วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/27 (1)


พระอาจารย์
15/27 (570713B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
13 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เมื่อรู้ว่ามันบกพร่องอย่างนี้ ก็ต้องแก้ให้ถูก เจริญให้ตรงต่อธรรมที่มันบกพร่องไป ...อย่าไปหมายธรรมอดีต-ธรรมอนาคตใดๆ

เนี่ย การทบทวน ต้องหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอ ว่ามันบกพร่องในส่วนไหน แล้วจะแก้อย่างไร ที่เรียกว่าแก้ตรงต่อจุดนั้นๆ

ถ้าอยากให้จิตตั้งมั่น ก็ไม่ต้องไปนั่งหลับตาอะไร ...ก็ต้องรู้ว่าทำยังไงถึงจิตจะตั้งมั่น ไม่ไปวิเคราะห์เอาเอง ไม่ไปเชื่อคำวิเคราะห์ต่างๆ นานา จากคนอื่น

ให้มันมั่นอกมั่นใจในศีลสติปัญญาที่ได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ เช่นนี้  ให้มันเป็นตัวเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนองค์มรรค...ในแต่ละส่วนในองค์มรรค

ความเจริญงอกงามในธรรม ในองค์มรรค ความแข็งแกร่งในองค์มรรค มันก็จะเริ่มปรากฏขึ้นอยู่ภายในนั่นเอง ...ไม่ต้องไปหาภายนอก ไม่อาศัยเลย ไม่ต้องไปอาศัยวิธีการภายนอก

มันได้ทุกท่าทาง ได้ทุกอิริยาบถ ได้ทุกสถานที่ ...เป็นมรรคดำเนินอยู่ภายใน สร้างมรรคอยู่ภายใน ด้วยสติในปัจจุบัน ด้วยสติระลึกรู้กับกายปัจจุบัน ด้วยจิตตั้งมั่นอยู่กับกายปัจจุบัน

นั่นแหละ ทำอยู่แค่นี้ อะไรที่มันเกินกาย อะไรที่มันนอกกาย อะไรที่มันยิ่งกว่ากาย อะไรที่มันออกนอกปัจจุบันกายนี่ ...ต้องตั้งกฎกติกากับตัวเองว่าไม่เอา

แม้ว่ามันจะดูดี ดูสนับสนุนว่าเหนือกว่าคนอื่น ดูจะเอามาใช้ได้ต่อไปภายภาคหน้าก็ตาม...ไม่เอาคือไม่เอา ...เหล่านี้ มันจะมาบิดเบือน บดบัง

อะไรก็ตามที่มันจะมาทำให้กายจืดจางหายไป หมดไป หรือว่าคลุมจนมืดมิดในกายที่กำลังแสดงความเป็นอยู่...มีความปรากฏขึ้นในปัจจุบันนี่ ...ก็ต้องรีบละรีบเลิกออกแล้ว

เช่นสมมุติว่ากำลังเมามันในการคุยอย่างนี้ ...พอสักแวบหนึ่ง สัมมาสติมันเกิดระลึกขึ้นมาว่า เฮ้ย กูกำลังทำอะไรอยู่วะเนี่ย แล้วดูหากายใจมันไม่เจออยู่

แล้วเมื่อเกิดสติขึ้นอย่างงั้นน่ะ ...ต้องกล้าเลยนะ ต้องเข้มแข็งเลยที่จะลุกขึ้น แล้วกลับออกจากวงสนทนา ...ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ตามมาคือวงแตกแล้วถูกด่าตามหลัง

อย่างนี้ คือการละโดยฉับพลัน ทั้งภายนอกและภายใน โดยไม่มีคำต่อรอง ...แน่ะ กิเลสมันจะต่อรอง ขนาดว่าเกิดสติระลึกว่า..เอ๊อะ กำลังหลงอยู่นะเนี่ย ...แต่ก็ยังปล่อยให้มันคุยต่ออย่างนี้

นี่ ยังปล่อยให้มันอยู่ท่ามกลางกระแสกิเลสหมุนวนภายในภายนอกอยู่อย่างนี้  ไม่รีบเลิก ไม่เลิกละ ไม่รีบถ่ายถอน ตั้งแต่ภายนอกเป็นต้นมา จนกลับมาอยู่ภายใน ตั้งต้นอยู่ภายในถ่ายเดียว

เพราะนั้นการละการถอนจากภายนอกนี่ อาจจะถอนด้วยความละมุนละม่อมก็ได้ ...ขอตัวนะ ปวดห้องน้ำ จะไปขี้  แล้วก็เข้าห้องขี้ แต่ไม่ได้ขี้ กูกลับบ้านเลยอย่างนี้ก็ได้ ...นี่โดยละมุนละม่อม

หรือว่าโดยหักหาญ...ก็ลุกขึ้นไม่ต้องพูดต้องจา กำหนดลงที่กาย ก้าวเดินไปด้วยความอาจหาญ แล้วแต่วิสัย ...แต่เสียงก่นด่า เสียงติฉินเสียงซุบซิบนินทา มีแน่

นี่แหละคือผลพวงที่อยากมัวเมาในความคุยนัก อานิสงส์ตามมา คือหลง หลงคุย ...เพราะนั้นมันจะมีอานิสงส์นะ มีผลกรรมหรือวิบากกรรมตามหลัง

แต่ถ้าเก็บมาคิดหรือไปกังวลอยู่กับมัน เดี๋ยวก็อดไม่ได้ที่จะไปทำความเข้าใจ...ให้ทุกคนเขาเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเราถึงต้องทำอย่างนี้ ...เนี่ย มันเสียเวลามั้ยน่ะ

ก็ถ้ากลุ่มนั้นมันอยู่ประมาณสักห้าสิบคนล่ะเอ้า สมมุติ ...จะต้องไปไล่ทำความเข้าใจกับทุกคนเหรอ ว่าที่อิชั้นหรือผมทำอาการนี้ เพราะจะรักษาศีลสมาธิปัญญาภายใน ...มันคงเข้าใจกันล่ะนะ

ซึ่งส่วนมากเราบอกให้เลยว่า มันจะบอก “กูไม่เข้าใจมึงหรอก” เนี่ย ...แต่ก็ยังอดคิด อดเกรงใจ อดกังวลแทนไม่ได้ กลัวเขาจะเสียใจ กลัวเขาจะน้อยใจ กลัวเขาจะเข้าใจเราผิด

เห็นมั้ย อานิสงส์น่ะๆ มันก็มาเป็นสัญญาเผาไหม้อยู่ภายใน เนี่ย เพราะปล่อยให้มันหลงตามไปนานน่ะ

แต่ถ้าระวังเท่าทันอยู่เสมอ พูดแค่ประโยค-สองประโยค รีบถอยแล้ว ...มันก็จะเกิดเหมือนกับเป็นการสร้างอัตลักษณ์ใหม่ เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญาเหมือนจะสร้างอัตลักษณ์ของขันธ์นี้ขึ้นมาใหม่

การดำรงวิถีแห่งขันธ์ การดำเนินชีวิตวิถีแห่งขันธ์ เหมือนมันจะเปลี่ยนอัตลักษณ์ใหม่กลายๆ ค่อยเป็นไป...แรกๆ ...จนคนรอบข้างเขาก็อาจจะรู้สึกว่า ไอ้นี่มันกินยาผิดรึเปล่า 

เนี่ย มันก็มีบ้าง เล็กๆ น้อยๆ นะ ...แต่มันจะเล็กๆ น้อยๆ แล้วค่อยเป็นไปจนถึงกับว่า...เออ มันไม่ได้กินยาผิดหรอก นิสัยมันไปแล้ว มันไปแล้วล่ะ เราก็คงต้องปล่อยให้มันเป็นอย่างนั้น ไม่รู้จะแก้ยังไงแล้ว 

อย่างนั้นน่ะ เขาก็เริ่มวาง ไม่มาเซ้าซี้แล้ว ...ไอ้ที่มาเซ้าซี้ เพราะเราไปให้ความผูกพันไว้

เห็นมั้ย การละนี่ มันค่อยๆ ละ ค่อยๆ ถอนกันมาอย่างนี้ ตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ภายใน ...ไม่ได้ละด้วยอารมณ์ ไม่ได้ละด้วยความพอใจ-ไม่พอใจ ...แต่มันละเพื่อจะเข้าสู่ศีลสมาธิปัญญา

