วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/22 (2)


พระอาจารย์
15/22 (570701C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/22  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นี่ การภาวนาทั้งหมดเพื่อให้ตาญาณ...ตาในที่มันจะเข้าไปเห็นสภาพธรรม แหล่งกำเนิดธรรม จุดกำเนิดธรรม  

คำว่าธรรมนี่คือธรรมทั้งหลายทั้งปวง ทุกสรรพสิ่ง...ตั้งแต่ขันธ์ห้านี้เป็นต้นไป จนอนันตาจักรวาล

เหล่านี้คือเป็นเหล่าที่พระพุทธเจ้าทุกท่านทุกพระองค์นี่ ท่านจะสอน ...ไม่ว่ากี่องค์ องค์ไหนก็ตาม ก็จะไม่พ้นไม่หนีจากหลักนี้เลย 

เพราะมันเป็นหลักเดียว วิธีเดียว ที่จะเข้าสู่ความเป็นจริง เข้าไปเห็นความเป็นจริงสูงสุดของการเกิดและการดับ ...และทุกการเกิดและการดับน่ะ มันมีที่ของมันที่เดียวนั่นแหละ...คือในที่ปัจจุบันจริงๆ

แต่ว่าจิต...เราอยู่กับจิตที่ไม่จริง ...แล้วจิตที่ไม่จริงนี่ มันจะคอยขัดขวางไม่ให้เข้าสู่ความเป็นจริง

โดยธรรมชาติของจิตนี่ ให้มันอยู่เฉยๆ ของมันเองโดยไม่ทำอะไรนี่ ไม่มีทางหรอกที่มันจะอยู่กับปัจจุบัน ...มันจะไปอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่เป็นปัจจุบันเลย โดยลำพังมันเอง

แต่ถ้าเป็นจิตที่ถูกกำกับหรือควบคุมด้วยสติศีลสมาธิและปัญญา ...ศีลสมาธิปัญญามันจะล้อมกรอบจิต ให้กลับ ให้อยู่ ให้หยุดกับปัจจุบัน ...นี่ คือวิถีแห่งมรรค

เพราะวิถีแห่งมรรค คือวิถีเข้าสู่ความเป็นจริง ...แล้วความเป็นจริงนี่ มันอยู่ที่ไหน ...มันไม่ได้อยู่ที่โน้น ไม่ได้อยู่ที่นั้น ไม่ได้อยู่ที่ข้างหน้าและข้างหลัง ...แต่มันอยู่ "ที่นี้"

เพราะนั้นตัวศีลสมาธิปัญญามันจึงเป็นตัวล้อมกรอบจิต ให้มันมาอยู่กับปัจจุบัน ...ซึ่งปัจจุบันนั้นแหละ คือที่รวมของความเป็นจริง ...มันก็ค้นคว้าลงไปในปัจจุบัน

ก็คือหมายความว่ามันค้นคว้าลงไปในฐานของความเป็นจริงทั้งหมด ...ความรู้ ความแจ้ง ความเข้าใจ มันก็จะเข้าใจอยู่ตรงนั้นที่นั้นนั่นเอง ...ไม่ใช่ที่อื่นใดเลย

แต่ถ้าเราไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ไม่มีปัญญา ไม่มีมรรค ไม่มีไตรสิกขานี่ ...จิตจะไม่เคยอยู่ตรงนี้เลยด้วยตัวของมันเอง

ยกเว้นเดินไปเดินมาแล้วไปตกร่องน่ะ เวลาไปเดินตกร่องแล้วมัน..พึ่บ..รู้ตัว  นั่น เรียกว่ารู้ตัวขึ้นมาทันทีเลย ...เพราะมันกลัวตาย มันก็เลยรีบกลับมารู้ตัวเลย

แต่มันรู้ตัวแค่นั้น...แล้วก็จากนั้นไปก็ด่าๆๆๆ (หัวเราะกัน) ...นั่นแหละ มันจะรู้ตัวได้แป๊บนึงโดยสัญชาติญาณแห่งความกลัวตาย  แล้วจากนั้นไป...ทีนี้ก็ตั้งหน้าตั้งตาปรุงแต่ง

คือคิดด่า สร้างอารมณ์เพื่อความสะใจ  ถ้าไม่คิดถ้าไม่ด่าแล้วกูไม่หายโกรธ ไม่หายเครียด เนี่ย  แล้วไม่ต้องถามหาปัจจุบันเลยนะนี่...จากนั้นไปก็ยาวเลย

