วันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/15 (1)



พระอาจารย์
15/15 (570615A)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

โยม –  แผ่นใหม่เสร็จแล้วครับ

พระอาจารย์ –  แผ่นหลังๆ นี่ คนอาจจะฟังกันไม่ค่อยรู้เรื่อง


โยม –  อุ๊ย ชอบมากเลยค่ะ มันส์

พระอาจารย์ –  (หัวเราะ)


โยม –  มีคนฟังเข้าใจกันอยู่ครับ

พระอาจารย์ –  ธรรมะ...มันเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว มันไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากมายหรอก ...มันเป็นอะไรที่มีอยู่แล้ว เป็นของที่มันมีอยู่แล้ว แสดงอยู่แล้ว...ตลอดเวลา

เพียงแต่ "เรา" ไปตีความ ...มันมี “เรา” ไปคอยตีความธรรม ไปตีความธรรมชาติ...ให้มันลึกล้ำบ้าง ให้มันซับซ้อนขึ้นไปบ้างเท่านั้นเอง

มันจึงเกิดความสับสนในภาษา ในความหมาย ...ความหมายในธรรมมันจึงบิดเบือนไปหมด...มันจะเกิดความบิดเบือนโดยสังขาร โดยบัญญัติ โดยสมมุติภาษา

เพราะนั้นการอธิบายธรรม มันจึงเป็นคำอธิบายที่ง่าย ...จริงๆ น่ะ การอธิบายเรื่องราวในธรรมจริงๆ น่ะมันไม่ต้องใช้ภาษาอะไรให้มันซับซ้อน

แต่คราวนี้ไอ้คนฟังน่ะ มันก็ต้องฟังง่ายๆ ด้วย มันก็ต้องฟังแบบถอดหัวโขนออกด้วย ...ทีนี้ไอ้คนที่ฟังไม่รู้เรื่อง คือคนที่มันไม่ถอดหัวโขนออก เพราะว่ามันมีสัญญาเก่า

เคยอ่านมา เคยได้ยินมาในสมมุติธรรม บัญญัติธรรมต่างๆ ที่มันตีความ หมายความเป็นอื่นไป  แล้วมันก็ยังติดข้องในความหมาย ติดในสัญญาความจำ...ที่มันไม่รู้ว่ามันเป็นการบิดเบือนธรรม

แต่ก็ไปเข้าใจว่านั่นน่ะเป็นธรรมมากกว่า ดีกว่า ถูกกว่า ตรงกว่า เหล่านี้  มันจึงเกิดความไม่ยอมรับในธรรมอะไรที่มันเป็นธรรมดา

ชื่อของธรรมนี่ ชื่อเขาก็บอกแล้วว่า...ธรรมดา  ธรรมะก็คือธรรมดา ...มันไม่ใช่อะไรที่แปลกใหม่หรือเกินมนุษย์ปุถุชนจะล่วงรู้ถึงหรือเข้าถึงได้

เพราะนั้นการปฏิบัติธรรมของพวกเรา มันจึงเป็นการปฏิบัติเลยธรรม เกินธรรมไปหมด...ด้วยการที่มันทำเกิน เพื่อจะไปหาธรรมที่มันเกินจริง เกินจากสภาพที่แท้จริงของธรรมไป

นี่คือความที่มันไม่ตรงต่อธรรม ...การปฏิบัติจึงเรียกว่าเป็นการปฏิบัติที่ไม่ตรงต่อศีลสมาธิปัญญา...ไม่ตรงต่อธรรม

เพราะนั้น การที่พระพุทธเจ้าท่านวางรากฐานศีลเป็นรากฐานไว้นี่ เป็นสิ่งที่สำคัญ ...เราถึงบอกว่าในเรื่องการปฏิบัตินี่...ศีลสำคัญที่สุด

ถ้าก้าวข้ามศีล ถ้าไม่เข้าใจความหมายของศีลโดยถ่องแท้  การปฏิบัตินี่มันจะผิดพลาดไปจากธรรมดาความเป็นจริงเลย ...มันจะไปค้นหาธรรมในอากาศ มันจะไปปฏิบัติในอนาคตธรรม

มันจะไปหมายธรรมในที่ที่มันเข้าใจเอาเอง เข้าใจเอาว่า หรือตามที่คนทั่วไปเขาเข้าใจแล้วตีความธรรมว่า...อยู่ตรงนั้นอยู่ตรงนี้ อยู่ที่นั้นอยู่ที่นี้ ด้วยวิธีการนั้น ด้วยวิธีการนี้

