้ย พวกเรายังไม่รู้สึกหรอก ไอ้รู้อย่างนี้ มีนิดเดียว ...ก็ว่ามันก็ยังเป็นเราอยู่วันยังค่ำ เข้าใจมั้ย


โยม –  ติดๆ ดับๆ

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าทำไปด้วยความไม่ท้อถอย แล้วก็ไม่ต้องไปสนใจเรื่องอื่นเลย ...จิตจะคิด จิตจะปรุง  ไม่ต้องไปดูมันเลย ไม่ต้องไปเอาผิดเอาถูกอะไรกับมันเลย

ไม่แยแสด้วย ไม่ขวนขวายในมันเลย ...แล้วก็มุ่งตรงลงตรงนี้ รักษาไว้ ลืมเอาใหม่ๆๆ ...แล้วก็ประคองไว้ หล่อเลี้ยงไว้ ใช้สติสัมปชัญญะหล่อเลี้ยงไว้

เข้าใจคำว่าหล่อเลี้ยงไหม เหมือนเอาไม้ปิงปองมาเลี้ยงลูกไว้ไม่ให้มันตกน่ะ เออ หล่อเลี้ยงกายใจให้ได้ยืดขึ้นยาวขึ้นน่ะ นั่นแหละ สมาธิจะมั่นคงขึ้น

พอมั่นคงในระดับที่มันอยู่ตัว นีี่ ไม่ต้องหล่อไม่ต้องเลี้ยงแล้ว มันสามารถอยู่ตัว...คือมันสามารถรู้เห็นด้วยความเป็นธรรมดา ด้วยความที่ไม่ต้องบังคับ ด้วยความที่ไม่ต้องควบคุมมาก มันก็อยู่ของมันไป 

นี่ อย่างนี้เรียกว่าระดับอุปจาระ ...และเมื่อได้อุปจาระในระดับนี้ ความปรากฏอย่างชัดเจนของกายที่ไม่ใช่เรา เป็นเพียงแค่ก้อนธาตุก้อนอาการ เป็นเพียงแค่ก้อนกองทุกข์ 

หรือความเป็นแค่ก้อนกองสิ่งหนึ่ง ที่ไม่มีความหมาย  มันก็จะปรากฏอย่างชัดเจนในความรู้สึก ...นี่ ปัญญาจะชัดอย่างนี้ ในระดับของอุปจาระขึ้นไป

แต่ว่าในระดับที่เราทำงานหาเลี้ยงตัวเองนี่ มันมีการข้องแวะกับผู้คนมาก มันจะทรงอุปจาระไม่ได้นาน เข้าใจมั้ย ...ก็อย่าท้อ อย่าตีอกชกหัวตัวเอง มาคอยหล่อเลี้ยงศีลสมาธิไว้ด้วยขณิกะ

ด้วยความพากเพียร เป็นขณะๆ โดยเฉลี่ย เข้าใจมั้ย เฉลี่ยทั้งวันนะ  อย่ามาบอกว่าตอนไหนตอนหนึ่ง ช่วงไหนช่วงหนึ่ง ตอนก่อนนอน ตื่นเช้า กลับบ้าน แค่นั้นพอ...ไม่ใช่  ต้องเฉลี่ย สร้างไว้สะสมไว้

จิตมันก็จะเข้าไปรวมถึงขั้นอุปจาระได้ มากขึ้น บ่อยขึ้นอีก ...ความชัดเจนของกายในขณะที่มันเห็นด้วยความมั่นคงของสมาธินี่ คือจิตมันไม่วอกแวกเลย  แล้วมันอยู่ ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องกดข่มนี่

มันอยู่ของมันเอง มันเลี้ยงตัวของมันเองได้ มันสามารถเลี้ยงตัวของมันเองได้ ...นี่ มันจะเห็น ปัญญาญาณมันจะชัดเจน ในความที่ เฮ้ย มันเป็นอะไรของมันก็ไม่รู้โว้ย ต่างคนต่างอยู่

ตรงเนี้ย เรียกว่าลบล้าง จะเกิดความลบล้างความเห็นผิดในกายที่เป็นเรา มันเป็นการลบล้างความยึดในสักกาย คือตัวเราที่มีต่อกาย โดยที่ไม่ต้องไปทำการลบล้างด้วยวิธีอื่นเลย