เพราะนั้นไอ้ตัวที่พาให้ละเพื่อจะเข้าสู่ศีลสมาธิปัญญา ...ตัวนี้ท่านเรียกว่าสติ..สัมมาสติ คือระลึกขึ้นเพื่อให้กลับมาอยู่ในศีลสมาธิปัญญา

ไม่ใช่ระลึกด้วยความโกรธ ด้วยความไม่พอใจ แล้วละมันแบบ “กูไม่เอามึงแล้ว” อย่างนี้ ...ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่ละด้วยกิเลส ไม่ใช่เอากิเลสไปละกิเลส ...แต่บทแรกเริ่มต้นของการละ มันจะเริ่มที่สัมมาสติ 

แล้วพอมันมาอยู่ลำพัง พูดน้อย ข้องแวะกับผู้คนน้อย ให้ระวัง...สัญญาเดิมมาแล้ว ...มันเปรี้ยวปากๆ อยากจะ “อืม สักหน่อยน่า เอ อยากถามหาความเป็นไปของเขาหน่อยนะ ไม่ได้เจอกันนาน”  

อย่างนี้ มันมี นี่ สะเก็ดสัญญา ความผูกพัน มันอาลัย ...ก็อดทนไว้ ตั้งมั่น ไม่จับมาคิดต่อ ไม่เอามาเป็นอารมณ์ต่อเนื่อง เท่าทัน คอยเท่าทัน

ลักษณะเช่นนี้เหมือนกันน่ะ เหมือนกันกับเราติดเน็ท ติดเฟส ติดกิจกรรมบางกิจกรรมที่คุ้นเคย ดูหนังบ้าง ฟังเพลงบ้าง ไปสถานที่ต่างๆ นานา อะไรก็ตามที่มันมีความสุขสบาย

การละ การเลิก มันจะมีลูกสร้อยตามหลังอยู่อย่างนี้ ...แล้วมันก็ค่อยๆ จืดลงๆๆๆ จืดลงในสัญญา เมื่อมันจืดลง จางลงในสัญญาปุ๊บ สิ่งที่มาแทน ทดแทนขึ้นมา คือความตั้งมั่นของศีลสมาธิปัญญา

เห็นมั้ย ทุกอย่างไม่ใช่ได้มากันอย่างง่ายๆ  ทุกอย่างที่ได้ ทุกอย่างที่จะทำให้เกิดศีลสมาธิปัญญาตามมา การกระทำที่จะทำให้ความมั่นคงของศีลสมาธิปัญญามันอยู่นี่

มันจะต้องมาจากคำว่า “เสียสละ” หรือว่า “จาโค” แลก ...สละนั้นเพื่อแลก “นี้”  สละโน้นเพื่อแลก “นี้” สละนู้นเพื่อแลก “นี้” ...เห็นมั้ย ถ้าไม่สละมันจะแลกกับ “นี้” ไม่ได้

นี่ มันก็ได้ “นี้” ขึ้นมา ...ซึ่งคำว่า “นี้” ขึ้นมานี่ คือศีล สมาธิ ปัญญา ...“นี้” ขึ้นมาคือกายนี้ ใจนี้ ขึ้นมา ...ถ้าไม่สละ มันจะไม่ได้ศีลสมาธิปัญญา

แต่ว่าไอ้ตัวศีลสมาธิปัญญาที่อยู่นี่ มันยังมีต้นตอกิเลสอยู่  ซึ่งมันคอยแต่จะให้สละ “นี้” ไปเอาโน้น ...นี่ก็สละเหมือนกัน แต่สละกายใจ ทิ้งเรือแต่จะไปกระโดดงมปลาในมหาสมุทร หรือทะเลแห่งวัฏสงสาร

เห็นมั้ย มันยังมีเชื้อคอยอยู่ข้างใต้อยู่นะ ...ไอ้นั่นก็น่าอยู่นะ ไอ้นี่ก็..เอ๊ะ จะยังไงล่ะ ไอ้นู่นก็ดี ไอ้โน่นก็มีประโยชน์ ไอ้โน้นก็ไม่ได้นะ สำคัญน่ะ ...เนี่ย มันคอยรบกวนอยู่ข้างในอยู่ตลอด

มันก็...เออ ถ้าตัดสินใจ หรือว่ากำลังของมัน มัวแต่ไปหมกมุ่นอยู่กับมัน จมแช่อยู่กับมัน คิดเรื่องอยู่กับมัน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่กับความคิดอยู่กับอารมณ์นานๆ

มันก็เลยกระโดดออกจากศีลสมาธิ เรียกว่าจาโค..แต่มันจาโคศีลสมาธิปัญญา แล้วเข้าไปเสพเสวยภพแลชาติ ให้ได้เป็นมาเป็นไปซึ่งความสุขความทุกข์ของเรา ความพึงพอใจของเรา

มีความสบายใจของเรา ความเพลิดเพลินของเรา ความได้เป็นผลประโยชน์ของเรา ความมีหน้ามีตาเป็นตัวเป็นตนของเรา ...เนี่ย มันก็จะสละตัวนี้เพื่อแลกกับตัวนั้น

เห็นมั้ย ทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างไม่มีอะไรได้มาแบบไม่ต้องทำอะไร ...เพราะนั้นท่านถึงบอกว่า จาโค ปฏินิสสัคโค มุตติ อนาลโย ...สละสมุทัย

ล้อมรอบกายใจนี่คือสมุทัย เป็นที่ตั้งของสมุทัยหมดเลย เป็นที่ตั้งภพและชาติหมดเลย ...แม้กระทั่งกายใจปัจจุบันก็ยังเป็นสมุทัยตัวหนึ่งเลย ยังเป็นที่ตั้งแห่งความเป็นเราเลย

แต่ว่าไอ้ตัวนี้เอาไว้ทีหลัง เป็นตัวไว้ละทีหลัง มันจะละทีเดียวแล้วก็ละได้หมด ...เบื้องต้นจะต้องสละไอ้ตัวสมุทัยภายนอกนี้ซะก่อน ด้วยการจาโค ปฏินิสสัคโค...จะมุตติกับอนาลโย ต้องอย่างนี้ ต้องตรงนี้

แต่เล่ห์เหลี่ยมของจิต เล่ห์เหลี่ยมของเรานี่มันมาก มันก็จะเอาของใหม่มาแลก ให้น่าแลก ให้สำคัญ ให้ดูมีความสำคัญยิ่งขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ ...แบบว่าไอ้นี่ไม่โดน ไอ้นั่นก็ยังไม่โดน พอมาไอ้แบบนี้ล่ะ...โดนเลย


(ต่อแทร็ก 15/27  ช่วง 2)



วันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/26



พระอาจารย์
15/26 (570713A)
13 กรกฎาคม 2557



พระอาจารย์ –  จะไปดูอะไรนอกเหนือจากกายใจอีกเล่า ...มุ่งมั่นลงไป หน้าเดียว ที่เดียว ธรรมเดียว กายเดียว รู้กับสิ่งเดียว ...นอกนั้นทิ้งหมด

มันจะเสนอแนะอะไรขึ้นมา หรือมันหาย เผลอ ลืม แล้วไปมีอะไรมาปรากฏทดแทนกายใจ แล้วไปยินดีพอใจ พึงพอใจในสภาวะนั้นที่ดีกว่ากาย ...รีบทิ้งซะ

หากายให้เจอ ท่ามกลางความหลง ท่ามกลางอารมณ์ ท่ามกลางสภาวธรรมอื่น ท่ามกลางสภาวะจิตอื่น หาให้เจอ ...ละให้ได้ ...ได้แล้ว...ละให้ขาด อย่าไปเสียดายมัน

ถ้าหาไม่เจอเราก็บอกแล้วไง สูดลมหายใจแรงๆ ดูกับความกระเพื่อมของลม ...หยาบๆ เลย สูดลมหยาบๆ ลงไปเลย ดึงสติ ดึงจิตมาอยู่กับลม ผูกไว้เลย แล้วค่อยๆ กระจายลมไปทั่วกาย ทั่วอิริยาบถ

ถ้ายังหากายกันไม่เจอจริงๆ ให้ไปยืนอยู่หน้าข้างฝา แล้วเอาหัวโขกลงไปแรงๆ  ดูซิมันจะรู้สึกตัวขึ้นมาบ้างมั้ย ...เนี่ย ปฏิบัติเหมือนคนบ้านะบางที ปฏิบัติกับกิเลสน่ะ มันหายากหาเย็นซะเหลือเกิน

