วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/14 (2)


พระอาจารย์
15/14 (570614C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
14 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 15/14  ช่วง 1

โยม –  มันรู้ตัว...คืออยู่ในเมืองน่ะค่ะ มันมีสิ่งกระทบทางตาทางหูแล้วคือมันรู้ตัว แต่ว่าพอมันกระทบอะไรมันก็ยังมีความรู้สึกปรุงแต่งขึ้นมาในนั้น เรียกว่าเรารู้ตัวมั้ยคะ

พระอาจารย์ –  รู้...แต่ว่ายังรู้แบบฉาบฉวย ...แล้วมันก็ต้องรู้อย่างนี้ก่อนด้วย มันจะไปรู้แบบจริงจังไม่ได้ โดยที่รู้แล้วปิ๊ง ไม่มีอะไรแผ้วพานเลยน่ะ...ไม่มี ไม่ได้

มันจะต้องรู้อย่างนี้ ขอให้มันรู้แล้วมันเห็นว่าอยู่ในอาการนี้ เนี่ย แปลว่าอยู่ในความรู้ตัวแล้วในระดับนึง
...เพราะนั้นในการปฏิสัมพันธ์ กับหน้าที่การงานนี่ มันจะรู้แบบแยกกับโลกแยกกับขันธ์เลยไม่ได้หรอก 

มันจะต้องมีอารมณ์อยู่ตลอดเวลาเลย ...แต่ว่ามันก็จะรู้เห็นในการมีอารมณ์ แล้วในการที่ตัวมันกำลังทำอะไรอยู่ด้วยเบาๆ จางๆ ...นี่เขาเรียกว่าทรง พอเอาตัวรอด พอไม่ให้จิตมันเตลิดไปแค่นั้นเอง


โยม –  แต่เวลาภาวะฉุกเฉินที่จะโกรธแรงๆ หรือฟุ้งมากๆ มันก็จะรวมเข้ามารู้ชัดเจนเลย

พระอาจารย์ –  อือๆ ...แต่มันจะไปแยกแยะชัดเจนในกองขันธ์กองรู้ไม่ได้ เข้าใจมั้ย 

เพราะนั้นการแยกแยะมันจะต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปราศจากสิ่งที่มากระทบ เร้า อย่างยิ่ง ...จะให้ไปนั่งแยกกายแยกใจอยู่ในโรงหนังอย่างนี้ ไม่มีทาง มันไม่เอื้อ


โยม –  แต่คนที่ดูจิตเขาก็จะบอกว่า ภาวนาที่ไหนก็ได้ รู้สึกว่าง่าย เขาก็ดูๆๆ ดูไป

พระอาจารย์ –  ดูจิตน่ะไม่มีวันจบ เข้าใจคำว่า...ไม่มีวันจบมั้ย แล้วไม่มีจุดจบด้วย ...ดูกายน่ะจบ ...จบที่ไหน จบที่ไม่มีเรา จบที่ไหน จบที่ไม่เป็นเราอีกต่อไป จบว่าเป็นก้อน กอง ลักษณะนึง

แต่ถ้าดูจิตน่ะ มันก็สรรหามาเรื่อย ของแปลกใหม่ เจออะไรกระทบแปลกใหม่ ขึ้นมาอีกแล้ว เจออะไรกระทบ เดี๋ยวมากขึ้น เดี๋ยวน้อยลง อย่างนั้นอย่างนี้

ในแง่มุมนั้น แง่มุมนี้ ลักษณะนั้นลักษณะนี้ ...มันตื่นตาตื่นใจ แปลกตาแปลกใจอยู่ตลอด แต่ก็เห็นอย่างมากก็เกิด-ดับ ก็แค่นั้นน่ะ ก็แค่เห็นจิตเกิด-ดับแค่นั้น

มันลบล้างความเป็นเราตรงไหนได้ มันลบล้างความเป็นขันธ์เราตรงไหนได้โดยตลอดโดยรวม ...ก็แค่เห็นจิตเกิด-ดับ ...แล้วมันก็เกิด แล้วมันก็ดับ

