วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/19


พระอาจารย์
15/19 (570615E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 มิถุนายน 2557



พระอาจารย์ –  รู้ตัวให้เป็น ... ให้รู้ว่า...จะรู้ตัวยังไง ยังไงเรียกว่ารู้ตัว ยังไงเรียกว่าไม่รู้ตัว ...นี่ จับประเด็นนี้ให้ได้ก่อน ว่าอย่างนี้เรียกว่ารู้ตัว อย่างนี้เรียกว่าไม่รู้ตัว

แล้วก็อยู่กับความรู้ตัว สร้างความรู้ตัวขึ้นมาเยอะๆ ...ทำอย่างนี้ก่อน ทำความชัดเจนกับว่าระหว่างรู้ตัว กับไม่รู้ตัว เพราะจริงๆ คำว่ารู้ตัวก็คือรู้กายนั่นเอง


โยม –  งั้นบางครั้งที่เราลืมบ่อยๆ ก็คือเราไม่รู้ตัว

พระอาจารย์ –  ก็ให้มันรู้ตัวบ่อยๆ  เมื่อใดที่รู้ตัว เรียกว่าเมื่อนั้นน่ะ...ภาวนา

(ถามโยมคนอื่นๆ) เอ้า มีอะไร


ผู้ถาม –  ผมไม่มีอะไรทำแล้วครับ

โยม – (หัวเราะ) ไม่มีอะไรทำน่ะ ...มันตัดไปเยอะแล้วน่ะ ชีวิตมัน...ตั้งแต่เด็กก็สนใจเรื่องนี้ แล้วก็ไม่ค่อยได้คลุกคลี ไม่ค่อยได้เที่ยว

พระอาจารย์ –  รักษากายใจไว้ รักษากายใจเดียวไว้ ...อย่าไปหาคู่ อย่าไปหาเพื่อน...พอ...มีเท่าไหร่มีเท่านั้น อย่าไปเพิ่มกว่านี้ ...เท่าที่มันมีก่อน คนที่รู้จักนี่เอาเท่าที่มันมีก่อน

แล้วค่อยๆ หดลง ...อย่าไปเพิ่ม อย่าให้มีอะไรภายนอกนี่มันเพิ่มกว่านี้  แล้วไอ้ที่มันมีอยู่แล้วก็ค่อยๆ คลายออก วางลง  ให้มันน้อยลงๆ  ความสัมพันธ์ทั้งหลายทั้งปวง...ให้มันค่อยๆ หด

ให้มันหดหายลงมา ...อย่าไปหาอะไรใหม่ขึ้นมาอีก อย่าไปเพิ่ม อย่าไปสร้างความรู้จักกับอะไร คุ้นเคยกับอะไรขึ้นมาอีก ...ไอ้ที่มันคุ้นอยู่แล้ว ไอ้ที่มันมีอยู่แล้วนี่ มันก็หนักพอแรงแล้ว

แล้วไอ้ที่มีอยู่แล้วนี่...ก็ต้องมาทำความเพียรที่จะคลายออก วางลง ให้มันน้อยลง ให้มันไม่เข้าไปจริงจัง ให้มันเข้าไปผูกพันน้อยลง ...นี่แหละ มันถึงจะเห็นหัวเห็นท้าย

แต่ถ้ายังปล่อยให้มันไปข้องแวะ หรือว่าหาอะไรมาพอกพูน เพิ่มพูนขึ้น...ทั้งความสัมพันธ์ ทั้งบุคคล ในแง่มุมต่างๆ ทั้งวัตถุ ทั้งข้าวของอะไรนี่ ...พวกนี้จะเป็นทางเหนี่ยวรั้งหมดเลย ผูกพัน รุงรัง

เพราะนั้นก็ให้มันหดสั้นลงมา ให้มันเกิดความว่างเบาจากภายนอก แล้วสุดท้ายมันก็จะเหลือความว่างเบาภายในกายใจ ขันธ์ก็เหลือแค่กาย-ใจ กาย-ใจ กาย-ใจอยู่อย่างเดียว

แล้วทุกอย่าง...ก็จะเห็นด้วยความเบาบาง ด้วยความที่ไม่มีน้ำหนักสำคัญ...พอที่จะให้เราเข้าไปหมายมั่นเป็นความพอใจ-เสียใจอะไรกับมัน


โยม –  คือตั้งแต่เด็กๆ โยมเลือกคบคนอยู่แล้วค่ะ ถ้าไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรก็จะไม่คบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไปหาประโยชน์กับเขานะคะ แต่ว่าเปรียบอย่างนี้นะคะ อย่างหมาที่บ้าน คือโยมก็ห่วงมันรักมันมาก แต่โยมก็รู้สึกว่า เออ ถ้ามันตายก็ดี เพราะว่าโยมจะได้ไม่ต้อง...คือคนอื่นเขาก็ไม่เข้าใจ แต่บางทีมันก็ตัดได้น่ะค่ะ ก็รอให้เขาตายไป

พระอาจารย์ –  ก็อย่างนั้นน่ะ อะไรที่มันมีอยู่แล้วก็เลี้ยงดูมันไป ก็เท่าที่มันดีที่สุดตรงนั้นเอง ประคับประคองไป ...แต่ถ้าตายแล้วก็อย่าหาใหม่ แค่นั้นน่ะ

เหมือนกันน่ะ อะไรที่มันหมดไปแล้ว สิ้นไปแล้ว ...ก็ให้มันหมดไป อย่าไปขวนขวายกับมันด้วยเคยชิน ...บางทีมันเสียดายเพราะว่าติดอารมณ์เดิมๆ มันก็พยายามจะให้มันมีอารมณ์เดิมๆ อยู่อย่างนี้

ก็เรียกว่ามันติด แล้วมันจะพยายามไม่ให้บกพร่องในอารมณ์ ไม่พยายามให้จิตเรานี่มันบกพร่องในอารมณ์อยู่ตลอด ...นี่คือความเป็นอยู่ของมนุษย์

แล้วมันเผื่อเหลือเผื่อขาด ...คือมันก็จะสร้างอารมณ์ไว้มากๆ เผื่อการที่บกพร่องในอารมณ์ แล้วมันจะได้มีอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งมาทดแทน...เป็นที่อยู่เป็นที่อาศัย

