วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/22 (2)


พระอาจารย์
15/22 (570701C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/22  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นี่ การภาวนาทั้งหมดเพื่อให้ตาญาณ...ตาในที่มันจะเข้าไปเห็นสภาพธรรม แหล่งกำเนิดธรรม จุดกำเนิดธรรม  

คำว่าธรรมนี่คือธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทุกสรรพสิ่ง...ตั้งแต่ขันธ์ห้านี้เป็นต้นไป จนอนันตาจักรวาล

เหล่านี้คือเป็นเหล่าที่พระพุทธเจ้าทุกท่านทุกพระองค์นี่ ท่านจะสอน ...ไม่ว่ากี่องค์ องค์ไหนก็ตาม ก็จะไม่พ้นไม่หนีจากหลักนี้เลย 

เพราะมันเป็นหลักเดียว วิธีเดียว ที่จะเข้าสู่ความเป็นจริง เข้าไปเห็นความเป็นจริงสูงสุดของการเกิดและการดับ ...และทุกการเกิดและการดับน่ะ มันมีที่ของมันที่เดียวนั่นแหละ...คือในที่ปัจจุบันจริงๆ

แต่ว่าจิต...เราอยู่กับจิตที่ไม่จริง ...แล้วจิตที่ไม่จริงนี่ มันจะคอยขัดขวางไม่ให้เข้าสู่ความเป็นจริง

โดยธรรมชาติของจิตนี่ ให้มันอยู่เฉยๆ ของมันเองโดยไม่ทำอะไรนี่ ไม่มีทางหรอกที่มันจะอยู่กับปัจจุบัน ...มันจะไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่เป็นปัจจุบันเลย โดยลำพังมันเอง

แต่ถ้าเป็นจิตที่ถูกกำกับหรือควบคุมด้วยสติศีลสมาธิและปัญญา ...ศีลสมาธิปัญญามันจะล้อมกรอบจิต ให้กลับ ให้อยู่ ให้หยุดกับปัจจุบัน ...นี่ คือวิถีแห่งมรรค

เพราะวิถีแห่งมรรค คือวิถีเข้าสู่ความเป็นจริง ...แล้วความเป็นจริงนี่ มันอยู่ที่ไหน ...มันไม่ได้อยู่ที่โน้น ไม่ได้อยู่ที่นั้น ไม่ได้อยู่ที่ข้างหน้าและข้างหลัง ...แต่มันอยู่ "ที่นี้"

เพราะนั้นตัวศีลสมาธิปัญญามันจึงเป็นตัวล้อมกรอบจิต ให้มันมาอยู่กับปัจจุบัน ...ซึ่งปัจจุบันนั้นแหละ คือที่รวมของความเป็นจริง ...มันก็ค้นคว้าลงไปในปัจจุบัน

ก็คือหมายความว่ามันค้นคว้าลงไปในฐานของความเป็นจริงทั้งหมด ...ความรู้ ความแจ้ง ความเข้าใจ มันก็จะเข้าใจอยู่ตรงนั้นที่นั้นนั่นเอง ...ไม่ใช่ที่อื่นใดเลย

แต่ถ้าเราไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่มีมรรค ไม่มีไตรสิกขานี่ ...จิตจะไม่เคยอยู่ตรงนี้เลยด้วยตัวของมันเอง

ยกเว้นเดินไปเดินมาแล้วไปตกร่องน่ะ เวลาไปเดินตกร่องแล้วมัน..พึ่บ..รู้ตัว  นั่น เรียกว่ารู้ตัวขึ้นมาทันทีเลย ...เพราะมันกลัวตาย มันก็เลยรีบกลับมารู้ตัวเลย

แต่มันรู้ตัวแค่นั้น...แล้วก็จากนั้นไปก็ด่าๆๆๆ (หัวเราะกัน) ...นั่นแหละ มันจะรู้ตัวได้แป๊บนึงโดยสัญชาติญาณแห่งความกลัวตาย  แล้วจากนั้นไป...ทีนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาปรุงแต่ง

คือคิดด่า สร้างอารมณ์เพื่อความสะใจ  ถ้าไม่คิดถ้าไม่ด่าแล้วกูไม่หายโกรธ ไม่หายเครียด เนี่ย  แล้วไม่ต้องถามหาปัจจุบันเลยนะนี่...จากนั้นไปก็ยาวเลย

แล้วก็ไปอีกทีนึง เอ้า โดนรถปาดหน้า ปึง ตกใจ...รู้ตัว อย่างเนี้ย ...จะรู้ตัวได้อย่างนี้แค่นั้นน่ะ แล้วจากนั้นก็โกรธๆๆ ...อารมณ์ ความปรุงแต่งตามมาเลย

"เดี๋ยวกูจะตามไปเอาเรื่องมันถึงที่ถึงบ้านมันเลยดีมั้ย" ...นั่น ไปนู่นแน่ะ จะยาวอย่างนั้น จิตจะเป็นอย่างนั้นน่ะ ...นี่คือลักษณะนิสัยของจิต มันจะเป็นอย่างนั้น

ถ้าไม่ควบคุมด้วยสติสมาธิปัญญาไว้ มันจะไม่อยู่กับปัจจุบันได้เลย ...เพราะนั้นเราถึงบอกว่า ทำไมถึงต้องเอากายเป็นหลัก ...เพราะกายนี่มันเป็นฐานที่แสดงความเป็นปัจจุบันชัดที่สุดแล้ว