แต่ความรู้ความเข้าใจด้วยศีลสมาธิปัญญานี่ มันยังไม่เกิดแบบเต็มรอบ ศีลสมาธิปัญญายังไม่เต็มรอบ ...แค่ศีลมันยังไม่มีเลย มันจะไปเต็มรอบได้ยังไง 

จะต้องเต็มรอบในศีลสมาธิปัญญานั่นน่ะ มันจึงจะแจ้งในขันธ์ทั้งหมดโดยตลอด

ส่วนมากไอ้ที่ว่าดูจิต รู้ที่ไหนก็ได้น่ะ แต่รู้มันไม่จริง บอกให้เลย ...เพราะมันไม่สามารถหรอกที่จะตั้งรู้ได้โดยตลอดกับจิตถ่ายเดียว


โยม – โยมว่าอย่างที่พระอาจารย์สอน คือเหมือนจะมีวิหารธรรมว่า อย่างน้อยเราจะต้องอยู่ตรงนี้ ไม่ไปกับรู้ไปเรื่อยๆ ถ้าเกิดว่าอย่างที่คนอื่นเขาเรียนคือ ไม่ต้องกำหนดว่าจะต้องรู้กายอย่างเดียว คือรู้กายรู้ใจ อันไหนชัดก็ดูอันนั้น คือโยมก็ดูว่ามันไม่มีที่ตั้ง

พระอาจารย์ –  เข้าใจคำว่าตีนลอยมั้ย  มันรู้แบบตีนลอยน่ะ รู้แบบล่องลอยน่ะ ...เนี่ย เขาเรียกว่าความรู้เหล่านี้ หรือว่ารู้อย่างนี้ เป็นการรู้นอกขันธ์หมดเลย

ถ้ารู้นอกขันธ์นอกปัจจุบันนี่ เรียกว่ารู้นอกมรรคหมดเลย รู้แบบเลื่อนลอย รู้แบบสะเปะสะปะ ไม่เป็นทิศเป็นทางอะไรน่ะ มันสับสน จะไม่เข้าใจอะไรเลย ...แต่สบายดี

ก็เหมือนสบายบ้าง เพราะมันจะไม่มีทุกข์และสุขจากการปรุงแต่งในเรื่องนั้นๆ แค่นั้นเอง ...แต่จะไม่เข้าใจอะไรในกองขันธ์เลย บอกให้ มีอีก...ก็เกิดอีก กระทบอีก...เกิดอีก เห็นหรือได้ยินอะไร คิดต่ออีก

เพราะนั้น การภาวนานี่จะขาดไม่ได้ซึ่งศีลสมาธิปัญญาเลย ...ต้องตอบตัวเองได้ตลอดเลยว่า เดี๋ยวนี้ศีลมีมั้ย ...จะนั่งหลับตา จะนั่งลืมตา จะเดินจงกรม หรือจะเดินที่ไหน ต้องถามต้องตอบได้ว่าศีลสมาธิปัญญามีมั้ย

หรือจะสงบขนาดไหนก็ตาม ...ต้องถามตัวเองตรงนั้นให้ได้ว่าศีลสมาธิปัญญามีมั้ย  ท่ามกลางความว่าง ท่ามกลางความสงบ ต้องถามให้ได้ว่าศีลสมาธิปัญญาอยู่ไหน

คือมันจะต้องได้ว่า...ไม่ออกนอกศีลสมาธิปัญญาเลย ด้วยความองอาจในศีลสมาธิปัญญา ...ไม่ใช่แค่เลียบๆ เคียงๆ นะ ไม่ใช่แค่ประเมิน คิดว่า คิดเอาแล้วเชื่อว่าน่าจะมี 

นี่ มันจะต้องตอบได้แบบเต็มปากเต็มคำเลยน่ะ ...เพราะนั้นที่เราถามว่าดูจิตเกิดดับ เห็นจิตเกิดดับ เท่าทันจิตเกิดดับอยู่อย่างนี้ถ่ายเดียวนี่ ...ถามว่าศีลอยู่ไหน ตอบได้รึยัง ตอบตัวเองได้รึยัง

อย่ามาบอกนะว่า...ศีลอยู่ที่ว่าไม่ได้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ กับโกหกแล้ว ...นี่ตอบแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด

สมาธิอยู่ไหน ปัญญาอยู่ไหน ความรู้เห็นความเป็นจริงในธรรมอยู่ไหน ความเห็นสภาพที่แท้จริงของกายของใจอยู่ที่ไหน ความเห็นสภาพที่แท้จริงของขันธ์อยู่ที่ไหน

มันต้องตอบให้ได้ ...โดยที่จะมาอ้างข้างๆ คูๆ ไม่ได้ อย่ามาอ้างข้างๆ คูๆ ...ถ้ายังอ้างข้างๆ คูๆ แปลว่ายังเข้าไม่ถึงศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริงเลย

ถ้ามันยังตอบโจทย์ตรงนี้ไม่ได้ว่าศีลอยู่ไหน สมาธิอยู่ไหน เดี๋ยวนี้มีอยู่มั้ยนี่ ถ้ายังตอบตรงนี้ไม่ได้นะ ...ไปทำก่อนว่าศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ศีลที่แท้จริงคืออะไร สมาธิที่แท้จริงคืออะไร อยู่ที่ไหน

แล้วจากนั้นไปน่ะ การปฏิบัติจะต้องไม่พรากจากศีลเลย จะไม่พรากจากสมาธิเลย โดยไม่อ้างกาล ...นี่ เป็นอกาลิโกเลย ศีลสมาธิปัญญาต้องเป็นอกาลิโกเลย

ไม่มีเวลามาขีดคั่น ไม่มีอะไรมาจำกัด ไม่มีสถานะใดเหตุการณ์ใดมาจำกัดหรือขีดคั่นได้เลย ไม่ว่าจะตกในสภาวะห้วงอารมณ์ใด ห้วงกิเลสใดก็ไม่สามารถมากีดกั้นศีลสมาธิปัญญา

นั่นน่ะตอบโจทย์ให้ได้ก่อน...ว่ามรรคนี่สามารถมาละลายอยู่ในขันธ์ มาละลายอยู่ในชีวิตได้ มาแทรกซึมอยู่ในขันธ์ มาแทรกซึมอยู่ในทุกกระบวนการของการดำรงชีวิตในขันธ์ได้


โยม –  แต่จริงๆ แล้วศีลกับสมาธิก็เป็นตัวเดียวกันรึเปล่า

พระอาจารย์ –  ในเบื้องต้นนี่ ยังไม่เรียกว่าเป็นตัวเดียวกัน ยังแยกจากกัน...กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่งนะ  ...ยังต้องมีนะ กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง ยังแยกจากกันอยู่นะ

อย่าเพิ่งเข้าถึงจุดที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญารวมเป็นที่เดียวกัน ...ถ้ารวมกันเป็นที่เดียวกันน่ะ คือพระอนาคาขึ้นไป คือท่านออกจากความหมายมั่นในกายแล้วจริงๆ ท่านไม่หลงกาย ท่านไม่หลงโลกแล้ว

นั่นแหละศีลสมาธิปัญญามันจึงละ มันจึงผละจากศีลที่เรียกว่าภายนอก คือกาย...กายนี่ถือว่าเป็นภายนอกแล้วนะ โลกถือว่าเป็นภายนอกแล้วนะ ...มันจะผละออกเลย

พอมันผละออกจากการที่สติหรือสมาธิไปจรดไว้กับศีลที่ว่า...นี่เป็นศีลที่เป็นกรอบที่จะต้องรู้ กรอบที่จะต้องเห็น ...มันผละเลย มันทิ้งเลย

พอมันทิ้งปั๊บนี่ ศีลสมาธิปัญญามันจะมารวมกันที่เดียว...ที่ใจ ...อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าศีลสมาธิปัญญาอยู่ที่เดียวกัน ไม่แยกจากกัน

แต่ในขณะนี้เบื้องต้นนี่ มันจะต้องแยกกันทำหน้าที่ กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง ...เพื่ออะไร ...เพื่อทำความแจ้งในศีลในกายก่อน

