วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 15/35 (1)


พระอาจารย์
15/35 (570729B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  แล้วนี่ ทำอะไรมั่งล่ะ เป็นชิ้นเป็นอันรึเปล่า

โยม –  ก็รู้สึกว่าช่วงหลังๆ จะขยันมากขึ้นค่ะ เหมือนจะพยายามทำความรู้สึกตัว เวลาเคลื่อนไหว แต่บางทีมันก็เผลอไปคิดฟุ้งซ่าน คิดนู่นคิดนี่ค่ะ แต่ว่าพอมันมารู้อยู่กับตัวเอง แบบเห็นตัวเองนั่ง ตัวเองยืน อะไรอย่างนี้ ก็ไวขึ้น แล้วก็สวดมนต์ในใจบ้างค่ะ มันก็ค่อนข้างฟุ้งซ่านเยอะ 

แต่บางทีเดี๋ยวนี้เวลาเล่นอินเตอร์เน็ท เวลาทำอะไร มันรู้สึกอยากจะค้น ทำนั่นทำนี่ไปตามที่หา หาที่มันเหมือนหาความสุขน่ะค่ะ แต่ทำๆ ไป มันรู้สึกว่ามันเหนื่อย มันไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่ ก็จะปิดไปเลย แต่เมื่อก่อนนี้จะยังไม่ยอมปิด ยังจะดื้อหาๆๆ

พระอาจารย์ –  อือ มันไม่อิ่ม


โยม –  มันไม่อิ่มค่ะ  หลังๆ นี่ก็ค่อนข้าง...ปิดก็คือปิดไปเลย รู้สึกออกมาพักแล้วอยู่กับตัวเอง มันก็จะโล่ง ไม่ปวดหัว ไม่เหนื่อย ไม่อะไร

พระอาจารย์ –  เออ นั่นแหละ กายนี่เป็นที่พักของใจ เป็นหลุมหลบภัย แล้วก็เป็นที่ชูกำลัง มันเป็นหมดน่ะ มีอยู่ที่เดียว

คือแต่ก่อนมันเข้าใจว่าตรงนั้นตรงนี้ เรื่องราวข้างหน้า มีสาระที่จะเป็นอาหารอันโอชะ ที่ว่ากินแล้วอิ่ม กินแล้วสบาย มีความสุข กินแล้วมีเรี่ยวแรงกำลังที่จะดำเนินชีวิตผลักดันชีวิตให้ไปข้างหน้าได้อย่างนี้

นี่ เรามันถูกกิเลสปั่นหัวหลอกหมดน่ะ ...พอจะให้กลับมาอยู่กับกาย อยู่กับตัว มันก็อ้างนู่นอ้างนี่ ยังไม่ถึงเวลา มันยังไม่พอ มันไม่น่าจะมีความสุขได้เลย มันไม่ใช่วิธีการ

นี่ มันจะอ้างไปหมด อ้างลมๆ แล้งๆ ตามประสาของมันไป แล้วก็นิสัยของเรามันก็คุ้นเคยอยู่แล้ว ในสุขและทุกข์ในโลก มันคุ้น มันติด คุ้นจนติดน่ะ

มันคุ้นจนชิน จนติด ...แล้วมันก็เข้าใจว่ามันขาดเสียไม่ได้ ในสุขนั้นๆ ในความมีความเป็นนั้นๆ มันขาดเสียไม่ได้ ...มันติดแบบติดสาระเหย ประมาณนั้น

ทำไมเรียกว่าติดสารระเหย  คือมันลมๆ แล้งๆ มันไม่มีอะไร ...แต่นั่นมันกลายเป็นติดสารระเหย เหมือนกับติดยาเสพติดแบบสารระเหย

แต่ถ้ากล้าที่จะเอาศีลสมาธิปัญญามาเป็นบรรทัดฐาน นี่ กล้าแล้วก็ทดลอง แล้วก็ทำ พิสูจน์ทราบ ...ซึ่งแรกๆ มันยังไม่เกิดผลหรอก ทำบ่อยๆ รู้บ่อยๆ แล้วมันจะตอบด้วยตัวเองว่า เอ๊ะ ดีโว้ย ดีกว่า ค่อนข้างจะดีกว่า

มันเริ่มมีแล้ว มันจะเริ่มจะมีผลปรากฏ ความมั่นใจในศีลสมาธิปัญญามันก็มากขึ้น ความมั่นใจในการที่ว่าตรงนี้ ที่นี้ เป็นที่พึ่งได้ เป็นที่อยู่ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีอะไรก็อยู่ได้

ไม่ต้องมีความสุขข้างหน้าก็อยู่ได้ ไม่ต้องมีโปรเจ็คโครงการข้างหน้าก็อยู่ได้ ...มันสามารถที่จะอยู่ได้โดยลำพัง ศีลสมาธิปัญญาโดยลำพัง โดยที่ไม่ต้องมีว่า accessory เครื่องเคียง

