วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/32 (1)


พระอาจารย์
15/32 (570723D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
23 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ค่อยๆ เรียบเรียงวิถีแห่งการปฏิบัติ ให้มันมาลงหลักศีลสมาธิปัญญาให้ได้ ในทุกที่ทุกสถาน ทุกกาลทุกเมื่อ ...จนเป็นอกาลิโก จนศีลสมาธิปัญญาเป็นอกาลิกธรรม ไม่เลือกกาลเวลา สถานที่ บุคคล 

นั่นแหละจึงเรียกว่าเป็นผู้ที่เรียกว่าภาวนาเป็น ...ไม่ใช่ภาวนาไม่เป็นโล้เป็นพาย หรือภาวนาไปเรื่อย แล้วไม่รู้มันจะไปลงที่ไหน ...ถ้าภาวนาไปเรื่อยนะ มันจะรู้ด้วยตัวเองเลยนะว่า ไม่รู้มันจะไปลงที่ไหน 

แต่ถ้าภาวนาอยู่ในองค์มรรค ภาวนาอยู่ในองค์ศีลสมาธิปัญญา มันจะรู้ด้วยตัวเองว่ามันจะไปจบที่ไหน มันจะไปสิ้นสุดที่ไหน นี่ มันจะเห็นว่าจุดสรุปของมันอยู่ที่ไหน..ด้วยตัวของมันเอง

นี่แหละคือนัยยะแห่งการปฏิบัติ ...ซึ่งที่ปฏิบัติมาแล้วแบบสะเปะสะปะ สเน็คๆ ฟิชๆ แต่ก็ยังเข้าใจว่าปฏิบัติตรงอยู่ ...ก็ให้มันตรงยิ่งขึ้นไปอีก เพราะว่าเดี๋ยวสักพักมันก็จะเบี่ยงไปอีก

เข้าใจไหม มันยังมีทางเบี่ยงทางเบน  เพราะพวกเรายังไม่ใช่จุดที่ว่า ตายตัวในศีลสมาธิปัญญา  มันยังมีจิตกิเลสของเรากล่าวอ้างหรือแอบอ้างธรรมอยู่ตลอด...ที่น่าเชื่อถือด้วย

คือมันตั้งตัวเป็นศาสดาอยู่ตลอดนะ “เรา” น่ะ คอยเสนอแนะ ชี้นำ  แล้วมันก็ประมวล วิเคราะห์ แล้วก็ออกมาเป็นผลอันน่าเชื่อถืออย่างยิ่ง...ซึ่งพวกเราไม่กล้าละ

ไปอยู่กับมันเถอะ เดี๋ยวจะเจอไม้หน้าสาม หรือมาอีกทีก็จะเจอไม้หน้าสี่  มามากๆ ก็จะบั่นคอทิ้งเลยไอ้ “ตัวเรา” นี่ ...เราไม่บั่นคอขันธ์ใคร เราจะบั่นคอไอ้ “ตัวเรา” นั่นแหละ

ที่มันแอบอ้างธรรมในอดีตในอนาคต แอบอ้างบัญญัติธรรม แอบอ้างภาษาธรรม แอบอ้างความเห็นในธรรม มันแอบอ้างขึ้นมาทั้งนั้น หมดเรื่องนั้นก็เอาเรื่องนี้มาแอบ พอทิ้งเรื่องนั้น มันก็บิดเบือนมามุมนี้ 

มันร้อยเล่ห์พันเหลี่ยม ไล่ตามละตามเลิกมันแทบไม่หวาดไม่ไหว ...จะดำรงคงกายคงใจให้มั่น เบื้องต้นนี่ เลือดตาแทบกระเด็น จะต้องฝืนต้องทวนกับความคุ้นเคย เคยชิน...ทั้งทางโลก และทางธรรม

ไม่ใช่แต่ทางโลกอย่างเดียวนะ ทางธรรมที่พวกเราปฏิบัติมาด้วย...ที่มันเกิดผลอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา อันน่าภาคภูมิใจ..วงเล็บ..ของเรา ...นี่ เห็นมั้ย เป็นการปฏิบัติใต้ร่มเงาของ “เรา” มาเลย