แล้วมันจึงจะสลายความหมายมั่นในสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าใจ...ที่จับต้องได้ เป็นรูป และเป็นธาตุ สสาร วัตถุ แล้วมันจึงจะลบความหมายมั่นนี่ก่อน มันจึงจะผละออกจากศีลตัวนั้น

นี่คือนัยยะของศีลเลยที่ว่าจะต้องมี ...จนกว่ามันจะแจ้งในศีล แล้วศีลสมาธิปัญญามันจึงจะรวมเป็นหนึ่ง ...ในที่เดียวกันคือใจ แล้วจากนั้นไปนี่...ใจคือมรรค 

แต่เบื้องต้น...กาย-ใจ...คือมรรค ...แยกกันนะ ...แต่พอถึงจุดนั้นนี่...ใจคือมรรค  เดินอยู่ที่เดียว เดินอยู่ในใจที่เดียวเลยน่ะมรรค...เป็นมรรคจิตมรรคญาณอยู่ในนั้น ไม่ออกมารู้ภายนอกแล้ว ศีลก็อยู่ที่เดียวกัน

เพราะนั้นยังต้องอาศัยธรรมคู่ สิ่งที่ถูกรู้หนึ่ง...สิ่งที่รู้หนึ่ง  นี่คือมาตรฐานเลย...ศีลสมาธิปัญญา จะต้องเป็นธรรมคู่ ...ยังเข้าสู่ธรรมเอกไม่ได้

จนกว่ามันจะเรียนรู้สิ่งที่อยู่เบื้องหน้ามัน จนหมดสิ้นซึ่งความหมายมั่นในความเป็นเรา ความเป็นเขา ความเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร มีอยู่จริงตั้งอยู่จริง เกิดสุขและทุกข์ของเราได้จริง

พวกนี้ต้องแจ้ง สลายหมดก่อน มันถึงจะผละทิ้ง วางมือ ...ศีลก็หมดค่าแล้ว ความหมายในศีลภายนอกนี่หมดแล้ว ศีลก็จะเข้าไปสู่ศีลภายใน ศีลละเอียด ศีลอันประณีตขึ้น

ตามลำดับของศีล...จะเป็นละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ  จนรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกัน จนแยกกันไม่ออกว่าศีลสมาธิปัญญาอยู่ที่ไหน นั่นแหละคือที่เดียว...คือที่ใจ ...มหาสติ มหาสมาธิ มหาปัญญากำลังดำเนินอยู่ภายใน 

เพราะนั้น ในภาวะนั้นนี่ จิตนี่...จะไม่มีจิตออกมาเลย จะไม่มีจิตออกมาข้องแวะกับกายเลย จะไม่มีจิตออกมาข้องแวะกับรูป จะไม่มีจิตออกมาข้องแวะกับอายตนะที่เนื่องด้วยกาย ถึงจุดนั้นจะไม่มีจิตออกมาข้องแวะเลย

ซึ่งไม่ใช่ด้วยการบังคับ ไม่ใช่ด้วยการควบคุม ...แต่มันไม่ข้องแวะโดยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา...ด้วยความเข้าใจ ด้วยความถ่องแท้เลยว่า ไม่มีอะไรควรค่าแก่การหมายมั่น

ไม่มีอะไรควรค่าแก่การเข้าไปให้ค่าว่าเป็นเราของเราเลย นี่ มันแจ้งอย่างนั้นเลย ในระดับมหาสติ มหาสมาธิ ที่บ่มเคี่ยวกรำอยู่นี่...กับศีล กับสิ่งที่ถูกรู้คือกาย คือรูป คือจิตนี่

เอ้า เอาล่ะ พอแล้ว ไปนั่งดูตัวนั่งดูใจของตัวเองไป


.................................



วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 15/14 (1)


พระอาจารย์
15/14 (570614C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
14 มิถุนายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  โยมภาวนาแล้ว มีบางช่วงเหมือนกันน่ะค่ะ ที่แบบเห็นความปวด เห็นมันจี๊ดอย่างเนี้ย แต่มันก็จะดับเองค่ะ

พระอาจารย์ –  การภาวนานี่ การรู้กาย การรู้ตัว การอยู่ในศีลสมาธิปัญญานี่ ไม่ได้ห้ามอะไรเลย ...เพียงแต่เท่าทันขันธ์ เท่าทันกิเลส ความเป็นไปของมัน

ไม่ใช่ไปแก้ ไปห้าม ไม่ใช่ไปทำลาย ...เพียงให้เห็นตามสภาพที่มันเป็น ที่มันมี เท่าที่มันเป็น เท่าที่มันมี แล้วไม่เข้าไปยุ่งกับมัน ...นี่คือจิตตั้งมั่น 

ไม่เข้าไปยุ่งกับมัน อยู่ด้วยสมาธิ ตั้งมั่นไว้ ...แล้วก็จะเห็นคุณลักษณะของลักษณะอาการแต่ละอาการนั้นๆ ว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นยังไง นั่นน่ะคือความจริงของขันธ์


โยม –  แต่เมื่อก่อนนี้เห็นว่ากำลังโกรธ แล้วมันทุกข์  พอมันเห็นก็วึ้บ ก็เห็นว่าเป็นตัวทุกข์ มันเหมือนมีตัวที่มาบอกว่าตัวนี้ตัวทุกข์แล้วมันก็จะตัดเอง

พระอาจารย์ –  เนี่ย มันก็พัฒนาขึ้นไปเองน่ะ จนเห็นว่าโกรธไม่ใช่เรา แต่ขณะแรกที่มันเห็น มันยังเป็นโกรธของเราอยู่ เดี๋ยวนี้ก็เป็น ...เพราะนั้นโกรธก็คือโกรธ ก็ไม่ใช่เรื่องของเรา

มันก็ทอดธุระ มันเกิดอาการทอดธุระ ในอาการ ในกิเลสเมื่อมันทอดธุระในกิเลส ไม่มีเราเข้าไปผสมโรง ไม่รู้กิเลสมันจะเกิดมาทำไม เข้าใจมั้ย 

ต่อไปกิเลสมันไม่รู้จะเกิดมาทำไม เพราะไม่มีเราเข้าไปร่วมด้วยช่วยกัน ...นั่นแหละเรียนรู้ไป กิเลสก็คืออาการเกิด-ดับหนึ่งแค่นั้นเอง อารมณ์ก็คือการเกิดดับหนึ่งเท่านั้นเอง

ไอ้ที่มันยั่งยืน ไอ้ที่มันดูเหมือนไม่บุบสลายเลย ก็เพราะมีเราไปอุ้มชู อุ้มสมมัน ...พอไม่มีเราไปอุ้มชูอุ้มสมด้วยเจตนา ด้วยผลประโยชน์ในอดีตอนาคตของเราก็ตาม กิเลสมันเกิดไม่ได้นานหรอก

มันตั้งอยู่ไม่ได้นานหรอก มันก็จะแสดงความจริงว่า มีความดับไปเองเป็นธรรมดา ...แล้วพอยิ่งไม่ให้ค่าให้ความสำคัญกับกิเลสเท่าไหร่ มันขึ้นก็ขึ้นมาดิ มันก็จะดับตรงนั้นให้เห็นเลย

แล้วเหมือนเวลาดับไปก็ไม่ขึ้นไม่ลงกับเราเลย นั่นแหละ แล้วต่อไปมันก็ไม่รู้จะขึ้นมาทำไม ...เนี่ย กิเลสมันก็จะเหือดแห้งหายไป เพราะว่าใช้ประโยชน์จากกิเลสไม่ได้ ใช่มั้ย

ไอ้ที่มันมีเพราะอะไร ...เพราะเรายังไปใช้ประโยชน์จากมันได้ ยังมีเราไปใช้ประโยชน์จากอารมณ์นี้ได้ ...มันก็ต้องมี มันก็ต้องสร้างอารมณ์ขึ้นมา

เพราะว่ายังมีเราเอาประโยชน์จากอารมณ์นี่ไปใช้ ให้ได้ผล...สุขบ้างทุกข์บ้าง ให้ได้ผลเป็นหน้าตัวเราของเราบ้าง ที่คนนั้นคนนี้เขาจะให้ค่าให้ความหมายอย่างนั้นอย่างนี้บ้าง

