วันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/15 (2)


พระอาจารย์
15/15 (570615A)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจาก...แทร็ก 15/15  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเรายังไปผูกพันอยู่กับภาษาบัญญัติอยู่ ในธรรมใดธรรมหนึ่งก็ตาม ...แล้วไปคาข้องกับภาษาธรรม

ตัวเนี้ย แทนที่มันจะเป็นสะพานเชื่อม มันกลับเป็นตัวขัดขวางธรรม เป็นตัวปิดบังธรรม เป็นที่ครอบงำธรรม เพราะนั้นตัวบัญญัตินี่มันจะเป็นตัวที่ปิดบังวิมุติ ...สมมุติกับบัญญัตินี่เป็นตัวบังวิมุติ...วิมุติธรรม

คำว่าวิมุติธรรม...คือธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่ปรากฏอยู่จริง โดยไม่อ้างอิงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย ...เรียกว่าเป็นธรรมล้วนๆ เรียกว่าเป็นธรรมแท้...วิมุติธรรม

เพราะนั้นการที่จะเทียบเคียง ...อันไหนเป็นวิมุติธรรม อันไหนเป็นบัญญัติธรรม อันไหนเป็นสมมุติธรรมนี่  มันจะต้องมาเริ่มเรียน...เริ่มเรียนตั้งแต่เบื้องต้น

คือเริ่มเรียนกับสิ่งที่มันปรากฏอย่างชัดเจนในปัจจุบันกาย ...ท่านถึงวางหลักศีลไว้เลยว่า...กายปัจจุบัน กายปกตินี่...เป็นจุดเริ่มต้นที่มันจะเป็นมาตรฐานของธรรม

เป็นมาตรฐานของธรรม...ที่มันสามารถจับต้องได้ ชัดเจนได้ แยกแยะได้ในระดับปุถุจิต ปุถุชน ...ไม่ใช่ระดับพระอริยะ ไม่ใช่ภูมิปัญญาระดับพระอริยะตั้งแต่โสดาขึ้นไป

ถ้าภูมิปัญญาของระดับ โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันตา นี่ ...ท่านจะแยกแยะละเอียดกว่า  มาตรฐานธรรมของท่านจะละเอียดกว่านี้ ...ศีลสมาธิปัญญาท่านจะละเอียดกว่านี้

ท่านสามารถจะแยกแยะธรรมได้ละเอียดกว่านี้ ...ซึ่งเป็นความละเอียดในระดับที่ปุถุชนแยกไม่ได้ ปัญญาระดับปุถุชนแยกไม่ได้ ...เพราะนั้นศีลท่านจะละเอียดกว่านี้ ไม่ได้ความหมายแค่กายแล้ว

แต่ถ้าในระดับปุถุชนนี่ ท่านวางศีล...ปกติกาย ปัจจุบันกายไว้เป็นมาตรฐาน ...เพราะว่าภูมิปัญญาในระดับปุถุจิต ปุถุชนผู้หนาแน่นด้วยกิเลสเนี่ย มันสามารถพอแยกแยะได้

ด้วยสติธรรมดา ด้วยสมาธิธรรมดา ด้วยปัญญาขั้นธรรมดา ...แต่เป็นธรรมดาในองค์มรรคนะ ไม่ใช่ธรรมดาในความคิดนึกปรุงแต่ง

เพราะนั้นการที่อาศัยกายเป็นเวทีประลองยุทธ์น่ะ หักล้างกันระหว่างกิเลสกับธรรม หรือหักล้างกันระหว่างบัญญัติสมมุติกับวิมุติ หรือกายวิสุทธิกับกายสมมุติ กายบัญญัติ กายสังขาร

เหล่านี้ ปุถุชนนี่ ปัญญาในระดับพื้นฐานเบื้องต้นทุกคนสามารถแยกแยะได้ หยั่งถึงได้ พอเห็นได้ พอเข้าไปถึงธรรมนี้ได้...ที่เรียกว่ากายแท้ กายตามความเป็นจริง กายปกติ กายความรู้สึกที่กำลังปรากฏอยู่