นี่ เราจะต้องทิ้งที่มาของอารมณ์ ที่ตั้งของอารมณ์ภายนอกให้ได้


โยม –  แล้วอย่างสมมุติมีคนที่เราช่วยกันทางธรรมกับเขา แล้วเขาก็ไปทางธรรมด้วย เราก็ต้องทิ้งเขาหรือคะ

พระอาจารย์ –  ทิ้งหมดน่ะ ...ไปคนเดียว


โยม –  แต่เราก็ช่วยเหลือเขาได้นะคะ แบบว่าเราก็ช่วยเขาได้นะคะ

พระอาจารย์ –  คือช่วยห่างๆ ...อย่าไปอิน อย่าไปอินถึงขั้นกินอยู่หลับนอนกับมันเลย อะไรอย่างนี้ เข้าใจมั้ย คือเกินไปแล้ว ...ก็ต้องรู้ว่ามันพอห่างๆ แล้วก็ไม่ผูกพันกันมากจนเกินไป แค่นั้นเอง

เพราะสุดท้าย...มรรคนี่ การเดินในมรรคนี่ ความบริสุทธิ์ในองค์มรรคนี่ คือกายเดียวใจเดียวจริงๆ ...คือเป็นเอก เป็นผู้เดียว เป็นผู้โดดเดี่ยว เป็นเอกบุรุษ เอกสตรีจริงๆ

นี่ คือมันจะมีอะไรติดแนบไปด้วยไม่ได้เลยน่ะ ต้องเป็นเอกบุรุษ เอกจิตจริงๆ ...แต่ถ้าเรายังไปห่วงหาอาวรณ์อาลัย ทั้งในแง่ดีแง่กุศลอะไรก็ตาม ...มันเป็นตัวเหนี่ยว ตัวรั้ง ตัวขวาง ตัวดึง

ก็หักห้ามใจ แล้วก็สละความผูกพันนั้น...ด้วยปัญญาน่ะเป็นตัวตัด จนมันเกิดความตึงตัวผู้เดียวขึ้นมา จิตเดียวจริงๆ นี่ ค่อยๆ ละ ค่อยๆ ออก อย่าไปเพิ่ม อย่าไปให้มันมากขึ้น


โยม –  อย่างครูบาอาจารย์นี่ ถ้าเกิดท่านอธิษฐานคู่กับใครมา แล้วสมมุติท่านสละพุทธภูมิอะไรอย่างนี้ค่ะ คู่ของท่านก็ต้องเดินทางต่อมาหรือ

พระอาจารย์ –  มันไม่หนีหายไปไหนหรอก บารมีที่ทำมา มันก็สนับสนุนลงนิพพานหมดน่ะ

ภาวนาน่ะ มันจะต้องเข้มข้นขึ้นภายในอยู่เรื่อยๆ ...ไม่ใช่อยู่ไปล่องลอยไป หรือว่าปล่อยสบายๆ กับความที่ไม่เป็นสุข-ไม่เป็นทุกข์ ...นี่ มันไม่พอหรอก

มันต้องทำความแจ้งชัดอย่างเข้ม...กายคือกาย ใจคือใจ ชัดอยู่อย่างนั้น ไม่วางมือเลย


โยม –  แล้วจำเป็นไหมคะ ...คืออย่างมันก็มีบางช่วงที่รู้ไปปกติ มันก็เห็นเกิด-ดับไปเฉยๆ แต่ว่ามันก็มีบางช่วงที่แบบรู้เกิด-ดับแล้วก็เห็นความทุกข์ด้วย จำเป็นไหมคะที่ต้องเห็นไอ้ตัวที่ดิ้นออกมา

พระอาจารย์ –  ไม่จำเป็นหรอก ขอให้ดำรงไว้...กายกับใจน่ะ  แล้วมันจะเห็นเอง รายละเอียดยิบย่อยน่ะ มันจะเห็นเอง ไม่ใช่ต้องไปตั้งใจจะไปดูไปเห็นมันหรอก

ตั้งใจดูตั้งใจเห็นที่เดียวคือกายกับใจ แล้วมันจะเห็นเองน่ะ มันจะเห็นเองทุกสิ่ง  ตามันจะสว่างขึ้น มันจะเห็นรายละเอียดในจิตเอง ...แล้วมันจะเห็นพร้อมละด้วย ไม่ใช่เห็นแล้วไปยึด เห็นแล้วไปมีไปเป็น

เพราะมันเห็นด้วยศีลสมาธิปัญญา มันเห็นด้วยปัญญาที่เกิดจากศีล-สมาธิ  มันไม่ใช่เห็นแล้วเข้าไปเอาเข้าไปหมาย ...มันเห็นแล้วทิ้ง เห็นแล้วตัดเลย

แล้วมันจะเห็นชัดขึ้น รายละเอียดของจิตก็จะเห็นชัดขึ้น ...จนเกลี้ยงเกลา จนผู้รู้นี่เกลี้ยงเกลา สมาธิมั่นคงแข็งแรง เกลี้ยงเกลา


โยม –  โยมว่าข้อนี้ของโยมคือ โยมไม่ค่อยมีห่วงอะไร อย่างงานนี่โยมก็ทำแต่ก็ไม่ได้เหลวไหล แต่ก็ไม่ได้จริงจัง คือว่าในชีวิตโยมให้ความสำคัญมากๆ กับเรื่องสองเรื่องน่ะค่ะ ...แต่ว่ามันก็พอมันมีแค่นี้ มันก็เลยเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ตัดยาก

พระอาจารย์ –  การสงเคราะห์ การเกื้อกูลผู้อื่นน่ะ เอาไว้ทีหลัง ...เกื้อกูลตัวเองให้มาก เกื้อกูลศีล-สมาธิของตัวเองให้มาก ให้เป็นอันดับแรก  จนกว่ามันจะหลุดพ้น แล้วค่อยมาเกื้อกูล ประโยชน์บุคคลอื่นภายนอก

นี่ มันจึงจะเรียกว่าไม่เสียงานภายใน ...แต่จะเอางานภายในพร้อมไปกับงานภายนอก บอกแล้วไง...ไม่ได้ ...มันจะต้องเป็นศีลสมาธิปัญญาก็คือศีลสมาธิปัญญาอย่างเดียว จะไม่มีอย่างอื่นปะปนเลย


