วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/17 (1)


พระอาจารย์
15/17 (570615C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  บอกแล้ว ศีลสมาธิปัญญามันเป็นการปฏิบัติแบบเลือกข้างนะ ...ต้องเลือกข้างอย่างชัดเจน

ถ้าไม่รู้จักการทิ้งบัญญัติ ทิ้งอารมณ์ ทิ้งสมมุติ ...มันจะไม่มีทางเข้าใจความหมายของวิมุติโดยถ่องแท้สมบูรณ์เลย

ถ้ายังแอบอิง ยังเจือปนอยู่ด้วยบัญญัติ ด้วยสมมุติ ด้วยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งก็ตาม ...จะไม่เกิดความเข้าใจชัดเจนเลย

ความชัดเจน ความถ่องแท้...ในธรรมตามความเป็นจริงหรือวิมุติธรรม หรือบริสุทธิธรรม หรือวิมุติขันธ์ บริสุทธิขันธ์ ...นี่ มันจะไม่เข้าใจความหมายของธรรมส่วนนี้เลย

เพราะนั้น มันต้องเลือกข้าง ...มันต้องทิ้งอย่างหนึ่งแล้วมารู้อย่างหนึ่ง...โดยสมบูรณ์เลย ...แต่ถ้าเรายังรักเผื่อเลือกอยู่อย่างนี้ ยังเปิดช่องให้มัน ...มันก็เกิดความเนิ่นช้า 

นี่ มันก็ได้...ไม่ใช่ไม่ได้ ...ก็ได้กุศลมันก็ดี ได้ความรู้ในธรรม ได้ในบุญในทานอะไร มันก็ดี ...แต่มันเป็นตัวยืดเวลาของการเกิด 

บุญก็พาให้เกิดเหมือนกัน บาปก็พาให้เกิดเหมือนกัน  คือมันเกิดคนละขั้ว ...แต่ยังไงก็เกิดเหมือนกัน 

แต่ศีลสมาธิปัญญามันตรงข้ามเลย...มันไม่เกิด ...แม้กระทั่งปัจจุบันนี่ มันยังออกนอกปัจจุบันไม่ได้เลย เห็นมั้ย แม้แต่ปัจจุบัน ยังไม่ทันตาย มันก็ยังไม่มีอะไรไปเกิดได้น่ะ

ก็ต้องเลือกข้างใช่มั้ย ...จะเลือกข้างเกิดหรือจะเลือกข้างไม่เกิดล่ะ ...อะไรเป็นตัวเกิด อะไรเป็นตัวพาเกิด...ก็คือจิต  อะไรเป็นตัวผลักดันให้จิตไปเกิด...ก็คืออวิชชา ความไม่รู้ ความทะยานอยาก ตัณหา

แล้วทำไมมันต้องเกิด ...ก็มันเกิดแล้วมันได้อารมณ์ไง มันมีเราไปได้อารมณ์ ไปเสวยอารมณ์ ...นี่ มันติดข้องในอารมณ์ ที่เป็นสุข ที่พอใจ ที่เพลิดเพลิน

ที่เป็นทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต ทั้งในปัจจุบัน นี่ มันไปเกิดอยู่ในอารมณ์นั่นน่ะ เกิดเป็นเราอยู่ในอารมณ์นั้น เป็นเราเป็นผู้กินอยู่หลับนอนในอารมณ์สุขนั้นน่ะ

แต่ถ้าเมื่อไหร่อยู่ด้วยศีลสมาธิปัญญา จิตมันเกิดไม่ได้ ไม่อนุญาตให้จิตเกิดเลย ...ศีลสมาธิปัญญาที่เข้มงวดนี่ จะไม่อนุญาตให้จิตเกิดเลย ...เพราะนั้นมันก็ยังดำรงอยู่แต่ขันธ์ในปัจจุบันเท่านั้น

ซึ่งขันธ์ปัจจุบันนี่ หรือว่าธรรมชาติตามความเป็นจริงในปัจจุบันนี่...ที่มันดำรง ที่มันปรากฏตัวของมันเองนี่ โดยไม่แอบอิงเรา ไม่แอบอิงกิเลสนะ ...มันไม่มีอารมณ์ในนั้น 