เพราะฉะนั้น เราจะต้องมาทำความชัดเจนชัดแจ้งในกองกายกองศีลนี่เป็นอันดับแรก  แล้วมันจึงจะเพิ่มหรือว่าเกิดปริมาณของศีลสมาธิปัญญาที่ลึกซึ้ง หนักแน่น มั่นคง แข็งแรงยิ่งขึ้นๆ

เพื่อไปแยกแยะความเป็นจริงในธรรมกับสมมุติธรรม...ซึ่งละเอียดกว่าธรรมที่เรียกว่ากายคือในขันธ์ ในโลก ...นี่ มันมีธรรมที่ละเอียดขึ้นไปตามลำดับลำดา

แต่ถ้าเราไม่มาเริ่มแยกแยะในสิ่งที่ง่ายที่สุดก่อน  แล้วจะไปเรียนรู้ในธรรม แล้วไปแยกแยะธรรมส่วนที่เป็นวิมุติกับสมมุติธรรมบัญญัติในส่วนละเอียดแล้ว ...ภูมิปัญญาระดับปุถุชนไม่สามารถเข้าไปแยกได้ 

ถึงแยกได้ก็มั่ว ...แยกได้ก็ยังอาศัย "เรา" แยก...ไม่ใช่ศีลสมาธิปัญญาเป็นตัวแยก 

มันยังอาศัยคิดค้น ยังอาศัยวิเคราะห์ ยังอาศัยถามไถ่ ยังอาศัยตัวชี้นำอื่น  ซึ่งมันมีความคลาดเคลื่อนมาก ผิดพลาดมาก ...มากจนบางทีมันแยกไม่ออกว่าถูกหรือผิดในผลที่ได้

เพราะนั้นกว่าที่มันจะแยกได้ รู้ได้ว่าผลที่ได้นี่มันผิด บางครั้งบางคราวมันต้องรอให้ครูบาอาจารย์น่ะมาบอกว่าผิด หรือขนาดครูบาอาจารย์บอกว่าผิดมันยังไม่ยอมเลย ...นี่มันไปถึงขนาดนั้นน่ะ

คือถ้ามันทำผิดไปนานจนได้ผลที่มันมั่นคง...คือรู้สึกเป็นของเราแล้วว่าใช่ ...นี่ มันยาก มันเกิดความเข้าไปถือมั่น เข้าไปยึดมั่นในธรรมปฏิบัติ ผลของธรรมปฏิบัติที่ทำมา...ด้วยเรา

แต่ถ้าเริ่มแยกแยะตั้งแต่สิ่งที่มันหยาบที่สุดคือกายนี่ โดยใช้สติปัญญาขั้นหยาบๆ ในองค์มรรคนี่  มันก็จะพอหยั่งถึงเนื้อแท้ธรรมแท้ของกาย ปัจจุบันกาย คือปัจจุบันความรู้สึก

เพราะนั้นการภาวนานี่ มันเป็นเรื่องซ้ำซาก ...ต้องซ้ำซากอยู่ที่เดิม ซ้ำแล้วซ้ำอีกๆ วนเวียนแล้ววนเวียนเล่าอยู่ในที่เดิมนั่นแหละ  กายก็คือกายเดิมนั่นแหละ ความรู้สึกของกายอย่างเดิมนั่นแหละ

เนี่ย ซึ่งมนุษย์ปุถุชนนี่มันขี้เบื่อ มักง่าย ...ยิ่งถ้าอ่านมาเยอะนะ มันจะมีความมักง่าย ...เพราะมันจะมีความคาดหมายในธรรมสูง


โยม –  พระอาจารย์คะ คือโยมปกติไม่ดูโทรทัศน์ ไม่ฟังเพลง ไม่ชอบทำอะไรอย่างอื่นเลย ...ก็มีแค่อ่านหนังสือกับภาวนานี่น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ก็ค่อยๆ ทิ้งไป เข้าใจมั้ย


โยม –  แต่โยมเห็นนะคะว่าก่อนหน้ามันติด ...ตอนแรกไม่เห็น แต่ตอนหลังเห็นว่ามันติด แต่ว่ามันก็ยังชอบอยู่

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ... ใครชอบ?