โยม –  อย่างพระพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญบารมี ...โอเค ก็เข้าใจว่าเพราะต้องการช่วยคนอื่นไปด้วยเลยต้องใช้เวลานานมาก

พระอาจารย์ –  ก็ดูวาระที่ตรัสรู้สิ ท่านก็ยังต้องทิ้งหมด...ภายนอกน่ะ

คือเหมือนกันน่ะ มันไม่มีหรอกที่จะ...ระหว่างการข้องแวะ แล้วมันจะเข้าไปเรียนรู้ธรรมเห็นธรรมโดยสมบูรณ์ได้ ...ไม่มีทางเลย เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ศีลสมาธิปัญญาก็คือต้องศีลสมาธิปัญญา...ล้วนๆ จริงๆ ...มันถึงจะชัดเจนในธรรม ชัดเจนในธรรมทั้งหลายทั้งปวงโดยที่ไม่สงสัย ไม่ค้างคาเลย

ไอ้ตัวที่มาค้างมาคา ก็คือตัวจิตน่ะ ที่ไปตัดแปะมา ไป copy and paste ความหมายใดความหมายหนึ่ง บัญญัติใดบัญญัติหนึ่ง การจำได้หมายรู้ใดจำได้หมายรู้หนึ่ง...ในความเห็น

มันต้องเป็นล้วนๆ จริงๆ ...เป็นบริสุทธิ์ศีล บริสุทธิ์สมาธิ วิสุทธิศีล วิสุทธิจิต วิสุทธิปัญญาจริงๆ

ต้องตั้งใจละ ต้องตั้งใจเลิก ...ถ้าไม่ตั้งใจละ ไม่ตั้งใจเลิกกันจริงๆ  ไม่มีทางหรอกที่จิตมันจะละได้เอง ...ต้องตั้งใจละมันก่อน  ละความคิด ละความเห็น ละถูก ละผิด 

ละบุคคล ละความเป็นไปของบุคคล ละอดีต-อนาคตของบุคคล ...ละๆๆ ก่อน  จนมันเหลือแต่ตัวของมันเองล้วนๆ เหลือแต่ศีลสมาธิปัญญาล้วนๆ ในตัวของมันเอง

นั่นแหละ ทุกอย่างจะปรากฏด้วยความกระจ่าง ธรรมจะเปิดเผยตัวของมันออกมาเอง โดยที่ไม่ต้องไปนั่งค้นไล่หาอะไรเลย ...ความเป็นจริง สัจธรรม มันจะเปิดเผยขึ้นมาด้วยศีลสมาธิปัญญา


โยม –  ตอนพระอาจารย์ภาวนา พระอาจารย์รู้สึกว่าเรื่องอะไรตัดยากที่สุด

พระอาจารย์ –  ไม่มีอ่ะ ...ทุกเรื่อง ...เราไม่ได้เน้นตัวใดตัวหนึ่ง เราเน้นกายใจที่เดียว เราไม่รู้หรอกอะไรที่จะขึ้นมา บอกแล้วไงว่า มันละโดยที่ไม่ต้องคิดว่า...อะไรละก่อน อะไรละหลังน่ะ 

มันละโดยที่...มึงอย่าโผล่มาให้เห็นนะ อย่าให้เห็นว่าจิตมันเคลื่อนออกไปหมายแล้วกัน ...เอาตรงนั้นก่อนเลย

เอ้า พอแล้ว ไป พอ ภาวนาแล้วค่อยมา มีโอกาสก็มา ไม่มีโอกาสก็ภาวนา อยู่กับตัวเอง


ผู้ถาม –  พระอาจารย์ครับ ขอถาม ...ช่วงนี้ ฟังคำสอนมากๆ แล้วก็นึกไปถึงกลุ่มที่เขาดูนามธรรมเป็นหลัก ดูเขารุ่งเรืองกันจังเลย มีคนไปเยอะ มีคนบรรลุ มีจิตสว่างไสว ดูแนะนำกันได้อย่างนั้นอย่างนี้ ...นี่เราวางใจยังไงดีล่ะครับ

พระอาจารย์ –  เฉยๆ อย่าไปหมาย อย่าไปหา อย่าไปจริงจัง ...บอกให้เลยว่าธรรมะนี่ การเข้าถึงธรรมจริงๆ นี่ ไม่ใช่ของในตลาดนะ ไม่ใช่หาเลือกซื้อเอาในตลาดนะ 

การไปดูอะไรที่ฉาบฉวยน่ะ มันก็จะเป็นธรรมที่ฉาบฉวย ผลที่ได้จะเป็นผลที่ฉาบฉวย ...แต่ก่อนน่ะ เราก็สอนให้...เราอธิบายเรื่องดวงจิตผู้รู้นะ การรู้จิต...ให้รู้อยู่ที่รู้กับจิต ไปใช่ไปดูจิตถ่ายเดียวนะ

พอเราสอนเราแนะในลักษณะนั้นไป แต่ด้วยบารมีธรรมที่เคยทำมาของแต่ละคนนี่ มันไม่สามารถมีใครกำหนดรู้อยู่กับจิตได้แต่ถ่ายเดียวเลย ...มันไม่เหมือน มันไปไม่ได้

เราถึงว่าต้องมาสร้างรากฐานของศีลใหม่เลย ต้องมาสร้างรากฐานรู้กับกายกับศีลใหม่เลย ...นั่นแหละ มันถึงจะค่อยๆ สร้างฐานของสมาธิขึ้นมาใหม่ สร้างฐานของผู้รู้ผู้เห็นขึ้นมาจริงๆ

ไม่ใช่ผู้รู้ผู้เห็นหลอกๆ เดี๋ยวมันจะหลอกไปเรื่อยน่ะ ...ไอ้ตัวผู้รู้ผู้เห็นที่มันได้มาแบบเลื่อนลอยๆ น่ะ ง่ายๆ ฉาบฉวยน่ะ จะถูกหลอกง่ายๆ เลยแหละ


โยม –  แต่ถ้าบอกว่า คนเราสมัยนี้ ฟุ้งเยอะ คิดเยอะ ก็เลยดูจิตง่าย ...แต่ในความเห็นโยม โยมรู้สึกว่าคือจริงๆ แล้วมันจะต้องตัดไอ้ความฟุ้งนั้นก่อนต่างหาก