เห็นมั้ย มันก็มี ...กิเลสมันก็ไม่หยุดหรอก เพราะมันมีผลประโยชน์ที่ได้จากกิเลส...เป็นของเราอยู่  ยังมีเราที่ได้ประโยชน์จากกิเลสอยู่

แต่เมื่อใดที่มันไม่มีเราเข้าไปสวมทรงครอบงำกับกิเลส หรือให้กิเลสมันเข้าไปเจือปนกับกิเลส  กิเลสมันก็จะเกิดขึ้นน้อยลง ...อันนี้เขาเรียกว่าแรงเฉื่อย คืออนุสัย มันเป็นความเคยชิน

คือเห็นในสิ่งที่เคยไม่พอใจแล้วมันต้องมีอารมณ์ นั่นเป็นความที่คุ้นเคยอย่างยิ่ง ได้ยินได้ฟังอะไร มันก็จะวุ้บ...โดยไม่มีเจตนานะ ...นี่เขาเรียกว่าสันดาน นี่เรียกว่าอนุสัย

แต่ถ้ามันตั้งมั่นอยู่แล้ว เท่าทันอยู่แล้ว ...ก็ไม่มีเราเข้าไปอุ้มสมมัน ไม่มีเราเข้าไปจริงจังมั่นหมายกับความคุ้นเคย ที่เคยเป็นอย่างนี้แต่เก่าก่อน มันก็หมด ...เหมือนกับเราโยนแป้งไปในอากาศ นะ ...มันไม่มีอะไร


โยม –  เมื่อก่อนบางทีเวลาโกรธแม่ จะรู้สึกผิด เดี๋ยวนี้โกรธแม่แล้วมันเฉยๆ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ทั้งหมดนี่เพราะอะไร เพราะไม่มีจิตเรา...ไม่มีจิตนี่ไปแปลความ ว่านั้นเป็นแม่ ว่านี้เป็นเรา ว่านี้เป็นถูก ว่านี้เป็นผิดอะไร ...มันจึงไม่มีความรู้สึกว่างั้นงี้โง้นตามมา


โยม –  ความโกรธนี่นะคะ เหมือนอยู่กับแม่ทีไรมันจะต้องมีปฏิฆะกันตลอด

พระอาจารย์ –  ธรรมดา ความคุ้นเคย แล้วมันเป็นหนี้กรรมเวรกรรมกันมาแต่อดีตเก่าก่อน


โยม –  อัตโนมัติเลย

พระอาจารย์ –  อยู่ในมโนสัญเจตนา โดยไม่เจตนา...กูก็จะเป็น  เหมือนมันมีรังสีมาเร้าอยู่ตลอด นั่นน่ะคือเชื้อกรรม  แล้วไง ...ก็ชดใช้หนี้กัน


ผู้ถาม –  อาจารย์ครับ ถ้าอย่างนี้เราโกรธ มันเป็นอนุสัยออกไป แต่มันกระทบเขา ...ที่อาจารย์พูดว่ามันก็มีเชื้อกรรมเหมือนกัน งั้นผู้รับอันนั้นที่กระทบเขา มันก็เป็นการชดใช้วิบากต่อกัน

พระอาจารย์ –  ใช่ แต่เราจะต้องเงียบนะ


ผู้ถาม –  อ้อ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ว่ามันโกรธแล้วด่าเลย หรือแสดงไปตามอำนาจความโกรธเลย ...ไอ้อย่างนี้ไม่จบนะ อันนี้มันต่อ


ผู้ถาม –  นี่ ผมถามอันนี้

พระอาจารย์   แต่ถ้ากระทบแล้วมันมีอารมณ์ขึ้น มันโกรธภายในขึ้นมา แล้วไม่เอาเราเข้าไปผสมกับมัน แล้วเราแบก...ทนแบกภาวะๆๆ ภาวะแห่งการโกรธนี้ไว้

แล้วระวังควบคุมไม่ให้แสดงออกทางกาย วาจา ...แต่จิตน่ะมันห้ามไม่ได้ เข้าใจมั้ย  ก็ชดใช้ภาวะกรรมในจิต คือต้องเสวยทุกข์ในการที่แบกอารมณ์โกรธเพราะเขาเพราะเราอยู่ ...อย่างนี้นี่จะหมด

