วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/16 (2)


พระอาจารย์
15/16 (570615B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ  :  ต่อจาก แทร็ก 15/16  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่เมื่อใดที่อยู่กับศีลสมาธิปัญญา มีศีลสมาธิปัญญาคุ้มครองกายใจอยู่ ...เมื่อนั้นน่ะ กิเลสความเป็นเรา กิเลสความอยาก-ความไม่อยากของเรา มันเกิดสภาวะที่เรียกว่าชะงักงัน

มันไม่ถึงขั้นล้มล้างหรอก  แต่มันอยู่ในภาวะ...เบื้องต้นน่ะ สำหรับปุถุชน...คือการชะงักงัน ไม่เพ่นพ่านออกไป ไม่เจริญงอกงาม เหมือนกับแคระแกร็น ...แต่ไม่ตายนะ มันชะงักงันการเติบโตอยู่

แล้วก็ทำไปเรื่อย จากภาวะชะงักงันน่ะ มันก็จะมีขั้นตอนของมันว่า...กิเลสมันไม่สูงขึ้นไปกว่านี้แล้ว ...แต่มันก็ยังไม่ตายนะ มันแค่ไม่สูงไปกว่านั้นแล้ว

มันจะมีขั้นๆๆ ของมันไป ของกิเลสที่มันถูกกำราบด้วยศีลสมาธิปัญญา ...ไม่ใช่แค่ศีล-สมาธินะ...แต่ปัญญาด้วย 

ถ้าขั้นปัญญานี่หมายความว่ามันจะไม่งอกงามเลย ...แต่ถ้าศีล-สมาธินี่...แค่แคระ ชะงักงัน  ยังเติบโตได้อยู่ ยังสามารถเติบโตได้ต่อไป

แต่ถ้าด้วยศีลสมาธิปัญญาครบองค์ของไตรสิกขาปึ้บนี่ ...ถ้าชะงักงันแล้วหมายความว่าไม่โตกว่านี้แล้ว จะเห็นแนวโน้มว่ามันจะเตี้ยลงไปเรื่อยๆ จนถึงรากเหง้า จนถึงขุดรากถอนโคนเลย

อันนี้รู้ได้ด้วยตัวเองในผู้ที่เข้าสู่องค์มรรคอย่างเต็มตัว ...ไม่ใช่มรรคกระพร่องกระแพร่ง มรรคแบบทุพลภาพ มรรคแบบขาด้วนกะเผลกๆ อย่างนี้  เดี๋ยวก็ล้ม เดี๋ยวก็เฉ เดี๋ยวก็เบี่ยงเบนออกไป

มันจะต้องเป็นมรรคแบบ...สองแขนสองขาเดินเข้าไปแบบองอาจผ่าเผยในศีลสมาธิปัญญา ในทุกที่ทุกสถานทุกกาลทุกเมื่อ โดยไม่เลือกเวล่ำเวลา โดยไม่เลือกสถานการณ์ ...นั่นแหละ เต็มตัว

เพราะนั้น เราต้องถามตัวเอง...ตอบตัวเองได้ว่า...เต็มตัวรึยัง แล้วเมื่อไหร่มันจะเต็ม แล้วทำยังไงมันถึงเต็ม 

อันนี้ตอบตัวเองได้นะ ใช่มั้ย ตอบได้รึเปล่า แล้วทำไมไม่ทำ ...อันนี้ก็ปัญหาของตัวใครตัวมันแล้ว

เพราะนั้น การปล่อยเวลาให้ล่วงเลย...ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล  การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ในศีลสมาธิปัญญา...ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล จำเพาะ ไม่สามารถจะให้ผู้ใดมาล่วงล้ำได้

เพียงแต่ครูบาอาจารย์คอยน้อมนำ ให้เกิดศรัทธาความเพียรในการปฏิบัติ...โดยไม่ห่างหายจากการปฏิบัติ หรือให้ห่างหายจากการปฏิบัติน้อยลง

ไอ้ประเภทไม่ห่างหายเลยนี่คงยากหน่อย แต่ให้มันน้อยลง น้อยลงไปเรื่อยๆ ...ให้ศีลสมาธิปัญญามันแนบกับทุกปัจจุบัน ไม่ปล่อยว่าง ไม่ทิ้งว่าง แล้วก็ไปจมแช่อยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง

ถ้ามันไปได้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นที่อยู่ที่อาศัยนะ ...นั่นแหละ ให้รู้ไว้เลยว่าอยู่ฝ่ายมาร  ท่านเรียกว่าสังขารมาร ไม่ได้อยู่ฝ่ายธรรมะ คือพุทธะ ธรรมะ สังฆะ 

นี่ มีฝั่งชัดเจน...เป็นฝั่งมาร กับฝั่งธรรม ...เพราะนั้นก็ไปดูเอาว่ามันอยู่ฝั่งไหนมากกว่ากันในหนึ่งวัน 