นี่คือลบล้างด้วยปัญญา คือเห็นตามความเป็นจริง แล้วยอมรับตามความเป็นจริง โดยที่ไม่ต้องมีภาษามาวิเคราะห์ หรือคอยโอ้โลมปฏิโลมให้เชื่อนะ อุตส่าห์คิดตั้งหลายตลบแล้วนี่ เชื่อหน่อยเหอะ ...ไม่ใช่

มันรู้ชัดเห็นชัดในตัวของมันเอง นี่เรียกว่าปัญญาญาณ มันจะเข้าไปลบล้างความเห็นผิดในที...โดยที่ไม่ต้องอาศัยคำกล่าวอ้างใดมาลบคำกล่าวอ้างเก่าที่มันเชื่ออยู่ เข้าใจมั้ย

จึงเรียกว่าปัญญาญาณ...ปัญญาตัวนี้เท่านั้นน่ะ ไม่ใช่ปัญญาคิดค้น  ปัญญาญาณนี่จึงจะลบล้าง หักล้างความเห็นผิด หรือว่ากิเลสภายใน ...แล้วมันจะล้างไปเรื่อยๆ

เมื่อมันล้างไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันจะเกิดความเจือจาง ในความรู้สึกที่เป็นตัวเราของเรา ซึ่งมันหนาแน่นเป็น...ลักษณะที่มันเป็นตัวเราของเราที่มีอยู่ในพวกเรานี่ มันจะเป็นลักษณะ..อมตธาตุนิรันดร์กาลน่ะ

มันก็จะรู้สึกขึ้นมาเรื่อยๆ ได้เองว่า...เออ มันค่อยๆ เจือจางลง ไม่เข้มข้น ...แล้วมันจะเป็นลักษณะ fade away ...จางคลาย  ค่อยๆ จางคลาย ...ไม่ใช่ cut นะ

แต่ไอ้ตัวคัทนี่มันจะคัทแต่ตัวแรงๆ ที่ในอารมณ์ คือจิตเรา ...เข้าใจมั้ย ตัวจิตเรา นี่มันก็เนื่องด้วยกายเรานี่แหละ แล้วมันมีความคิดขึ้นมา มีความเห็นขึ้นมา แล้วก็จะมีความเป็นเราในจิตในอารมณ์ 

แล้วพอมันเท่าทัน ตัวจิตเรามันจะ...บางทีมันหาย วูบหายไป นี่มันจะคัทตัวนี้ เหมือนคัทออกไป ...แต่ตัวที่คัทไม่ออกคือตัวกายเรา บอกให้เลย มันจะยืนพื้นอยู่ในความรู้สึกเป็นเรา ยืนพื้นอยู่ 

เพราะมันจะต้องอาศัยการค่อยๆ เคลียร์ ลบล้างด้วยการเห็นตรง รู้ตรงต่อกาย ว่ามันเป็นอย่างนี้ เท่านี้ ...เป็นแค่กองรูป เป็นแค่กองความรู้สึก เป็นแค่กองเกิดดับ กองอะไรไม่รู้ ไม่มีชีวิตจิตใจ เข้าใจรึเปล่า

เออ เท่านี้แหละ จะถามอะไรอีกมั้ย ...ห้ามถามหวย ...นั่นแหละ ไม่ถามก็ไปทำเอา แล้วก็มันจะหมดคำถามไปเอง คือไม่ไปสงสัย อย่าสงสัย

วิธีการละความสงสัยคือ ไม่สงสัย อย่าตามความสงสัย ...เอ๊.. แน่ะ พอเริ่มเอ๊ นี่ต้องทันแล้ว ช่างหัวมัน ไม่เอา ปัดทิ้งเลย สลัดทิ้งเลย แล้วมารู้ลงที่กายเลย

เอากายเป็นตัวตัดเลย เอากายปัจจุบัน เอาศีลน่ะเป็นตัวตัดเลย ..เอ๊ จะใช่รึเปล่าวะ นี่ เริ่มเคลื่อนแล้ว จิตเริ่มเคลื่อนแล้ว อย่าไปดูนะ อย่าไปเอาเรื่องกับมันนะ 