เหล่านี้ จึงทำให้เกิดความสับสนในการปฏิบัติ ...แล้วธรรมที่ปรากฏจากการปฏิบัติเหล่านั้นน่ะ มันจึงเป็นธรรมที่แตกต่างกัน ไม่สามารถสรุปรวมได้เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่สามารถที่จะเห็นผลอย่างเดียวกัน

จึงมีการยกเป็นธรรมสูง-ธรรมต่ำกว่ากัน จึงมีการข่ม เบียดเบียนกันในธรรม ในการปฏิบัติ ...แล้วได้ผลก็เอามาเบียดเบียนกันเองในหมู่ผู้ปฏิบัติ

เหล่านี้เอง ก็เกิดความแตกแยกในธรรมขึ้นมา ไม่รวมธรรมเป็นหนึ่งเดียวกันได้ ...เพราะอะไร ...เพราะว่ารากฐานของธรรม รากฐานของการปฏิบัตินี่ มันเริ่มไม่ตรง มันเริ่มผิด

มันไม่ได้เริ่มที่ศีลเป็นอันดับแรก ...แล้วไม่ได้เริ่มทำความสัมมาทิฏฐิให้เกิดในกองศีลก่อน...ด้วยความถ่องแท้

มันไปตีความกันแบบง่ายๆ เกินไป คิดเอาเอง ไม่ได้ผ่านจากการตีความของพระผู้ปฏิบัติจริง ...มันก็เลยเกิดความสับสนในความหมายของคำว่าศีล  

พอเริ่มต้นมันก็เริ่มมองข้ามศีลแล้ว ...แล้วพอมองไม่ถึงความเป็นจริงของศีลแล้ว สมาธิปัญญาที่ได้ที่หมาย ที่กำลังจะได้ ที่มันคาดว่าจะได้ ...มันก็ผิดไปจากมรรค ผิดไปจากวิถีธรรม

คำว่าวิถีธรรม ก็คือวิถีของธรรมชาติที่เขาแสดงความเป็นจริง...นี่ตามวิถีธรรม ...ถ้าผิดวิถีธรรมไป พอมันผิดวิถีธรรม ปึ้บ มันจะเป็นวิถีของเราไปเลย มันจะเป็นวิถีที่เราต้องการ

มันก็เป็นวิถีที่เราต้องการ และก็จะเป็นวิถีที่คนอื่นเขาต้องการและก็ยอมรับด้วย ...มันจะไปตามแนวนั้นหมดเลย 

มันไม่ได้เป็นตามวิถีธรรม มันไม่ได้เป็นไปตามวิถีแห่งมรรค หรือครรลองแห่งธรรม ครรลองแห่งมรรค

เพราะนั้นตัวครรลองแห่งธรรม ครรลองแห่งมรรค คือความเป็นจริง คือครรลองแห่งความเป็นจริง...ที่จะต้องผ่านการเรียนรู้ด้วยปัญญา เห็นความเป็นจริง ด้วยศีลสมาธิเป็นตัวรองรับให้เกิดปัญญา 

ถ้าไม่มีศีล-สมาธิเป็นตัวรองรับให้เกิดปัญญาแล้วนี่ ...มันจะเห็นโดย "เรา" มันจะรู้โดย "เรา" 

แล้วอะไรที่มันรู้โดยเรา เห็นโดยเรานี่...มันผิดหมด มันผิดไปจากความเป็นจริงหมด มันออกนอกความเป็นจริงหมดเลย มันทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 


โยม –  พระอาจารย์คะ บางทีแบบอยากรู้คำตอบอะไรสักอย่างนึง แต่ว่าก็ไม่ได้ไปค้นคิดๆๆ มันนะคะ คือแบบเดินจงกรมไป รู้กายไป แล้วคำตอบเรื่องนั้นมันก็ออกมาเอง อันนี้มันคือสังขารหรือมันคือปัญญา

พระอาจารย์ –  เป็นทั้งปัญญาและก็กอปรด้วยทั้งสังขารนั่นแหละ ประกอบกัน


โยม –  แล้วถ้าเราต้องทำงานก็ต้องใช้มัน ก็ใช้มันไป แต่ถ้าเราภาวนา...(ฟังไม่ชัด)

พระอาจารย์ –  มันเกิดขึ้นเองนั้นแหละ มันไม่ได้เกิดจากการค้นหา ...ให้มันเกิดขึ้นเอง

ถึงแม้การว่าเกิดขึ้นเองนี่ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเองนี่ จะเป็นความรู้ที่กอปรด้วยสังขาร หรือกอปรด้วยภาษาบัญญัติก็ตาม ...ก็ยังถือว่าเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นเองอยู่ดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยเท่าไหร่ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นไอ้การรู้ขึ้นเองนี่ มันมีอยู่สองลักษณะ ...ลักษณะหนึ่งคือมันรู้เห็นเอง ด้วยความไม่มีความหมาย ไม่มีภาษา ...เป็นปัจจัตตัง 