เวลากิเลสมันครอบงำใจ ครอบงำกาย ครอบงำขันธ์น่ะ เห็นมั้ย ...บางครั้งบางคราวที่เราตกอยู่ในอารมณ์โกรธอย่างยิ่ง ไม่พอใจแบบเลือดขึ้นหน้าอย่างนี้  ดูดิ ภาวะตรงนั้นน่ะ

หากายกับใจไม่เจอจริงๆ นะ ยากจริงๆ ที่จะหาใจหากายเจอตรงนั้น ...จนต้องคอยหรือรอให้มันทุเลาจากสภาวการณ์ตรงนั้น สภาวะอารมณ์แบบนั้นก่อน กายใจถึงค่อยๆ ผุดโผล่ขึ้นมาให้เห็น

แล้วยังไม่พอนะ มันผุดโผล่ขึ้นมาให้เห็นแวบๆ แล้วยังมีสัญญาตามล้างตามผลาญอีกนะ ...จำได้ว่าเมื่อกี้มีอารมณ์ จำได้ว่ามันเคยทำ เคยด่าเราอย่างนี้ เหตุการณ์นี้ไม่ดีกับเรา 

นี่มันยังจำได้อีกเป็นหลายวันหลายเดือนเลย บางทีก็หลายปี หรืออาจจะหลายชาติด้วย ...เนี่ย การปล่อยให้มีอารมณ์ขึ้นมาครอบงำกายใจแล้วนี่ มันจะทำให้เกิดความติดพัน ติดสอยห้อยตาม ยืดยาวเยิ่นเย้อ 

ต้องรีบละ ต้องรีบถอย ต้องรีบถอน ...ยากก็ยาก ลำบากก็ต้องลำบากกันแหละ  ดีกว่าปล่อยให้มันกลืนกินกายใจ กลืนกินขันธ์ แล้วมันก็ขี้ไว้กองใหญ่เลยเป็นสัญญา เยอะแยะไปหมด เป็นอตีตารมณ์อยู่อย่างนี้

อย่าประมาทตายใจนะ อย่าอยู่ลอยๆ นะ อย่าคิดว่าอยู่ลอยๆ แล้วสบายนะ อย่าอยู่โดยขาดศีลสมาธิปัญญาแล้วบอกว่า อยู่ตัวแล้วนะ ...ยังไม่พอนะ ยังวางมือจากศีลสมาธิปัญญาไม่ได้เลย แม้แต่ขณะหนึ่ง

อย่าประมาทเลินเล่อ อย่าทะนงตัว คิดกระหยิ่มใจลำพองใจว่า เคยได้แล้ว ทำถึงแล้ว เข้าใจแล้ว ทำได้แล้ว ทำด้วยความชำนาญแล้ว มันหลอก ยังหลอกอยู่ จิตเรายังหลอกอยู่

ต้องซ้ำซากๆ ไม่วางมือ ไม่รามือ ไม่อ่อนข้อให้กิเลส ไม่อ่อนข้อให้ความหลงใหลเผลอเพลิน ด้วยความขี้เกียจขี้คร้าน ...ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรือจะอยู่หลายคนก็ตาม 

และแม้แต่ว่าจะอยู่ในระหว่างที่มันไม่มีอะไรอารมณ์ใดก็ตาม ก็ยังปล่อยไม่ได้...ศีลสมาธิปัญญานี่ ก็ยังปล่อยการรู้การเห็นในกองกายกองปัจจุบันไม่ได้

ถึงแม้ขณะนั้นจะไม่มีอารมณ์ใดมาข้องแวะเกาะเกี่ยวก็ตาม จะปล่อยลอยอยู่ท่ามกลางอากาศธาตุไม่ได้ ปล่อยให้กายหายไปในอากาศ รู้หายไปในอากาศ...ไม่ได้ แล้วไปอยู่ในอากาศ...ไม่ได้

เพียรแล้วเพียรเล่า รักษาแล้วรักษาอีก ทะนุถนอม เลี้ยงดูฟูมฟักศีลสมาธิปัญญา แบบไม่วางมือเลยน่ะ ...จนกว่ามันจะไปถึงจุดๆ หนึ่งที่เรียกว่า...มหาสติ  

ถึงตรงจุดนั้นน่ะ ด้วยปัจจัตตัง...จะรู้ได้ด้วยตัวเองเลยว่า เนี่ย คือมหาสติจริงๆ จะเป็นสติสมาธิปัญญาที่รักษากายใจได้เอง ไม่ใช่ต้องสร้างสติสมาธิปัญญามารักษากายใจด้วยการกระทำโดยเรา 

แต่มันจะเป็นสติปัญญาที่เพียบพร้อม คือมันสามารถรักษากายใจด้วยตัวมันเอง โดยไม่มีเจตนาในเรา ...นี่ การทำ การภาวนาแบบไม่ท้อถอย ไม่ย่อหย่อนนั่นแหละ มันจะเข้าไปสู่จุดนั้น

ระบบขันธ์ ระบบโลก...ระบบของธาตุรู้หรือใจ จะแยกออกจากกันอย่างชัดเจนที่สุด ...อำนาจของกิเลสที่มันจะมาร้อยรัด หรือว่าดึงสภาวะธาตุรู้ธาตุใจให้เข้าไปอยู่ใต้อำนาจขันธ์ ใต้อำนาจโลก ใต้อำนาจจิต ไม่มีแล้ว 

มันจะแยกออกจากกันโดยชัดเจน ...ไม่มีว่า “ไม่ชัดเจน” ปรากฏขึ้นได้เลย ไม่มีว่า คลุมๆ เครือๆ ไม่มีสงสัยว่าไอ้นั่นคืออะไร ไอ้นี่คืออะไร ทุกอย่างจะชัดเจนตามความเป็นจริงหมดเลย ...นั่นน่ะ มหาปัญญา

ถึงจุดนั้นน่ะ ไม่ต้องพึ่งอาจารย์ด้วย อาจารย์ไปอยู่ไกลๆ อย่ามาใกล้ ...ซึ่งมันไม่ได้ไล่อาจารย์จริงหรอก มันจะไล่ตัวมันเองเข้าอยู่ในมรรค เพราะมันจะต้องอยู่โดยลำพังอย่างยิ่งเลย 

นั่น มรรคทำงานเองหมด  ไม่มี “เรา” ทำงานเลย ...เป็นศีลสมาธิปัญญาทำงานเอง...ล้วนๆ เลยแหละ เป็นมรรคอันบริสุทธิ์ที่เรียกว่าวิสุทธิมรรค เป็นวิสุทธิมรรคคือศีลสมาธิปัญญาที่ไม่เนื่องด้วยเราโดยตรงเลย

เพราะฉะนั้น นี่คือความสำคัญของศีลสมาธิปัญญา ...สำคัญจนถึงเรียกว่า...การปฏิบัติอยู่ใต้กรอบของศีลสมาธิปัญญา มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดเลย

จะต้องคอยทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่า ขณะนี้ เวลานี้ ศีลมีอยู่มั้ย  ความชัดเจนในศีลนี่มีอยู่มั้ย ความชัดเจนในสมาธินี่มีอยู่มั้ย ระดับไหน แค่ไหน  ตั้งมั่นมั้ย มั่นแค่ไหน ตั้งมั่นระดับไหน

ถ้าไม่ได้ระดับดอยเชียงดาวนี่...เฮ่อ อย่ามาพูด ...แล้วเนี่ย ถ้ายังระดับแค่นุ่น...เฮอะ ยังมานั่งกินนอนกินกันอยู่อีกเหรอ ...ดูดิ ต้องตรวจสอบตัวเองกันน่ะ มันตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง 

ต้องตรวจสอบดูสิว่า สมรรถนะ สมรรถภาพของตัวเองน่ะ ยังมานั่งกินนอนกินอยู่ได้ยังไง จะมานั่งปล่อยปละละเลย หาอยู่หากิน หาพูดหาคุย หาไปหาเล่น หาอะไรทำไปวันๆ ...กิเลสมันจะหัวเราะเยาะเอา

จากนุ่นที่ไม่ติดเม็ด...ก็ให้มันมีติดเม็ดซะหน่อย ...นี่ ต้องทำ  มันก็จะมั่นคงขึ้น เออ เท่ากับนุ่นมีเม็ด (หัวเราะ) ...อ่ะ ก็ยังดีกว่าไอ้นุ่นที่ไม่มีเม็ดล่ะวะ 

