วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/34 (2)


พระอาจารย์
15/34 (570729A)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 15/34  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะว่ากายนี่มันเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ด้วยความสืบเนื่องไม่ขาดสาย ...เพราะนั้นถ้าสติระลึกกำกับกาย กำกับศีลไว้ กายมันก็ไม่หาย สติมันก็จะไม่หาย

พอสติมันไม่หายบ่อย ไม่ขาดหายบ่อย มันก็เกิดพัฒนาสติขึ้นมาเป็นสัมปชัญญะ ...สัมปชัญญะคือก็เกิดความทรงสภาพรู้เห็นด้วยความต่อเนื่องได้

ไอ้การที่ทรงสภาพรู้เห็นด้วยความต่อเนื่องนั่นน่ะ ท่านเรียกว่าสมาธิ...สัมมาสมาธิที่มั่นคง แล้วพอจิตมันมั่นคงในระดับสัมมาสมาธิในระดับนั้นน่ะ จิตหนึ่งจิตมั่นคงนั่นแหละ จึงจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาจริงๆ

ซึ่งเป็นปัญญาที่ไม่ได้เกิดจากการคิดค้น การวิเคราะห์  เป็นปัญญาที่ไม่ได้เกิดจากการใช้คำพูด ภาษา ตำรา ...แต่มันเป็นปัญญาที่เกิดจากการรู้เห็นสภาพที่อยู่เบื้องหน้ามันตามความเป็นจริง

เพราะนั้นในสภาพเบื้องหน้ามันตามความเป็นจริง...ในลำดับแรกที่มันต้องเรียนรู้ก่อน คือสภาพศีลเป็นหลักเลย...คือสภาพกายนี่ เพราะมันยึดโยงอยู่กับกายเป็นหลัก 

เพราะนั้นมันจะต้องเรียนรู้สิ่งแรกก่อนเลย จากจิตที่มันรวมเป็นสมาธิแล้ว...ก็คือกาย

แล้วพอมันชัดเจนในองค์กาย ด้วยความเป็นกลางกับกาย รักษารู้รักษาเห็นอยู่กับกายด้วยความต่อเนื่องได้แล้ว  ทีนี้มันไม่จำเพาะกาย มันจะเรียนรู้ไปพร้อมกันหมดเลย ...มันจะเรียนรู้ไปทั่วองค์ขันธ์ 

ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นสัญญา ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเวทนาในข้างหน้าข้างหลังก็ตาม การรู้การเห็นได้ยินอะไร มันก็เกิดอะไรผุดโผล่ขึ้นมา กิเลสน้อยใหญ่มันก็ปรากฏขึ้น

แต่ทุกอย่างที่มันจะปรากฏขึ้นท่ามกลางศีลสมาธิปัญญาหรือว่าท่ามกลางองค์มรรคนั้น ...มันจะปรากฏอยู่ด้วยสภาวะเหมือนเป็นกลางๆ ไม่มีความน่าเข้าไปยินดี ไม่มีความน่าเข้าไปยินร้าย สักเท่าไหร่ 

แต่ลึกๆ มันจะมีจิตนึงน่ะ มันจะมีตัวเราลึกๆ น่ะ ที่มันร่ำๆ จะเข้าไปร่วมด้วย


โยม –  มันยังไม่ขาดนี่อาจารย์ มันก็ต้องมา

พระอาจารย์ –  อยู่แล้ว ต้องมีอยู่แล้ว ...แต่ว่าด้วยสติ ด้วยองค์มรรคที่รักษาไว้นี่ มันก็กำราบไอ้ตัวนี้ไว้ ไม่ให้มันเห่อเหิมเจิมทะยานออกไป

มันก็ต้องฝืนอดทนอยู่กับสภาพที่มันยังมีส่วนลึกๆ ภายใน กิเลสภายใน ความเป็นเราภายใน ที่มันจะเข้าไปแก้ เข้าไปเปลี่ยน หรือเข้าไปหมายมั่นจริงจังอะไร