คือรู้แล้วก็เกิดความโล่งโปร่งสบาย ว่างเบา วางเลยทิ้งเลยอย่างนี้...โดยที่ก็ไม่รู้ว่ามันทิ้งเพราะอะไร หรือเข้าใจโดยบัญญัติสมมุติอะไร

หรือมันอาจจะเป็นความรู้...แล้วก็มีบัญญัติแนบกับความรู้นั้นตามที่เคยได้ยินมาได้อ่านมา แล้วมันมาเน้นย้ำให้เกิดความชัดเจนในตามบัญญัติตามสมมุตินั้นขึ้นมา 

นี่ก็เรียกว่าเป็นความรู้เองเหมือนกัน แต่มันเป็นความรู้เองโดยมีบัญญัติสมมุติมากำกับด้วย

เพราะนั้นไอ้ตัวที่มันมีบัญญัติสมมุติมากำกับด้วยนี่ ไม่ใช่คืออะไรหรอก ...คือเพื่อมาลบล้างสัญญาที่เคยอ่านเคยจำไว้ ที่มันผิดพลาดคลาดเคลื่อนมา

แล้วมันมาย้ำว่า...เนี่ย ไอ้ที่เคยได้ยินได้ฟังมาอย่างนี้ ความเป็นจริงมันเป็นอย่างนี้นะ  มันจะย้ำขึ้นมาแค่นั้นเอง ...สุดท้ายแล้วนี่ มันก็จะทิ้งประโยคนั้น ทิ้งความรู้นั้นไป

มันไม่เข้าไปผูกพันมั่นหมายตามบัญญัติสมมุตินั้น นี่ มันมีบัญญัติสมมุติขึ้นมาเพื่อมาลบล้างไอ้ที่เคยเข้าใจ หรือไอ้ที่เคยเข้าใจตามความคิดตามคำอธิบายของคนอื่น อย่างนี้...มันก็มี

แต่บางคราวบางครั้ง มันก็จะเป็นลักษณะที่รู้เห็นเงียบๆ เข้าใจเงียบๆ โดยไม่มีภาษารองรับ ...ต่อไป การรู้เห็นเงียบๆ โดยที่ไม่มีภาษารองรับเลยนี่ ท่านเรียกว่ามันรู้เห็นโดยญาณทัสสนะอันบริสุทธิ์

นี่เขาเรียกว่าญาณอันบริสุทธิ์ ...ถ้าเป็นญาณอันบริสุทธิ์ การรู้การเห็นนี่มันจะไม่มีภาษารองรับเลย  มันจะเป็นการเห็นเปล่าๆ รู้เปล่าๆ มันจะเป็นความเข้าใจแบบเปล่าๆ

เป็นความเข้าใจเปล่าๆ โดยไม่อ้างอิงบัญญัติ โดยไม่อ้างอิงภาษา โดยไม่อ้างอิงสังขาร โดยไม่อ้างอิงสมมุติ ไม่อ้างอิงตำรา ไม่อ้างอิงคำพูดใดคำพูดหนึ่ง

มันจะเป็นความรู้ความเห็นแบบลึกซึ้งกินใจ ประจักษ์แจ้งแก่ใจ ...เรียกว่ารู้แบบประจักษ์แจ้งแก่ใจ

แต่ถ้าไปถามมันตอนนั้น ขณะนั้น มันจะตอบไม่ได้ว่ามันรู้อะไร มันเข้าใจอะไร แล้วไอ้ที่มันเข้าใจเรียกว่าอะไร คือมันจะหาคำตอบไม่ได้เลย ...นั่นน่ะที่เรียกว่าเป็นปัจจัตตังจริงๆ

เพราะนั้นในระหว่างที่ปฏิบัติไปนี่ มันก็จะมีทั้งสองลักษณะ ...ปัญญานี่มันจะเกิดขึ้นอย่างนี้ 

ปัญญาในส่วนที่มีสังขารบัญญัติขึ้นมาประกอบด้วย รองรับด้วยนี่ ...ก็เพื่อมาลบล้างสัญญาเดิมที่เคยอ่านเคยได้ยิน นี่ พวกนี้มันจะมาลบไอ้ความรู้ที่ได้จากการได้ยินได้ฟังซึ่งมันยังผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป

บางทีมันก็จะเกิดรู้เห็นอย่างนี้ ซ้ำ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น...เออ เข้าใจแล้ว ...อีกพักนึงก็...เออะ เข้าใจยิ่งกว่านี้อีก ...เนี่ย มันจะมีภาษานี้ขึ้นมา 