มันไม่มีอารมณ์ในตัวของมันเอง หรือพูดง่ายๆ มันเป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากอารมณ์ ...นี่ไม่ใช่อารมณ์ว่างนะ แต่มันเป็นสภาพที่ว่างเปล่าจากอารมณ์

ถ้าอารมณ์ว่างก็อีกอารมณ์นึง ยังมีเราเข้าไปสร้างอารมณ์ ยังมีเราเข้าไปเสวยอารมณ์นั้นแต่นี่มันว่างเปล่าจากอารมณ์ และไม่มีเราเข้าไปเสวยในอารมณ์ ...เนี่ย คือฝั่งมรรค เนี่ย คือฝั่งศีลสมาธิปัญญา

แต่ด้วยอนุสัย ความคุ้นเคยนี่ ...มันคุ้นเคยกับการที่มีอารมณ์เป็นที่อยู่ เป็นที่รองรับเสมอ และมันติดข้องในอารมณ์ที่มันคุ้นเคย

ตรงนี้ที่มันจะต้องอาศัยความเพียร ความอดทน ที่จะออกจากอารมณ์นั้นๆ  ทวนกับความอยากที่จะไปจมแช่กับอารมณ์หรือได้มาซึ่งอารมณ์นั้นๆ ...นี่เขาเรียกว่าทวนกระแส


โยม –  แต่โยมว่าคนทั่วไปน่ะ อ่านหนังสือฟังธรรมก็ยังดีกว่าทำอย่างอื่นนะคะ  เพราะว่าอ่านหนังสือฟังธรรมแล้วก็ทำให้ทิ้งอย่างอื่น

พระอาจารย์ –  ก็ใช่ ก็เริ่มต้นก็ต้องอย่างงั้นน่ะ เพราะว่ามันก็เป็นอุบายช่วย

แต่เมื่อเข้าถึงหลักการปฏิบัติแล้ว เข้าถึงศีลสมาธิปัญญาแล้ว บอกแล้วว่า ไอ้ตัวสะพานเชื่อมนี่ ตัดทิ้งไปเถอะ ไม่ต้องเสียดายสะพาน

เราถึงบอกอยู่เรื่อย ถามอยู่เรื่อยว่า มันเป็นไทหรือเป็นราว หือ คำว่าไทหมายถึงอิสระ ราวนี่หมายถึงว่าราวสะพานนะ ...จะเป็นราวอยู่เรื่อย จะไปไหนก็ต้องถือราวหรือ

เข้าใจมั้ย ถ้ามันเดินเป็นแล้วนี่ รู้แล้วนี่ เห็นชัดเจนฝั่งศีลสมาธิปัญญาอยู่ตรงไหน คืออะไร ...นี่เป็นไทแล้วนะ เริ่มเห็นความเป็นไทแล้วนะ

ก็ยังอยากจะเป็นราวอยู่นั่น เอาอะไรมาเป็นราวระโยงรยางค์ยึดเกาะ หรือเป็นที่พึ่งอาศัยอยู่อย่างนั้น


โยม –  ถ้าคนที่ยังเที่ยวทางโลกเขาก็ไม่มีราวด้วย

พระอาจารย์ –  อันนั้นยิ่งกว่าราวอีก มันไปแบบไม่มีขอบเขตเลย ไปแบบไม่มีอะไรจริงอะไรเท็จเลย  มันไปตามกระแสเลย...กระแสกิเลสล้วนๆ เลย

เพราะนั้นน่ะ เบื้องต้นนี่ การอ่านหนังสือธรรมะนี่ช่วย เพื่อให้เห็น ...จะได้ยึดราว จับราว แล้วก็ยืนขึ้นก่อน แล้วก็เดินไปตามราว

คือเพ้อเจ้อในธรรม ฟุ้งซ่านในธรรม เพลิดเพลินในธรรม คิดอ่านในธรรม  แล้วก็วาดหวังฝันถึงธรรมในความคิดไปก่อน ...นี่เขาเรียกว่าไต่ราวไปเรื่อยๆ

เสร็จแล้วไงล่ะ ...มันความขวนขวายในธรรมน่ะ ก็จากราวนี่ มันก็ไต่ราวๆ มา  หนังสือมันกล่าวถึงใคร ใครเป็นคนพูดนะ คนพูดนั่นยังมีชีวิตอยู่มั้ย แล้วถ้าคนที่พูดตายไปแล้วยังมีลูกศิษย์อยู่มั้ย