อย่างว่าไม่รู้จะหาปัจจุบันตรงไหน  ถ้าจะถามว่าอยู่กับปัจจุบัน จะเอาอะไรดีวะเนี่ย มันหลายอย่างเหลือเกิน ...ได้ยินเสียงเราก็เป็นปัจจุบันนะ ลมพัดนี่ก็เป็นปัจจุบัน เห็นต้นไม้นี่ก็เป็นปัจจุบัน

มันจะเอาปัจจุบันไหนเป็นที่กำหนดล่ะ มันก็หลายปัจจุบัน ...แล้วปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกปัจจุบัน มันไม่ได้เหมือนกันทุกปัจจุบันนี่ ใช่มั้ย ...มันก็จะสับสน

ก็เลยรวมปัจจุบันมาเป็นที่เดียวอันเดียว...คือกายนั่นแหละ เป็นเครื่องหมายของปัจจุบัน ...นั่นน่ะ ให้รวมลงที่นี้ รวมจิตทั้งหมดลงที่นี่ก่อน...โดยไม่ต้องไปสนใจปัจจุบันภายนอกหรอก

มันเยอะเกินไป เดี๋ยวความจริงจะมั่ว ...เอาความจริงอันเดียวก่อน ให้มันแท้จริงก่อนว่าเป็นปัจจุบัน กาย เป็นปัจจุบันจริงๆ แล้วมันเป็นปัจจุบันกายปัจจุบันขันธ์

ซึ่งจริงๆ น่ะกายมันเป็นศูนย์กลาง ศูนย์กลางคือ ไอ้ต้นไม้ ไอ้เสียง ไอ้อากาศที่อยู่รอบตัวมันนี่...ที่มันมีได้ เป็นปัจจุบันได้นี่ ...ก็เพราะมีกาย

ถ้ามันไม่มีกาย มันก็ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น  ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีความรู้สึกทางเนื้อตัว เพราะนั้นตัวกายมันจึงเป็นศูนย์ของทุกปัจจุบันที่ล้อมรอบตัวมัน

ถ้าไม่มีกายตัวนี้ซะตัวเดียว...ไม่มีทุกปัจจุบันเลย เห็นมั้ย ...ก็เลยรวมที่กายนั่นแหละ เหมือนกับจับมาอยู่ที่หัว ไม่ไปจับมือ จับขาแข้ง จับอะไรให้มันไกลเนื้อไกลตัว ให้มันยืดเยื้อเยิ่นเย้อออกไป

ก็รวมกายรวมศีลอยู่ในที่เดียวกัน แล้วก็ให้จิตมันมารวมรู้รวมเห็นอยู่กับสิ่งเดียวที่เดียวคือกาย ...เนี้ย คือพื้นฐานของการจับจิตให้อยู่ในมรรค จับจิตให้อยู่ในขันธ์ จับจิตให้อยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

เพราะนั้นได้นิดได้หน่อย ได้มากได้น้อย...ทำ ฝึก อบรมจิต...โดยไม่ย่อท้อ โดยไม่เห็นผลแห่งความสุขทางโลกมาเป็นเครื่องล่อเครื่องลวง ...ก็รู้มันเข้าไป อยู่ตรงไหนก็รู้มันตรงนั้นแหละ

อยู่กับกาย ...มันมีกายอยู่ตรงไหน มันแสดงท่าทางยังไง ก็รู้กับลักษณะอาการนั้น  จะตึง จะหนัก จะแน่น หรือจะเป็นทรวดทรงรูปร่างที่มันวางมือวางตัวอย่างไร ท่าก้มท่าเงย รู้ทรวดทรงของมันไป

ทำงานในองค์มรรคนี่ ทำงานนี้งานเดียวนั่นแหละ..มากๆ ...แล้วไม่ต้องไปคิดอะไร ไม่ต้องไปคิดอะไรมากกว่าการที่จะรู้ตัว ...พอมันเริ่มจะคิด อยากจะคิด ก็ละซะบ้าง

บอกมัน...ไม่ต้องคิด ไม่เอา ...ห้ามมันซะบ้าง อย่าไปคิดเลย แล้วก็มารู้ดีกว่า มารู้กับกายแทนดีกว่า อย่าไปคิด ...นี่ ต้องคอยกำราบจิต ไม่ให้มันไพล่ไปตามกระแสความคุ้นเคยเดิมๆ

เช่น เห็นอะไร เอะอะอะไรที่เห็นแล้วก็คิด แล้วก็มีอารมณ์  ได้ยินอะไร ปึ้บ ยังไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัวเลยคิดแล้ว ...คือมันเป็นนิสัย อนุสัย ที่มันติดอยู่ในจิตในใจของทุกผู้ตัวคน

พอได้เริ่มคิดแล้วนะ...อารมณ์จะเกิดตาม มันจะมีอารมณ์เกิดตาม ...แต่ถ้าไม่คิด...ให้สังเกตดู อารมณ์ไม่ค่อยมีหรอก อารมณ์ไม่ค่อยมาก  

อาจจะมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ขึ้นมาบ้าง แต่จะไม่มาก มีกรุ่นๆ ขุ่นๆ ...แต่อย่าคิดนะ อย่าปล่อยให้คิดนะ ...จากกรุ่นๆ ขุ่นๆ นี่ จะเป็นเตาอบเลยแหละ 

แล้วเดี๋ยวจะเป็นเตาหลอมละลายทุกสิ่งเลย ...อะไรอย่ามาเข้าใกล้วงรอบมือตีนนะ มันจะแผดเผาไปทั่ว กระจายรัศมีแห่งความเฮี้ยนเลย เจ้าแม่เจ้าพ่อแสดงเลย