แล้วก็ไปอีกทีนึง เอ้า โดนรถปาดหน้า ปึง ตกใจ...รู้ตัว อย่างเนี้ย ...จะรู้ตัวได้อย่างนี้แค่นั้นน่ะ แล้วจากนั้นก็โกรธๆๆ ...อารมณ์ ความปรุงแต่งตามมาเลย

"เดี๋ยวกูจะตามไปเอาเรื่องมันถึงที่ถึงบ้านมันเลยดีมั้ย" ...นั่น ไปนู่นแน่ะ จะยาวอย่างนั้น จิตจะเป็นอย่างนั้นน่ะ ...นี่คือลักษณะนิสัยของจิต มันจะเป็นอย่างนั้น

ถ้าไม่ควบคุมด้วยสติสมาธิปัญญาไว้ มันจะไม่อยู่กับปัจจุบันได้เลย ...เพราะนั้นเราถึงบอกว่า ทำไมถึงต้องเอากายเป็นหลัก ...เพราะกายนี่มันเป็นฐานที่แสดงความเป็นปัจจุบันชัดที่สุดแล้ว

อย่างว่าไม่รู้จะหาปัจจุบันตรงไหน  ถ้าจะถามว่าอยู่กับปัจจุบัน จะเอาอะไรดีวะเนี่ย มันหลายอย่างเหลือเกิน ...ได้ยินเสียงเราก็เป็นปัจจุบันนะ ลมพัดนี่ก็เป็นปัจจุบัน เห็นต้นไม้นี่ก็เป็นปัจจุบัน

มันจะเอาปัจจุบันไหนเป็นที่กำหนดล่ะ มันก็หลายปัจจุบัน ...แล้วปัจจุบันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทุกปัจจุบัน มันไม่ได้เหมือนกันทุกปัจจุบันนี่ ใช่มั้ย ...มันก็จะสับสน

ก็เลยรวมปัจจุบันมาเป็นที่เดียวอันเดียว...คือกายนั่นแหละ เป็นเครื่องหมายของปัจจุบัน ...นั่นน่ะ ให้รวมลงที่นี้ รวมจิตทั้งหมดลงที่นี่ก่อน...โดยไม่ต้องไปสนใจปัจจุบันภายนอกหรอก

มันเยอะเกินไป เดี๋ยวความจริงจะมั่ว ...เอาความจริงอันเดียวก่อน ให้มันแท้จริงก่อนว่าเป็นปัจจุบัน กาย เป็นปัจจุบันจริงๆ แล้วมันเป็นปัจจุบันกายปัจจุบันขันธ์

ซึ่งจริงๆ น่ะกายมันเป็นศูนย์กลาง ศูนย์กลางคือ ไอ้ต้นไม้ ไอ้เสียง ไอ้อากาศที่อยู่รอบตัวมันนี่...ที่มันมีได้ เป็นปัจจุบันได้นี่ ...ก็เพราะมีกาย

ถ้ามันไม่มีกาย มันก็ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น  ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีความรู้สึกทางเนื้อตัว เพราะนั้นตัวกายมันจึงเป็นศูนย์ของทุกปัจจุบันที่ล้อมรอบตัวมัน

ถ้าไม่มีกายตัวนี้ซะตัวเดียว...ไม่มีทุกปัจจุบันเลย เห็นมั้ย ...ก็เลยรวมที่กายนั่นแหละ เหมือนกับจับมาอยู่ที่หัว ไม่ไปจับมือ จับขาแข้ง จับอะไรให้มันไกลเนื้อไกลตัว ให้มันยืดเยื้อเยิ่นเย้อออกไป

ก็รวมกายรวมศีลอยู่ในที่เดียวกัน แล้วก็ให้จิตมันมารวมรู้รวมเห็นอยู่กับสิ่งเดียวที่เดียวคือกาย ...เนี้ย คือพื้นฐานของการจับจิตให้อยู่ในมรรค จับจิตให้อยู่ในขันธ์ จับจิตให้อยู่ในปัจจุบันนั่นเอง

เพราะนั้นได้นิดได้หน่อย ได้มากได้น้อย...ทำ ฝึก อบรมจิต...โดยไม่ย่อท้อ โดยไม่เห็นผลแห่งความสุขทางโลกมาเป็นเครื่องล่อเครื่องลวง ...ก็รู้มันเข้าไป อยู่ตรงไหนก็รู้มันตรงนั้นแหละ

อยู่กับกาย ...มันมีกายอยู่ตรงไหน มันแสดงท่าทางยังไง ก็รู้กับลักษณะอาการนั้น  จะตึง จะหนัก จะแน่น หรือจะเป็นทรวดทรงรูปร่างที่มันวางมือวางตัวอย่างไร ท่าก้มท่าเงย รู้ทรวดทรงของมันไป