เพราะนั้นไอ้ตรงนี้ บางอาการของขันธ์ บางอาการของผัสสะอายตนะ มันก็มีอาการของความรู้สึกที่อยาก อยาก มันจะมีตัณหาเป็นตัวผลักเร่ง อยากจะเข้าไป อยากจะเข้าไปเป็นกับมัน

ก็ต้องอดทน ศีลสมาธิปัญญาก็จะพัฒนาแข็งแรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนมันรู้สึกได้ด้วยตัวของมันเองว่า มันไม่ต้องทนกับอะไรเลย


โยม –  ครับ ไม่ต้องทน แค่ทนกับอดนอนอย่างเดียวเอง ทนอย่างเดียวนี่รู้สึกอย่างอื่นพัฒนาขึ้นมาเอง คุ้มจริงๆ ครับอาจารย์ ลองมาหลายปีแล้ว

เพราะอันนี้ไม่กล้าทำตั้งแต่แรก พึ่งทำมาแค่สามสัปดาห์เองครับ ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ว่าสภาพธรรมจริงๆ เหมือนไม่เปลี่ยนเลยนะอาจารย์

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นตัวการไม่หลับไม่นอนจริงๆ นี่ มันเป็นตัวที่ส่งเสริมอย่างหนึ่งอย่างมากเลยก็คือสติ


โยม –  ครับ ก็ได้สติครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะ แล้วก็ความอดทน ...อดทนเอา


โยม –  ก็คิดว่ามันก็ไม่ได้ยากมากอะไร ตอนแรกคิดว่ายาก พอทำเจ็ดวันแรกสำเร็จ รู้สึก อ๋อ เอาวะ อย่างนี้ได้แล้วล่ะ แต่ก็ยังหลังพิงกำแพงอยู่นะครับอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นไร ไม่ได้ถือขั้นอุกฤษฏ์


โยม –  ขนาดนั้นเดี๋ยวคงปวด เป็นเรื่องเป็นราว จิตมีโทสะ คงวุ่นวายเปล่าๆ อันนี้คือเราเน้นว่าให้สติมันเกิดบ่อยๆ เท่านั้นเอง

พระอาจารย์ –  ถ้าถือขั้นอุกฤษฏ์นี่ ก็เรียกว่าจะไม่ยอมให้จิตตกภวังค์เลยน่ะ


โยม –  ครับ คือมันได้ฝืนกันตลอด

พระอาจารย์ –  แต่ว่าถ้าในระดับปานกลาง ธรรมดานี่ มันก็มีจมหายไปบ้าง แต่ว่าไม่ได้อยู่ที่ว่าเจตนาจะล้มตัวลงนอน


โยม –  ครับ แค่เจตนาที่จะไม่ราบลงไปกับพื้นเท่านั้นเอง

พระอาจารย์ – อือ ไม่ตายหรอก


โยม –  ไม่ตายอยู่แล้วอาจารย์ ผมก็เพิ่งรู้ว่าจริงๆ มันไม่ต้องนอนก็ได้ (หัวเราะ)

พระอาจารย์ –  ไม่ตายหรอก เพียงแต่การหลับตานอนนี่ บางครั้งมันเป็นความเคยชินน่ะ เช่นว่าบางครั้งมีเหตุให้นอนไม่ถึงแปดชั่วโมงนี่ พอตื่นขึ้นมามันก็นึกว่าไม่มีแรงแน่เลย มันนึกเอาเอง


โยม –  มันนึกเอาเอง ตอนนี้ผมรู้เลยว่าไม่ต้องนอนแล้วผมทำงานหนัก ทำงานใช้ร่างกายมากอย่างนี้ ก็เอ๊ะ ทำไมไม่เห็นใช่เลยนี่ กลับรู้สึกว่ากระปรี้กระเปร่ากว่าเดิมอีก