นี่อย่าประมาทนะ...ว่าเล็กน้อย ...อย่าประมาทของเล็กน้อยนะ อย่าประมาทขณิกะหนึ่งนะ อย่าประมาทว่าทำทีละนิดๆ นี่นะ ...เดี๋ยวจากนุ่นมีเม็ด มันก็จะเป็นนุ่นในฝัก 

เออ ถ้าเป็นนุ่นในฝักนี่ เขวี้ยงหัวคนก็แตกได้โว้ย ...กิเลสกลัวแล้วนะ กิเลสเริ่มรู้สึกว่ากูถูกทำร้ายได้แล้วนะ ...แต่ถ้าเอานุ่นเปล่าๆ ไปปา มันคงไม่รู้สึกอะไรหรอก

เห็นมั้ย มันเป็นกอบเป็นกำขึ้นในศีลสมาธิปัญญา ...เริ่มเห็นผลแล้วนะ กิเลสเริ่มสะดุ้งแล้วนะ เริ่มหวาดระแวงแล้วนะ เริ่มมีความไม่มั่นคง ไม่มั่นใจในตัวของมันเองแล้วนะ

นั่น จากฝักนุ่นเดี๋ยวจะกลายเป็นก้อนอิฐ ...นี่ ความแข็งแกร่งของการพากเพียร การปฏิบัติ มันจะมั่นคงขึ้นอย่างนี้ ...มันต้องวัดตัวเองได้ ตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอ

เอ้า ถ้าสมาธิเท่านุ่น แล้วทำยังไงถึงจะมีเม็ดนุ่นติด ก็ต้องทำศีลให้มากสิ ...ก็ต้องรู้ในทีของตัวเอง เข้าใจในองค์มรรคว่า ที่มาที่ไปของศีลคืออะไร ที่มาที่ไปของสมาธิคืออะไร ที่มาที่ไปของปัญญาคืออะไร 

ถ้าไม่รู้ที่มาของสติ ถ้าไม่รู้ที่มาของศีล ก็ไม่รู้ที่มาของสมาธิ ...ถ้าไม่รู้ที่มาของสมาธิ ก็จะไม่รู้ที่มาของปัญญา ...แล้วก็นอกจากรู้ที่มา...แล้วยังรู้ที่ไปอีกต่างหากด้วย 

มันไปได้ยังไง มันหายไปได้ยังไง มันหมดไปได้ยังไง มันสิ้นไปได้ยังไง มันเสื่อมทรามลงไปได้ยังไง ...ก็ต้องรู้  เพราะคอยตรวจสอบ ทบทวนตัวเองอยู่เสมอ...ในศีลสมาธิปัญญา 

ไม่ใช่ไปนั่งทบทวนว่า กูดีกว่าคนอื่นนะ กูดีกว่าคนอื่นรึยัง กูถูกกว่าคนอื่นรึเปล่า...ไม่ใช่ ...ต้องทบทวนศีลสมาธิปัญญาในตัวเองว่า ที่มาที่ไปของมันยังไง 

เมื่อเห็นว่ามันน้อยลง มันด้อยลง ก็ต้องเพิ่มขึ้น ขวนขวายมากขึ้น ...ถ้าสมาธิไม่ค่อยตั้งมั่น เอ้า มันก็ต้องทวนไปถึงว่า...เพราะว่าสติ เพราะว่าศีลเราอ่อนด้อย 

นี่เพราะเราออกนอกกายบ่อย เพราะเราทิ้งกายบ่อย เพราะเราเผลอเพลินบ่อย ...เอ้า เห็นอย่างนี้ แล้วก็แก้ที่จุดไหนล่ะ ...ไม่ใช่ไปแก้บนพระธาตุมั้ง มันก็แก้ผิดจุดน่ะ 

“สงสัยจิตหนูไม่ตั้งมั่นเพราะว่ากรรมเก่าในอดีต เดี๋ยวต้องไปสะเดาะเคราะห์ซะหน่อย” ...อย่างนี้แก้ไม่ถูก นี่เขาเรียกว่าไม่มีปัญญา คือไม่รู้ที่มาที่ไปของศีลสมาธิปัญญา ว่าที่มาของมันคืออะไรจริงๆ

เพราะนั้นที่พูดก็บอกให้เห็นว่า...เออ มึงจิตไม่ตั้งมั่น ทบทวนดูแล้ว จิตมันอ่อนปวกเปียกๆ เปาะแปะ เหยาะแหยะ ยอบแยบ อะไรมาเหมือนขี้โคลน เละเทะไปหมดน่ะ ...นั่นแหละ ใช่เลย ไม่ตั้งมั่น

ในสติปัฏฐานท่านก็บอกอยู่แล้วว่า จิตตานุสติปัฏฐาน จิตตั้งมั่น..รู้ จิตไม่ตั้งมั่น..รู้ จิตตั้งมั่นมาก..รู้ จิตตั้งมั่นไม่มาก..รู้  เนี่ย รู้ ...และเมื่อรู้แล้วทำยังไงเล่า

จะให้มันเป็นอย่างงั้นตามอัธยาศัยเหรอ...ตามอัธยาศัยเรา ตามอัธยาศัยกิเลส ตามความเป็นไปของมันเหรอ ...นี่ มันจะเจริญงอกงามในศีลสมาธิปัญญาได้อย่างไร 

แต่เมื่อรู้แล้วว่ามันอ่อนยวบยาบยอบแยบ เจออะไรก็ไหล เจออะไรก็ลืม กระทบอะไรก็เผลอก็เพลิน กระทบอะไรก็คิดนู่นคิดนี่ คิดเล็กคิดน้อย กระทบอะไรก็เกิดอารมณ์ ...นั่นแหละจิตไม่ตั้งมั่น อย่างยิ่ง 

แล้วจะไปนอนตายอยู่กับมันรึไง แล้วจะไปยอมมีชีวิตอยู่กับกิเลสมันรึไง ...ก็ต้องรีบเร่งขวนขวาย ก็รู้แล้วว่าที่มาของจิตที่มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ...เพราะศีลขาด ทะลุ บกพร่อง ด่างพร้อย ไม่ต่อเนื่อง

รู้แล้วทำไงล่ะ หือ หรือว่าแค่รู้...รู้แล้วก็บูชาว่า เออ กูรู้ถูกแล้ว เนี่ย ไม่ต้องทำอะไร...ไม่ใช่น่ะ ...รู้แล้วก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็จะถูกด่า...นี่ พระสงฆ์ก็ยื่นมือมาช่วยน่ะ 

เพราะมันไม่ค่อยช่วยเหลือตัวเองไง ...แล้วมันอยู่ไกลไง แปดสิบ...แปดร้อยกิโลนี่ ด่าให้ไม่ได้ทุกวัน มันก็ต้องช่วยเหลือตัวเองกันแล้วสิ ...ก็นานๆ มาให้ถูกด่าครั้ง

นี่โดนช่วยเหลือไปแล้ว ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว ...แล้วไงล่ะ เดี๋ยวก็ต้องกลับบ้าน มากินนอนอยู่กับเราได้ยังไง ใช่มั้ย  ต่างคนต่างก็ต้องจาริกไปตามวิถีแห่งการดำรงชีวิต 

มันต้องมีการจาริกไปอยู่แล้ว ชีวิตคือการจาริกไป ...แต่จะจาริกไปในโลก จะจาริกไปในกิเลส หรือจะจาริกไปตามเส้นทางธรรม ...เลือกเอาเอง อันนี้เป็นทางใครทางมัน 

ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว ก็ต้องรีบไปขวนขวายในสติ สัมมาสติ  เพราะตัวสัมมาสตินี้แล จึงเป็นตัวธรรมที่ว่า...เป็นธรรมที่ไปพยุงศีล ให้เกิดความงอกงามในองค์ศีล ให้เกิดความเติบกล้าเติบใหญ่ในองค์ศีล คือความรู้ตัว

ก็รีบเร่งทำความรู้ตัว ให้มาก ให้นาน ให้ต่อเนื่อง ให้ไม่ขาดสาย ...ถ้ายังไม่มั่นใจ ก็ลองทบทวนดูอีก...เมื่อทำอย่างนี้แล้วนี่ สังเกตดูจิตตั้งมั่นซิ มันตั้งมั่นขึ้นกว่าเดิมมั้ย หรือมันไม่ตั้งมั่นขึ้นกว่าเดิม