มันไม่ได้เป็นการปฏิบัติใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนา ใต้ร่มเงาศีลสมาธิปัญญาน่ะ ...ดูดีๆ สิ ตรงต่อตัวเองสิ อย่ามามิดเม้มความเห็นที่มันแอบผิดพลาดคลาดเคลื่อน แล้วก็ยังดันทุรังตามมันไป โดยไม่กล้าละไม่กล้าเลิก

แต่ถ้าเห็นชัดๆ ว่ามันเป็นความรู้สึกจากเราทั้งสิ้นน่ะ จะเอาไว้ทำซากทำไม ...เมื่อมันเห็นอย่างนี้ สัมมาสติให้เกิด...ยูเทิร์น ทิ้งเลย ...กำลังมุ่งหาสภาวะไหนก็ตาม..แก่เราน่ะ ทิ้งเลย กล้าๆ ทิ้งเลย

สมมุติกำลังนั่งสมาธิ แล้วก็นั่งหลับตา แล้วก็ดูอะไรไปมา แล้วก็ดำดิ่งหาย ว่างๆๆ  พอได้สติขึ้นมาว่า กูไปไหนวะนี่ ทิ้งเลย ลุกเลย ...กล้าทิ้งไหมล่ะ

กำลังดำดิ่งอยู่ในนั้น ยิ้มแป้นอยู่นั่นน่ะ ในอารมณ์ที่เบาบางว่างเปล่า แล้วมันอิ่มอกอิ่มใจว่าเลิศเลอ แต่ว่าหาศีลสมาธิปัญญาไม่เจอในนั้นนะ ...กล้าทิ้งไหม

แล้วกลับมายืนเดินกับอารมณ์พื้นฐานธรรมดา กายพื้นฐานเลย ยืนเดินนั่งนอน ...นี่ หักลำ แลกเลย เรียกว่ายูเทิร์น เอาศีลสมาธิปัญญาให้ปรากฏแทน

แลกกับสภาวะที่ว่าดี น่าใคร่ น่ารัก น่าพึงพอใจ น่าจะไปถึงนิพพานเร็วๆ นี่ มันจะเอานิพพานมาเป็นข้ออ้างอยู่เรื่อย ว่าตัวนี้ อารมณ์นี้สนับสนุนนิพพาน ...นิพพานบ้านมึงดิ  ไปจบที่ไหนรู้มั้ย

เนวสัญญา...อรูป คือว่าง ไม่มีอะไร ว่างเปล่าจากสัญญา ได้แค่นั้นแหละ ...ดีเลย ได้เพื่อน..อุทกดาบส อาฬารดาบส อยู่ตรงนั้นน่ะ อาจารย์พระพุทธเจ้าด้วยนะ เอ้า อยากไปอยู่ด้วยกันไหมล่ะ

เนี่ย พอทำไปนานๆ แล้วไปได้อารมณ์หรือเกิดสภาวะนั้น...ติดนะ พึงพอใจนะ ...แล้วพอหายไป เสียดาย แหมไม่ได้เท่าเก่าเลย อุตส่าห์เข้าคอร์สตั้งหลายวัน อุตส่าห์ต้องละแลกตั้งหลายอย่างนะนั่น

เสียดายนะ เสียดายธรรมนะนั่น ...ธรรมใคร...ธรรมกูเอง ...เห็นมั้ย ดูให้มันสุดซี่ ที่มันกล่าวอ้างขึ้นมานี่ สุดท้ายมันลงเหน็บท้ายที่ “เรา” หมดน่ะ

หาอาหารให้มันกินเข้าไป พากเพียรภาวนาด้วยการหาอาหารให้ “เรา” กินนั่นแหละ จนอ้วนพี ...พอจะฆ่า พอจะแตะต้องมันก็ขู่ฟ่อๆ เลย... “มึงอย่ามาทำอะไรกูนะ เดี๋ยวมึงจะไปไม่ถึงนิพพานนะ"