ฝั่งพุทธะ ธรรมะ สังฆะ หาเจอรึยัง ...ไอ้ที่บอกจนปากจะฉีกถึงรูหูนี่ก็คือฝั่งธรรมะ...พุทธะ ธรรมะ สังฆะ...คืออะไร อยู่ที่ไหน ...นี่ บอกทุกวันทุกวี่ ...แล้วมันไปทำให้เจอรึยัง

ถึงบอกว่า...ให้แม่นยำว่าศีลอยู่ไหน สมาธิอยู่ไหน ปัญญาอยู่ไหน กายตามความเป็นจริงคืออะไร อยู่ตรงไหน ...เนี่ย ต้องแม่นยำก่อน จะได้เลือกข้างได้ถูก

ถ้ามันไม่แม่นยำ ถ้าไปพูดกับคนทั่วไปลอยๆ ว่าให้อยู่ฝั่งธรรมะ ให้อยู่ฝั่งพุทธะ ธรรมมะ สังฆะ ...มันก็คงตอบว่าอยากจะอยู่เหมือนกัน...แต่ไม่รู้มันอยู่ตรงไหน เนี่ย

เพราะนั้นมาได้ยินได้ฟัง แล้วก็รู้แล้วว่า...เออ อันนี้ฝั่งนี้นะ...คือตรงนี้นะ 

ไอ้ฝั่งกิเลสน่ะไม่ต้องถามหรอก ไม่ต้องบอกหรอก ไม่ต้องอธิบายหรอก ...คือมันอยู่โดยกิจวัตรอยู่แล้ว ไม่รู้ตัวเมื่อไหร่ก็ไปอยู่แล้วนั่น บอกให้ ง่ายจะตายชัก

แต่ไอ้ฝั่งศีลสมาธิปัญญานี่ยาก ในเบื้องต้นนี่ยากนะ ในขั้นตอนแรกนี่ยากนะ ...เพราะนั้นจุดแรก จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติระหว่างปุถุจิต...จนถึงอริยะจิตเบื้องต้นนี่...ยากที่สุด 

ลำบาก ตะเกียกตะกายเลยแหละ เลือดตาแทบกระเด็น ความเพียรอย่างสูง ความเพียรอย่างยิ่ง ควบคุม ขัดเกลา สันดาน  ดัดแปลงแก้ไขนิสัย คอยบ่มจิตบ่มใจด้วยศีลสมาธิปัญญาอย่างเข้มงวด

เคยกิน เคยนอน เคยสบายอย่างไร  มันถูกดัดนิสัยหมด ...ต้องดัดกิเลส ต้องดัดความเคยชิน ต้องดัดความคุ้นเคยในการดำเนินชีวิต การกิน การนอน การพูด การคิด ...ทุกอย่างเลย

กว่าที่มันจะยินยอมถดถอยลง นอบน้อมต่อศีลสมาธิปัญญาขึ้น ...มันลำบากช่วงแรกนี่

แต่พอก้าวข้าม เรียกว่าเข้าสู่มรรคเต็มตัวแล้วนี่...คืออริยะจิต... มันง่าย มันไม่ลำบากเหมือนตอนเริ่มต้น  เพราะไอ้ตอนเริ่มต้นนี่มันจะต้อง...มีเท่าไหร่ก็ใส่ให้หมดน่ะ 


โยม –  มันจะต้องคร่ำเคร่งอย่างมาก

พระอาจารย์ –  ต้องชัดเจนเลยน่ะ ต้องชัดเจน แล้วก็ต้องทิ้งแบบไม่อาลัยอาวรณ์เลย

เพราะนั้น การดำรงชีวิตอยู่ในการทำงาน การข้องแวะนี่  มันจึงพูดได้อย่างหนึ่งว่าเป็นตัวเหนี่ยวรั้ง ถ่วง ในระดับนึงเลย  เพราะมันต้องแบ่งจิตแบ่งใจอยู่ตลอดเวลา

มันจะต้องแบ่งออกมารับรู้รับทราบ มันจะต้องแบ่งออกมาคิดไปในอดีต-อนาคต กับเรื่องราวของเราและของคนอื่น ...ตรงนี้มันเสียเวลามาก

การสร้างเจริญศีลสมาธิปัญญาในระดับตรงนี้ ...มันได้แค่ประคับประคอง เอาตัวรอด ไม่ให้มันตกระกำลำบากในกระแสหมุนวนเท่านั้นเอง

แต่จะทำให้ศีลสมาธิปัญญาถึงขั้นระดับสมุจเฉทชัดเจนเลย...ในกายในศีล ในสมาธิ ปัญญา ...นี่ มันยาก ถือว่ายากกว่าการที่ไม่ข้องแวะกับหน้าที่การงาน ผู้คน


โยม –  แล้วทำยังไงถึงจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนั้น คืออย่างพระอาจารย์เคยบอกว่า ถ้าภาวนาเรื่อยๆ แล้วจิตมันก็จะปรับให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมอย่างนั้นเอง