โยม –  เราชอบ

พระอาจารย์ –  อะไรที่มันเนื่องด้วยเรานี่ เข้าใจมั้ย เราก็ต้องหัก...ต้องหักห้าม แล้วก็ต้องทำลายการกระทำตามความเห็น ตามความอยากของเราให้ได้ก่อน

เนี่ย อย่าเสียดาย ...ถึงบอกว่าอย่าเสียดายความคุ้นเคยเดิมๆ  ความพอใจ พึงพอใจ...แม้แต่จะเล็กๆ น้อยๆ ไม่เป็นทุกข์ไม่เป็นโทษก็ตาม

แต่มันเป็นความเสียดายในความเคยชิน แล้วมันยังมีผลประโยชน์ที่ได้จาก "เรา" แล้ว "เรา"ได้อยู่ …นี่ เราจะต้องหัก เราจะต้องล้าง เราจะต้องฝืน เราจะต้องทวน

เพราะนั้นไอ้การดูหนังฟังเพลงหยาบๆ นี่ ออกได้ก็ดีแล้ว ...ก็อย่าไปหวน  จากนั้นไปก็ให้มันเหลือภาระของเราให้น้อยลง ให้มีเราเป็นภาระน้อยลงที่สุด

จนมันไม่มีภาระ ...ไม่เอาภายนอกมาเป็นภาระ หรือเป็นผลประโยชน์ให้เกิดความสุขสบายใจของเรา


โยม –  คือพอถ้าไม่อ่านหนังสือ นอกจากภาวนา มันก็ไม่รู้จะทำอะไรอย่างอื่นน่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ไอ้ไม่รู้จะทำอะไรนั่นแหละ เป็นเวลาที่สำคัญที่สุด ที่จะต้องบีบบังคับจิต ให้มันอยู่ภายใน ค้นคว้าอยู่ภายใน

ถึงบอกว่าต้องซ้ำซากอยู่ตรงนั้นน่ะ อย่าเบื่อ อย่าบ่น ...จิตมันขี้เบื่อ มันเหงา มันเซ็ง มันจะสร้างอารมณ์นี้ขึ้นมาล่อ ให้ไปหาอะไรมาทำ เข้าใจมั้ย

เวลาอ่านหนังสือน่ะ ...จะอ่านหนังสือธรรม หรือหนังสือประโลมโลกก็ตาม  มันเพลิน มันมีความสุข มันแก้เหงา ...เข้าใจคำว่าแก้เหงามั้ย แก้เบื่อ ...มีเรากับเหงา เรากับเบื่อ

มันสร้างอารมณ์เหงา อารมณ์เบื่อขึ้นมา ...เพราะมันไม่ชอบตรงนี้ ไม่ชอบอยู่ตรงนี้  เพราะมันเข้าใจว่าตรงนี้น่ะไม่มีความสุข มันก็เลยสร้างอารมณ์เหงา อารมณ์เบื่อขึ้นมา

แล้วก็ให้ไปทำอะไรก็ได้ที่มันออกนอกจากนี้ไป แล้วมันจะมีความสุขเกิดขึ้นในเรา ...แล้วเราก็ตายใจกับมัน แล้วเราก็ปล่อยให้มันเป็นไปอย่างนี้

สุดท้ายก็อยู่ใต้อำนาจของ "เรา" น่ะ  มันจะเหนืออำนาจของ "เรา" ได้อย่างไร ...เห็นมั้ย แม้แต่บุญก็ติด กุศลก็ติด ...มันปิดบังธรรมมั้ยเล่า มันปิดบังความเป็นจริงมั้ยเล่า มันปิดบังความเป็นจริงของกายมั้ยเล่า