อย่าไปตามต่อเนื่องปรุงต่อนะ จะถูกหลอกไปขายน่ะ เข้าตลาดมืดน่ะ รู้จักรึเปล่าตลาดมืดน่ะ มืดมนอนธการไปในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเลย ...ให้เท่าทันแล้วรีบละซะ

อย่าเสียดายความรู้ความเห็นข้างหน้าข้างหลัง ที่จะได้มาจากการคิดนึกปรุงแต่ง  ไอ้ตัวนี้คือตัวพัวพันเลย ความรู้ความเห็นที่ได้จากความคิดน่ะ มันจะพัวพันยุ่งเหยิงเหมือนด้ายที่แตกกรอ สาวไม่ออกเลยแหละ

แล้วอย่ามามัวแต่สาวด้ายนะ วิธีการสาวด้ายของเราคือ ยังไงรู้ป่าว โยนเข้ากองไฟเลย ...เสียเวลา เข้าใจรึเปล่า มาดึงให้เสียเวลา หน้าที่การงานอยู่ตรงนี้ งานหลัก งานในองค์มรรค

คือทำความแจ้งในศีล ทำความแจ้งในกาย ทำความแจ้งในรู้ ...สองอย่างนี่แหละ คืองานสัมมาอาชีโว ต้องดำริชอบ กระทำชอบ สัมมากัมมันโต

ต้องพากเพียรชอบ สัมมาวายาโม อยู่ในนี้  แล้วก็ต้องเลี้ยงชีพชอบ สัมมาอาชีโว หล่อเลี้ยงไว้ กายใจต้องหล่อเลี้ยงด้วยสติสัมปชัญญะอยู่ตลอดเลย อย่าไปหล่อเลี้ยงกิเลสนะ

ตัวที่ผลักดันให้เกิดการเข้าไปหล่อเลี้ยงกิเลสคือภวตัณหา กับวิภวตัณหา ตัณหาคือความทะยานอยากในอารมณ์ที่พอใจ ในสิ่งที่น่าใคร่ วิภวตัณหาคือทะยานอยากไปตามสิ่งที่ไม่น่าพอใจกับสิ่งที่ไม่ชอบ...สองอย่าง

ตัวนี้จะเป็นแรงผลักให้เกิดการขับเคลื่อนของจิต ให้ออกนอกศีลสมาธิปัญญา ...เราจะต้องทวนกระแสตัณหานี่ แล้วกลับมายืนหยัดตั้งมั่นอยู่บนฐานนี้

คือเราพูดนี่ เราพูดในองค์รวมนะ ...เอาไปใช้ในชีวิตจริงๆ จะทำไม่ได้อย่างที่เราพูดหรอก เข้าใจมั้ย แต่ให้ใส่ใจในการทำเช่นนี้ แล้วมันจึงจะเกิดฐานกำลัง

เกิดความเข้มแข็งในองค์มรรค เกิดความเข้มแข็งในศีลสมาธิปัญญา พร้อมทั้งเกิดความชัดเจนในศีลสมาธิปัญญาภายใน ...ถ้าทำอย่างนี้ก็เรียกว่าไม่ตายเปล่าหรอก ในชาตินี้ ยังไงก็ต้องถึง

อย่างน้อย...ศีล ถึงศีล เดี๋ยวก็จะถึงสมาธิ เดี๋ยวก็จะถึงปัญญา อย่างชัดเจนขึ้นมาเอง ...เมื่อถึงศีลสมาธิปัญญาก็จะถึงธรรมจริงๆ คือธรรมตามความเป็นจริง

ไม่ใช่ธรรมสั่วๆ หรือว่าธรรมปลอมปน หรือว่าสังขารธรรม หรืออนาคตธรรม หรืออดีตธรรม หรือว่าธรรมที่ไร้สาระ ...แต่จะเข้าถึงสัจธรรม

ตอนนี้พวกเรายังแยกแยะธรรมอะไรไม่ออกหรอก มั่วไปหมด ไอ้นั่นก็ใช่ ไอ้นี่ก็ใช่ ไอ้นั่นก็น่าเอา ไอ้นี่ก็น่ารู้น่าเห็น ไอ้นั่นก็น่าจะเข้าไปลิ้มลอง ไอ้นั่นก็น่าจะเข้าไปทำความแจ้งกับมัน อะไรอย่างนี้ 