ทำงานในองค์มรรคนี่ ทำงานนี้งานเดียวนั่นแหละ..มากๆ ...แล้วไม่ต้องไปคิดอะไร ไม่ต้องไปคิดอะไรมากกว่าการที่จะรู้ตัว ...พอมันเริ่มจะคิด อยากจะคิด ก็ละซะบ้าง

บอกมัน...ไม่ต้องคิด ไม่เอา ...ห้ามมันซะบ้าง อย่าไปคิดเลย แล้วก็มารู้ดีกว่า มารู้กับกายแทนดีกว่า อย่าไปคิด ...นี่ ต้องคอยกำราบจิต ไม่ให้มันไพล่ไปตามกระแสความคุ้นเคยเดิมๆ

เช่น เห็นอะไร เอะอะอะไรที่เห็นแล้วก็คิด แล้วก็มีอารมณ์  ได้ยินอะไร ปึ้บ ยังไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัวเลยคิดแล้ว ...คือมันเป็นนิสัย อนุสัย ที่มันติดอยู่ในจิตในใจของทุกผู้ตัวคน

พอได้เริ่มคิดแล้วนะ...อารมณ์จะเกิดตาม มันจะมีอารมณ์เกิดตาม ...แต่ถ้าไม่คิด...ให้สังเกตดู อารมณ์ไม่ค่อยมีหรอก อารมณ์ไม่ค่อยมาก  

อาจจะมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ขึ้นมาบ้าง แต่จะไม่มาก มีกรุ่นๆ ขุ่นๆ ...แต่อย่าคิดนะ อย่าปล่อยให้คิดนะ ...จากกรุ่นๆ ขุ่นๆ นี่ จะเป็นเตาอบเลยแหละ 

แล้วเดี๋ยวจะเป็นเตาหลอมละลายทุกสิ่งเลย ...อะไรอย่ามาเข้าใกล้วงรอบมือตีนนะ มันจะแผดเผาไปทั่ว กระจายรัศมีแห่งความเฮี้ยนเลย เจ้าแม่เจ้าพ่อแสดงเลย

เนี่ย ต้องรู้นะ สาเหตุแห่งอารมณ์ที่มันแรงขึ้นหรือว่ามากขึ้น...เพราะอะไร ...ก็เพราะคิดนั่นเอง การปรุงการคิดนั่นเอง ...เพราะนั้นตัดไฟแต่หัวลม พอมันอยากจะคิด..ไม่เอา

จะเป็นเรื่องคิดที่ไม่มีสาระก็ตาม จะเป็นเรื่องคิดที่ไม่ได้ก่อเกิดอารมณ์อะไรก็ตาม...ก็ไม่เอา ...คือต้องละ ต้องหัด ต้องฝึกที่จะไม่คิด ...แล้วต้องอยู่โดยการที่ไม่คิดให้เป็น อยู่กับเวลาที่ไม่มีความคิดให้เป็น

แล้วจะเห็นผล ...เออ มันจะได้เปรียบเทียบได้ว่า...เวลาอยู่กับกายกับขันธ์ที่ไม่มีความคิดอยู่ในนั้นน่ะ...ดีกว่า สบายกว่ามั้ย ทุกข์-สุขน้อยลงมั้ย ความยืดเยื้อเยิ่นเย้อในเรื่องราวน้อยลงมั้ย ...นี่ มันก็จะเปรียบเทียบได้

แต่ถ้าปล่อยให้มันคิดโดยที่ว่า..เออ ช่างหัวมันเถอะ จะคิดก็คิดไปเถอะ  แล้วก็ปล่อยไป ...เดี๋ยวๆ เดี๋ยวจะร้อนๆ แล้ว...เวลาความคิดมันไปวน แล้วก็ไปลงอยู่ตรงจุดที่มันติดข้อง 

คือเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่างนี้ ...เดี๋ยวไม่จบ  พอไปเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่เกี่ยวกับมันเลยนะ คิดไปเรื่อยๆ ...เดี๋ยวก็มาลงที่ไอ้นั่นที่มันข้อง มันจะวนไปตรงนั้น

ทุกข์เก่าก็กำเริบขึ้นมา ...คือทุกข์เก่าก็ยังไม่จางนะ มันเก็บไว้ในสัญญา ...ก็เลยพอดีได้เชื้อไฟ เชื้อถ่านหิน น้ำมันลงไป ...มันก็ลุกฮือขึ้น...ลุกฮือขึ้น