แล้วการเห็นกันบ่อยๆ โดยที่กรรมมันบังคับน่ะ อย่าง...เออ ถ้าเป็นแฟนกูก็เลิกมึงแหละ แต่ไอ้นี่แม่ กูเลิกไม่ได้ ไอ้นี่เป็นพ่อ เป็นลูก มันเลิกกันไม่ได้ อย่างนี้ มันถูกบังคับ

เพื่ออะไร ...เพื่อมันจะเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทบแล้วกระทบเล่า ... เพื่ออะไร ...เพื่อล้างอารมณ์ภายใน มันก็จะขึ้นมาแล้วขึ้นมาอีก เห็นกี่ครั้งก็ขึ้นเท่านั้นแหละ

จนมันเริ่มจืดจางลงไป หมดไป ด้วยการเข้าใจ...อดทนและเข้าใจ ด้วยศีลสมาธิปัญญา อดทน...แล้วมันก็จะเข้าใจด้วยปัญญาเองว่า อือ มันเป็นอย่างเนี้ย

และในขณะนั้นที่มันเกิดอารมณ์ ก็จะถือว่าเป็นการทบทวน เรียนรู้ที่มาที่ไปของอารมณ์ ทำไมมันถึงมีอารมณ์ ...นี่ มันก็จะเห็นที่มาที่ไปของอารมณ์


โยม –  แล้วอย่างพระอรหันต์บางองค์ท่านก็ด่า แต่ว่าไม่ได้มีความโกรธอะไร

พระอาจารย์ –  ด่าไปอย่างงั้นน่ะ ด่าด้วยอุปนิสัยวาสนา


โยม –  แต่ของเรา...(ฟังไม่ชัด)

พระอาจารย์ –  ไอ้นี่ด่าด้วยเรา (หัวเราะ) ไม่ได้ด่าด้วยอุปนิสัยวาสนา มันด่าเพราะเราเต็มๆ น่ะแหละ "กูไม่พอใจโว้ย" ใช่ป่าว  ...นีี่ มันต้องแยกให้ออกนะ


ผู้ถาม –  อย่างเขาด่า ด่าทั้งที่รู้ว่าด่า

พระอาจารย์ –  มันก็เราทั้งนั้นแหละ ...แต่ว่าการที่ด่าแล้วรู้ด้วยว่าด่า เนี่ย สภาวะที่เข้าไปเจตนาในกรรม ถือว่า ไม่เต็มร้อย ...หมายความว่า มันไม่จมลงไปสองขา


ผู้ถาม –  แต่ว่ามันก็มีตัวเรา

พระอาจารย์ –  มี แต่ว่ามันไม่เต็มสองขา


ผู้ถาม –  คือเป็นเจตนาดีน่ะ

พระอาจารย์ –  อะไรก็ตาม ขอให้รู้เข้าไว้เถอะ มีสติเข้าไว้ก่อน แล้วมันจะชะลอกรรม ที่เนื่องด้วยเรา ...แต่ถ้าปัญญามากขึ้นไปเรื่อยๆ มันไม่ชะลอ มันหยุดเลย มันหยุดความเป็นเรา


ผู้ถาม –  มันไม่เอาเลย

พระอาจารย์ –  มันหยุดความเป็นเรา คือหมายความว่าอารมณ์จะไม่เกิดแล้ว ยินดียินร้ายจะไม่เกิดแล้ว ...นี่หมายความว่าจิตจะต้องอยู่ในฐานที่เรียกว่ามหาสมาธิ จริงๆ

ตรงนั้นน่ะถึงจะเป็นจุดที่เรียกว่าไม่ยินดีหรือยินร้ายที่เนื่องด้วยกายเนื่องด้วยขันธ์ เข้าใจมั้ย อารมณ์ยินดียินร้ายที่เนื่องด้วยกายเนื่องด้วยรูปนี่จะไม่มี ...นี่มหาสมาธิเบื้องต้นนี่ 