คำที่พูดประโยคเดิมนี่ แต่ก่อนนี้...เออะว่าเข้าใจแล้ว นี่ไม่ใช่  มันเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีก ...มันจะขึ้นไปเรื่อยๆ จนหมดสงสัยในภาษาเลย มันก็ทิ้งไป

เพราะนั้นเราถึงบอกว่า ผู้ที่มีปัญหามากคือผู้ที่อ่านมาก ผ่านมาหลายสำนัก พวกนี้ปัญหาเยอะ ...แล้วมันติดมากเพราะมันทำมามาก แต่ว่าไอ้ที่ทำมากน่ะ มันทำผิดทุกอย่างเลย นี่ กว่าจะกลับตัวกลับใจได้มันต้องใช้เวลา

กับไอ้พวกนึงนี่...คือกูไม่เคยปฏิบัติเลย มาปั๊บ...มาฟังปุ๊บ ไม่รู้ความหมายในธรรมอะไรน่ะ เพราะไม่เคยอ่านตำรา ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก ประวัติครูบาอาจารย์ ไม่เคยรู้วิธีการปฏิบัติ ...มาฟังแล้วก็ทำตามเลย 

พวกนี้มันจะไม่ไปเยิ่นเย้อในภาษา บัญญัตินาม สมมุตินามขึ้นมา ...มันก็ง่าย...แล้วก็เร็ว


โยม –  โยมชอบอ่านหนังสือ แปลว่าโยมจะยากหรือคะ

พระอาจารย์ –  ก็ต้องเข้าใจ ...ถ้ามีปัญญามันก็จะเข้าใจเองว่า ความรู้ที่แท้จริงอยู่ที่ไหน คืออะไร

ถ้ามันไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างนี้ แล้วเวลามันเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรที่เป็นภาษาบัญญัติขึ้นมานี่...แล้วมันจะติด มันจะเข้าไปติด ...แล้วมันไม่ยอมทิ้ง

มันจะเก็บสะสมความรู้ความเข้าใจโดยบัญญัติสมมุติเหล่านี้เป็นสมบัติติดเนื้อติดตัวไปอย่างนี้ ...ไอ้นี่ก็โง่ จะหลงอีก หลงธรรมอีก หลงบัญญัติธรรมอีก

ทีนี้พอยืนเดินนั่งนอน นั่งสมาธิ เดินจงกรม มันก็ไปเฝ้ารอให้เกิดบัญญัติธรรมอย่างนี้ ...ถ้ามันไม่เกิดขึ้นมา มันก็ว่าไม่ได้ผล เข้าใจมั้ย ...เนี่ย เขาเรียกว่าติด อย่างนี้นี่โง่

แต่ถ้าเข้าใจแล้ว มันก็...เออ ผ่านไป  แล้วก็ทำหน้าที่ภาวนาไป โดยที่ไม่ไปคาดไม่ไปหมาย ไม่ไปรอไอ้ปัญญาแบบเป็นภาษาธรรม เป็นประโยคธรรมอะไรขึ้นมา เป็นวลีธรรมอะไรขึ้นมา

เพราะนั้นน่ะ เมื่อรู้อย่างนี้แล้วนี่ อย่าไปสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเพิ่มอีก การอ่านธรรมบัญญัติภาษาธรรมนี่ เลิกอ่านได้แล้ว เข้าใจมั้ย ...มาอ่านใจอ่านกาย มีสองที่ให้อ่าน

อ่านกายตัวเอง...อ่านให้ออก มันเป็นตำราที่ไม่มีภาษาเขียน ...ใจก็เป็นตำราเล่มที่ไม่มีภาษาเขียน มันอ่านด้วยญาณ มันอ่านด้วยศีลสมาธิปัญญา ไม่ได้อ่านด้วยภาษา

ธรรมนี่ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยภาษาได้...ธรรมตามความเป็นจริงนี่ ไม่ได้เรียนรู้ด้วยภาษาได้ ...ไอ้ตัวภาษานี่ มันถือว่าเป็นสะพานเชื่อมมาเท่านั้นเอง เหมือนกับเป็นสะพานที่ทอดมาสู่ธรรมเท่านั้นเอง


เมื่ออาศัยสะพานที่มันทอดเชื่อมมาสู่ธรรมแล้วนี่ ต้องทิ้งสะพานแล้ว ต้องไม่ไปหวนรำลึก ต้องไม่ไปอ้างอิงหรือว่าเอาสะพานมาคอยเป็นเครื่องรองรับธรรมอยู่ตลอดเวลา ...นี่ต้องเข้าใจอย่างนี้ก่อน


(ต่อแทร็ก 15/15  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น