พระอาจารย์ –  อือ จิตมันหลอก แม้แต่อาหารการกินนี่ กินมื้อเดียวนี่ มันก็คิดว่าคงทำงานไม่ไหว ไม่มีแรง ต้องสามมื้อ บางทีกินสามมื้อแล้วไม่มีเนื้อมีหมูกินนี่ ก็ไม่มีแรงอีกแล้ว

นี่มันหลอกทั้งนั้นน่ะจิต กินแต่ผักอย่างเดียวไม่มีแรง รู้สึกว่าร่างกายมันอ่อนระโหยไปหมดเลย เห็นมั้ย จิตมันก็ไปสั่งการให้กายนี่ เหมือนอ่อนลงไปด้วย


โยม –  อ๋อ มีสัญญาเข้าไป

พระอาจารย์ –  นี่แหละคือจิตที่มันเข้าไปทับขันธ์น่ะ


โยม –  แต่ตอนนี้เริ่มเห็นความจริงหลายอย่างแล้วครับอาจารย์ ก็เลยรู้สึกกล้าหาญมากขึ้น

พระอาจารย์ –  ต้องเอาชนะจิตนั่นแหละ ความเห็นในจิต ...นั่นน่ะที่มันหลอก ปั่นหัว เข้าใจมั้ยว่ากิเลสมันปั่นหัวนะ  เสร็จแล้วเราก็..เรียกว่าอะไร มันไม่กล้าที่จะปฏิวัติล้มล้างมัน ไม่กล้าที่จะไม่เชื่อมัน 

แต่พอเริ่มที่จะแสดงอาการไม่เชื่อมัน มันก็จะบีบคั้นอย่างยิ่ง


โยม –  มันก็จะเอาเราหนักเลย

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  พอผ่านมาได้ ตอนนี้ โอ้โห ภูมิใจ

พระอาจารย์ –  เหมือนแบบมึงจะหลุดพ้นโซ่ตรวนกูไม่ได้ง่ายๆ หรอก


โยม –  อู้หู มันไม่ใช่ง่ายๆ จริงๆ ครับอาจารย์ นี่ขนาดกิเลสแบบอ่อนๆ นะครับ ในระดับฆราวาส ยังรู้สึกว่า โห มันก็เล่นเราหนัก แต่พอผ่านมาได้ มันก็แบบเหมือนมีเครื่องมือที่แข็งแรงมากขึ้น อาจารย์สนับสนุน ผมก็จะได้กลับไปทำมากขึ้นครับ

พระอาจารย์ –  ขอให้ยืนหยัดเหยียบหยั่งอยู่บนศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้ไปเพื่อการใดการหนึ่ง


โยม –  ครับ เพื่อให้ศีลสมาธิปัญญามันแข็งแกร่งขึ้น

พระอาจารย์ –  แค่นั้นเอง นั่นคือเป้าหมาย ไม่งั้นมันจะกลายเป็นสีลัพพตะ


โยม –  ฮะ ไม่งั้นมันจะกลายเป็นกดข่ม บังคับฮะอาจารย์

พระอาจารย์ –  อือ เข้าไปยึดในวิถีแห่งการดำรงตน วิถีแห่งการปฏิบัติว่าดีว่าเลิศ ...แต่ถ้าใช้ลักษณะพวกนี้ ถือว่าเป็นอุบายในการที่จะมาสนับสนุนองค์มรรค ในมรรคาปฏิปทา

เพราะนั้นในลักษณะอย่างนี้ท่านจัดอยู่ในธุดงควัตรหมด คำว่าธุดงควัตร ก็คือวัตรปฏิบัติที่เป็นขั้นอุกฤษฏ์ต่อการกำราบกิเลส ทรมานกิเลส ...ท่านไม่ได้จัดเป็นวินัยด้วย


โยม –  ก็ฟัง อ่านจากประวัติครูบาอาจารย์แล้วผมว่าก็คงยากเกินไป ก็เลยเอาข้อนี้ น่าจะง่ายที่สุด