เวลาพวกเราอ่านหนังสือน่ะ บอกให้เลย จะหนังสือโลกหนังสือธรรมก็ตาม อ่านไปๆ นี่ไม่มีกายอยู่ตรงนั้นเลย มันบังมิดเลยนะ แล้วก็มีเนื้อความอรรถภาษาในธรรมนี่ เต็ม...เต็มกายเต็มใจ

เนี่ย มันเต็มกายเต็มใจ...จนไม่เห็นกายเห็นใจเลย มันเต็มไปหมดเลย ...นั่น เขาเรียกว่าบังมิด เขาเรียกว่าอยู่ในความมืดบอด นี่คือความมืดบอดนะ

ถึงแม้มันจะเข้าใจในความสว่างไสวในข้ออรรถข้อธรรมนั้นๆ ...แต่นี่คือความมืดบอด เพราะมันปิดบังกายใจ มันปิดบังความเป็นจริงของกายกำลังปรากฏ มันปิดบังความเป็นจริงของใจที่กำลังปรากฏ

มันบังหมดเลย เหมือนอยู่ในเงามืด ...แต่มันเข้าใจว่าเงามืดคือแสงสว่างอันเรืองรองของมัน  เพราะมันมีความสุขน่ะเป็นตัวมาฉาบทา มีความเพลิดเพลินเป็นตัวฉาบทาความมืดนั้น

มันก็เข้าใจว่านี่คือใช่ นี่คือดี...เป็นที่อยู่ได้ เป็นที่อาศัยได้ เป็นที่พึ่งได้ พึ่งได้ก็ต้องอ่านไปจนวันตายเลยสิ ใช่มั้ย


โยม –  โยมรู้สึกว่ามันไม่มีภาระอะไร มันไม่มีอะไรทำเลย

พระอาจารย์ –  ไม่รู้น่ะ บอกแล้วนั่นแหละ ..งั้นก็ไปดูพระป่าไป ไปดูหลวงปู่มั่นสิ อยู่ในป่าท่านมีอะไรทำล่ะ มีหนังสืออ่านมั้ย ...ท่านฆ่าเวลาด้วยวิธีการอะไร


โยม –  ภาวนา เดินจงกรม นั่งสมาธิ

พระอาจารย์ –  ใช่มั้ย นี่คือเยี่ยงอย่าง เข้าใจคำว่าแบบอย่างมั้ย ...แต่ไอ้อย่างพวกเรานี่ คือเยี่ยงอย่างของกิเลส ...คือเป็นธรรมดาอยู่แล้ว ทุกคนจะเป็นอย่างนี้ มันจะเลือกตรงนี้ก่อน ที่ง่ายและสบายเรา

แต่ว่าการที่อยู่กับความเหงา...แล้วไม่ทำตามเพื่อจะหนีความเหงาด้วยวิธีการอื่นนี่ ...ก็เหมือนกับทวนน่ะ  ทวนลงที่กาย ทวนลงที่ใจ ทวนลงที่กายใจ

เพราะนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม ...จะนั่งอยู่ จะยืนอยู่ จะอยู่เฉยๆ อะไรก็ได้  ก็นั่งไป เหมือนกับนั่งทอดหุ่ยไป ...แต่ว่าจิตไม่ทอดหุ่ยนะ จิตก็วนอยู่เนี่ย ขึ้นลงแขนขา หัวถึงตีนตีนถึงหัวนี่

เวลาเราเดินจงกรมนี่ เดินรอบนึง...สมมุติว่าไปถึงหัวทางจงกรมนี่ เราขึ้นลงหัวถึงตีนนี่เป็นร้อยครั้งน่ะ ไวมาก พึ่บพั่บๆ อยู่อย่างนี้ เดินนี่จนไม่รู้เวล่ำเวลา เดินเหมือนกับไม่รู้เดินอยู่ที่ไหน มีแต่นี่ อยู่อย่างนี้ 