เนี่ย มันก็จะไปสืบค้นต้นตอ ไปหา  แล้วมันก็เกิดการได้ยินได้ฟังธรรมตามมา หรือแม้แต่กระทั่งเอาไปปฏิบัติจริง...มันก็ได้...ได้ราวแล้ว คือพอเลียบๆ เคียงๆ พิจารณาเอา เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง  

เข้าใจยังไงก็ทำอย่างนั้น ...นี่ มันก็เริ่มยืนหยัดขึ้น...แต่ยังอาศัยราวอยู่  ...แล้วถ้าทำไปไม่หยุดไม่หย่อน มันก็จะมาถึงจุดที่เรียกว่า...ได้เห็นทั้งสองฝั่ง ทั้งที่มีราวและไม่มีราว ...คือจุดที่จะเป็นไท

มันก็ต้องพัดพามาจนถึงจุดนี้จนได้...ในการปฏิบัติ  ไม่มีทางหรอกที่มันจะหนีรอดศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริงได้ ...แต่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตามวาสนาบุญเก่า

เพราะนั้นน่ะ ไอ้การที่ยังเดินโดยอาศัยราวไปนี่ มันเกิดความคุ้นเคยนะ แล้วเกิดความสำคัญผิดอย่างหนึ่งว่า...ถ้าไม่มีราวนี่ใช้ไม่ได้ หรือต้องมีราวนี่เป็นหลักไปด้วย

ซึ่งจริงๆ น่ะ...ราวคือราวนะ ไม่ใช่หลัก ...คือเหล่านี้ภาษาท่านเรียกว่า...อุบายธรรม  นี่คืออุบาย เพื่อจะให้เข้าถึงมรรค เพื่อจะให้เข้าถึงศีลสมาธิปัญญา

แต่มันกลับไปติดว่าอุบายนี่คือหลัก แล้วมันทิ้งไม่ได้ ไม่ยอมทิ้ง ...ตัวนี้มันจะเกิดภาวะที่เรียกว่ารุงรัง เหนี่ยวรั้ง ฉุดรั้ง ให้เกิดการเปรียบเทียบเปรียบเปรยในธรรมขึ้นมา

ทำให้เกิดความสงสัยลังเลในธรรม ภาษาธรรม บัญญัติธรรม ความลึกซึ้งในบัญญัติธรรมภาษาธรรม ที่ต้องมาคอยแยกแยะตีความ ...มันกลายเป็นของรุงรัง เสียเวลา เนิ่นช้า

แต่ถ้าเข้าใจว่ามันเป็นอุบายที่มาให้ถึงอีกฝั่งนึง คือฝั่งที่ไปตามลำพังโดยไม่อาศัยสิ่งยึดเหนี่ยวใด ...ตอนนี้มันก็จะค่อยๆ เรียนรู้การละการวาง 

สิ่งแรกที่มันจะวางก็คือ สีลัพพต...ขนบธรรมเนียม ประเพณีนิยม ความเชื่อในอดีตว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีความเห็นต้องมีความรู้อย่างนั้นอย่างนี้ พวกนี้เป็นสีลัพพตในธรรม ลูบคลำในวัตรในศีลในธรรม

มันก็ค่อยๆ ละ คลาย วางๆ วางไปพร้อมกับความลังเลสงสัยในธรรม ...เพราะความลังเลสงสัยนี่มันเกิดจากการตีความในธรรมเป็นภาษาไม่ถูก มันก็เลยสงสัย

ไอ้ที่มันสงสัยนี่มันสงสัยในบัญญัตินะ มันสงสัยในภาษา...ภาษาธรรม เนื้ออรรถกระทงความที่ได้ยินได้ฟังมา เป็นวรรค เป็นประโยค เป็นวลี เป็นถ้อยคำนี่แหละ มันเลยสงสัย

พอมันละ มันคลายออกจากสีลัพพต ...ความสงสัยตามบัญญัติตามภาษาธรรม มันก็ค่อยๆ น้อยลง  ก็ไม่ค่อยเข้าไปจริงจังในภาษา ก็ไม่ต้องการความอยากรู้อยากเห็นโดยภาษา ...เนี่ย มันจะเข้าตรงต่อเนื้อธรรม