แต่อย่างของโยมน่ะ เมื่อก่อนก็สนใจธรรมะ แต่ว่ายังไม่ได้ปฏิบัติในทางตรงเท่าไหร่ แต่โยมก็รู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมโยมมันอยู่ในแนวที่แบบ...ว่างค่ะ ไม่ค่อยมีภาระอะไรเยอะ  เพราะโยมก็ไม่ได้ชอบเที่ยว ชอบสังสรรค์  ทำงานก็ทำเสร็จเร็ว ห้าโมงครึ่งโยมก็ชัทดาวน์ตัวเอง

พระอาจารย์ –  ก็ต้องเข้มงวดภายในขึ้น


โยม –  หมายถึงคนอื่นล่ะคะ ที่เขาที่ไม่ได้มีปัจจัยอย่างนี้ เขาจะทำยังไง

พระอาจารย์ –  ประคับประคองไป ได้แค่ประคับประคองไป ...แล้วก็หาเวลามาทำความชัดเจนภายใน...เป็นช่วงๆ ไป

ครูบาอาจารย์บางท่านสมัยเป็นฆราวาส ทำการทำงานนี่ เพิ่นก็มาวัดวันเสาร์-อาทิตย์น่ะ ไปนอนวัดเสาร์-อาทิตย์  แล้วก็ใช้เวลาช่วงนั้นน่ะ ภาวนาเต็มที่ช่วงนั้นน่ะ  

แล้ววันทำงานก็ออกมาทำงาน ก็ไม่ได้ลาออกจากงานเป็นกิจจะลักษณะ ...แต่ว่าความมุ่งในธรรม ใฝ่ในธรรม มันก็หาช่วงเวลาที่จะจริงจังภายในได้

ตรงนี้ มันจึงจะสร้างกำลังสะสมความชัดเจนในศีลสมาธิปัญญาไป ...ก็อาศัยแบบ...ห้าวันทำงาน นี่เป็นการประคับประคอง พอถูๆ ไถๆ ไป ...สองวันหยุด...นี่จริงจัง เอาแบบเข้มงวด 

อย่างนี้ ความแม่นยำชัดเจนในศีลสมาธิปัญญา ความที่จิตถูกอบรมบ่มเพาะในศีลสมาธิปัญญาอยู่กับกาย-ใจปัจจุบัน ...มันก็จะได้ผล 

แล้วมันจะส่งผล ...เมื่อมันได้ผลของศีลสมาธิปัญญาภายในแล้ว มันจะส่งผลถึงภายนอก

สุดท้ายมันก็ผลักดัน เปลี่ยนชีวิตภายนอกไปเอง ให้ไปสู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อศีลสมาธิปัญญาโดยตรง เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นโดยตรงต่อไป

แต่ถ้ายังอยู่แบบทำไปเรื่อยๆ ปล่อยปละละเลย ...มันก็เกิดความเนิ่นช้า 

ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้ข้องแวะกับผู้คน หน้าที่การงานแบบนั้นแล้ว แล้วยังปล่อยจิตให้อยู่สบายๆ แบบล่องลอย ...อันนี้มันก็ต้องเข้มข้นขึ้นภายในแล้ว 

โดยที่ไม่ต้องไปเปลี่ยนภายนอก ไม่ต้องไปหาวัด ไม่ต้องไปหาอะไร ...มันเป็นเรื่องของส่วนตัวแล้วว่า อะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่มันไปเผลอเพลินอยู่ หรือไปให้ค่าให้ความสำคัญกับมันอยู่

นั่น ลดความให้ค่าให้ความสำคัญกับมันไปเรื่อยๆ ...แล้วมาเพิ่มความให้ค่าให้ความสำคัญกับศีลสมาธิปัญญา...คือกายใจปัจจุบัน

คำว่ากายใจปัจจุบันนี่คือความหมายเดียวกันกับว่าศีลสมาธิปัญญา ...ต้องมาเพิ่มความสำคัญ ให้ค่าให้ความสำคัญกับกายใจปัจจุบัน 

มากกว่าการให้ค่าให้ความสำคัญกับความคุ้นเคยเก่าๆ  ความคุ้นเคยกับการกระทำคำพูดที่มันได้อารมณ์เก่าๆ ...แล้วมันเกิดตายใจย่ามใจอยู่ตรงนั้น

อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องเบี่ยงเบนต่อไป...ทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็จนเด็ดขาด 

จนเด็ดขาดที่จะไม่ไปมี ไม่ไปเป็นกับอารมณ์นั้นอีกต่อไป ...เรียกว่าลาออกจากมันเลย  แล้วจะไม่กลับไปหามันอีกน่ะ

แต่ถ้ายังห่วงหาอาวรณ์หรือว่าเสียดายอารมณ์นั้นๆ อยู่ ...มันก็ฆ่ากันไม่ตายขายกันไม่ขาดสักที


(ต่อแทร็ก 15/17)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น