เนี่ย ต้องรู้นะ สาเหตุแห่งอารมณ์ที่มันแรงขึ้นหรือว่ามากขึ้น...เพราะอะไร ...ก็เพราะคิดนั่นเอง การปรุงการคิดนั่นเอง ...เพราะนั้นตัดไฟแต่หัวลม พอมันอยากจะคิด..ไม่เอา

จะเป็นเรื่องคิดที่ไม่มีสาระก็ตาม จะเป็นเรื่องคิดที่ไม่ได้ก่อเกิดอารมณ์อะไรก็ตาม...ก็ไม่เอา ...คือต้องละ ต้องหัด ต้องฝึกที่จะไม่คิด ...แล้วต้องอยู่โดยการที่ไม่คิดให้เป็น อยู่กับเวลาที่ไม่มีความคิดให้เป็น

แล้วจะเห็นผล ...เออ มันจะได้เปรียบเทียบได้ว่า...เวลาอยู่กับกายกับขันธ์ที่ไม่มีความคิดอยู่ในนั้นน่ะ...ดีกว่า สบายกว่ามั้ย ทุกข์-สุขน้อยลงมั้ย ความยืดเยื้อเยิ่นเย้อในเรื่องราวน้อยลงมั้ย ...นี่ มันก็จะเปรียบเทียบได้

แต่ถ้าปล่อยให้มันคิดโดยที่ว่า..เออ ช่างหัวมันเถอะ จะคิดก็คิดไปเถอะ  แล้วก็ปล่อยไป ...เดี๋ยวๆ เดี๋ยวจะร้อนๆ แล้ว...เวลาความคิดมันไปวน แล้วก็ไปลงอยู่ตรงจุดที่มันติดข้อง 

คือเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างนี้ ...เดี๋ยวไม่จบ  พอไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับมันเลยนะ คิดไปเรื่อยๆ ...เดี๋ยวก็มาลงที่ไอ้นั่นที่มันข้อง มันจะวนไปตรงนั้น

ทุกข์เก่าก็กำเริบขึ้นมา ...คือทุกข์เก่าก็ยังไม่จางนะ มันเก็บไว้ในสัญญา ...ก็เลยพอดีได้เชื้อไฟ เชื้อถ่านหิน น้ำมันลงไป ...มันก็ลุกฮือขึ้น...ลุกฮือขึ้น

พอมันลุกฮือขึ้นขนาดนั้น บอกให้เลย...ศีลสมาธิปัญญาเอาไม่อยู่...ในระดับพวกเรา ...ก็ไม่เอาแล้ว รู้ตัวรู้เตออะไร จะด่ากับมัน จะหาเรื่องกับมันลูกเดียวแล้ว ...มันจะแรงมากเลย

เพราะนั้น ตัดไฟแต่ต้นลม ตัดใจ ตั้งใจอยู่กับเนื้อกับตัวไป ...ไม่เอาแล้ว ช่างหัวมัน ยกประโยชน์ให้จำเลยซะ อย่าไปนั่นไปนี่...ไม่เอา ...นี่ ฝึกอยู่อย่างนี้ ให้มันรู้เงียบๆ เฉยๆ กับเนื้อกับตัวไว้ ไม่ว่าจะที่ไหน

เพราะนั้นการขยับลูกประคำหรืออะไรนี่ก็ตาม  อย่าไปขยับจนหมายความว่า กลายเป็นนกแก้วนกขุนทอง ...ต้องรู้สึกจริงๆ จะต้องรู้สึกถึงนิ้วที่กระดิกจริงๆ

ต้องรู้สึกถึงความแข็ง ที่สัมผัสกับลูกแก้วจริงๆ ต้องรู้สึกจริงๆ  ไม่ใช่ทำไปด้วยคุยไปด้วย แต่ไม่รู้ว่าทำไปด้วยความเคยชิน แล้วมันจะเกิดความชิน ...มันก็จะไม่มีประโยชน์

แต่ถ้าทำนี่ต้องรู้ตัวจริงๆ  การกระดิกนิ้ว การขยับ การเกร็ง ...ต้องรู้สึกอย่างนั้นนะ ต้องรู้สึกให้ถึง ให้ถึงเนื้อถึงตัว ให้ถึงความรู้สึกของกายจริงๆ

ไม่ใช่ทำแบบเคยชินแล้วมันจะทำแบบผ่านๆ ฉาบฉวย มันจะไม่ใช่ศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริง อย่างนี้   ฝึก...จากการหยั่งลงไป มือเท้าตกกระทบจุดสัมผัสกับพื้นนี่

ต้องรู้สึกจริงๆ ถึงจุดกระทบ  มันแน่นมันตึง ต้องรู้สึกถึงความแน่นความตึงอย่างนี้  นี่เรียกว่ากายจริงๆ ...แล้วมันจะเห็นสภาพกายจริงๆ ว่ากายนี่...จริงๆ มันคืออะไรกันแน่

จริงๆ ก็คือความรู้สึกเหล่านี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้หรอกกาย ...นอกนั้นน่ะเป็นส่วนอื่นหมดเลย ส่วนอื่นที่ประกอบขึ้นด้วยจิต ...แต่ถ้ากายจริงๆ นี่ เนื้อแท้ของกายจริงๆ แค่ความรู้สึก 

อย่างนี้...ที่นั่งท้าวแขน ที่นั่งกระทบพื้น แล้วมันรู้สึกแน่น ตึง ...ทำความรู้สึกกับมันอย่างชัด อย่างตรง กับความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ...ไม่ให้มันหนี ไม่ให้มันหาย 