โยม –  แล้วแบบนี้ธัมมวิจยะนี่มันมีภาษาเป็นบัญญัติมั้ย

พระอาจารย์ –  จริงๆ มันไม่มีหรอก ...มันเห็นแยกแยะ ขยายธรรม 

มันเหมือนกับแว่นขยายนี่ แล้วมันเพิ่มกำลังขยาย ...จากที่แว่นขยายเลนส์ประมาณ คูณ 2  คูณ 5  ก็เป็น คูณ 10 อย่างนี้ ...เห็นมั้ย มันขยายธรรม มันจะเห็นรายละเอียดในธรรม


โยม –  ไม่ต้องไปนั่งคิดอะไร

พระอาจารย์ –  ไม่ได้คิดเลย ...แต่ไอ้ตัวส่องนี่ กำลังขยาย แว่นที่มันขยายส่องธรรมลงมานี่ มันเห็นได้มากกว่า ละเอียดกว่า เพราะว่ากำลังขยายเบื้องต้นมันเพิ่มขึ้น

พอศีลสมาธิปัญญามากขึ้นเรื่อยๆ มันจากคูณ 2  เป็นคูณสิบ คูณยี่สิบ คูณห้าสิบ คูณร้อย คูณล้าน ไอ้ที่ไม่เคยเห็นก็เห็น แล้วที่ว่ามันรวมกันอย่างนี้เป็นอย่างนี้ มันเห็นแยกแยะ ย่อยซอย ...เนี่ย มันวิจยะอย่างนี้


โยม –  แต่มันก็สลับได้นะคะ หมายถึงว่าขณะที่จิตไม่ได้ตั้งมั่นขนาดที่จะไปเห็นธัมมวิจยะ ก็สลับกับจินตาไปได้ไหม

พระอาจารย์ –  มี...มีบ้าง มีอาศัยประกอบได้บ้าง ...แต่ไม่ได้อาศัยจินตาเป็นหลัก ไม่ใช่หลักเลยนะ ...มันจะส่องขยายด้วยญาณเป็นหลัก วิจยะธรรมด้วยญาณ


โยม –  อันนี้ถึงไม่เป็นพระโสดาบัน แต่ว่าก่อนมรรคจิตจะเกิด ...ก็เกิดแบบนี้ได้

พระอาจารย์ –  ได้แล้ว ในระดับปุถุชนยังได้เลย ...แต่ว่าส่วนใหญ่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มันจะวิจยะด้วยภาษา


โยม –  มันจะปนกัน

พระอาจารย์ –  อือ แล้วมันจะมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าเท่านั้นเอง ...เพราะว่ามันยังเข้าสู่จุดที่เรียกว่าสมาธิโดยสมบูรณ์ยังไม่ค่อยได้ ...มันได้แค่แป๊บนึง มันส่องได้แค่สักอึดใจนึงนี่ 

เดี๋ยวความคิดกูก็ออกแล้ว ภาษามารองรับแล้ว...ยาวเลย ....นั่นน่ะให้รู้ทันเลยว่าจิตเริ่มเคลื่อนแล้ว อย่าหลงธรรม อย่าหลงสังขารธรรม อย่าหลงภาษาธรรม

มันก็ดี...ดีในระดับนึงเอง คือพอเข้าใจ เออ เข้าใจแล้วๆ พอแล้วๆ อย่าไปเยิ่นเย้อเวิ่นเว้อ หรือไปโยงใย


โยม –  ไม่ใช่อะไร ...มันเรียนมามาก ฟังมามาก มันก็เลยเทียบเคียงเรื่อยๆ

พระอาจารย์ –  ใช่ เตลิด มันจะเกิดจิตเตลิด นี่ เขาเรียกว่าฟุ้งซ่านในธรรม มันจะเกิดความฟุ้งซ่านในธรรม ...ไม่ใช่ฟุ้งซ่านในโลกนะ นี่ ฟุ้งซ่านในธรรม


โยม –  แล้ววิธีกลับมาก็คือรีบกลับมาอยู่กาย

พระอาจารย์ –  คือฐาน หาฐานให้เจอ ...ศีลอยู่ไหน กายอยู่ไหน รู้อยู่ไหน ...นี่คือฐาน กลับมาลงฐานเลย กลับมาแบบหักดิบ เข้าใจมั้ย อย่าเสียดายธรรม