พระอาจารย์ –  ใช่  ก็บอกแล้ว...สมาธิ ชื่อก็บอกแล้วระงับซึ่งจิตสังขาร กายสังขารเลย ...จะไปดูจิตเป็นหลัก แล้วไปดักคอยดูจิตอยู่อย่างนั้นน่ะ ...มันจะเป็นสมาธิได้อย่างไร ยังปล่อยให้จิตมีมาให้ดูได้อย่างไร 

สมาธิจริงๆ จะไม่มีจิตให้ดูเลย  สัมมาสมาธิจริงๆ จะไม่มีจิตให้ดูเลย ...เพราะจิตมันเกิดไม่ได้ มันระงับ มันหยุดหมดแล้ว


โยม –  แล้วพระอนาคามีท่านก็เห็นแต่ตอนที่มันนานๆ จะกระเพื่อมขึ้นมาที

พระอาจารย์ –  ใช่ ซึ่งท่านไม่ได้ยินยอม ดีใจกับการกระเพื่อมของจิตเลย ท่านไม่ยอม ...อย่าว่าแต่จิตมันคิดเรื่องอะไรเลย แค่กระเพื่อม ท่านก็รู้สึกเป็นทุกข์แล้ว

ไม่ใช่เป็นทุกข์ตอนที่มันคิดเรื่องอะไรอยู่นะ นั่นเขาเรียกว่าสติขั้นปลายแถวน่ะ สมาธิขั้นปลายแถว ปัญญาขั้นปลายแถวเลย ยังไม่เห็นทุกข์ ยังปล่อยให้มันสร้างทุกข์ขึ้นมาถึงขนาดนั้น ...มันไม่ใช่หรอก


โยม –  อย่างโยมบางทีเห็นทุกข์ตอนเป็นเรื่องแล้ว บางทีมันเห็นทุกข์ตอนที่มันกระเพื่อมขึ้นมา

พระอาจารย์ –  ส่วนมากไปเห็นตอนที่มันดับแล้วด้วยซ้ำ ...นี่ มันช้ากว่ากันเยอะ สติปัญญามันช้ากว่าความเป็นจริง ความเป็นไปของเหตุที่เกิดทุกข์ แล้วก็ทุกข์ที่กำลังเกิด แล้วก็ทุกข์ที่ดับไป

แต่เมื่อใดที่มันพอดี ลงพอดีๆๆ ...นั่นแหละ มันเท่าทันกันเป็นปัจจุบันธรรม ปัจจุบันศีล ปัจจุบันสมาธิ ปัจจุบันในปัญญาแล้ว

นี่ มันจึงจะเข้าใจระบบ ขบวนการของขันธ์ ขบวนการของกิเลส  ปัจจยาการของขันธ์ ปัจจยาการของกิเลส


โยม –  โยมเข้าใจแล้ว ที่เขาบอกว่าพระอนาคามี สมาธิปานกลาง ก็คือท่านก็ยังเห็นจิตแลบออกมาอย่างนี้หรือ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่น่ะ ... พระอนาคามี...ศีลเต็ม สมาธิเต็ม ปัญญาปานกลาง  พระอรหันต์...ศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ ปัญญาบริบูรณ์ ... โสดา...ศีลปานกลาง สมาธิ-ปัญญา...เล็กน้อย ประมาณนี้

เอ้า ไปภาวนา อยู่กับตัวเอง ...ใครเขาจะเป็นยังไง ใครเขาจะดี ใครเขาจะไม่ดี ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปเอา ไม่ส่งจิตไปคิดไปนึก


ผู้ถาม –  ตัวเองก็ยังต้องเอาเรื่องของตัวเองให้รอดก่อนเหมือนกัน

พระอาจารย์ –  เท่าทันความคิด เท่าทันจิตบ่อยๆ ...ละมันเลย ไม่ไปคิดมาก ไม่ปล่อยให้มันยาว เป็นคืบเป็นวาเป็นศอกนี่ ไม่เอา ให้มันสั้น ให้มันน้อย


โยม –  ไม่มีอะไรฝากเป็นพิเศษหรือคะ

พระอาจารย์ –  ไม่มี ให้มันรู้ตัวไปอย่างเดียว อย่างอื่นไม่ต้องไปสน ...ส่งจิตออกนอก บอกแล้วว่าอย่างนี้เขาเรียกว่ายังอ่อนข้อให้มันอยู่เท่านั้นแหละ


โยม –  ถ้าไม่ทำอะไรเลย มันก็ต้องไปอยู่ในป่าแล้วค่ะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  คือ ให้มันได้  ฝึก...ให้มันเห็น ให้มันได้  ...ต้องลองทำก่อน ในท่ามกลางที่มันไม่ยอมนี่ จะไปเอาภายนอกเป็นมาตรฐานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเอาปัจจุบันนี่แหละ

ทำตั้งแต่ปัจจุบันนี่แหละ แล้วฝึกไป แล้วขยาย ค่อยๆ ขยายออก ให้มันเข้มข้นให้ได้ระยะหนึ่งก่อน เป็นพีเรียด แล้วขยายออก


โยม –  โยมเห็นได้แค่ว่า พอมันขึ้นมา อย่างสมมุติเรื่องราวขึ้นมาก็ทันมัน แต่พอมันเห็นว่ามันเป็นประโยชน์ ก็ทำไปด้วยโดยรู้ตัวไปด้วย ไม่ได้หรือคะ

พระอาจารย์ –  นี่แหละเขาเรียกว่าอ่อนข้อให้มัน เห็นมั้ย มันมีเงื่อนไข มันมีเงื่อนไขมารองรับ จิตมันสร้างเงื่อนไขมารองรับ ว่าไม่เป็นไร เนี่ย เปิดช่อง ...ถ้าจะให้เต็มต้องละโดยเด็ดขาดนี่


