วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/16 (1)


พระอาจารย์
15/16 (570615B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นการภาวนาจึงเรียกว่า ต้องเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ...ไม่ใช่ทำแบบงั้นๆ ไป ไม่ใช่เป็นไปแบบเอื่อยๆ  เหมือนทำก็ได้...ไม่ทำก็ได้  

มันจะยิ่งอ่อนลง ศีลสมาธิปัญญาจะยิ่งอ่อนลง ...ก็ได้เท่าเก่านั่นแหละ ความรู้ก็ได้เท่าเก่าน่ะแหละ บอกให้ การละการวางก็ได้เท่าเก่าน่ะ ไม่ได้มากกว่านั้นน่ะ เข้าใจมั้ย

แล้วก็จะติด แล้วก็จะคา แล้วก็จะข้องในอารมณ์แบบเก่าน่ะ เหมือนเดิมน่ะ ...มันไม่สามารถจะไปแยกแยะสภาพธรรมที่เหนือกว่า ละเอียดกว่าได้

เพราะนั้นต้องเข้มขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่งั้นมันจะหมดเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์...กับความเพลิดเพลินในธรรม ในภาษาธรรม ในรูปเสียงกลิ่นรสภายนอก โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ภายนอก

ก็หมดเวลากับการไปหลงเพลินกับอิฏฐารมณ์-อนิฏฐารมณ์อยู่อย่างนั้นน่ะ ...อิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่พอใจ เป็นสุข ...อนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่พอใจ คือเป็นทุกข์

แล้วก็ไปดิ้นรนขวนขวายอยู่ในอารมณ์สุข-อารมณ์ทุกข์ ที่ได้จากความเพลิดเพลินทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์ภายนอกเหล่านั้น

มันก็หมดเวลาไปกับส่วนนั้น ...แทนที่มันจะหมดเวลาไปกับการค้นคว้าหาความจริง...ในกายในขันธ์ ...อย่างเข้มงวดกวดขัน

เพราะนั้นการภาวนา มันจะต้องเข้มขึ้นเรื่อยๆ งวดลงเรื่อยๆ ...คำว่างวดลงคืออะไร อะไรที่งวดลง...จิตนะ อารมณ์นะ  จิตเราอารมณ์เรานี่จะงวดลงเรื่อยๆ งวดลงๆ แห้งลงๆ

เหมือนเรานึ่งข้าวเหนียว หรือเหมือนเราหุงข้าวน่ะ ใส่น้ำหุงข้าว หรือหุงข้าวหม้อไฟฟ้า มันก็ใส่น้ำ แล้วก็เคี่ยวน้ำไปเรื่อยๆ จนน้ำงวดน้ำแห้งไปเลย

นั่นน่ะเราจะต้องเคี่ยว ...ใช้ศีลสมาธิปัญญานี่เคี่ยวกรำ...เคี่ยวกรำกิเลส เคี่ยวกรำกายใจอยู่ภายใน 

จนจิต...ซึ่งเป็นที่หมายของกิเลส ซึ่งเป็นที่ตั้งของกิเลส ซึ่งเป็นทางไปทางมาของกิเลส ...มันงวดลงๆ  มันเหือดแห้งลงๆ

เมื่อจิตมันเริ่มระงับ หยุดอยู่ๆ หยุดอยู่ได้นาน ได้เร็ว ได้ต่อเนื่อง ...อารมณ์ก็จะงวดลงเท่านั้น กิเลสก็จะน้อยลงเท่านั้น ไม่แสดงอำนาจบาตรใหญ่ออกมา เป็นตัวชี้นำการกระทำคำพูด หรือให้เป็นไปในวิถีแห่งการดำรงชีวิต

เพราะนั้นการดำรงชีวิตอยู่ในขันธ์นั้น ก็จะเป็นการดำรงอยู่โดยธรรม...โดยความเป็นจริงของขันธ์ โดยความเป็นจริงของใจ ...ไม่ได้เป็นไปโดยกิเลสถ่ายเดียว

มันจะต้องตรงข้ามกันอย่างนี้เรื่อยๆ เรื่อยๆ ...จนกิเลสมันงวด จนมันหยุด จนมันนิ่ง จนมันสนิท

แล้วในระหว่างที่มันหยุด กิเลสมันหยุด จิตมันหยุด ...ระหว่างนั้นน่ะเป็นการเพาะบ่มปัญญา เป็นระหว่างที่มันกำลังเพาะบ่มญาณทัสสนะ

ญาณทัสสนะที่ว่านี้....คือการรู้เห็นตามความเป็นจริงในกองกายกองขันธ์ ตลอดถึงกองโลกสามโลก ...มันจะเรียนรู้ไปตามภูมิปัญญานั้นๆ


แต่ถ้าในภูมิปัญญาระดับโลก ระดับต้นนี่...ยังไม่ต้องไปเรียนรู้กองโลก กองรูป ...เรียนรู้แต่กองกายก่อน ...
พอเรียนรู้กองกาย มันก็จะเรียนรู้กายกับรูปไปพร้อมๆ กัน 