มันจะเปลี่ยนไปทางไหน แล้วมันมีความรู้สึกใดมาทดแทนขึ้นมาใหม่ ...ก็สติพยายามให้ทันตรงนั้น ให้ไปทันรู้ทันเห็นกับความรู้สึกที่มันเปลี่ยนแปลงไปในที่ต่างๆ ขององคาพยพกาย ...นี่ เรียกว่าการภาวนา

เพราะนั้นไอ้ตัวความรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นความรู้สึกในกายจริงๆ ซึ่งเป็นกายในกาย ...มันจะต้องเป็นสติที่ละเอียด สมาธิที่ละเอียด ปัญญาที่ละเอียด มันถึงจะจับความรู้สึกนี้ได้ด้วยความต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะจับความรู้สึกต่อเนื่องอย่างนี้...มันจะไปจับในระหว่างทำหน้าที่การงานไม่ได้ จะไปจับความรู้สึกทุกความรู้สึกอย่างที่เราพูดตรงนี้ไม่ได้

แต่มันจะสามารถจับได้คือ...ทรวดทรง รูปทรงของอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ...ถ้าอยู่ในสติในระดับหยาบ หรือในระดับที่สามารถคุ้นเคยกับการทำงานในโลกได้

นี่ มันจะต้องเป็นกายในระดับที่เรียกว่ากายหยาบ กายที่มีสติกำกับอย่างหยาบๆ ...มันก็เห็นกายหยาบที่สุด...กายอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง อย่างนี้

เพราะนั้นในระหว่างที่ยืนหรือเดินนี่ มันสามารถจะทำงาน คิด พูดคุยได้ ...แล้วก็รู้ได้ว่ากำลังยืนพูด กำลังยืนคิด กำลังยืนติดต่อหน้าที่การงานอะไรก็ตาม

ฝึกอยู่อย่างนี้ ทั้งกายใหญ่ กายย่อย ทั้งกายหยาบ กายละเอียด ...พอมันไม่ได้ข้องแวะกับงานภายนอก หรือว่าหน้าที่การงานมันพอว่างวาย แล้วอยู่คนเดียว หรืออยู่เฉยๆ

ตรงนี้มันสามารถสร้างสติในกายละเอียด สร้างสติที่ละเอียดขึ้น สร้างสมาธิที่ละเอียดขึ้น ...ก็จะไปจับกายความรู้สึกนี้ในกายหยาบได้

เพราะอะไร ทำไมจึงต้องหยั่งลงในความรู้สึกย่อย ในกายละเอียดนี้ ...เพราะว่ากายในกาย หรือกายในความรู้สึกย่อยนี่ ดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็น

เห็นอะไร...เห็นความไม่มีเราในความรู้สึกนั้น เห็นความไม่เป็นชายไม่เป็นหญิงในความรู้สึกนั้น เห็นความไม่เป็นสัตว์บุคคลในความรู้สึกนั้น

ที่แข็งที่กระดิก ความรู้สึกที่ไหววูบๆๆ อยู่ในกายตรงนั้นตรงนี้ ...มันจะไม่มีความเป็นชายเป็นหญิงอย่างชัดเจนเลย มันจะไม่มีความเป็นเราของเราอย่างชัดเจนในความรู้สึกนั้นเลย

แต่ถ้าเป็นกายใหญ่ หรือว่ากายรูป...รูปทรงอิริยาบถ ...ตรงนั้นน่ะ มันยังมีความรู้สึกเป็นเราชัด ความรู้สึกเป็นชายเป็นหญิง เป็นนั่นเป็นนี่มีชื่อมีเสียงชัด

เพราะมันยังเป็นกายที่มันยังข้องแวะอยู่ในโลก ยังต้องมีการสื่อปฏิสัมพันธ์อยู่ในโลก ...เพราะนั้นความเป็นสมมุติบัญญัติจึงมีอย่างชัดเจนอยู่ในกายหยาบอย่างนั้น

แต่ยังไงก็ต้องฝึกอยู่ในกรอบนี้ วิถีนี้ ...อย่าปล่อย อย่าทิ้งกาย...ทั้งในกายหยาบ ทั้งในกายย่อย ...เรียกว่า ถ้าได้ใหญ่..เอาใหญ่ ได้ย่อย..เอาย่อยไว้

คือต้องมีกายต้องมีศีลรั้งไว้...รั้งจิตไว้ เป็นตัวกำกับจิตไว้  ไม่ให้จิตมันเผลอเพลินออกไปไกล...จากศีล จากกองกาย จากการรวมตัวกันของธาตุกายของตัวเอง

เหล่านี้ มันจึงจะคุ้มครองจิตให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่เป็นทุกข์จนเกินไป ...แล้วมันก็จะก่อให้เกิดปัญญาต่อไปในภายภาคหน้าจนถึงความแจ้งในทุกส่วนของกองขันธ์

ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติอย่างนี้ ผลมันก็ไม่นานหรอก มันก็เกิดผล...ไม่ว่าทุกข์อะไรเกิดขึ้นก็สามารถจัดการได้ด้วยความสงบ ด้วยความเข้าใจ

ทุกข์ใหญ่ ทุกข์เล็ก ทุกข์จากคนอื่น ทุกข์จากตัวเอง...แก้ได้หมด ...แก้ได้หมด เหนือได้หมด ...นี่ มีชีวิตอยู่เหนือทุกข์...ก็สบาย ไม่อึดอัดคับข้องในที่ใดทั้งปวง

เอ้า เอาแล้ว เท่านี้


................................




วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/22 (1)


พระอาจารย์
15/22 (570701C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้น...แค่หนึ่งชั่วโมงรู้สักครั้งหนึ่ง ...นี่ก็ถือว่าให้โอกาสกับกิเลสพอสมควรแล้วนะ

กับแค่รู้แป๊บนึงนี่ เออ กำลังทำอะไร กำลังนั่ง...นี่ รู้ ...เชื่อมั้ย ถ้าไปลองทำกันจริงๆ ถ้าตั้งใจจริงๆ นี่ ทำกันจริงๆ ...ได้ไม่เกินหนึ่งวัน  พอวันที่สอง...ไม่เอาแล้ว

นี่ ขนาดว่า แค่ชั่วโมงนึง...รู้ตัวทีนะ ...ไม่ใช่ไปนั่งแบบขัดสมาธิเพชรครั้งละชั่วโมงอย่างนี้ ไอ้นั่นไม่ต้องพูดถึง...มันไม่ทำอยู่แล้ว ทำได้ยากยิ่งเลย

แต่ขนาดนี่...ให้รู้ว่า เออ เฉลี่ย โดยเฉลี่ยทั้งวัน...หนึ่งชั่วโมงสักครั้ง สองครั้ง สามครั้ง แบ่งจิตมานิดนึง มารู้ตัวนิดนึง แล้วลองทำให้ได้ต่อเนื่องทุกวันไปอย่างนี้ ...พยายามฝืนไว้

เพราะพอวันที่สองจะเริ่มขี้เกียจขึ้นแล้วนะ  วันที่สาม-สี่-ห้า จิตมันจะเริ่มต่อรอง...เป็นสองชั่วโมงครั้งได้มั้ย ...นี่ ขนาดนี้มันยังต่อรองเลยนะ มันจะอย่างนี้ ...แล้วพวกเราก็จะอ่อนข้อให้มัน อ่อนข้อให้มัน

แล้วพอสุดท้ายก็...เออ ไม่เอาแล้ว มันรุงรังว่ะ ไม่รู้จะทำไปทำไม สู้ทำตามเดิม ใช้ชีวิตแบบเดิม ไม่ต้องดูไม่ต้องรู้ไม่ต้องเห็นอะไรเลย ...เนี่ย มันจะทานอำนาจของความหลงความเพลินไม่ได้

มันจะทนต่อความคุ้นเคยในการใช้ชีวิต การกระทำ คำพูด ตามอำนาจของกิเลสความพอใจ-ความไม่พอใจไม่ได้ เหล่านี้ ...มันก็จะไม่ได้รับการพัฒนาขึ้นในศีลสมาธิปัญญา

เมื่อจิตไม่ได้รับการพัฒนาด้วยศีลสมาธิปัญญานี่ เวลามันเจอสถานการณ์คับขันที่มันเป็นทุกข์ ที่มันเลือกไม่ได้ ที่มันไม่ได้เกิดจากเราเป็นผู้สร้างขึ้นมาเองก็ตาม หรือเป็นเราสร้างขึ้นมาเองก็ตาม

พอถึงจุดนั้นน่ะ มันจะแก้ไม่ได้ ...เนี่ย มันจะเกิดภาวะบีบคั้นทับถม ทุรนทุราย กระสับกระส่าย มืดบอด ดำดิ่งอยู่ในกองทุกข์ก้อนทุกข์ ความรู้สึกเป็นทุกข์อย่างแผดเผาเร่าร้อน ทรมาน

แล้วก็ต้องจมแช่ แล้วก็อยู่ในสภาวะที่มันถูกบีบคั้นด้วยทุกข์อย่างนั้นน่ะ ...การกระทำ คำพูดที่ออกไปนี่ มันจะออกไปท่ามกลางความเร่าร้อนที่แผดเผา

เพราะนั้นมันจึงมีการกระทำคำพูดที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน แล้วไปกระทบกับสิ่งนั้น บุคคลนี้ อีกมากมาย ...สุดท้ายแล้วมันก็จะเข้ามาสุมเป็นทุกข์ซ้อนเข้ามาอีก หลายเรื่องเข้ามาอีก ไปใหญ่เลย

มันไปใหญ่เลย จนบางทีก็เสียงานเสียการ เสียบุคลิก เสียสถานะการดำรงตน การดำรงอาชีพ การดำรงบุคคลคนนี้อยู่ในสังคม ...มันสูญเสียหมด มันเสียหายไปโดยทั่วของตัวเองและผู้อื่น

เนี่ย เพราะว่าปล่อยปละละเลย แล้วก็เวลากิเลสมันทับถมขึ้นมาถึงจุดนึง ขึ้นมาสร้างอารมณ์ ก่อทุกข์จนทับถมทวีคูณขึ้นมาแล้วนี่ ...เอาตัวไม่รอดหรอก

นี่ ยังเป็นทุกข์เรื่องภายนอก ...แล้วยังต้องเป็นภาระของขันธ์ ที่มันจะต้องเจอเรื่องภาระของขันธ์คือทุกข์กาย จนถึงทุกข์ของวันตาย ทุกข์ของอาการกายกำลังจะแตกดับตายไป

มันก็จะมีทุกข์อย่างแสนสาหัสขึ้นมา ทุกข์แบบหมอยังส่ายหัว คือไม่รู้จะช่วยยังไง ...ความทุกข์บางความทุกข์ เวทนาบางเวทนานี่ เอายาทุกชนิดมาแล้ว ก็ยังเอาไม่อยู่