โยม –  แล้วถ้ามันยังมี

พระอาจารย์ –  หยุดเลย หยุดจิตเลย ตรงนั้น พั้บ...ขาด ขึ้นอีก...ขาด


โยม –  วันๆ ยืนเดินนั่งนอนอย่างเดียว ไม่ทำอย่างอื่นที่มันเป็นประโยชน์เลย

พระอาจารย์ –  ไม่เลย  ถ้าจะมรรคคือมรรคลูกเดียว เข้าใจมั้ยว่าอย่างนี้ก่อน  ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เข้าใจมั้ย ไม่เกี่ยวข้องกับทั้งนั้น ...มันรู้เองน่ะ ตามเหตุปัจจัยอันควร...ภายนอก

แล้วมันจะเห็นว่าไอ้อย่างนี้ พวกนี้...ไร้สาระ ยังถือเป็นเรื่องไร้สาระ  บุญบาปนี่ถือเป็นเรื่องไร้สาระ มันจะต้องอย่างนี้ก่อน เข้มงวดกับจิตตัวเองให้มากก่อน

เรียกว่าเคลียร์...เคลียร์คัทก่อน ต้องเคลียร์ ต้องหยุด ...คือต้องหยุดจริงๆ ก่อน โดยที่ไม่มีคำว่าข้ออ้างเงื่อนไขอะไรเลยน่ะ เรียกว่าล้มกระดาน

ถ้าเราไม่มุ่งเข้าสู่จุดนี้แบบสูงสุดในศีลสมาธิปัญญาแล้วนี่ ไม่มีทางนะที่จะเอาชนะกิเลสโดยเบ็ดเสร็จเลย


โยม –  พระโสดาบันไม่ต้องขนาดนั้นใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ โสดาโสแดอะไร...ไปหลอกเด็กนู่น ...เอาจนมันหมดจากความหมายมั่นในขันธ์น่ะ 

เอ้า ไป ไปละเลิกเพิกถอน


.............................




วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/18 (2)


พระอาจารย์
15/18 (570615D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/18  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นี่จึงเรียกว่าเป็นเหตุที่ว่า...ต้องมามีศีลเป็นหลักเป็นฐาน  ...ถ้าไม่มีศีลเป็นหลัก สมาธิจะไม่ได้หลัก จิตจะไม่ได้หลักเลย จิตจะไม่สามารถตั้งรวมรู้เห็นเป็นดวงจิตผู้รู้ที่มั่นคงได้เลย

ถ้าจิตเป็นผู้รู้ที่มั่นคงไม่ได้ มันจะไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริงอย่างชัดเจนเลย ...ญาณจะไม่บังเกิด  มันก็จะไปเกิดปัญญาแบบคิดนึกขึ้นมามากกว่า

แต่ถ้ามันตั้งรู้ได้ปั๊บนี่ หมายความว่าจิตมันไม่คิด...ไม่สามารถคิด  มันจึงมีแต่เห็น...เห็นเงียบๆ เห็นอย่างเงียบๆ ...คือมันไม่คิด เพราะมันคิดไม่ออก คิดไม่ได้

แต่มันเห็นสภาพที่อยู่เบื้องหน้าใจ เบื้องหน้ารู้นี่ โดยที่ไม่มีความคิด ไม่มีคำพูดภาษามาสอด มาแทรกซึม มาเปรียบเทียบ มาทำความกระจ่างด้วยภาษาอะไรเลย ...มันจะเห็นแบบตรงๆ


ผู้ถาม –  ถ้าเรารู้กลับมาที่กายนี่ ถ้าเราไม่ทันจริงๆ มันจะกลายเป็นเพ่งกายรึเปล่า

พระอาจารย์ –  เพ่งเข้าไปเหอะ เพ่งเข้าไป กดคอให้มัน...ต้องการให้เพ่ง ...ถ้าไม่เพ่งไม่อยู่นะ ถ้าไม่เพ่งไม่เกิดปัญญานะ ถ้าไม่รวมรู้รวมเห็นเป็นหนึ่งเดียวกันนะ ...ไม่มีทางเลยนะ


โยม –  เพ่งไปเลยหรือครับ

พระอาจารย์ –  เพ่งไปเหอะ ติดไปเหอะ ขอให้เพ่งกาย ขอให้ติดกายเหอะ ...อย่าไปเพ่งกายคนอื่นแล้วกัน เดี๋ยวมีด่ากันชกกัน เห็นมั้ย ถ้าเพ่งกายอื่นนี่มีปัญหานะ

แต่ถ้าเพ่งกายตัวเอง ก็เออ...เครียด อึดอัด...ช่างหัวมันเถอะ ...แล้วปัญหาพวกนี้มันจะค่อยๆ หมดไปเอง แต่มันจะเกิดความรู้ขึ้นมาใหม่ทดแทน

แต่ถ้าไปเพ่งที่อื่นนะ...เกิดอารมณ์ ...ผู้ชายเพ่งผู้หญิง ผู้หญิงเพ่งผู้ชายนี่...เกิดอารมณ์  เพ่งคนที่เกลียด...เกิดอารมณ์  เพ่งคนที่ชอบ...ก็เกิดอารมณ์  เพ่งไปในวัตถุข้าวของ...เกิดอารมณ์หมด

ถ้าเพ่งนอกออก เขาเรียกว่า...มมังโส เพ่งออก ...ถ้าเพ่งใน เรียกว่า...โยนิโส  ด้วยอาตาปี นี่ จะเกิดความโยนิโสหรือโอปนยิโก ...คือมันน้อมกลับแล้วมันจะเกิดความแยบคายขึ้นมาเป็นปัญญา


ผู้ถาม –  รู้ตรงไหนก็เพ่งไปตรงนั้นเลย

พระอาจารย์ –  ตรงนั้นเลย ความรู้สึกตรงไหนชัดก็เพ่งตรงนั้น


โยม –  พระอาจารย์เคยบอกว่า ให้สังเกตว่าถ้าเพ่งนี่ มันจะเป็นหนึ่งกับสิ่งที่ไปเพ่ง  แต่ถ้าเราเห็นว่ามันยังมีตัวรู้อยู่ก็ไม่เพ่งแล้ว เพราะนั้นต้องสังเกตความต่างตรงนี้

พระอาจารย์ –  อือ นั่นแหละ ให้มันแยบคายในการเพ่งเองน่ะ มันจะแยบคาย  ถ้าเพ่ง...ที่จริงน่ะที่มันรู้สึกว่าเพ่งมากนี่เพราะ “เรา” นะ...ไม่ใช่เพราะ “รู้” นะ  เพราะยังมีเราเข้าไปหา เข้าไปดู