เพราะนั้นก็ทำที่เดิมน่ะแหละ มันก็ไม่มีที่ใหม่หรอก กายอันเดิมรู้อันเดิมนั่นแหละ ...ทำยังไงให้มันชัด ทำยังไงให้มันอยู่ แค่นั้นเองคือหน้าที่ของเรา 

ทำยังไงถึงจะให้มันมีได้อยู่ตลอดเวลา นั่นน่ะคืองานการที่จะต้องทำ 


โยม –  แต่หลังๆ โยมเดินจงกรม แล้วโยมนั่งสมาธิน้อยลง เป็นอะไรรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  คืออากัปกิริยาทางกาย ทางรูปลักษณ์รูปแบบของการภาวนานี่ ไม่สำคัญเท่ากับว่ารู้ตัวมากขึ้นรึเปล่า


โยม –  ก็คิดว่ารู้นะคะ

พระอาจารย์ –  แน่ะ ถ้าคิด...แปลว่ามันยังไม่แน่ใจ เข้าใจรึเปล่า ...เพราะนั้นถ้ายังไม่แน่ใจนี่ ยังทิ้งรูปแบบไม่ได้ จะทิ้งรูปแบบทีเดียวไม่ได้


โยม –  เหมือนบางทีแบบพอจะเดิน มันจะต้องมีแรงเค้นออกมา

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ต้องสู้ ...ต้องสู้กับความยากลำบากของกิเลส..ที่มันไม่ยอมให้เกิดความประกอบกระทำอย่างตั้งอกตั้งใจ 

เพราะนั้นก็ยังต้องอาศัยรูปแบบมากำกับด้วย ยังปล่อยแบบอยู่ในอิริยาบถปกติไม่ได้ทีเดียว

แต่ถ้าสามารถเลย ...เช่นว่านั่งในรูปแบบเมื่อไหร่กูเครียดน่ะ รู้ตัว..แต่ว่ามันเพ่งเกินไป มันเครียดเกินไป หรือว่าเดินแล้วรู้สึกว่ามันเกร็ง มันแข็งนี่

กับการที่อยู่ปกติอย่างนี้แล้วมันกลับทรงสภาวะรู้ตัวได้แบบต่อเนื่อง แล้วก็ไม่ยากลำบาก แล้วก็อยู่นาน หนังเหนียวน่ะ อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยรูปแบบเป็นหลักแล้ว

แต่ถ้านั่งเมื่อไหร่หลับ นั่งเมื่อไหร่เผลอ นั่งเมื่อไหร่หาย...นี่ รูปแบบสำคัญนะ เดินจงกรมนั่งสมาธิยังต้องมีอย่างมากเลยนะ เพราะว่าเวลานี้ถือว่าเป็นท่าทางของการปฏิบัติอย่างจริงจัง

จิตมันจะเกิดการเขม็งหรือว่าคร่ำเคร่งต่อการเจริญสติสมาธิมากกว่าเก่า มันเป็นท่าทางที่พาให้ศีลสมาธิปัญญามันเกิดความเคร่งครัดขึ้นมาได้ ...นี่ จึงต้องอาศัย

แต่ถ้ามันเข้าใจ หรือว่ามันเข้าถึงศีลสมาธิปัญญาได้โดยตรงแล้วนี่ ...มันจะรู้สึกเองน่ะ ต่อไปมันจะรู้สึกเองว่า นั่งสมาธิเดินจงกรมแล้วนี่ มันกลับเกินไป

มันจะรู้เองนะ อันนี้มันจะรู้เองว่ามันเกินไป ...แต่ไม่ใช่เข้าข้างตัวเองนะ  กิเลสมันคอยจะอ้าง สมอ้าง แล้วก็เข้าข้างตัวเองอยู่เรื่อยนะ ...ต้องแยกให้ออก

มันจะต้องชัดเจนจริงๆ ว่าการนั่งอย่างธรรมดา หยิบจับ เดินไปเดินมา อยู่เฉยๆ ธรรมดานี่ มันกลับทรงความรู้ตัวอย่างชัดเจนชัดแจ้ง...แล้วไม่มีเรา


(ต่อแทร็ก 15/14  ช่วง 2)