มันหลากหลายเหลือเกิน เรียกว่านานาสาระ จนสับสน นั่นท่านเรียกว่าฟุ้งซ่าน เข้าใจรึยัง ...เอามันเหลือธรรมเดียว ธรรมหนึ่ง กายหนึ่ง จิตหนึ่ง ...มันจึงจะแจ้งในธรรม 

เขาเรียกว่าตีวง ล้อมวง ล้อมกรอบศีลสมาธิปัญญา ให้มันอยู่ที่เดียวนี่ มันจะมีกำลังมาก แล้วเมื่อกำลังแจ้งในที่เดียวปุ๊บ มันจะแผ่ขยายออกไป เรียกว่าขอบข่ายญาณทัสสนะมันจะกระจายออกไป

เออ นั่นยังไม่ต้องพูดถึงหรอก ...หากายตัวเองให้เจอก่อนเถอะ แล้วก็รักษากายตัวเองให้ได้ โดยที่ว่า ต้องนับถือกายนี่เป็น...ทูบีนัมเบอร์วัน

ไม่ใช่นัมเบอร์ฟิฟทีน เทอทีน หรือว่าเดอะลาสวัน แบบเป็นสิ่งสุดท้ายที่หนูจะดูเลยค่ะ ...ไม่ใช่นะ มันจะต้องเขยิบๆ จนมา ต้องเป็นนัมเบอร์วันเลยแหละ

เดอะเฟิร์สนะ สองไม่ได้นะ ...ถ้าเห็นอะไรสำคัญกว่ากาย ถ้าเห็นอะไรสำคัญกว่าศีล เคลื่อนออกจากองค์มรรค หนึ่งองศา หนึ่งลิปดา เดี๋ยวเลยไปหลายองศาเลยน่ะ

แล้วไม่ต้องกลัวหรอก ท่ามกลางกายใจ มีจิตให้ดูเยอะแยะ ...แต่ไม่ใช่ไปดูมัน แค่เห็น แค่ชำเลือง พอแล้ว ชำเลืองแบบ..ไม่แยแสน่ะ หยิ่งน่ะๆ หยิ่ง ไม่แยแสมัน มีไรมั้ย ฮี่โธ่

กูเอาจริงเอาจังกับมึงมาหลายชาติแล้ว กูยังไปไหนไม่รอดเลย มึงน่ะพากูเกิดมาเป็นอเนกชาติ ดูมึงมาหลายชาติแล้วนี่ กูยังไม่เข้านิพพานเลย นึกว่าแค่ไหนวะ ฮี่โธ่ ...นั่น ต้องอย่างนี้หนา  

ต้องคร่ำเคร่งอยู่ในที่ศีลเป็นเอก กายเป็นหนึ่ง...เอกังจิตตัง เอโกธัมโม ...แจ้งกายน่ะแจ้งจิต แจ้งกายน่ะแจ้งขันธ์ แจ้งกายน่ะแจ้งโลก แจ้งกายแจ้งใจน่ะแจ้งสามโลกธาตุ

แจ้งจิตน่ะไม่แจ้งอะไรเลย แจ้งจิตน่ะไปแจ้งอยู่ในความว่างนั่นน่ะ สุดท้ายก็จะได้ความว่าง

เอ้า จะถามอีกมั้ย บีบเค้นเข้าคำถาม ไม่เค้นก็กลับบ้าน ไปทำต่อ ไป ...พูดจนหมดคำถามแล้ว อย่าให้มีปัญหา อย่าให้จิตมันมีปัญหาออกมา แล้วอย่าคิดว่าอะไรที่จิตมันสร้างขึ้นมาเป็นปัญหา ...ไม่ใช่ 

มันหลอก ...แท้ที่จริงน่ะ ไม่มีเรื่องราวอะไรเลย  จริงๆ มันไม่มีเรื่องอะไรเลย ...เพียงแต่จิตมันกล่าวอ้างขึ้นมาเท่านั้น แล้วเราหลงกับคำกล่าวอ้างของมัน

เป็นดีเป็นร้าย เป็นถูกเป็นผิด เป็นคุณเป็นโทษ เป็นชอบ เป็นน่าชอบ เป็นไม่น่าชอบ เป็นน่าชัง แค่นั้นเอง  แล้วเราไปให้ค่าให้ความหมายกับมัน จริงจังกับมัน