อย่าเสียดายธรรมข้างหน้าที่ยังไม่ถึง ที่ยังว่า...เอ้ย ยังคิดไม่แล้วเลย ยังไม่เห็นไปจนตลอดมันเลย ...อย่าเสียดาย หักลำซะ ...นี่เขาเรียกว่าทวน ทวนบ่อยๆ นี่เรียกว่าทวนกระแส

พอทวนกระแสมาก กำลังแห่งการทวนกระแสด้วยศีลสมาธิปัญญามาก ต่อไปนี่...แค่เห็นปุ๊บมันตัดเลย


โยม –  แค่เห็นจิตเคลื่อน

พระอาจารย์ –  เคลื่อนปุ๊บตัดเลย...มันตัดได้ทันทีเลย  นี่ เขาเรียกว่าความเฉียบคมของปัญญาเกิดขึ้น มันจะตัดกระแส ...จากทวนแล้วจะตัด จากตัดปุ๊บนี่ มันจะข้ามกระแสนี้เลย

พอมันข้ามกระแสปุ๊บ มันจะหลุดพ้นจากกระแสเลย เข้าสู่อริยมรรคโดยขั้นสูงแล้ว ...จะตัดกระแส แล้วก็ข้ามกระแส  พอข้ามกระแสแล้วมันก็ข้ามกระแสไปตามลำดับ เข้าใจมั้ย

แต่ไม่ได้ข้ามทีเดียว ยกทีเดียวนะ ...เพราะว่าที่จะข้ามกระแส จะตัดกระแสทีเดียวเลยนี่ มีอยู่อย่างเดียว คือเจโตวิมุติ ...ลักษณะของเจโตวิมุติจะยกข้ามเลย จะยกจิตตัดกระแสรวดเดียวเลย

คือเข้าสู่สมาบัติที่เก้า หรือเข้าสู่ผละ หรือท่านเรียกว่านิโรธสมาบัติ ...ตัวในนิโรธสมาบัตินี่ จะเข้าปึ้บ ตัดกระแสเลย ยกข้ามเลย  พอออกจากนิโรธสมาบัติก็เข้าสู่ผละสมาบัติสู่อรหัตผลเลย

ซึ่งหาไม่ได้แล้วในสัตว์โลกปัจจุบัน บอกให้เลย ไม่มีอ่ะ หมดไปแล้ว สูญพันธุ์เพราะนั้นไอ้อย่างที่เหลืออยู่นี่ เขาเรียกพวกปลาซิวปลาสร้อย หากินลูกน้ำทีละตัวล่ะวะ

คือทีละขณิกะๆ แล้วก็บ่มเพาะศีลสมาธิปัญญาให้เติบใหญ่ทีละขณะๆ อย่างนี้...คือธรรมในยุคนี้ คือการเข้าถึงมรรคและผลในยุคนี้สมัยนี้...โดยส่วนใหญ่เปอร์เซ็นต์ใหญ่จะเป็นอย่างนี้


โยม –  แล้วมรรคจิตผลจิตนี่ เกิดหนึ่งขณะ หมายถึงว่าความเร็วขนาดนี้ แล้วคนที่เขาเข้าไปแล้วนี่เขาจะรู้มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ไม่รู้หรอก


โยม –  จะไม่รู้เลยหรือว่าตัวเองเป็นพระโสดาบันแล้ว

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ ไม่มีภาษาตอบ ไม่มีภาษาบอก ...บอกให้เลยว่ามันจะไปรู้ชัดจริงๆ นี่ อนาคามรรค อนาคาผล ...อันนั้นน่ะจะตัดกันโดยสมบูรณ์


โยม –  โสดาปัตติมรรคแล้ว สกิทาคามิมรรคซ้ำอีกก็ยังไม่รู้

พระอาจารย์ –  แทบจะ...เกิดดับธรรมดานี่แหละ


โยม –  แต่ความเข้าใจมันหลุดไปแล้ว

พระอาจารย์ –  ค่อยๆ เปลี่ยนน่ะ ...มันจะเห็นความเปลี่ยนไปของความเข้มข้นในอารมณ์ ความเข้มข้นของกิเลส


(ต่อแทร็ก 15/17  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น