มันก็รู้สึก..ซึ่งแต่ก่อนมันเยอะนะ ต้องหลายอย่างเลยถึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ ถึงจะทำมาหากินได้ ถึงจะมีหน้าตามีตา มีตัวมีตนของเราต่อไปข้างหน้าได้ อย่างนี้

ต่อไปมันก็เริ่มปลดระวางน่ะ ปลดระวาง ...มันเริ่มปลดระวาง เริ่มปลด เริ่มปล่อย เริ่มที่จะไม่เข้าไปค้นหาข้างหน้าข้างหลัง  มันก็เริ่มหยุดแล้ว มันหยุด

จิตมันก็จะเริ่มรู้จักคำว่าเพียงพอ หรือว่าพอดีในปัจจุบัน ...ถ้าไม่รวมลงในปัจจุบัน มันจะไม่มีคำว่าพอดีได้เลย เอาแค่นี้ เอาตรงนี้ เอาแค่นั่งนอนยืนเดิน ...แล้วก็หักลำมัน คอยหักลำมัน ทวนมันซึ่งๆ หน้า 

กำลังคิด กำลังเผลอเพลินอย่างเมามันนี่  ถ้ามีสติ สัมมาสติเกิด เอ๊ะ กูกำลังเพลินกับความคิดนี่...หักลำเลย วกกลับลงที่เป็นปัจจุบันธรรม เป็นปัจจุบันทันด่วนเลย

ก็เรียกว่า ศีลสมาธิปัญญาแบบ emergency น่ะ ทันทีเลย ...ไม่ต้องรอให้รถมารับด้วยนะ คือปฐมพยาบาลก่อนเลย ตรงนั้นเลย กลางถนนนั่นเลย ...ก็ต้องแก้ตรงนั้นเลย อย่ารอ อย่าติดพัน

อย่าไปให้มันว่า “หน่อยน่าๆ” ให้มันคิดอย่างนี้  ต้องหักกันเลย หักล้างกัน ...แล้วกำลังของศีลสมาธิปัญญานี่ การหักล้างกันมันจะมากขึ้นเอง

คราวนี้พอหักล้างได้เป็นครั้งเป็นคราวไปแล้วนี่ อย่าไปดีใจ อย่าไปหลงดีใจ ...มันจะต้องพัฒนาขึ้นกว่านั้น หักล้างแล้ว รู้ทันทีแล้ว...แล้วมันหยุด หยุดกึกลงได้ แล้วมันไม่ไป

ทีนี้ต้องทรงแล้ว ต้องทรง ทรงคือรักษาไว้ ด้วยความต่อเนื่อง ...ไปดีแค่มีแล้วก็หยุดแล้วก็รู้ แล้วก็ปล่อยให้มันล่องลอยเผลอเพลินหายไปอีกนี่ เรียกว่าประมาท นี่เขาเรียกว่าตกอยู่ใต้ความประมาทตายใจ

เพราะเวลา สมมุติว่ามันกำลังคิดเพลิน แล้วก็คอยดึงกลับ รู้ๆๆ คอยมาอยู่กับตัวๆ แล้วความคิดนั้นหายไป มันหมดกำลังในความอยากที่จะคิดต่อแล้ว ...ตายใจแล้ว ปล่อย

ตอนนี้โมหะคืบ จะเป็นช่องของโมหะเข้ามาแทรก เพราะโมหะนี่เป็นกิเลสที่เนียนมาก เนียนมาแอบอิงกับศีลสมาธิปัญญา ...ดูเหมือนไม่มีพิษไม่มีภัยอะไรเลย

เนี่ย เขาเรียกว่าประมาท เกิดความประมาทตายใจ ความเคร่งครัดในองค์ศีล องค์สติสมาธิก็เริ่มเจือจางลง เพราะมันไม่มีอารมณ์รุนแรงหรือว่าความคิดเป็นตัวเป็นตนอย่างชัดเจนอะไร

แต่มันจะวนไปวนมากับการเผลอ เพลิน หาย ล่องลอย ...ดูเหมือนไม่มีอะไร ดูเหมือนไม่มีทุกข์ไม่มีภัยอะไร มันจะหลอกให้ปล่อย ให้รามือ จะเกิดความรามือวางมือจากศีลสมาธิปัญญา

ตรงนี้มันก็เกิดช่องโหว่แล้ว เหมือนกับเราเปิดช่องโหว่ช่องว่าง ให้กิเลสมันได้ช่อง ซึ่งตอนนั้นน่ะ กิเลสตัวใหญ่ กิเลสตัวแรง ยังไม่แสดงออกอย่างชัดเจน