กายมันไม่ได้มีแต่กาย ...เพราะมันยังมีกายที่แอบด้วยรูป แล้วมีรูปแอบอิงกายอยู่ ...มันก็จะเรียนรู้เรื่องกาย...เรื่องรูปพร้อมกัน  ทำความแจ้งกับกาย ทำความแจ้งกับรูปกาย ทำความแจ้งกับกายโดยตลอด

คือตั้งแต่กายบัญญัติ ตั้งแต่กายสมมุติ ตั้งแต่กายปรุงแต่ง ตั้งกายอดีตกายอนาคต ตั้งแต่กายชาย-กายหญิง ตั้งแต่กายเรา ตั้งแต่กายสวยกายงาม ...จนเป็นกายศีล กายธาตุ กายธรรม กายตามความเป็นจริง

มันก็จะเห็นแยกแยะกันระหว่างกายเหล่านี้...ว่าอะไรจริงกว่ากัน ว่าอะไรมีอยู่จริง ว่าความเป็นจริงของกายจริงๆ คืออะไร แค่ไหน อย่างไร

มันจะวนเวียนซ้ำซาก จนมันเกิดความถ่องแท้ในเรื่องของกาย โดยตลอดกาย ...ไม่ว่ากายไหน เข้าใจหมดแล้ว เข้าใจความเป็นจริงของกายนั้นๆ หมดแล้ว

แล้วมันก็จะเข้าใจต่อไปจนถึงที่สุดเลยว่า กายจริงๆ น่ะมีกายเดียว คือกายมหาภูตรูป ...ไอ้กายที่บอกเมื่อกี้ว่ากายบัญญัติ กายสมมุติ กายเรา กายเขา  ไอ้พวกนี้ล้วนแล้วแต่ไม่จริงหมดเลย

มีจริงอยู่กายเดียว....คือกายศีลกายธาตุ กายปกติ กายธรรมดา ...แล้วมันจริงในแง่ไหน แล้วมันจริงยังไง  ...ซึ่งไม่ได้จริงแบบเที่ยง จับต้องได้ เสถียร

แต่มันเป็นจริงในแง่เกิดๆ ดับๆ แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปมา หารูปลักษณ์ที่ชัดเจนไม่ได้ หารูปทรงที่ชัดเจน หาทรวดทรงที่ชัดเจนของความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งไม่ได้

มันเกิดแล้วก็ดับสลายไปๆ มันไม่มีตัวตนที่ชัดเจน ...นี่ มันจะเห็นชัดเจนว่ากายความเป็นจริงนี่ จริงๆ แล้วคืออะไร

แล้วพออะไรมาลงที่กายความเป็นจริงแล้ว ทุกอย่างถูกลบหมด ...แต่กายนี้ไม่มีอะไรลบได้เลย เนี่ย มันก็ยังดำรงของมันอยู่อย่างนี้ แสดงความเป็นจริง...เกิดๆ ตั้งๆ ดับๆ ...เกิดๆ ตั้งๆ ดับๆ

แต่พอเอาบัญญัติมาลงปุ๊บ เอากายบัญญัติมาลงทาบปุ๊บ กายบัญญัติดับ เอากายเรามาลงทาบปุ๊บ เดี๋ยว" กายเรา" ก็ดับหายไป ไม่มี ...แต่กายนี้ยังอยู่ เกิดดับเป็นเส้นสาย เกิดดับๆๆ อยู่ 

ปัญญามันก็เกิดขึ้นเองน่ะ ด้วยการรู้อย่างนี้เห็นอย่างนี้ ซ้ำๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนี้ ...มันก็รู้แล้วก็เข้าใจด้วยตัวของมันเองว่า อะไรจริง อะไรไม่จริง

บัญญัติจริงหรือว่าวิมุติจริง ...อะไรจริงกว่ากัน ...ความเป็นจริงของสมมุติแค่ไหน ความเป็นจริงของวิมุติคืออะไร นี่ มันก็จะเข้าใจ

แล้วในระหว่างความเป็นจริงของบัญญัติอยู่ แล้วยังเข้าไปยึดมั่นถือมั่นหรือว่าไปเชื่อว่ากายตามบัญญัติกายตามสมมุติยังมีจริงอยู่...ผลมันเป็นอย่างไร

เป็นทุกข์ เป็นเราทุกข์ เป็นเราไม่อยากทุกข์ เป็นเราอยากได้สุข เป็นเราหวงแหน ...นี่ มันมี...ตราบใดที่มันยังจริงจังอยู่กับกายสมมุติมากกว่ากายวิมุติเมื่อไหร่นี่ มันจะมีอารมณ์เกิดขึ้นอย่างนี้