นั่น พอจะละจะเลิก... "เดี๋ยวมึงจะตามคนอื่นเขาไม่ทันนะ ดูซิคนนั้นเขาได้ถึงขนาดนั้นขนาดนี้แล้ว กูยังแค่อย่างนี้เลย” ...แน่ะ จะเอาอะไร จะไปไหน

จะไปภพหน้าชาติหน้ารึไง จะไปภพชาติในอนาคตหรือไง ...ทำไมไม่เฉลียวใจซะบ้าง ว่าไอ้ที่เรากำลังภาวนาหาและเอานั่น มันมาหล่อเลี้ยงหรือมันมาซัพพอร์ทใคร หรืออะไร

มันมาซัพพอร์ทกายเหรอ มันมาซัพพอร์ทใจเหรอ หรือมันซัพพอร์ทกิเลสความเป็นเรา แล้วอะไรล่ะที่มันซัพพอร์ทกายใจ...ศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมาเท่านั้น ตรงนี้จึงจะซัพพอร์ทกายใจให้ชัด

อย่างอื่นไม่ชัดช่างหัวมัน อย่างอื่นไม่เห็น ไม่ต้องไปควานคว้าหาค้นมันเลย ไร้สาระ มันหาสาระไม่ได้หรอก ...ศีลสมาธิปัญญานั่นแหละคือสาระอันสูงสุด รู้มันแค่นี้พอแล้ว 

แล้วไม่ต้องกลัวไม่จบด้วย ...แจ้งกายแจ้งหมด แจ้งใจแจ้งหมด แจ้งสองที่นี่แจ้งหมด ...ไม่ต้องมานั่งไล่ทำความแจ้งตรงนั้นตรงนี้ตรงโน้นน่ะ ให้แจ้งสองที่นี่...แจ้งหมด

เพราะอะไร ...เพราะมันไม่มีอะไร  ไอ้ที่จะต้องไปทำความแจ้งตรงนั้นตรงนี้ตรงโน้น มันไม่มีอะไร ...ที่มันมีเพราะจิตนี่ไปแอบอ้างขึ้นมา ไปสร้างไปสังเคราะห์ขึ้นมา

ท่านเรียกว่าจิตสังขาร จิตปรุงแต่ง ไปโมเดลภพขึ้นมา ไปโมเดลความน่าจะมีน่าจะเป็นขึ้นมา ไปโมเดลคุณลักษณะอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดนั้นขึ้นมา เท่านั้นเอง 

จิตดับ...ดับหมด จิตดับ..ใจอยู่ ...ใจไม่มีวันดับ รู้นี่ไม่มีวันดับ เพราะมันเป็นธาตุรู้  อมตธาตุ อมตธรรม ไม่มีวันดับ ...จิตน่ะดับ แต่มันไม่ดับจริงในปุถุชน

ดับแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ ดับแล้วก็เกิด ...ถ้ามันเกิดแล้ว อันไหนชอบ กูก็เอาไว้  อันไหนไม่ชอบ กูก็จะทำให้มันดับเร็วๆ ...นั่นน่ะ ไปเล่นเอาล่อเอาเถิดกันกับภพและชาติ ที่เกิดเนื่องด้วยจิต

ท่านถึงบอก อวิชชาปัจจยาสังขารา สังขาราปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป  นามรูปปัจจยาสฬายตนะ สฬายตนะปัจจยาผัสสะ ผัสสะปัจจยาเวทนา เวทนาปัจจยาตัณหา ตัณหาปัจจยาอุปาทาน เนี่ย ปฏิจจสมุปบาทสายเกิด

แต่ศีลสมาธิปัญญานี่เป็นทางที่ว่า เป็นทางไล่เข้าสู่ปฏิจจสมุปบาทสายดับ …เพราะนั้นประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญาให้มันตรง แล้วทุกอย่างจะกระจ่างขึ้นอยู่ภายใน