พอมันลุกฮือขึ้นขนาดนั้น บอกให้เลย...ศีลสมาธิปัญญาเอาไม่อยู่...ในระดับพวกเรา ...ก็ไม่เอาแล้ว รู้ตัวรู้เตออะไร จะด่ากับมัน จะหาเรื่องกับมันลูกเดียวแล้ว ...มันจะแรงมากเลย

เพราะนั้น ตัดไฟแต่ต้นลม ตัดใจ ตั้งใจอยู่กับเนื้อกับตัวไป ...ไม่เอาแล้ว ช่างหัวมัน ยกประโยชน์ให้จำเลยซะ อย่าไปนั่นไปนี่...ไม่เอา ...นี่ ฝึกอยู่อย่างนี้ ให้มันรู้เงียบๆ เฉยๆ กับเนื้อกับตัวไว้ ไม่ว่าจะที่ไหน

เพราะนั้นการขยับลูกประคำหรืออะไรนี่ก็ตาม  อย่าไปขยับจนหมายความว่า กลายเป็นนกแก้วนกขุนทอง ...ต้องรู้สึกจริงๆ จะต้องรู้สึกถึงนิ้วที่กระดิกจริงๆ

ต้องรู้สึกถึงความแข็ง ที่สัมผัสกับลูกแก้วจริงๆ ต้องรู้สึกจริงๆ  ไม่ใช่ทำไปด้วยคุยไปด้วย แต่ไม่รู้ว่าทำไปด้วยความเคยชิน แล้วมันจะเกิดความชิน ...มันก็จะไม่มีประโยชน์

แต่ถ้าทำนี่ต้องรู้ตัวจริงๆ  การกระดิกนิ้ว การขยับ การเกร็ง ...ต้องรู้สึกอย่างนั้นนะ ต้องรู้สึกให้ถึง ให้ถึงเนื้อถึงตัว ให้ถึงความรู้สึกของกายจริงๆ

ไม่ใช่ทำแบบเคยชินแล้วมันจะทำแบบผ่านๆ ฉาบฉวย มันจะไม่ใช่ศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริง อย่างนี้   ฝึก...จากการหยั่งลงไป มือเท้าตกกระทบจุดสัมผัสกับพื้นนี่

ต้องรู้สึกจริงๆ ถึงจุดกระทบ  มันแน่นมันตึง ต้องรู้สึกถึงความแน่นความตึงอย่างนี้  นี่เรียกว่ากายจริงๆ ...แล้วมันจะเห็นสภาพกายจริงๆ ว่ากายนี่...จริงๆ มันคืออะไรกันแน่

จริงๆ ก็คือความรู้สึกเหล่านี้ ไม่มีอะไรมากกว่านี้หรอกกาย ...นอกนั้นน่ะเป็นส่วนอื่นหมดเลย ส่วนอื่นที่ประกอบขึ้นด้วยจิต ...แต่ถ้ากายจริงๆ นี่ เนื้อแท้ของกายจริงๆ แค่ความรู้สึก 

อย่างนี้...ที่นั่งท้าวแขน ที่นั่งกระทบพื้น แล้วมันรู้สึกแน่น ตึง ...ทำความรู้สึกกับมันอย่างชัด อย่างตรง กับความรู้สึกอย่างนี้จริงๆ ...ไม่ให้มันหนี ไม่ให้มันหาย 

มันจะเปลี่ยนไปทางไหน แล้วมันมีความรู้สึกใดมาทดแทนขึ้นมาใหม่ ...ก็สติพยายามให้ทันตรงนั้น ให้ไปทันรู้ทันเห็นกับความรู้สึกที่มันเปลี่ยนแปลงไปในที่ต่างๆ ขององคาพยพกาย ...นี่ เรียกว่าการภาวนา

เพราะนั้นไอ้ตัวความรู้สึกอย่างนี้ มันเป็นความรู้สึกในกายจริงๆ ซึ่งเป็นกายในกาย ...มันจะต้องเป็นสติที่ละเอียด สมาธิที่ละเอียด ปัญญาที่ละเอียด มันถึงจะจับความรู้สึกนี้ได้ด้วยความต่อเนื่อง

เพราะฉะนั้น ถ้าจะจับความรู้สึกต่อเนื่องอย่างนี้...มันจะไปจับในระหว่างทำหน้าที่การงานไม่ได้ จะไปจับความรู้สึกทุกความรู้สึกอย่างที่เราพูดตรงนี้ไม่ได้