โยม –  ค่อยๆ แยกความต่างตรงนี้ออก

พระอาจารย์ –  แล้วมันจะค่อยๆ แยกระหว่าง...เมื่อใดที่มันเห็นกายกับรู้ นั่นแหละ เมื่อนั้นแหละความเพ่งจะน้อยลง ความเป็นเราเพ่งก็น้อยลง


โยม –  และต้องไม่ไปพยายามจะเอาที่ใดที่หนึ่งด้วยนะคะ หมายถึงว่าที่ไหนก็ได้ที่รู้สึก แล้วมันก็จะเพ่งไม่ได้แล้ว เพราะมันจะเปลี่ยน

พระอาจารย์ –  การรู้กายนี่ เหมือนเราถือไก่อยู่ในกำมือน่ะ...อย่าบีบและก็อย่าปล่อย เข้าใจมั้ย ...คือพอให้มันไม่หลุดจากมือน่ะ ...แต่บีบมากไก่ตายเลย


ผู้ถาม –  ทื่ออยู่อย่างนั้นเลย

พระอาจารย์ –  เออ มันจะไม่ได้อะไรเลย ...ถ้าคลายหน่อย ไก่ก็ดิ้นนะ ก็หันซ้ายหันขวานะ แต่ว่าไม่หลุดจากมือนะ ...เนี่ย การรู้กายนี่ รู้อย่างลักษณะนี้


ผู้ถาม –  รู้แตะๆ ไว้

พระอาจารย์ –  เออ ประคับประคองอยู่อย่างนี้ก่อน ...จนมันคล่อง จนมันชำนาญ


ผู้ถาม –  พระอาจารย์บอกว่าเพ่งตรงนี้ไว้ก่อนก็คือประคอง

พระอาจารย์ –  ใช่ๆ ประคองหรือว่ากำไว้ก่อน ...เดี๋ยวมันจะรู้จักเองนะ ค่อยๆ รู้จัก...อ้อ นี่กาย 

ที่มันเพ่งเพราะอะไร ...เพราะเราเข้าไปต้องการ เข้าไปอยาก เข้าไปอะไรพวกนี้  มันจึงเกิดลักษณะเพ่งเกินไป ...เพราะมีอำนาจของเราเป็นผู้กระทำ มีเจตนาของเรา


ผู้ถาม –  นี่มันแป๊บเดียว เดี๋ยวมันก็ไปอีกแล้ว ...ก็กลับมาที่กาย

พระอาจารย์ –  อือฮึ กลับใหม่ กลับบ่อยๆ กลับบ่อยๆ...พันครั้ง หมื่นครั้ง ล้านครั้ง กลับเข้ามาเหอะ ...มันไม่เสียหายอะไร เหนื่อยก็ไม่เหนื่อย ลงทุนก็ไม่ลงทุน เสียเงินก็ไม่เสียเงิน ใช่ป่าว

แล้วทำเองเนี่ย มีใครรู้มีใครเห็นมั้ย มีใครเขามาเดือดร้อนมั้ยกับการที่มาน้อมกลับบ่อยๆ น้อมกลับบ่อยๆ นี่...ก็ไม่มี  ผัวเมียก็ไม่ทะเลาะกัน เพราะมันน้อมกลับบ่อยๆ อะไรอย่างนี้

แต่เสียอย่างเดียว...กูขี้เกียจ แค่นั้นเอง ...ความขี้เกียจ เห็นมั้ย ตัวขี้เกียจมันเป็นตัวที่ไม่ยอม  มันชอบสบาย ชอบปล่อยให้จิตมัน...มมังโสน่ะ ล่องลอยออกไป ส่งออกนอก


โยม –  งานที่ใช้ความคิดหรือวางแผนนี่ มันมีข้อเสียตรงที่ว่า เวลามันหมดไปกับเวลางานน่ะนะคะ  พออยู่กับตัวเอง ก็เอาแล้ว...มันจะขึ้นมา อย่างนี้ต้องมีอธิษฐานบารมีมั้ย

พระอาจารย์ –  สัญญามันขึ้นมา อือ มันก็ต้องเข้มงวดน่ะ ...ก็บอกแล้วไง ต้องตั้งใจให้มั่น ตั้งใจไว้


โยม –  ว่าเวลานี้จะทำการงานภายในแล้ว

พระอาจารย์ –  ตั้งความตั้งใจมากๆ แรงๆ


โยม –  โยมเห็นว่าถ้ามันกลับมาได้ คือจริงๆ แล้วภาวนาไปด้วย มันก็ยังมีความคิดออกมาได้  เพียงแต่ว่าถ้าเราไม่ทันมัน แล้วเราไปมีความอยากกับมันต่อ มันก็จะไปเรื่อยๆ 

แล้วพอถึงเวลาเราหยุดงาน มันก็ยังเห็นเป็นสัญญาต่อ  แต่ถ้าเราภาวนาไปด้วยแล้วมันคิดออกมาของมันเอง เราไม่ได้ไปตามมัน

พระอาจารย์ –  มันจะสังเกตได้เองน่ะ พอปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะสังเกตได้เองว่า...ทำไมกูคิดทั้งวันเลย แล้วกูกลับมา กูไม่คิดต่อเลยวะ ...เพราะว่าอะไร 

อย่างที่บอก...ถ้ารู้ตัวกำกับไปเรื่อยๆ เข้าใจมั้ย มันเป็นตัวที่ไม่เข้าไปจริงจังในการกระทำความคิด ...แต่ถ้าทำแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ คิดเอาเป็นเอาตายเลย กลับมานี่ รับรองเลย นอนไม่หลับ


โยม –  คิดต่อ

พระอาจารย์ –  แล้วจะมานั่งสมาธิรวมจิตรวมใจก็รวมไม่อยู่ จะเป็นอย่างนั้น ...แต่ถ้าเรากำกับด้วยศีล-สมาธิ รู้ตัวๆ นิดนึงๆ ไปนี่ ...มันอาจจะยืดเยื้อตอนที่กลับมาอยู่คนเดียวแค่นิดๆ หน่อยๆ