ยิ่งภาวนา..ยิ่งไม่มีอะไร ยิ่งภาวนา..ยิ่งไม่ได้อะไร  ยิ่งภาวนา..ยิ่งไม่เกิดอะไร นั่นแหละ ยิ่งภาวนา..ยิ่งไม่รู้จะเอาอะไรมาพูด ยิ่งภาวนา..ยิ่งหมดคำพูด ยิ่งไม่อยากพูด เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาพูด

ไม่นับรวมเรานะ เรานี่พูดมาก เพราะถ้าไม่พูดมาก มันก็ฟังไม่รู้เรื่อง ...คือจริงๆ มันฟังรู้ แต่มันรู้ไม่ถูกเรื่อง ก็เลยต้องพูดมาก  เออ ถ้าพูด แล้วมันรู้ถูกเรื่องนี่ ก็จะพูดน้อย

ที่ต้องพูดมาก...เพราะมันฟังแล้วมันเหมือนเบี้ยหัวแตกน่ะ กระจัดกระจาย ฟังด้วยกันสิบคน ออกไปนี่คุยกันคนละเรื่อง ...ไม่รู้มันฟังกับอาจารย์เดียวกันรึเปล่าวะเนี่ย

มันฟังยังไง กูมีหลายภาครึไง แน่ะ เห็นมั้ย จิตมันแตก “ชั้นว่าอย่างนี้ ชั้นว่าอาจารย์พูดอย่างนี้นะ” ...ก็มึงฟังภาษาคนไม่รู้เรื่องเหรอ กูไม่ได้พูดนัยยะอะไรเลย ให้นั่งรู้ยืนรู้เดินรู้ แค่นี้

อย่าไปคิดมาก อย่าไปเอาอะไรมากกว่ากายกับรู้  ไม่ต้องไปสงสัยลังเลในธรรมข้างหน้า-ข้างหลัง ไม่ต้องไปคาดหมายอนาคตธรรม อดีตธรรมน่ะ

มันจะมี มันจะเป็นอะไรข้างหน้า...ช่างหัวมัน  มันจะไม่มี มันจะไม่เป็น มันจะไม่ถึงอะไรข้างหน้า...ช่างหัวมัน นั่น ทิ้งซะ แล้วก็กลับมานั่งให้เป็น ยืนให้เป็น เดินให้เป็น นอนให้เป็น

นั่งเป็น..เป็นยังไง นั่งยังไง..ให้เป็น ...คือนั่งแล้วอยู่กับนั่ง นั่งแล้วรู้กับนั่ง เรียกว่านั่งเป็น ...นั่งแล้วไม่อยู่กับนั่งน่ะ เรียกว่านั่งไม่เป็น...นั่งไม่เป็นผู้เป็นคน

บางคนมันนั่งเป็นพระอริยะเลยด้วยซ้ำ นั่นยังนั่งไม่เป็นเลย ยังนั่งแบบคนธรรมดาไม่เป็นเลย ...ไปนั่งอยู่ในจิตนั่น ไปนั่งแช่นั่งจมอยู่ในจิต ในสภาวธรรมในจิตนั่น

นี่ นั่งไม่เป็น ยืนเดินนั่งนอนไม่เป็น...ไม่เป็นผู้ไม่เป็นคน  เรียกว่านั่งไม่จริง ยืนไม่จริง เดินไม่จริง ...ไม่ได้ยืนเดินนั่งนอนอยู่บนความจริง แล้วมันจะมาพูดได้ยังไงว่ารู้เห็นตามความเป็นจริง นั่งยังไม่เป็นเลย

นี่ ต้องมาสอนการนั่งนอนยืนเดินใหม่นะนี่ ...ทั้งๆ ที่นั่งนอนยืนเดินมาสามสิบสี่สิบปีแล้วนี่ ...ใช้ชีวิตมาก็ใช้ไม่เป็น...ไม่เป็นผู้ไม่เป็นคน เป็นอะไรไปเรื่อยเปื่อย

ไม่มีมาตรฐานเลย ไม่มีมาตรฐานของศีลสมาธิปัญญา...เป็นมาตรฐานอ้างอิงได้เลยว่ายังเป็นคนอยู่ ...มันมีแต่เป็น “เรา” แต่ไม่เข้าถึงความเป็นคน