เพราะนั้นตัวโมหะนี่ โมหะ..ท่านเรียกว่ามันเป็นรากเหง้าของโทสะ เป็นรากเหง้าของราคะ เป็นรากเหง้าของโลภะ คือมันเป็นรากเหง้าของกิเลสน้อยใหญ่เลย

ก่อนที่มันจะเกิดราคะ ก่อนที่มันจะเกิดโทสะ ก่อนที่มันจะเกิดโลภะนี่ มันจะเกิดโมหะก่อน ...ถ้าไม่มีโมหะเกิดก่อน กิเลสน้อยใหญ่เกิดไม่ได้เลย

แต่มันเป็นกิเลสตัวละเอียด ซึ่งมันจะเชื่อมต่อไปสู่กิเลสข้างหน้าข้างหลัง ข้างนอกข้างในได้ร้อยแปดพันเก้าเลย เพราะนั้นเราก็ต้องพัฒนาศีลสมาธิปัญญา

ถึงบอกว่าต้องการความต่อเนื่อง เพื่อมาเอาชนะโมหะ ...ถ้ามันรักษาความต่อเนื่องได้ ความรู้ชัดความเห็นชัดนี่ มันจะชัดเจนในตัวของมันเอง กายก็ชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง รู้ก็ชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง

นี่ ศีลสมาธิปัญญามันจะไปทำความชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง ไม่ใช่มีใครมาทำให้มันชัด ...เพียงแต่ระวังรักษาไม่ให้กิเลสมันก่อเกิดขึ้นได้ กายใจมันจะชัดเจนอยู่ในตัวของมันเอง

แต่มันจะชัดเจนในสภาพตามความเป็นจริงของมัน ...ไม่ใช่ชัดตามที่เราอยากเราว่า ไม่ได้ชัดตามที่เราแปลความหรือเราตีความ แต่มันจะชัดในตัวของมันเอง

ไอ้ความชัดในตัวของมันเองนั่นแหละ คือความเป็นจริงของขันธ์ คือความเป็นจริงของใจ

เพราะจิตเรานี่ มันเรียนรู้ทุกอย่างเลย อยากจะรู้ไปหมดทุกอย่างเลย ...แต่มันไม่อยากรู้อยู่สองอย่างคือกาย-ใจ บอกให้เลย

เรื่องคนอื่นก็อยากรู้ เหตุการณ์บ้านเมืองก็อยากรู้ แม้แต่จักรวาลอยู่ข้างหน้าข้างนอกก็อยากรู้ ว่ามีมนุษย์ต่างดาวมั้ย...แล้วก็ค้นหา อยากรู้แล้วก็ค้นหา ความสุขความทุกข์อยู่ตรงไหน อยากรู้

จิตของเรา จิตอวิชชานี่ มันอยากรู้ไปหมด อยากรู้อยากเข้าใจไปหมด ...แต่ยกเว้นสองอย่าง ขันธ์กับใจที่แท้จริง...ไม่อยากรู้เลย

ทำไมอย่างนั้นล่ะ ...เพราะยิ่งรู้กายรู้ใจมากขึ้นเท่าไหร่ ตัวมันจะหมดสภาพลงเท่านั้น ไอ้ตัวจิตเราน่ะ ไอ้ตัวความรู้สึกของเรา มันจะหมดสภาพลง

มันก็เลยกลายเป็นเหมือนกับกายใจนี่ เหมือนงูกับเชือกกล้วยน่ะ มันแพ้ทางกัน มันแพ้ทาง มันก็เลยพยายามจะดีดดิ้นหนีออกไป เรียกไม่มา เอาไว้ไม่อยู่

เพราะนั้นน่ะ ขั้นตอนของผู้ปฏิบัติในระดับแรกคือ...ต้องทวนกระแสมัน อย่าไปเสียดายความคิด อย่าไปเสียดายอดีตอนาคต อย่าไปเสียดายความสุขความทุกข์ข้างหน้าข้างหลัง

อย่าไปเสียดายที่จะไม่รู้เรื่องราวเหมือนคนอื่นเขา ...ไม่รู้อะไรเลย แล้วมันก็จะมีความรู้จริงปรากฏ กับสิ่งที่มีอยู่จริง ความรู้ที่แท้จริงคือรู้กับสิ่งที่มีอยู่จริง คือความเป็นจริงในปัจจุบัน

แม้กระทั่งความเป็นจริงในปัจจุบันนี่ ท่านก็ยังให้ย่นย่อรวมลงมาเป็นแค่กายเดียว เพราะความเป็นจริงในปัจจุบันมันก็เยอะนะ ไม่ใช่ไม่เยอะ รูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน นี่ก็ใช่ ...เสียงที่ได้ยินนี่ก็เป็นเสียงในปัจจุบัน


(ต่อแทร็ก 15/35  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น