แต่ว่าไม่รบกวนมาก เข้าใจมั้ย มันจะไม่รบกวนมาก สัญญาจะไม่รบกวนมาก อดีต-อนาคตในหน้าที่การงานจะไม่รบกวนมากสักเท่าไหร่ ...แล้วมันจะรวมจิตรวมใจได้ง่าย

แต่ก็อาจจะไม่เป๊ะ เข้าใจมั้ย จะไม่เป๊ะซะทีเดียว ...อาจจะเป๊ะได้แค่แป๊บนึง แล้วก็ยืดออกมาอีกแล้ว ...แต่เวลามันยืดออกมาแล้วอย่าไปดีใจ-เสียใจ 

อย่าไปโกรธแค้น อย่าไปตำหนิติเตียน อย่าไปหาถูกผิด เอาถูก-เอาผิด ...ก็แค่รู้เฉยๆ แล้วก็คอยน้อมคอยหยั่งกลับมา คอยน้อมคอยหยั่งกลับระหว่างสัญญากับกายๆ

อย่าไปตั้งหน้าตั้งตาตีๆๆ เข้าใจมั้ย นี่ ไปทะเลาะกับมัน เอาเราไปทะเลาะกับมัน “มึงมาทำไม กูกำลังจะทำตรงนี้ เนี่ย มาอีกแล้วๆ ...ก็คอยน้อมคอยหยั่งไว้ 

มันก็จะดึงให้เข้า เสร็จแล้วก็...เออะ ไม่เอาน่ะ กลับมา ...พอกลับมา ไอ้นี่ก็กรุ่นอยู่ ...ก็ไปอีกแล้ว มันยังไม่แล้วไม่เลิก ยังไม่ยอมแล้วยอมเลิกๆ ...ก็กลับมา ...นี่ มันรบกวนอย่างนี้ รบกวนอยู่

แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ ทำสมาธิ ทำศีลในชีวิตไปเรื่อยๆ  ไอ้พวกนี้จะบางเบา ไม่แข็งแรง ...แม้กระทั่งมันยังอยู่ไม่หายไปไหน ก็ไม่สามารถดึงให้ออกไปจมปลักกับมัน

ทั้งความคิด สัญญา อารมณ์ในสัญญา ความถูก-ความผิดในอดีต-อนาคต  ความน่าจะมี ความน่าจะเป็น  ความไม่น่าจะมี ความไม่น่าจะเป็น...ในอดีต-อนาคต 

มันไม่สามารถดึงให้ออกนอกศีลสมาธิปัญญาได้ ...แต่มันก็ล่องลอย...'มึงอย่าเผลอนะๆ' แค่นั้นเอง ...แต่มันไม่หายไปไหน


ผู้ถาม –  เท่ากับเราสะสม ถ้าว่าผู้รู้มันมีกำลังมากขึ้น

พระอาจารย์ –  ใช่ มันจะรู้ตัวได้มากขึ้น  แล้วพวกนี้ก็ถือว่าเป็นความเศร้าหมองที่วนอยู่ ...เป็นความขุ่น เป็นความเศร้าหมองวนเวียนอยู่ 

มันก็ไม่ได้เปิดใสกระจ่างหรอก แต่ว่ามันก็ไม่เข้าไปคลุกเคล้า เข้าใจมั้ย มันจะเห็นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ค่อยๆ กระจ่าง แล้วจะเข้าใจตัวเอง เข้าใจระบบของกิเลส ระบบของจิต 

แล้วก็เข้าใจที่จะวางจิตอย่างไร ทำอย่างไรเพื่อขจัดปัดเป่าสิ่งต่างๆ ที่มันรบกวนจิตใจ รบกวนศีลสมาธิปัญญา จนดำรงศีลสมาธิปัญญาด้วยความบริสุทธิ์

อาจจะมีบางครั้ง หรือนานๆ ที ที่มันสามารถดำรงด้วยความบริสุทธิ์ได้นี่ ...ซึ่งถ้ามันเป็นลักษณะนั้นน่ะ มันจะไม่รู้หรอกว่ามีที่มาที่ไปยังไง เข้าใจมั้ย เหมือนฟลุ้ค...เอ๊ะ มายังไง ทำไมมันอยู่วะ แล้วจะทำยังไงให้มันอยู่อย่างนี้

ทำไปเรื่อยๆ แล้วมันจะเข้าใจที่มาที่ไปเองว่า จะต้อง...หูย มันจะต้องตั้งแต่ตื่นนอน กูจะต้องทำอย่างนี้ ต้องวางจิตอย่างนี้ มันระดับนี้ มันถึงปึ้บวางปั๊บ เหมือนกับสตาฟไว้เลย


ผู้ถาม –  นี่คือรู้ที่มาที่ไปของมันชัดๆ

พระอาจารย์ –  มันจะรู้เองๆ ว่าเข้ายังไง แล้วมันดำรงศีลสมาธิปัญญาในตัวของมันได้อย่างไร 

สมมุติว่าวันไหนที่เราจะทำความเพียรทั้งวันทั้งคืน ไม่หลับไม่นอน...ในระหว่างวันนี่เราจะเดินสติอย่างมาก เจริญสติอย่างมากเลย


ผู้ถาม –  สะสมรอไว้

พระอาจารย์ –  รอไว้เลย พอถึงเวลาทำความเพียรข้ามวันข้ามคืนนี่ มันไม่ฟุ้งซ่าน มันเอาอยู่ 

อุบายภายนอกที่ครูบาอาจารย์ท่านวางไว้เยอะแยะ อดข้าวบ้าง อดน้ำบ้าง...นี่ เหล่านี้เพื่ออะไร ...เพื่อเวลาที่มาทำความเข้มข้นระหว่างการภาวนาจริงๆ พวกนี้มันจะตัดสิ่งรบกวน...สิ่งรบกวนในจิต

บางท่านบางองค์นี่ ไม่กินนม ไม่กินของมัน  เพราะพวกนี้เป็นตัวที่สนับสนุนราคะ...ทางกาย


โยม –  เป็นทุกคนหรือคะ

พระอาจารย์ –  ไม่แน่ อันนี้แล้วแต่ ...ใครจะรู้  ก็ตามธาตุขันธ์ ...ท่านจะสำรวจด้วยตัวของท่านเอง ท่านจะรู้ด้วยตัวของท่านเอง