มันก็จะสังเกตได้ด้วยตัวเองว่า...เออ เมื่อไหร่ที่เรามาเคร่งครัดต่อการรู้เนื้อรู้ตัวนี่  มันรู้สึกว่าจิตใจนี่มันหนักแน่นมั่นคงน่ะ ...เห็นมั้ย มันก็มาตอบโจทย์ซ้ำให้น่ะ

ไอ้ที่สงสัยว่า สมาธิจะมายังไง ที่มาของมัน แรกๆ ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจสักเท่าไหร่ นี่ฟังอาจารย์พูดช่วยเหลือมาเท่านั้นนะ ...พอไปทำแล้วเห็นเอง...เออ มันก็มั่นใจในตัวของมันเองขึ้นมาแล้ว

แล้วก็คอยสังเกตไปว่ามันเสื่อมทรามลงเพราะอะไร ...คุยมาก คลุกคลีมาก ไปข้องแวะเกาะเกี่ยวกับบุคคล เรื่องราว เหตุการณ์ภายนอกมาก ไปมุ่งมั่นในหน้าที่การงานมาก 

ไม่ก็ไปเล่นเน็ท ไปเข้าไลน์ เข้าเฟส เข้าอินสตาแกรมมาก ไปเล่นเกม ไปดูหนังฟังเพลง ...เออ เวลาไปทำอย่างนั้น รู้สึกว่าจิตที่มันตั้งมั่นนี่มันจะเสื่อมถอยลงน่ะ 

นี่ยังไม่ได้พูดถึงปัญญาเป็นกอบเป็นกำนะ ...คือแค่ศีลที่ให้เกิดสมาธินี่ กูยังเอาตัวไม่รอดแล้ว...ปัญญาที่มันจะมีเป็นกอบเป็นกำน่ะ ไม่ต้องพูดถึงเลย 

เพราะนั้น ความรู้ความเห็น...ที่ตรง ที่ใช่ ที่ยอมรับต่อความเป็นจริงว่ากายนี้ไม่ใช่เรา มันก็ไม่ค่อยปรากฏหรอก หรือแทบจะไม่ปรากฏเลย ...ว่างั้นเถอะ

ก็อาศัยว่า...ยังมีเสียงของครูบาอาจารย์ผู้ช่วยเหลือนี่ คอยมากำกับอยู่เท่านั้นแหละ ...แต่มันยังไม่เชื่อจริงๆ เพราะว่ายังเอาศีล-สมาธิ...ยังไม่รอดเลย

มันก็ต้องไปเร่งรัดอยู่ในส่วนที่เรียกว่า สติ-ศีล-สมาธิๆ เนี่ย ให้มาก ให้ต่อเนื่อง ...ไม่ต้องไปหวังผลที่ได้จากปัญญา คือความรู้แจ้งเห็นจริงแล้วละวางจางคลายออกจากความยึดมั่นถือมั่นในเรา

นี่ ยังไม่ต้องไปหมายถึงผลนั้น การคาดนั้น ...ยังไม่ถึงหรอก สติยังกระพร่องกระแพร่ง ศีลยังกระพร่องกระแพร่ง สมาธิยังกระดักกระเดิดอยู่อย่างเนี้ย ริอ่านจะกินห่านฟ้ามังกรทอง

คงกินไม่ได้หรอก กินได้แต่ขนมจีนน้ำยาไม่มีเส้นไปก่อน พอให้ไม่หิวโหย ...เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญาที่พวกเรากำลังทำอยู่ตอนนี้นี่ มันพอไม่ให้เกิดความหิวโหยเท่านั้นเอง ...แค่กันตายน่ะ


(ต่อแทร็ก 15/27)





แทร็ก 15/25



พระอาจารย์
15/25 (570712)
12 กรกฎาคม 2557



พระอาจารย์ –  บอกแล้ว แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ รวมลงที่กายใจ ...ถ้าอยากจะเข้าใจ แจ้งในธรรม ต้องมาแจ้งกายแจ้งใจ..สองที่ ...ที่อื่นไม่ต้องไปแจ้งมันหรอก แจ้งกาย-ใจนี่แจ้งหมด

สิ่งที่ทำให้มันผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากธรรม นั่นก็คือจิตปรุงแต่งนั่นเอง ...ถ้ามันไม่มีจิตออกไปปรุงแต่งกับอะไรนี่ สภาพธรรมมันก็ตรง ปรากฏขึ้นตรงๆ อยู่แล้ว

แล้วมันก็ไม่มีอะไร มันก็จะมีแค่กายกับใจแค่นั้นเอง ซึ่งก็จะต้องเป็นที่มีสภาพปัจจุบันธรรม คือเท่าที่ตาเห็น เท่าที่หูได้ยิน เท่าที่กายสัมผัส เท่าที่รสมันสัมผัสลิ้น แค่นั้นเอง

ทุกอย่าง...ความเป็นจริงของปัจจุบันธรรมมีอยู่แค่นั้นเอง ที่กระทบอยู่กับขันธ์อยู่กับกาย  

นอกจากนั้นไปก็ไม่มี ...สภาวะอื่นก็ไม่มีเป็นสภาวะอะไรเลย ล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่ถูกสร้างถูกปรุงขึ้นมาด้วยอำนาจของจิตหมด อำนาจของอวิชชา ความปรุงแต่ง

เพราะนั้นถ้ามันไม่มี หรือมันระงับ หรือมันหยุดจิต...ให้มันอยู่ที่ใจรู้ใจเห็น ด้วยสมาธิ ปัญญา สติ ศีล นี่ มันทำให้จิตหยุดอยู่กับปัจจุบัน แล้วมันก็หยุดปรุงแต่งกับปัจจุบัน หยุดการปรุงแต่งกับอดีตอนาคตขึ้นมา

เพราะนั้นสภาพธรรมมันจึงปรากฏแค่กาย กับสิ่งที่มากระทบกายปัจจุบันเท่านั้นเอง ...แล้วมันก็กระทบอยู่ในฐานะที่ไม่ได้ถูกบิดเบือนโดยจิตปรุงแต่ง

นั่นน่ะ ก็เรียนรู้ตรงนั้น ...ใจ เรียนรู้ด้วยใจ ด้วยญาณ ด้วยปัญญาญาณ  มันก็จะเข้าใจ ซึมซาบ สภาพความเป็นจริงของกาย กับสิ่งที่มากระทบกายในปัจจุบัน อย่างที่มี อย่างที่เป็น เท่าที่มี เท่าที่เป็น 

โดยปราศจากความบิดเบือนด้วยจิตปรุงแต่ง ...นี่ ความเข้าใจ ความยอมรับต่อสภาพธรรม มันก็บังเกิดความค่อยๆ ยอมรับความเป็นจริงของธรรม ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันกาย

ความหมายมั่นแบบบิดเบือนในธรรมจากจิตเรา อวิชชา มันก็ค่อยลดน้อยลงไป ...ก็ยอมรับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามสภาพปัจจุบันกายปัจจุบันขันธ์...มีอยู่แค่นี้

สัญญา สังขาร วิญญาณ มันก็เกิดขึ้นมาพร้อมกับจิตนั่นแหละ ...ถ้าจิตมันหยุด สัญญาก็ดับ สังขารก็ดับ วิญญาณก็ดับ เหลือเฉพาะกายวิญญาณ ...นี่ สังขารดับ กิเลสก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ 

กิเลสมันจะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตปรุงแต่ง หมายมั่น จิตสังขารนั่นแหละ ...นี่ ความเพิกถอนกิเลสก็ค่อยๆ เพิกถอนไปเรื่อยๆ คอยละคอยเลิก กิเลสที่ขึ้นมาพร้อมกับจิต นั่นแหละ ความอยาก-ความไม่อยาก

กิเลสมันขึ้นมาพร้อมกับ “เรา” นั่นแหละ ความปรารถนา ความต้องการ ความเข้าไปมีเข้าไปเป็น การเข้าไปเสวย ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ...คอยละคอยเท่าทัน แล้วให้กลับมาอยู่บนฐานกายฐานรู้อยู่เสมอ