พระอาจารย์ –  ท่านให้เลือกเอา ถูกจริตยังไงใน ๑๓ ข้อ ท่านก็..ไม่ใช่ว่าต้องทำครบ ๑๓ ข้อเลย แล้วใน ๑๓ ข้อท่านก็บอก มีตั้งแต่ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นอุกฤษฏ์ ท่านก็ยังอนุโลมให้ได้


โยม –  เป็นฆราวาสได้แค่นี้ก็ดีแล้ว เดี๋ยวค่อยไปฝึกเพิ่ม

พระอาจารย์ –  มันก็ทำให้มีเวลาภาวนามากขึ้น


โยม –  มันกลายเป็นว่ามันไม่หลับ มันเด้งไปเด้งมา สติมันก็เด้งขึ้นมาเร็ว

พระอาจารย์ –  เพราะนั้น ถ้ามันเข้าฐานตรงผู้รู้ได้จริงๆ นี่ ไม่มีคำว่าหลับเลย จะไม่มีคำว่าจิตตกภวังค์เลย จิตมันจะสว่างรู้ ตื่น เห็นหมด แจ้งหมด มันแจ้งตลอด กลางวัน-กลางคืน 

จนมันไม่มีจิตออกมาแบ่งว่านี่เป็นกลางวันหรือกลางคืนน่ะ ไม่รู้เวลาเลย มันจะไม่รับรู้เลย ...มันเหมือนกับจะคงอยู่แค่ปัจจุบัน ยังคงแค่รู้อยู่กับปัจจุบันเท่านั้นเอง 

มันไม่มีว่าเวลานี้เป็นเวลาไหน มันจะไม่มีจิตออกมาบอกว่านี้เป็นเวลาไหน ถ้าจิตมันเป็นมหาสมาธิจริงๆ

ก็ทำไปเรื่อยๆ ปรารภอยู่ในศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้ มันก็ถึงจุดที่สุดของศีลสมาธิปัญญาอยู่วันยันค่ำน่ะ มันไม่ไปเกาะแกะที่อื่น


โยม –  มันไม่ค่อยสนใจเรื่องมรรคผลแล้วครับอาจารย์ มันสนใจแต่เรื่องการปฏิบัติอย่างเดียว

พระอาจารย์ –  มาสนใจอย่างนี้ ลงในเดี๋ยวนี้ ถ่ายเดียว ทุ่มลงไป มรรคมีองค์แปด ศีลสมาธิปัญญา ไตรสิกขา ทุ่มลงไปในปัจจุบันเดียว

ทั้งหมดน่ะ เอามาลงรวมในปัจจุเดียว ปัจจุบันรู้ปัจจุบันเห็นตรงนี้ เอามารวมลงที่กาย เอามารวมลงที่รู้นี่ให้ได้ ทั้งหมดนี่ รวมสามโลกธาตุนี่มารู้กับกาย เหลือแค่กายกับรู้ รวมลงที่เดียว

ท่านเรียกว่าทุ่มรวมทั้งหมดมาอยู่ในที่เดียวเลย มรรคสมังคีลงในที่เดียวกัน ไม่แตกกระสานซ่านกระเซ็นไป อ้างนิพพาน อ้างมรรคอ้างผลนอกหน้า ข้างหน้าข้างหลังอะไรไม่มีน่ะ เอามารวมที่นี้หมด

มันจะคิดเล็กคิดน้อย มันจะหมายธรรมข้างหน้าข้างหลัง มันจะได้ มันจะมี หรือไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็น ตอนไหนเวลาไหน ก็รวมลงที่กายใจปัจจุบันอย่างเดียว

ทีนี้ก็จะเป็นสมังคีขึ้น มรรคทั้งแปดก็สมังคี ศีลสมาธิปัญญามันก็สมังคีอยู่เป็นปัจจุบัน ...เพราะนั้นน่ะ กำลังของการประหัตประหารกิเลสมันก็จะมากขึ้นๆ เป็นทวีคูณ


(ต่อแทร็ก 15/35)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น