มันไม่เข้าถึงความเป็นศีล ไม่เข้าถึงหัวใจที่แท้จริงของศีล ไม่ยืนหยัดอยู่บนศีล ไม่เข้าถึงศีลเป็นสรณะอันยิ่ง ...ตายไปก็ไปได้หมดทั้งอบาย ทุคติภูมิ หรือสุคติภูมิ

แต่ถ้าเข้าถึงศีล เข้าถึงความเป็นคนโดยถึงใจ ถึงพร้อม นี่ ปิดอบาย ไม่ต่ำกว่าความเป็นคนเลย ...แล้วก็ไม่เกินคนด้วย ถ้าเป็นผู้ที่มุ่งตรงต่อนิพพาน จะไม่เกินคนด้วย

เพราะกิจหน้าที่ในภาวะความเป็นคนยังไม่จบ เพราะกิจภาระหน้าที่ในการเรียนรู้ขันธ์ห้ายังไม่แจ้ง ...มันต้องมาแจ้งในขันธ์ห้า มันถึงจะจบ..จบในชาติเดียว ...ถ้าไปที่อื่นน่ะ จบอีกหลายชาติ

เอ้า จบ เราก็พูดจบแล้ว ถึงนิพพานจบแล้ว ...พระพุทธเจ้าท่านบอกให้สอนไปตามลำดับขั้น พระพุทธเจ้าสอนว่า การอธิบายธรรมให้อธิบายไปตามลำดับ

พอมันถึงนิพพานแล้วก็จบแล้ว หมดคำพูด ...พระพุทธเจ้าสอนให้บอกว่าเหตุและปัจจัยนั้นๆ นั้นๆ เป็นยังไง ก็อธิบายแล้ว เนี่ย ไม่ผิดพ่อสอนไว้ เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความข้องแวะ

เป็นธรรมเพื่อให้เข้าสู่ธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อให้เกิดความกำหนัดย้อมใจ เป็นธรรมที่ไม่ใช่ให้เป็นไปเพื่อความเลี้ยงยาก มีชีวิตอยู่ยาก เป็นธรรมที่ไม่เป็นไปเพื่อความสั่งสมสะสมซึ่งกองกิเลส

เนี่ย ไม่ได้ผิด ไม่อายปาก ...เอ้า จบ จะถามก็ถาม สงสัยอีกมั้ย ว่าจะดูอะไร อยู่ที่ไหนดี เอาอะไรเป็นมาตรฐานหลัก อะไรเป็นมาตรฐานรอง ฟังแล้ว จนหูซ้ายจะทะลุถึงหูขวาแล้ว


โยม –  คือหนู...อย่างเมื่อก่อนนี้ ใจน่ะจะชอบรู้แต่ข้างนอก รู้แล้วก็..คือช่วงแรกๆ นี่คือเพลิดเพลินสนุกสนาน มาช่วงหลังๆ เจอครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่า เพลินไปแล้ว กลับเข้ามา ให้ดูที่กายใจตัวเอง 

ทีนี้ อย่าง ณ ปัจจุบันนี้ค่ะ ก็ยังรู้ข้างนอกอยู่ เพียงแต่ว่ามันจะมีส่วนหนึ่งที่แบบ..รู้แล้ว รู้แล้วยังไง รู้แล้วก็เออ รู้ แค่นั้นจบ ...อย่างเมื่อกี้พระอาจารย์บอกว่า ให้พิจารณาลงที่กายใจตัวเอง อะไรที่มันเกิดขึ้น ก็คือให้อยู่กับปัจจุบัน อย่างนี้ หนูเข้าใจถูกไหม

พระอาจารย์ –  รู้แล้วก็วาง หมายความว่า แม้กระทั่งรู้ปัจจุบันก็วาง เช่นรู้ว่าตึงแน่น รู้สึกตรงนี้ ...ก็ไม่ต้องทำอะไร ก็วางซะ วางความคิดวางความเห็นที่จะมีต่อมัน วางภาษาความหมายที่จะมีต่อมัน 