นั่นน่ะ กิเลสมันก็จะค่อยๆ ถดถอยลงไป พร้อมกับความหมายมั่นในเรา ที่มันจะคอยปรุงแต่ง คอยสร้างความน่าจะมี ความน่าจะเป็นขึ้นมา ให้เข้าไปเสวยเป็นภพ เป็นอาหาร คือสุข-ทุกข์ของเรา

ต้องคอยทวนกลับมาอยู่บนกายใจปัจจุบัน บนศีลสมาธิปัญญา ...เพราะว่ากายใจปัจจุบันน่ะ มันสร้างภพสร้างชาติไม่ได้ มันไม่เคยสร้างภพสร้างชาติขึ้นมาเป็นอดีต-อนาคตใดๆ เลย

มีแต่จิต มีแต่อวิชชา มีแต่ความปรุงแต่งน่ะ มันจึงจะคอยไปหาภพหาชาติ หาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ไม่มีในปัจจุบัน ที่ไม่มีอยู่จริงในปัจจุบัน ...นั่นน่ะจิตมันขยันสร้างภพสร้างชาติ

แล้วถ้าไม่มีปัญญาคอยรู้เท่าทันมัน ก็จะหลงไปตาม ไปสนองไปตามความอยาก ความปรุงแต่งต่างๆ นานาขึ้นมา เป็นภพชาติสืบเนื่องไป ค้างคาเป็นอดีตสัญญาอนาคตไป ไม่จบไม่สิ้น

ก็เพียรละ เพียรเลิก เพียรเท่าทันไว้ ...แล้วก็คอยทวน คอยน้อม คอยหยั่ง ลงในกายใจปัจจุบัน...เสมอๆ ...แล้วก็เพียรรักษาไว้

ตราบใดที่กิเลสมันยังไม่หมดสิ้นไปจากใจ จิตจะไม่หยุดการปรุงแต่งเลย ...ตราบใดที่มันยังไม่หมดสิ้นความหมายมั่นในกายเรา เป็นเรา ในฐานที่เป็นเรา จิตจะไม่หยุดปรุงแต่งเลย

เพราะนั้นท่ามกลางที่มันมีกิเลสแวดล้อมกายใจอยู่นี่ ...ตัวกายใจปัจจุบันหรือศีลสมาธิปัญญานี่ มันจึงเปรียบเสมือนเป็นของแสลงของ “เรา”...ผู้มีกิเลส ผู้เป็นกิเลส ผู้มีความปรารถนาไปในที่ต่างๆ

ศีลสมาธิปัญญามันเลยกลายเป็นของแสลง เป็นของที่ลำบาก เป็นของที่ยาก เป็นของที่ไม่ติดเนื้อต้องใจของ “เรา” นี่...ก็ต้องคอยฝืนกินของแสลง สร้างของแสลงขึ้นมา ท่ามกลางกิเลสแวดล้อม

ไม่อย่างนั้นมันจะพาไปเสวยอารมณ์ที่มันปรุงแต่งขึ้นมาหล่อเลี้ยงกิเลส หล่อเลี้ยงเรา หล่อเลี้ยงความเป็นตัวตนของเรา หล่อเลี้ยงความมีความเป็นไปในอดีต-อนาคตของเรา คือความงอกงามเพิ่มพูนของกิเลส

ก็ต้องคอยน้อม คอยหยั่ง คอยสร้าง คอยทวนมาถึงกายถึงใจอยู่เสมอ ...เป็นของแสลงขนาดไหนก็ต้องฝืน รั้ง สร้าง เหนี่ยว รักษาประคองไว้  แล้วก็ค่อยเพิ่มพูนศีลสมาธิปัญญาให้งอกงาม เติบโต

เหมือนกับเพาะต้นกล้าเล็กๆ ขึ้นมา หล่อเลี้ยงด้วยสติ หล่อเลี้ยงด้วยความพากเพียร ให้ข้าว ให้น้ำ ให้อาหารมัน มันก็งอกงามเติบโตแข็งแรง หยั่งรากลึกลงไป แข็งแกร่งขึ้นมา 

มันก็มั่นคงต่อสภาวะกิเลส ความอยาก-ความไม่อยากของเรา สภาวะแวดล้อมของบุคคล การกระทำ คำพูด เหตุการณ์แวดล้อมขันธ์ ...มันก็ยืนหยัดตั้งมั่นขึ้นมา

พอมันเติบกล้าเติบใหญ่ ศีลสมาธิปัญญาภายใน กลายเป็นหลักเป็นฐานขึ้นมา ...จากที่มันเคยเป็นของแสลง ตัวมันก็กลับเป็นหลักกายหลักใจหลักขันธ์ภายในขึ้นมา

ทีนี้ กิเลสน้อยใหญ่ ความคิดน้อยใหญ่ของเรา ความปรารถนาน้อยใหญ่ของเรา มันก็กลับกลายเป็นของแสลงของศีลสมาธิปัญญาขึ้นมาแทน

จากที่มันเคยเห็นศีลสมาธิปัญญาเป็นของแสลง กินได้ยาก เป็นของลำบาก ...มันก็กลายเป็นของง่าย ของที่ดี ของที่ใช่ ของที่ถูก ของที่ตรง ของที่มีอยู่จริง

ทีนี้กิเลสมันจะเริ่มปรุงแต่งอะไรขึ้นมาล่อ มาหลอก มาลวง มาให้เข้าไปลุ่มหลง มาให้เข้าไปเป็นจริงเป็นจังกับมัน ...ก็เริ่มเห็นว่ามันเป็นของไร้สาระ เป็นของแสลง เป็นทุกข์ 

เป็นของให้เกิดความสืบเนื่องไม่รู้จักจบจักสิ้น เป็นของที่มีแต่ทุกข์ก่อเกิด หมุนเวียนเปลี่ยนไป อย่างนี้ ...มันก็สามารถจะคายทิ้ง ถ่มทิ้งได้ ละวางได้ง่ายต่อความคิดนึกปรุงแต่งไปข้างหน้า ไปไกลไปใกล้ 

ว่าอย่างนี้บิดเบือน แปลความหมายของธรรมไปต่างๆ นานา ...มันก็ยังคงไว้แต่ศีลสมาธิปัญญาเป็นหลักเป็นฐาน คงไว้แต่กายใจไว้เป็นรากฐานความเป็นจริง 

ก็ขัดเกลาไปในกิเลส...ที่มันจะแตกตัวออกมา ไปหมายไปมั่นในที่ใด ไปจริงจัง ไปสร้าง ไปก่อเกิดที่ไหน ...มันก็เห็นแล้วก็ขัดเกลาออกไป

จนมันคงไว้ซึ่งศีลสมาธิปัญญา คงไว้แค่กายใจล้วนๆ คงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ธาตุ บริสุทธิ์ขันธ์ คงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ใจ 

ใจอันเป็นธาตุรู้อันบริสุทธิ์ จะบริสุทธิ์ขึ้นมาตามลำดับลำดา ...มาแทนที่กิเลส มาแทนที่ความไม่รู้ มาแทนที่ “เรา” มาแทนที่ขันธ์ มาแทนที่โลก มาแทนที่สามโลก ...คือมันสว่างกระจ่างกว่าทุกสรรพสิ่งไป

นี่แหละการปฏิบัติ มันก็มีอยู่...ศีลสมาธิปัญญาเป็นรากฐาน ...จะทอดธุระในศีลสมาธิปัญญาไม่ได้แม้แต่ขณะหนึ่ง

เมื่อใดที่ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เมื่อใดที่ไม่มีกายอยู่ในปัจจุบัน เมื่อใดที่ไม่เห็นกายในปัจจุบัน เมื่อใดที่หลงลืมกายไปในปัจจุบัน ...ก็ให้รู้ไว้เสมอว่าหลง เกิดภาวะหลง เกิดภาวะที่เข้าไปมีไปเป็นในภพชาติของจิต

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ใด ที่ดี ที่ว่าง ที่ไม่มีประมาณ ที่ดูเหมือนใช่ ดูเหมือนถูก ดูเหมือนเป็นธรรม ...ที่นั้นก็ไม่ใช่เป็นที่ที่มีอยู่จริง เป็นที่ที่ออกนอกมรรค ออกนอกผล เป็นที่ที่ออกนอกความเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

ต้องละ ต้องทิ้ง ต้องออกจากมัน ...ต้องมาเหยียบมาหยั่งมายึดมาถืออย่างมั่นคงในศีลสมาธิปัญญา อยู่ในปัจจุบันธรรม อยู่ในปัจจุบันเห็น ปัจจุบันรู้ ปัจจุบันเสียง ปัจจุบันรูป ปัจจุบันกายปัจจุบันรู้อยู่เสมอ