เพราะนั้นความเป็นทุกข์ในกายนี่ บางครั้งบางคนวิบากมันแรง มันสูง ...นี่ มันทุกข์จริงๆ ทุกข์แบบทั่วทุกขุมขนเลย มันไม่มีตรงไหนที่ไม่เป็นทุกข์เลย เวลานั้น

แล้วจะเอากำลังจิตกำลังใจที่ไหนไปตั้งรับต่อสู้ ...ถ้าไม่มีการพัฒนาจิตอยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญามาตั้งแต่ร่างกายมันยังเป็นปกติ...ยังไม่เดือดเนื้อร้อนใจเพราะมันขึ้นมา

เหล่านี้ คือให้ตัวเองใช้อุบายเหล่านี้...ในการเตือนให้เกิดความขยันหมั่นเพียร ในการสร้างฐานศีลสมาธิปัญญาของตัวเองขึ้นมาอยู่เสมอ ...ไม่งั้นมันจะเกิดความตายใจในโลก ตายใจในขันธ์

เกิดความประมาทในโลก เกิดความประมาทในขันธ์ ...คิดว่าโลกมันจะเป็นอย่างที่เราเจอทุกวัน เราก็อยู่อย่างสบายๆ ไม่มีเรื่องไม่มีราวทุกวัน...ก็คงเป็นอย่างนี้ต่อไปมั้ง ...นี่ มันตายใจในโลก

กายก็อยู่ธรรมดาไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย...มันก็พอแล้ว  ปวดหัวตัวร้อนก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นมันจะเดือดเนื้อร้อนใจเป็นทุกข์อะไรเลย ...นี่ มันก็ตายใจในขันธ์

เวลามันเกิดสภาวะที่มันคับแค้นจริงๆ แล้วจะรู้เองน่ะ...ไม่ใช่ธรรมดา ...เวลาร่างกายมันวิปริตจริงๆ ไม่ว่าจะโรคไหนก็ตาม มันเอาไม่อยู่ จิตเอาไม่อยู่ ...หาทางดิ้นหนี ก็ไม่รู้จะดิ้นหนียังไง เพราะไม่มีปัญญา

แต่ถ้าภาวนาซะตั้งแต่หัววัน คือตั้งแต่อายุยังน้อย สะสมภูมิปัญญา ภูมิของสติ กำลังของสติ กำลังของสมาธิ กำลังของปัญญามาโดยสม่ำเสมอตลอดสาย

คือไม่ต้องถึงขั้นเอาแบบ...แหม เป็นหน้าที่หลัก ใช้ชีวิตเป็นงานรอง...ไม่ใช่ ...ก็ทำไปเถอะ ค่อยๆ ทำไป  แต่ว่าโดยเฉลี่ยให้มันได้ตลอดวันทั้งวันให้มันมีรู้บ้าง

ขาดบ้าง เผลอบ้าง หายบ้าง ขอให้เฉลี่ยว่าอย่าให้มันขาดนาน รู้นิดก็ยังดี ...เอาไม่อยู่ก็ช่างมัน ก็รู้ใหม่  คอยรู้กลับมาดูตัวเองใหม่ สร้างทีละนิดๆ ทีละนิดไป

อย่าปล่อยปละละเลย อย่าละความขวนขวายในการเจริญสติสมาธิปัญญาภายใน ...เพราะไอ้สติสมาธิปัญญาอย่างที่เราอธิบายนี่ มันเป็นสติสมาธิปัญญาแบบพื้นฐาน ง่ายๆ

แบบใครก็ทำได้ แค่นั่งแล้วรู้ว่านั่งนี่ ใครก็ทำได้ ...ต่อให้เด็กมันมานั่ง ถามมัน มันก็ยังรู้เลยว่ามันกำลังนั่ง ใครก็ทำได้ ...มันไม่ใช่ยาก มันไม่ใช่ต้องลงทุนอะไร

มันไม่ใช่ต้องลงทุนลงแรง ใช้เงิน หาสถานที่ หรือว่าต้องสร้างจิตสร้างใจดวงใหม่ขึ้นมาอย่างแรง อย่างยิ่ง...ก็ไม่ใช่ ...ก็รู้ธรรมดา แค่เนี้ย

ถ้ารู้ได้แล้ว...ก็บางครั้ง บางช่วง ถ้ามันรู้แล้วมันสามารถตั้งรู้ตั้งเห็นอยู่กับกายนี้ได้..ด้วยความต่อเนื่องเป็นนาที สองนาที ห้านาทีได้...ก็เอา

อย่าไปเบื่อ อย่าไปคิด อย่าไปบอกว่าไม่รู้จะรู้ไปทำอะไร...เบื่อแล้ว ไม่เอาแล้ว ...เออ รู้ไปเหอะ ถ้ามันรู้ได้นาน...ตลอดอิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดินนั้นๆ ได้เลย ...ก็ยิ่งดี

เนี่ย สร้าง ขวนขวายอยู่อย่างนี้  จะได้อะไร ไม่ได้อะไร ก็ถือว่าฝึกไว้ทำไว้ ...แล้วเวลาถึงคราวคับขัน มีทุกข์ขึ้นมาที่ต้องให้ได้รับ ต้องให้ได้เสวย ไม่ว่าจากตัวเองหรือจากบุคคลอื่น

เนี่ย สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราปฏิบัติคือศีลสมาธิปัญญานี่...มันจะมาเกื้อ มันจะมาหนุนตอนนั้น ...มันจะมาชี้ทาง มันจะมาส่องทาง...ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรในสภาวการณ์เช่นนี้