นี่ รู้เฉยๆ มันปรากฏเท่าไหร่ก็เท่านั้น ...เพราะนั้นกายจริงๆ นี่ มันมีอยู่สองนัยยะ กายปัจจุบันนะ ในระดับปุถุชน กายในความหมายของกายปัจจุบันนี่ มันมีอยู่สองนัยยะ

นัยยะหนึ่งคือกายรูป อีกนัยยะคือกายความรู้สึก เข้าใจมั้ย จะอะไรก็ได้ จะเป็นรูปทรงที่กำลังนั่ง ตามองเรานี่ เห็นรูปเราใช่ไหม ตาเนื้อนี่ เห็นเราใช่มั้ย เห็นตัวเองนั่งมั้ย เห็นรูปตัวเองนั่งมั้ย


โยม –  รู้สึกรูปตัวเองนั่ง

พระอาจารย์ –  เออ ใช้ตัวนั้นนั่นน่ะดู อยู่ตรงนั้น ...ไอ้ตาเนื้อนี่จะเห็นรูปข้างนอก แต่ไอ้ตาศีลสมาธิปัญญาจะเห็นตัวข้างใน คือตัว..จะเป็นรูปทรงก็ได้ หรือจะเป็นความรู้สึกในอาการนั่งก็ได้

เห็นมั้ย ไม่ใช่ตาเนื้อนี้ใช่ไหม จะเป็นข้างในที่มันเห็น ...นั่นแหละให้อยู่ตรงนั้น ให้ทำตรงนั้น ไม่ให้มันหาย เข้าใจมั้ย ไม่ให้กายความรู้สึกที่มันเห็นข้างในน่ะหาย

ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก...ได้หมด ...แล้วมันก็จะเห็นข้างในนี่ ใช้ตัวข้างในนี่ มันเห็นตัวของมันเอง คือตัวกายนี่ ...แล้วอย่าไปไพล่ไปเห็นที่อื่น ต้องคอยระวัง


โยม –  ระวังยังไงล่ะคะ

พระอาจารย์ –  ก็เท่าทัน ...ถ้าเผลอคิด...เอาใหม่ เผลอไปมีอารมณ์...เอาใหม่ ...เพราะกายมันไม่หาย เข้าใจมั้ย ความรู้สึกในกายก็จะไม่หาย  แต่อารมณ์จะหาย เข้าใจไหม

เนี่ย มันแสดงว่าอะไรจริงกว่ากัน อะไรที่มีอยู่จริง เห็นมั้ยในสามโลกธาตุนี่ ไม่มีอะไรจริงกว่าศีล เข้าใจไหม ...มาลงที่กายใจ ทุกอย่างดับหมด

แล้วกายใจในปัจจุบันก็จะแสดงความเกิดดับของตัวมันเอง ...แต่ว่ามันเป็นความสืบเนื่อง เกิดดับสืบเนื่อง เข้าใจมั้ย แต่มันจะสืบเนื่องในหน้าเดียวท่าเดียวของมัน โดยอัตโนมัติโดยธรรมชาติ

แต่อารมณ์และจิตนี่ไม่สืบเนื่อง เป็นครั้งคราว ...เพราะนั้นไอ้ตัวอารมณ์ที่ไม่สืบเนื่อง เป็นครั้งคราว เหล่านี้ มันจะไม่สามารถก่อให้เกิดสัมมาสมาธิ คือจิตที่ตั้งมั่นอย่างมั่นคงถาวร เข้าใจมั้ย

แต่ฐานของกายนี่ มันสืบเนื่อง มันไม่หาย มันไม่ขาด มันไม่ว่างไม่เว้นเลย ...เพราะนั้นเมื่อเอาสติมาผูกพัน ตั้งมั่น หมายมั่น มุ่งมั่นลงที่กายนี่ 

จิตจะเกิดความยืด แข็งแรง แข็งแกร่ง มั่นคง สืบเนื่อง ยาวนาน ด้วยอำนาจของสมาธิ เป็นขั้น...ถึงขั้นที่เรียกว่าอุปจาระ 


(ต่อแทร็ก 15/32  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น