อย่าไปอาลัยอาวรณ์ ข้องแวะ เกาะเกี่ยวกับมัน...ให้เด็ด ให้ขาด ให้ปลดเปลื้องความไปเป็นภาระของเราไป ...ไม่ต้องเอามาเป็นภาระ ไม่ต้องเอามาเป็นตัวชี้นำ 

ไม่ต้องเอามาเป็นตัวนำพาไปหา ไปสู่สิ่งต่างๆ ...ความน่าจะมี ความน่าจะเป็น ความสุขความสบายข้างหน้าข้างหลังอะไร...ก็ไม่เอา  จิตมันล้วนล่อหลอกให้ไปให้มาไม่จบไม่สิ้น ในความไม่มีตัวตนสาระแก่นสาร

แต่มันก็พยายามจะขยันปรุงขยันสร้างอะไรมาเป็นเครื่องหลอกล่อ มาเป็นกับดัก อ้างนั้นอ้างนี้ ความเสมอเหมือนธรรม ความยิ่งกว่าธรรมอันไม่มีอยู่จริง

แล้วมันก็ด้วยความที่อ่อนด้อยในปัญญา ก็จะเข้าไปหลงวนในมัน ถูกมันชักลากชักนำไป 

เพราะนั้น เมื่อใดที่มีสติ เป็นสัมมาสติเกิดขึ้น รู้ว่าอันไหนมันหลง มันเผลอ มันเพลินออกไป ...ก็ให้รีบกลับมาอยู่ในที่ในฐาน ในกายปัจจุบัน ในรู้ปัจจุบันกาย

ถ้ารักษากายรักษารู้ ด้วยสติที่เป็นสัมมาอยู่อย่างนี้ ...มันก็จะไม่คลาดเคลื่อนจากมรรค ซึ่งเป็นเส้นทางการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ ไม่ได้เป็นการปฏิบัติเพื่อให้ได้มามีเป็นในสิ่งต่างๆ 

แต่มันเป็นการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากขันธ์ หลุดพ้นจากโลก หลุดพ้นจากการเกิดการตายซ้ำซาก หลุดพ้นจากทุกข์ หลุดพ้นจากสุข หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง 

มันหลุดพ้นจากพันธนาการของความปรุงแต่งของจิตของเรา หลุดพ้นจากที่ทั้งปวง ...เรียกว่าหลุดพ้นโดยสิ้นเชิง นั่นแหละเรียกว่า นิโรธ

เพราะนั้น เมื่อใดเวลาใดที่มันไปหลงวนเพลิดเพลินกับอะไร ...เมื่อรู้แล้วให้รีบละ ให้รีบถอย ให้รีบถอน ให้รีบวาง ให้รีบปล่อย ให้รีบทิ้งไป ...ไม่เข้าไปหลงวน สาละวนอะไรกับมัน จนห่างไกลกายใจ 

ถ้าห่างไกลศีลสมาธิปัญญา ห่างไกลจากปัจจุบันความเป็นจริง ห่างไกลจากปัจจุบันธาตุ ปัจจุบันขันธ์ ปัจจุบันธรรม ...ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเนิ่นช้า เสียเวลาในการพอกพูนขึ้นซึ่งสมาธิปัญญาภายใน

เพราะขันธ์น่ะ...ในแต่ละขันธ์ แต่ละอายุขัย มันน้อย มันสั้น ...ท่านเปรียบอายุของมนุษย์นี่ เหมือนกับน้ำค้างกลางหาว  มันสั้น มันน้อย มันนิด  เดี๋ยวมันก็ดับ เดี๋ยวมันก็สิ้นแล้ว

แต่มันกลับไปใช้เวลาของขันธ์ให้หมดไปโดยไร้ประโยชน์...ด้วยการที่ปล่อยให้จิตมันไปแสวงหา ค้นหา ในสภาวะบ้าๆ บอๆ ซึ่งไม่มีสาระแก่นสาร ไม่มีอยู่จริง   

แต่มันกลับมุ่งเอาสิ่งที่มันกำลังค้นกำลังหาภายนอก...ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ทั้งที่ห่างไกล อย่างเอาเป็นเอาตาย มุ่งมั่นจริงจัง โดยที่ขันธ์มันก็หมดสิ้นไปทุกลมหายใจ แป๊บเดียวก็ตายแล้ว

สุดท้ายก็จะไม่ได้ความรู้ในธรรม ไม่ได้ปัญญาญาณ ไม่ได้ความรู้เห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ของโลก ของมรรค ของศีลสมาธิปัญญา...ที่แสดงความเป็นจริงในช่วงวาระแห่งการอุบัติขึ้นของขันธ์

เพราะนั้นการอุบัติขึ้นของขันธ์ นี่ อย่าไปประมาทตายใจว่าจะอยู่ได้ยืด ได้ยาว ได้นาน ...แล้วก็ใช้เวลาให้หมดสิ้นไปกับการค้นและการหา ไปในที่ต่างๆ สภาวะต่างๆ 

ทั้งธรรมนอก ธรรมข้างหน้า ธรรมข้างหลัง อนาคตธรรม อดีตธรรม หรือธรรมที่มีอยู่ในตำรา  มันล้วนแต่เป็นการค้นหาไป ...ซึ่งในการค้นหามันไม่มีคำว่าสิ้นสุด 

มันก็มีอะไรที่น่าค้นหาไปอยู่ตลอดเวลา อยู่เสมอ ...มันหลอกว่ามี มันบอกว่ามีแล้ว ได้แล้ว  เดี๋ยวก็หลอกว่ามีอีก ได้อีก ข้างหน้าไป ร่ำไป ...ไม่มีคำว่าพอ ไม่มีคำว่าหยุด ไม่มีคำว่าเต็ม ไม่มีคำว่าอิ่ม

ก็ต้องไม่ไปตามอำนาจของการหา ความทะยาน ความไหล ความเลื่อนลอยออกไป ความพุ่งไปของจิต ...เหล่านี้ ต้องละต้องทัน แล้วก็มาเหยียบมาหยั่งกับกายใจ

ซึ่งเป็นของแสลงของกิเลสของเรานี่แหละ ว่ามันไม่ดี มันไม่สนุก ว่ามันน่าเบื่อ ว่ามันไม่ได้อะไร ว่ามันไม่เป็นธรรม ว่ามันไม่มีความรู้อะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา ว่ามันไม่สามารถละกิเลสได้

นี่ มันล่อ มันหลอก มันลวงทั้งนั้น ตลอดเวลา ...ก็ต้องต่อสู้ทบทวนมัน ไม่ตามอำนาจของจิตนึกคิดปรุงแต่ง ...วางได้ก็วาง ตัดได้ก็ตัด ละได้ก็ละ ทิ้งได้ก็ทิ้ง ดับได้ก็ดับมันไป

อย่าไปเอา อย่าไปต่อ อย่าไปเติม อย่าไปเสวย อย่าไปสร้าง อย่าไปทำตาม ก็กลับมารู้เห็นภายในกาย ยืน  เดิน นั่ง นอน ความรู้สึกเล็กน้อย ใหญ่-ย่อย

วนเวียนอยู่ในกองกาย วนเวียนอยู่ในกองความรู้สึกในกาย วนเวียนอยู่ในรู้ในเห็นกาย ...ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนเดิม ที่เดิม ที่เดียว สิ่งเดียว อารมณ์เดียว อาการเดียว ปัจจุบันเดียว กายเดียว

จนจิตมันไม่สามารถเล็ดลอดออกไปได้ ไปสร้างอะไรมาล่อมาลวงได้  ...ศีลสมาธิปัญญาก็จะเป็นอาหารหลักของใจ เป็นที่ยึด ที่หมาย ที่มั่นที่แท้จริง เป็นที่พึ่งที่แท้จริง เป็นสรณะที่แท้จริง

ไม่อย่างนั้น มันก็จะไปหาที่พึ่งในจิต ที่มันนึกคิดปรุงแต่ง ...แล้วมันก็สร้างสภาวะนั้นสภาวะนี้ ว่าดีว่าร้าย ว่าถูกว่าผิด ว่าใช่ ว่าชอบ ว่าควร เป็นที่พึ่งอยู่ตลอดเวลาในสิ่งที่มันนึกคิดปรุงแต่งขึ้นมา 