เดินไป...เอ้า สามชั่วโมงแล้ว ไม่รู้เลย ไม่มีจิตออกมากำหนดเวลาเลย เนี่ย เวลาที่มันเดินอยู่ในกายนี่ ไม่ได้เดินออกมาภายนอกเลย  จิตไม่ได้เดินออกไปไหนเลย จิตมันก็อยู่กับการเดินภายในไม่ได้ออกไปไหน

หูตานี่ไม่ได้เงยหาอะไรเลย  ก็เดิน...ตานอกก็ดูพื้น ตาในก็ดูกาย อยู่อย่างงี้ ไม่ได้ไปหมายที่อื่น ...มันก็ไม่มีอารมณ์ ระหว่างเดินไม่มีอารมณ์อะไรเลย

มีแต่ความรู้สึกในกาย...เต็มกายเลย  มีแต่ความรู้สึกของใจ...เต็มกายเต็มขันธ์อยู่อย่างนั้นเลย  มันไม่มีอะไรสอดแทรกเลย และไม่รู้สึกว่าเหงา ไม่รู้สึกว่าเบื่อ 

ก็อยู่อย่างงั้นน่ะ ...นี่เขาเรียกว่าอาศัยการภาวนาเป็นเครื่องอยู่ ...แล้วพอหมดอิริยาบถ ก็ไม่ได้เลิก จิตก็ไม่ได้เลิก ไม่ได้เลิกสติ ไม่ได้เลิกสมาธิ ไม่ได้เลิกปัญญา

ศีลสติสมาธิปัญญา...ไม่เคยเลิกนะ ไม่เคยว่างเว้นน่ะ ไม่เคยละวางเลย ...แต่ละวางทุกสิ่งทุกอย่างหมดนะในจิต แต่ไม่เคยละวางศีลสมาธิปัญญาเลย มีแต่เข้มงวดต่อศีลสมาธิปัญญา

เริ่มต้นก็อย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วให้เป็นอย่างเข้มแข็ง พอไปเรื่อยๆ แล้วอย่างเข้มงวด ...อย่างเข้มแข็งและก็เข้มงวด  แล้วก็จากเข้มงวด เข้มแข็ง แล้วก็เป็นอย่างจริงจังอย่างที่สุดเลย

มันก็ต้องเพิ่มปริมาณขึ้นไปถึงระดับนั้นน่ะ กำลังของศีลสมาธิปัญญามันจึงสามารถ...หรือว่าพอที่จะทัดทานอำนาจจิต อำนาจของกิเลสในจิตที่มันผลักดัน พลุ่งพล่าน

ถ้ามันออกนอกฐานกายฐานรู้เมื่อไหร่นะ ...มันจะสร้างอารมณ์ขึ้นมาก่อน ไม่อารมณ์ใดก็อารมณ์หนึ่งก่อนเลย 

พออารมณ์เกิดปุ๊บ ความเป็นเราจะเกิดในอารมณ์ ...จิตเราจะเกิดขึ้นเลย จิตจะเข้าไปเสวยอารมณ์ เราจะเข้าไปเสวยอารมณ์จากการปรุงของจิตที่ออกนอกฐานศีลสมาธิทันทีเลย

อันนี้เป็นหลักตายตัวเลย...ถ้าจิตเคลื่อนเมื่อไหร่นี่ มันจะมีอารมณ์ ...พอมันมีอารมณ์ปุ๊บ เราจะเกิดในอารมณ์ ...มันสวมทรงทันทีเลย

ถ้าไม่อยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญา ไม่เอาศีลสมาธิปัญญามาหักล้างกับ "เรา" อยู่อย่างนี้ ...ไม่มีทางที่ว่าศีลสมาธิปัญญาจะมีกำลังเหนืออำนาจของกิเลสได้เลย


(ต่อแทร็ก 15/16)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น