เนี่ย ปัญญามันจะมาเตรียมให้ทางออก ชี้ทางออกให้เห็น ...แล้วเป็นทางออกที่ดีที่สุด แล้วก็เป็นทางแก้ที่ดีที่สุด ตรงที่สุด 

อาจจะไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ตาม แต่ก็ถือว่าดีที่สุด ...ดีกว่าผู้ที่ไม่มีสติสมาธิในศีลสมาธิปัญญามาก่อน ที่จะแก้หรือทำ...ซึ่งมันจะแก้ไปแบบผิดๆ ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวรองรับ

หรือไม่มีศีลสมาธิปัญญาที่เคยสร้างเคยกระทำมาแต่ก่อนเป็นตัวชี้นำทางแล้ว ...การแก้การกระทำต่อปัญหานั้นๆ มันจะเกิดความต่อเนื่องและยืดเยื้อ ไม่จบจริง ไม่จบง่าย

เพราะนั้นการรู้ตัวนี่...คือการที่เรียกว่าศีลสมาธิปัญญา ...การรู้ตัวก็คือหมายความว่าเป็นการเอาความรู้ตัวนี่เข้าไปแก้ปัญหาทุกปัญหาไป ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่ ปัญหาหนัก ปัญหาเบา

หรือปัญหาที่ดูเหมือนจะแก้ไม่จบ แก้ไม่ได้เลยก็ตาม ...พูดง่ายๆ คือทุกปัญหา...เอารู้ตัวอย่างเดียวนี่แก้ ...ก็คือความหมายเดียวกับที่ว่าเอาศีลสมาธิปัญญาเข้าแก้นั่นเอง

อย่างนี้ ผู้ใดที่ใช้วิธีการนี้ต่อปัญหาทุกสิ่งที่อยู่ในชีวิตนี่ ...ผู้นี้จะถือว่าเป็นผู้ดำเนินอยู่ตามหลักของพระพุทธเจ้า ตามหลักของเหล่าพระอริยสาวกท่านวางหลักไว้

แล้วไม่ใช่ว่าพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสงฆ์สาวกท่านได้แต่สอน ...ตัวท่านเองท่านก็ใช้หลักนี้ด้วย ตัวท่านเองท่านก็อยู่ในหลักนี้ แล้วก็ปฏิบัติตัวอยู่ในหลักนี้ด้วย

ไม่ใช่ว่าดีแต่ปาก ดีแต่สอนแล้วไม่ทำ ตัวท่านก็ใช้วิธีนี้โดยตลอด ...ถ้าเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุดก็เรียกว่าโดยตลอดเวลานั่นแหละ ท่านก็อยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญาตลอดเวลา

โดยมันเป็นลักษณะที่ไม่พรากจากกาย ไม่พรากจากขันธ์เลย...ศีลสมาธิปัญญาจะอยู่แนบกายแนบขันธ์อยู่ทุกปัจจุบันนาทีเลย ...นั่น จนมันเป็นนิสัยเลย

เพราะนั้นท่านจึงรู้ ท่านจึงเห็นว่า...ผู้ใดก็ตามอยู่แนบ อยู่กับ...อาศัยอยู่กับศีลสมาธิปัญญาเป็นหลักแล้วนี่ ...จะได้ผลอันเป็นมงคลอยู่ตลอดเวลา เป็นทางผลอันประเสริฐจะเกิดขึ้นโดยไม่ขาดสายเลย

ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลกและทางธรรม ...มันก็จะมีผลให้ได้เป็นปรากฏขึ้นมาทั้งทางโลกและทางธรรมอยู่ตลอดเวลา ...เหมือนน้ำฝนที่หลั่งไหลมาในฤดูฝนน่ะ เหมือนฤดูน้ำหลากน่ะ อย่างนั้น

เพราะนั้น....ท่านทำตัวอย่างนั้น แล้วท่านได้รับผลอย่างนั้น ท่านเห็นผลอย่างนั้น ...ท่านจึงบอกว่า นี่ ดีจริงนะ ถูกนะ เป็นไปตามพระพุทธเจ้าบอกทุกประการ ไม่มีคำว่าบิดพลิ้วไปเป็นอื่นเลย

ว่าผลอย่างนี้เกิดเพราะการกระทำอย่างนี้ การประกอบเหตุอย่างนี้ ศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้...ผลจะต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีแปรเปลี่ยน ไม่มีว่าไม่ตรงตามเหตุตามผล ...มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยจริงๆ

แล้วก็เหตุปัจจัยนี่ ...ไม่ใช่ว่าท่านไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น ว่าการประกอบเหตุทางโลก การประกอบเหตุด้วยกิเลส การทำตามอำนาจของกิเลสแล้วมันได้ผลอย่างไร

ท่านก็เห็น ท่านก็รู้น่ะ ...เพราะท่านก็เคยมีกิเลสมาก่อน...ไม่ใช่ไม่มี  ท่านก็เคยทำ เคยพูด เคยคิดอย่างนั้นมาก่อน ...แต่ท่านก็เห็นว่าผลออกมานั่นน่ะ มันเป็นเช่นไร

มันเป็นอวมงคล หรือเรียกว่าเป็นความทราม ความต่ำ ความหนัก ความข้อง ความติด ความพัวพัน ความไม่รู้จักจบ เหล่านี้ ...ท่านก็เห็น