โยม –  เคยไปอ่านที่หลวงตาบัวท่านบอกของทอดของมัน

พระอาจารย์ –  แล้วแต่ มันไม่ใช่ทุกคนไป  หรือบางคนก็เรียกว่าต้องอยู่ในสติให้มาก ให้ทั่ว ให้ถี่ ระหว่างวัน แล้วเวลานั่งยาวๆ แบบครึ่งวันครึ่งคืนนี่ แล้วมันจะอยู่ได้นาน


โยม –  แล้วบางท่านทานนมส่วนใหญ่ล่ะคะ

พระอาจารย์ –  ก็ไม่เป็นไร จริงๆ น่ะ มันไม่ได้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ เข้าใจมั้ย ...เหล่านี้มันเป็นแค่ปัจจัย เป็นเพียงปัจจัยที่มาสนับสนุน หรือมาเอื้อเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง

แต่อย่าถือเป็นหลักนะ เอาเป็นหลักไม่ได้นะ ...ถ้าหลักคือหลักเดียว...ศีลสมาธิปัญญา 

อุบายพวกนี้อย่าเอาเป็นหลักนะ ถ้าเอาเป็นหลักเมื่อไหร่ปุ๊บนะ จะกลายเป็นสีลัพพตะเลย ...มันจะติดกลายเป็นข้อบังคับของตัวเองเลย เป็นกฎหมายประจำใจขึ้นมาเลย นี่ ยุ่งเลยนะ

คือที่พูดเล่าให้ฟังนี่เพื่อให้เห็น ...เพราะว่าการฝึกการปฏิบัตินี่ มันไปได้สุดโต่ง  มันไปทั้งอัตตกิลมถานุโยค ทั้งในส่วนที่ละอย่างเข้มข้น  แล้วก็ในส่วนที่ติดอย่างมากมาย 

มันต้องไปของมันอย่างนี้อยู่แล้ว กว่าที่มันจะปรับความสมดุลได้ ...แล้วก็พึ่งอาศัยอุบายธรรมทั้งหลายนี่แค่เพียง...บอกแล้วไง จนเป็นไทนะ ไม่เป็นราวแล้วกู ...คือแต่ก่อนมี accessory เยอะเหลือเกิน 

เห็นมั้ย อย่างธุดงคกรรมฐานนี่ ๑๓ ข้อเข้าไปแล้ว เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าบัญญัติหรือวางไว้ ...ธุดงค์นี่ คำว่าธุดงคกรรมฐาน ธุดงควัตรนี่ เป็นธรรมขั้นอุกฤษฏ์ เพื่อขัดเกลากิเลสแบบอุกฤษฏ์ 

แต่ก็ไม่ได้เป็นวินัยบัญญัติ ...คือท่านไม่ได้บอกว่าพระทุกองค์จะต้องรักษาธุดงควัตรอย่างนี้ ...แต่ว่าเป็นธรรมที่ว่าขัดเกลากิเลสขั้นอุกฤษฏ์ ...ให้เลือกเอา

แล้วท่านไม่ได้บอกว่าต้องทำ ๑๓ ข้อด้วยนะ...ให้เลือกเอา  พระเลยเลือกเอาอย่างเดียวคือบิณฑบาต ง่ายที่สุด บิณฑบาตนี่ก็ถือว่าเป็นธุดงควัตรนะ ธุดงควัตร ขัดเกลา

เพราะอะไร ...กินในบาตร ฉันในบาตร ได้ของที่มาในบาตร  มันก็เป็นการกำราบกิเลสโลภะในรสชาติ ...อยากได้ร้อนก็ได้เย็น อยากกินเย็นได้ของร้อน 

หรืออยากกินของแข็งได้ของนิ่ม อย่างเนี้ย อยากได้กินมากก็ได้กินนิดนึง อยากกินของถูกปาก ก็ได้กินของที่ไม่ถูกปาก มันไม่แน่ ก็ต้องกิน ...นี่เขาถือว่าเป็นธุดงควัตรนะ

แต่เดี๋ยวนี้สมัยนี้มันก็เจือจางลงไปแล้ว... บิณฑบาตมาแล้วของในบาตรเททิ้ง กูกินข้าววัด มีโรงครัว อะไรอย่างนี้ เห็นมั้ย ...แต่ ยังไงก็ยังจัดอยู่ในธุดงค์อยู่ 

เพราะว่าธุดงค์ก็มีความเข้มข้นในการถือหลายระดับ... ต้น กลาง แล้วก็อุกฤษฏ์  บิณฑบาต ถือผ้าสามผืน ไม่มีสำรอง มีแค่สามผืนจริงๆ อะไรอย่างนี้

เพราะนั้นเวลาจะไปถือธุดงค์อย่างนี้ มันจะต้องไปอยู่ในป่า มันก็ง่ายต่อการถือธุดงค์ ถ้าอยู่ในวัด อยู่ในบ้านในเมืองคงถือยาก พอถือธุดงค์ขึ้นมาแล้วมันจะกลายเป็นตัวประหลาดขึ้นมาในสังคมวัดสังคมเมือง

เพราะนั้นมันจึงเป็นธรรมที่สะดวกต่อการที่อยู่คนเดียว แล้วจะหยิบยกขึ้นมาเป็นเครื่องขัดเกลาจิตอย่างอุกฤษฏ์ ...การอยู่กลางแจ้ง การอยู่ป่าช้า การไม่นอน นี่ พวกนี้ถือธุดงค์หมด


โยม –  ซึ่งโยมว่ามันก็เป็นประโยชน์ ช่วยทำให้ไม่ฟุ้งไปตามกิเลส  แต่ก็จะมีสมัยนี้ ก็จะสงสัยว่าทำอุกฤษฏ์เกินไป

พระอาจารย์ –  เอ้า เท่านี้แหละ ได้เนื้อความใจความกันพอสมควร

อยู่ที่ความตั้งใจ ภาวนาคือความตั้งใจขึ้นมา ตั้งใจให้ได้ทุกที่ ตั้งขึ้นมาให้ได้ ตั้งกายขึ้นมาให้ ตั้งใจขึ้นมาให้ได้ทุกที่ นั่นแหละคือภาวนา ..อย่าให้มันล้ม อย่าให้มันหาย


(ต่อแทร็ก 15/19)