แต่เมื่อใดที่มันเป็นแต่กายวิมุติล้วนๆ เนี่ย มันไม่มี...มันไม่มีเราเป็นสุขเป็นทุกข์ มันไม่มีเราหาสุขปฏิเสธทุกข์ มันไม่มีเราเข้าไปประคับประคองหวงแหน อาลัยอาวรณ์ เสียดาย คาดคั้น หมายมั่น

มันเห็นด้วยตัวของมันเองอยู่อย่างนี้ เป็นผลที่มันประจักษ์แจ้งอยู่กับใจ ...เพราะปัญญามันชี้นำอยู่อย่างนี้ ให้เห็นอย่างนี้ ความเป็นจริงอย่างนี้ กับความไม่จริงมันเป็นอย่างนี้

มันเหมือนกับตีแผ่น่ะ ...เหมือนกับตีแผ่ความเป็นจริง กับตีแผ่ความไม่จริงออกมา แล้วมาวางคู่กันให้เห็นเลยอย่างนี้ ...มันก็เลือกได้น่ะ มันก็สามารถเลือกได้โดยที่ไม่ตะขิดตะขวงใจเลย

ว่า...สมควรจะเชื่ออันไหน สมควรจะไม่เชื่ออันไหน  สมควรจะทิ้งอันไหน สมควรจะดำรงอันไหนไว้ ...เนี่ย สัมมาทิฏฐิ...มันก็เกิดสัมมาทิฏฐิขึ้นในกาย

ส่วนที่เป็นกายบัญญัติ กายสมมุติ กายเรา กายชาย กายหญิง กายคน กายสวย กายงาม กายชื่อ กายเสียง กายอดีต กายอนาคต ...มันก็ทิ้งโดยไม่อาลัยอาวรณ์ มันก็ทิ้งโดยที่ไม่ให้คุณค่า ไม่ให้ความสำคัญมั่นหมาย

เพราะมันถูกตีแผ่ความเป็นจริงออกมาแล้วว่า ความเป็นจริงของสมมุติแค่ไหน ความเป็นจริงของวิมุติแค่ไหน  ผลของการเชื่อตามความเป็นจริง กับผลจากการเชื่อในสิ่งที่ไม่จริงนี่ มันเป็นอย่างไร

มันไม่ได้ถูกบีบบังคับให้ต้องละ ให้ต้องวางเลย  มันไม่ต้องถูกบีบบังคับ หรือคอยควบคุม หรือถือแต่ความเป็นจริงถ่ายเดียวเลย ...แต่มันจะยอมรับโดยสนิทใจ

ด้วยความยินยอมพร้อมใจ ด้วยความนอบน้อมและเคารพต่อธรรม ...ไม่ใช่โดยการบังคับกดข่ม ไม่ใช่ด้วยการข่มเหง ไม่ใช่ด้วยวิธีการควบคุมมันแต่อย่างใดเลย

นี่คือการที่ว่า ดำเนินไปตามหลักของศีลสมาธิปัญญาแล้ว ปัญญามันจะพาให้จิตที่ไม่รู้นี่ มันละ มันวาง...สิ่งที่ไม่จริงแล้วว่าจริง สิ่งที่ไม่มีแล้วว่ามี สิ่งที่เป็นของหลอกแล้วว่าจริง

นี่ มันจะยอม...มันยินยอมพร้อมใจที่จะละ และจะวางเอง...เป็นสันทิฏฐิโก รู้เองเห็นเองของมันอยู่ ...ไม่มีใครไปสั่งให้มันละได้หรอก

ต่อให้พระพุทธเจ้ามาสั่ง บอกให้วางความเป็นเราซะ มันก็ไม่ยอมละ นี่ ให้พระพุทธเจ้ามาสั่งตรงนี้เลยนะ แล้วใช้บารมีท่านนี่ แผ่รังสีพุทธบารมีสัพพัญญุตญาณออกมาเลยว่า ให้วางความเป็นเราให้ได้นะ 

ก็ทำไม่ได้ ...ไม่มีใครทำได้ ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกิเลสได้ ...นอกจากศีลสมาธิปัญญาที่ทำขึ้นด้วยตัวของมันเองนั่นแหละ

แต่เมื่อใดเวลาใดที่เราทิ้งศีลสมาธิปัญญาปุ๊บ เมื่อใดที่ทิ้ง เมื่อใดที่ห่างจากศีลสมาธิปัญญา ...เมื่อนั้นน่ะ มันจะเข้าข้างกิเลส ...เข้าข้าง "เรา" 

มันจะไปเข้าข้าง "เรา" ...แล้วเรามันจะเข้าไปสนับสนุนเพิ่มเติมความเป็น "เรา" 

จะรู้ตัวก็ตาม จะไม่รู้ตัวก็ตาม  แต่มันทำแล้ว...มันทำไปแล้ว ...โดยเฉพาะเวลาไม่รู้ตัวยิ่งไปใหญ่เลย มันทำแบบเห็นดีเห็นงามพรักพร้อมใจเลย


(ต่อแทร็ก 15/16  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น