ซึ่งเอามาเปรียบกับผลที่ได้จากการอยู่ร่วมกับศีลสมาธิปัญญา มันคนละขั้ว มันคนละมิติ มันคนละโลก มันคนละวิถีกันเลย ...นี่ มันต่างกันโดยสิ้นเชิงจริงๆ ...ยืนยันได้ พิสูจน์ได้ เหล่านี้

เพราะนั้น ในลักษณะของผู้ปฏิบัติที่มันยังไม่ได้เข้าถึงผลในระดับขั้นนั้นเลยนี่ ก็ต้องเชื่อไว้ก่อน ...อย่างน้อยเชื่อไว้ก่อน แกล้งเชื่อไว้ก่อน

เพราะว่าสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดน่ะ คือคนที่ไม่ธรรมดานะ คือเป็นคนที่เหนือคนแล้ว ...อย่างพระพุทธเจ้านี่เรียกว่าเป็นคนเหนือคนแล้ว เป็นคนยิ่งกว่าคนแล้ว เป็นยอดของคนแล้ว สุดยอดของคนแล้ว

แล้วไม่ใช่เฉพาะเป็นสุดยอดของคนเท่านั้น ท่านเป็นสุดยอดของสัตว์โลก เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทั้งหลาย ...ท่านเป็นเลิศในสัตว์โลก

เพราะนั้นการกล่าวอ้าง คำพูด วจี หรือพุทธพจน์ หรือว่าหลักธรรมที่ท่านสอนท่านวางไว้นี่ ...คือเป็นสิ่งที่เรียกว่าคัดกรอง กลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว

ไม่ใช่นึกๆ คิดๆ เอาตามประสาแบบคนทั่วไป แล้วก็มาตั้งเป็นทฤษฎีขึ้นมา เป็นความน่าจะเป็นอย่างนี้นะ ไม่น่าจะอย่างนั้นหรือเปล่า

แต่ว่าท่านกลั่นกรองมาด้วยการกระทำ ด้วยตัวท่านเองทั้งนั้น จนบังเกิดผล เห็นผล รับผล ...แล้วท่านจึงมาสอน ท่านจึงวางหลัก วางเป็นภาษาบัญญัติขึ้นมาว่าอย่างนี้ๆๆ

ทำอย่างนี้จะได้ผลอย่างนี้จริง ทำอย่างนี้จะไม่ได้ผลอย่างนี้จริง ท่านพูดไว้เป็นมาตรฐานขึ้นมาเลย ...ไม่ใช่นึกๆ คิดๆ ขึ้นมาลอยๆ ...ท่านทำ แล้วท่านลงทุนเอาตัวเองทำ

แล้วก็ท่านทำท่านบำเพ็ญมานี่...ไม่ใช่เวลาแค่ชั่วหนึ่งอายุคน  ท่านบำเพ็ญสะสมเรียนรู้วิถีเหล่านี้มา...ก็อย่างที่ท่านบอกว่า สี่อสงไขยแสนมหากัป...กับการเกิดตายมาเป็นสัตว์ในสามโลก

แล้วก็จุดมุ่งหมายปลายทาง...ก็เพื่อทำความรู้ ทำความแจ้งในองค์มรรคเท่านั้นเอง ...คือความหลุดพ้นด้วยตัวท่านเอง

เพราะนั้น...สวากขาโต ภควตา ธัมโม คือหมายความว่า สวากขาตธรรม ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ท่านจำแนกออกมานี่ ล้วนกลั่นกรองมาด้วยใจอันบริสุทธิ์ล้วนๆ จริงๆ

ไม่มีมลทินเจือปน ไม่มีเพื่อผลประโยชน์ใดผลประโยชน์หนึ่งของท่านเจือปนเลย ไม่เป็นไปด้วยความอยาก-ความไม่อยากเจือปนเลย ...แต่เป็นมาจากดวงจิตที่บริสุทธิ์ยิ่งแล้ว

เนี่ย แล้วก็เรียบเรียงออกมาเป็นภาษาให้เหล่าสัตว์มนุษย์ได้ยิน ได้แปลความ ได้เข้าใจความหมาย ...แล้วก็ค่อยๆ ไต่เต้าไปตามสมมุติภาษา ไปจนถึงธรรมที่แท้จริง จนถึงต้นตอของธรรมที่แท้จริง จนเห็นที่สุดของธรรมที่แท้จริง 

นั่นเองคือเป้าหมายของการสอน ...เพื่อให้เห็นต้นและปลายของธรรม การเกิดและการดับของสรรพสิ่ง ...จุดเริ่มต้นของการเกิดอยู่ตรงไหน จุดสิ้นสุดของการเกิดอยู่ตรงไหน

ถ้าเห็นโดยจิตที่วางไว้ดีแล้ว คือจิตที่วางด้วยศีลสมาธิปัญญา...มันจะเป็นตัวจับจิตให้วางอยู่ในที่ที่ดีแล้ว นี่ ...มันเห็นเข้าไปถึงต้นตอสาเหตุที่แท้จริง แล้วก็จะเห็นโดยตลอด

หมายความว่า ธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่...ทุกสภาพธรรม...ล้วนแล้วแต่เกิดจากที่เดียวกันหมด แล้วดับไปในที่เดียวกันหมดเลย 

ไม่มีคำว่าแตกต่าง ผิดแผก หรือเหนือ หรือสูง-ต่ำกว่ากันเลย ...ล้วนแล้วมาจากที่เดียวกันหมดเลย แล้วก็ดับไปในที่เดียวกันหมดเลย


(ต่อแทร็ก 15/22  ช่วง 2)