เป็นอารมณ์บ้าง เป็นความสุขบ้าง เป็นคุณงามความดีบ้าง เป็นประโยชน์บ้าง แล้วก็เอาตรงนั้นเป็นที่พึ่งไป ...แต่หาสาระแก่นสารไม่ได้ พึ่งไม่ได้จริง มันลวง มันล่อ มันหลอกให้ติด เป็นทุกข์เป็นสุขร่ำไป

สุดท้ายมันก็จะกลับมาเห็น ด้วยความพากเพียร ทบทวนกลับมาอยู่ในกายใจเสมอ ...ก็จะเห็นว่าที่พึ่งที่แท้จริงคือศีลสมาธิปัญญา คือกายใจปัจจุบันนั้นเองน่ะ เป็นที่พึ่งที่แท้จริง

เป็นที่ปราศจากสุข-ทุกข์ในเรา เป็นที่ปราศจากภพและชาติ อดีต-อนาคต ...หรือแม้กระทั่งปัจจุบัน มันก็เป็นภพชาติปัจจุบันเกิด-ดับในปัจจุบัน ไม่มีตกค้างไปเป็นอดีต-อนาคตแต่ประการใด

นั่นน่ะ ความเป็นจริงของศีลสมาธิปัญญา...เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ อย่างนี้

แล้วพอมันจะไปหาที่พึ่งอื่น ...มันก็เกิดความเท่าทันด้วยปัญญา แล้วก็ละอาการของจิต ความอยากของเรา ที่มันมาพร้อมกับความปรุงแต่งในการกระทบกับสิ่งเร้าต่างๆ ทางอายตนะ

ความตั้งมั่นอยู่ในกายใจ ความตั้งมั่นอยู่ในมรรค ความตั้งมั่นอยู่ในศีลสมาธิปัญญา ความมั่นคงเหนียวแน่น แนบแน่นในศีลสมาธิปัญญานั่นแหละ 

จึงจะเป็นทางรอด ทางออก ...จากความหมุนวนของจิต ความหมุนวนของความเกิดความตาย...ที่ก่อภพสร้างชาติด้วยจิตไม่รู้จักจบจักสิ้น

มันก็หลุดรอดไปได้ด้วยความรู้ความเข้าใจ ด้วยความชัดเจน ด้วยความแจ้งในขันธ์ในโลก ในความเป็นจริงของขันธ์ของโลก...ที่ไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นเรื่องของเราเลยแต่ประการใด

ล้วนแล้วแต่เป็นของเกิดดับ เกิดดับ ...และในความเกิด ในความดับ ในความตั้งอยู่ ไม่มีอะไรเป็นเราเลยแต่ประการใด ...ล้วนแล้วแต่เป็นความหมายมั่นแบบผิดๆ จากความไม่รู้ทั้งสิ้น

ว่านี้เป็นเรา นั้นเป็นเขา ว่านี้เป็นชาย ว่านี้เป็นหญิง ล้วนแต่บิดเบือนขึ้นมาโดยภาษา ด้วยบัญญัติ ด้วยสมมุติ ด้วยความจำได้หมายรู้ ด้วยความไม่รู้จริง ด้วยความเห็น ต่างๆ เหล่านี้

นี่ มันก็ยังคงไว้แต่กายใจที่เป็นแค่ความรู้สึกเกิดดับ ใจก็เป็นความรู้ที่ไม่เกิดไม่ดับ ...มันก็เห็นสองสิ่งอยู่แค่นี้ เป็นความจริง

กายก็แสดงความเป็นจริง เกิดดับแบบไม่มีภพไม่มีชาติ ไม่มีความหมาย ไม่มีเรา ไม่มีบุคคล ...ใจก็ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์บุคคล แต่ไม่เกิดไม่ดับ ...ก็อยู่คู่กันอยู่อย่างนี้ ไม่มีอะไร

จิตก็เงียบสงบไป ความปรุงแต่งในจิตก็ค่อยๆ โรยราไป ความหมายมั่นที่เป็นเราขึ้นมา ก็โรยราลงไปเอง...ด้วยศีลสมาธิปัญญา 

เพราะนั้น ไม่ว่าจะเป็นตอนไหน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ...ต้องเหยียบหยั่ง ยึดหยั่งลงในกายใจให้ได้...ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหน อยู่คนเดียว อยู่หลายคน อยู่กับเหตุการณ์ที่ดี ที่ร้าย ที่เลว ที่ยาก ที่ลำบาก

ก็ต้องคอย ควาน ค้น น้อมนำศีลสมาธิปัญญา กายใจปัจจุบันขึ้นมา...เป็นที่รู้ เป็นที่หมาย เป็นที่ตั้ง เป็นที่ผูก เป็นที่หลัก เป็นที่ยึด เป็นที่เหนี่ยว เป็นที่รั้งไว้ให้ได้

ถึงจะแสลงขนาดไหน ยากขนาดไหน...ก็ต้องทำ ก็ต้องไม่ทิ้ง ก็ต้องสร้าง ก็ต้องรักษาไว้ 

ด้วยความเพียร ด้วยความไม่ย่อหย่อน ด้วยความไม่ท้อแท้ ด้วยความไม่ขี้เกียจ ด้วยความที่ไม่ไปเห็นอะไรดีกว่านี้..แล้วก็ประมาทในความที่มีอยู่ปรากฏอยู่ของกายใจปัจจุบันนี้

ทุกอย่างมันก็จะเป็นไปอยู่ในองค์มรรค ปัญญาความรู้ความเข้าใจก็จะเกิดขึ้นอยู่ท่ามกลางองค์มรรคนั่นเอง การละเลิกเพิกถอนก็จะเกิดขึ้นท่ามกลางองค์มรรคนั่นเอง คือกายใจปัจจุบัน

กิเลสน้อยใหญ่ก็เกิดขึ้นมาให้ละให้เห็นในปัจจุบันกายใจนี้เอง ...มันจะมาก มันจะน้อย มันก็ปรากฏขึ้นตรงนี้ขณะนี้...แล้วก็ละ เลิก เดี๋ยวนี้ขณะนี้ ทุกปัจจุบันไป

ไม่ต้องไปหากิเลสมาละ ไม่ต้องไปสร้างกิเลสมาให้เลิก ...มันไม่มีให้ละให้เลิก..ก็ไม่มี  มันมีเมื่อไหร่ก็ละเลิกมันตรงนั้น  แล้วก็รักษาฐานกายใจไว้ กิเลสมันก็จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป

เมื่อไม่มีผู้ไปตอบสนองต่อกิเลสความนึกคิดความปรุงแต่ง ความน่าจะมี น่าจะเป็นอะไร ในอดีตอนาคตอะไร ไม่กระทำไปตาม สนองไปตามความปรุงแต่งนั้นๆ ...มันก็หมดกำลังไปๆ

กิเลสมันก็ราลงไปๆ จางไป ความทะยานอยากก็น้อยลงไป ความเป็นสุขเป็นทุกข์ข้างหน้าข้างหลัง หรือแม้กระทั่งปัจจุบันก็น้อยลงไป ความเป็นเราก็น้อยลงไป

เพราะไม่มีอาหารการกินให้มันคือสุข-ทุกข์ หรือว่าการทำได้ดังปรารถนาสมปรารถนา..มันก็ไม่มี ...มันก็ไม่มีอาหารการกินให้เติบใหญ่เติบกล้า

ศีลสมาธิปัญญามันก็เติบกล้าเติบใหญ่ขึ้นมาทดแทน ความเป็นจริงก็มาแทนความไม่จริงขึ้นมา 

จนความไม่จริงอยู่ไม่ได้ ความหลอกลวงของจิตอยู่ไม่ได้ ความที่จะเสกสรรปั้นแต่งให้ดูเป็นเรื่องจริงจังขึ้นมา ...มันก็เริ่มไม่ถือว่าเป็นเรื่องจริงจังอะไรขึ้นมาได้ 

ทุกอย่างก็จะชัดเจนขึ้นอย่างนี้ ยังคงไว้แต่ความเป็นจริงคือกายใจปัจจุบัน ศีลสมาธิปัญญาคือของจริงที่ไม่มีอะไรมาลบล้าง ไม่มีอะไรมาทำลายได้ นอกจากตัวมันเองจะสิ้นสภาพไปด้วยตัวของมันเอง


...............................