แต่มันจะสามารถจับได้คือ...ทรวดทรง รูปทรงของอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ...ถ้าอยู่ในสติในระดับหยาบ หรือในระดับที่สามารถคุ้นเคยกับการทำงานในโลกได้

นี่ มันจะต้องเป็นกายในระดับที่เรียกว่ากายหยาบ กายที่มีสติกำกับอย่างหยาบๆ ...มันก็เห็นกายหยาบที่สุด...กายอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง อย่างนี้

เพราะนั้นในระหว่างที่ยืนหรือเดินนี่ มันสามารถจะทำงาน คิด พูดคุยได้ ...แล้วก็รู้ได้ว่ากำลังยืนพูด กำลังยืนคิด กำลังยืนติดต่อหน้าที่การงานอะไรก็ตาม

ฝึกอยู่อย่างนี้ ทั้งกายใหญ่ กายย่อย ทั้งกายหยาบ กายละเอียด ...พอมันไม่ได้ข้องแวะกับงานภายนอก หรือว่าหน้าที่การงานมันพอว่างวาย แล้วอยู่คนเดียว หรืออยู่เฉยๆ

ตรงนี้มันสามารถสร้างสติในกายละเอียด สร้างสติที่ละเอียดขึ้น สร้างสมาธิที่ละเอียดขึ้น ...ก็จะไปจับกายความรู้สึกนี้ในกายหยาบได้

เพราะอะไร ทำไมจึงต้องหยั่งลงในความรู้สึกย่อย ในกายละเอียดนี้ ...เพราะว่ากายในกาย หรือกายในความรู้สึกย่อยนี่ ดูไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็น

เห็นอะไร...เห็นความไม่มีเราในความรู้สึกนั้น เห็นความไม่เป็นชายไม่เป็นหญิงในความรู้สึกนั้น เห็นความไม่เป็นสัตว์บุคคลในความรู้สึกนั้น

ที่แข็งที่กระดิก ความรู้สึกที่ไหววูบๆๆ อยู่ในกายตรงนั้นตรงนี้ ...มันจะไม่มีความเป็นชายเป็นหญิงอย่างชัดเจนเลย มันจะไม่มีความเป็นเราของเราอย่างชัดเจนในความรู้สึกนั้นเลย

แต่ถ้าเป็นกายใหญ่ หรือว่ากายรูป...รูปทรงอิริยาบถ ...ตรงนั้นน่ะ มันยังมีความรู้สึกเป็นเราชัด ความรู้สึกเป็นชายเป็นหญิง เป็นนั่นเป็นนี่มีชื่อมีเสียงชัด

เพราะมันยังเป็นกายที่มันยังข้องแวะอยู่ในโลก ยังต้องมีการสื่อปฏิสัมพันธ์อยู่ในโลก ...เพราะนั้นความเป็นสมมุติบัญญัติจึงมีอย่างชัดเจนอยู่ในกายหยาบอย่างนั้น

แต่ยังไงก็ต้องฝึกอยู่ในกรอบนี้ วิถีนี้ ...อย่าปล่อย อย่าทิ้งกาย...ทั้งในกายหยาบ ทั้งในกายย่อย ...เรียกว่า ถ้าได้ใหญ่..เอาใหญ่ ได้ย่อย..เอาย่อยไว้

คือต้องมีกายต้องมีศีลรั้งไว้...รั้งจิตไว้ เป็นตัวกำกับจิตไว้  ไม่ให้จิตมันเผลอเพลินออกไปไกล...จากศีล จากกองกาย จากการรวมตัวกันของธาตุกายของตัวเอง

เหล่านี้ มันจึงจะคุ้มครองจิตให้อยู่รอดปลอดภัย ไม่เป็นทุกข์จนเกินไป ...แล้วมันก็จะก่อให้เกิดปัญญาต่อไปในภายภาคหน้าจนถึงความแจ้งในทุกส่วนของกองขันธ์

ถ้าเรามุ่งมั่นตั้งใจในการปฏิบัติอย่างนี้ ผลมันก็ไม่นานหรอก มันก็เกิดผล...ไม่ว่าทุกข์อะไรเกิดขึ้นก็สามารถจัดการได้ด้วยความสงบ ด้วยความเข้าใจ

ทุกข์ใหญ่ ทุกข์เล็ก ทุกข์จากคนอื่น ทุกข์จากตัวเอง...แก้ได้หมด ...แก้ได้หมด เหนือได้หมด ...นี่ มีชีวิตอยู่เหนือทุกข์...ก็สบาย ไม่อึดอัดคับข้องในที่ใดทั้งปวง

เอ้า เอาแล้ว เท่านี้


................................




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น