พอเราเริ่มวางมือ คลายออกจากมัน แล้วมามุ่งมั่นใส่ใจในตรงนี้ สาระน้ำหนักของมันนี่จะลดลง...จากที่มันเคยท่วมภูเขาเลากานี่ ความสำคัญนี่ มันจะน้อยลง

แล้วฐานะความสำคัญของศีลสมาธิปัญญานี่จะมากขึ้น ทดแทนขึ้นมาเอง ...จนเรื่องราวต่างๆ นี่ เหมือนไร้ค่า เหมือนอากาศ เหมือนใบไม้ที่ปลิวไหว มันไม่มีอะไรเลย

แต่ศีลสมาธิปัญญาเป็นสาระที่สำคัญยิ่งยวดเลย เพื่อมาทำความรู้แจ้งเห็นจริงในภพชาติปัจจุบัน ...เพื่อจะไม่ให้เกิดภพชาติปัจจุบัน เพื่อจะไม่ให้เข้าไปมีไปเป็นในภพชาติปัจจุบัน

ซึ่งมันจะสืบเนื่องไปถึงการดับสิ้นซึ่งภพชาติในอนาคตและในอดีต ...ถ้าไม่แจ้งในภพชาติปัจจุบัน กายใจปัจจุบัน ไม่มีทางเลยที่จะไปลบภพชาติในอนาคตในอดีตได้เลย

เพราะว่าอดีต-อนาคต...มันก็มาจากปัจจุบันนี่แหละ แต่ไอ้จิตนี่มันจะไปสร้างอดีตอนาคตอยู่ตลอดเลย ...แล้วมันดูเสมือนจริงกว่าตรงนี้ด้วยซ้ำ

แล้วก็เราก็ไปจริงจังมั่นหมาย ...เป็นทุกข์ระทม เป็นคร่ำครวญ เป็นอาดูร เป็นอาวรณ์ เป็นหัวเราะร้องไห้ เป็นเอาเป็นเอาตาย เสียดายตายอยากอะไรก็ไม่รู้ จริงจังเหลือเกิน

แต่ละเลยในศีลสมาธิปัญญา โดยใช่เหตุโดยใช่ควร ...ภพชาติมันเลยไม่จบไม่สิ้น  เดี๋ยวได้นู้น เดี๋ยวได้นี้ เดี๋ยวก็มีอันนี้มาได้ เดี๋ยวก็ได้อันนี้มาแทน อย่างนี้

ก็เป็นดังที่หมายบ้าง ดังที่ไม่หมายบ้าง พอเป็นดังที่ไม่หมาย มันก็จะไปหาดังที่หมายใหม่ ได้ที่หมายใหม่ เดี๋ยวที่หมายใหม่ก็จะเอาให้มันเที่ยง มันไม่เที่ยงก็จะทำให้มันเที่ยง

พอมันไม่เที่ยงมันหายไป ก็จะทำให้เกิดขึ้นมาอีก ดีกว่าเดิมอีก ...อยู่อย่างนั้นน่ะ เอาล่อเอาเถิดกับมันไม่มีวันจบหรอก เหนื่อย ไม่เข้าใจอะไรหรอก ...มาเข้าใจว่านั่งคืออะไร อะไรเป็นนั่ง จริงๆ น่ะใครนั่ง 

นี่ ดูสิ แยบคายดู อะไรมันนั่งกันแน่ ผู้หญิงนั่ง เรานั่ง คนนั่ง หรือใครนั่ง หรือไม่มีใครนั่ง หรือไม่มีอะไรนั่ง หรือไม่เรียกว่านั่ง หรือไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ...นี่ อันไหนจริงกว่ากัน 

ทบทวนอยู่ภายในอย่างนี้ สืบค้นอย่างนี้ ใคร่ครวญอย่างนี้ ด้วยสติสัมปชัญญะ อย่าให้มันออกนอกกาย ...ทบทวนกายใจปัจจุบันอยู่ตลอด มันก็ชัดเจนชัดแจ้งขึ้นมาเอง ...เอ้า พอแล้ว


(ต่อแทร็ก 15/33)