วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/20 (1)



พระอาจารย์
15/20 (570701A)
1 กรกฎาคม 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ดี หายบ้ากันไปสักพัก บ้ากันมานานแล้ว บ้ากันทั้งบ้านทั้งเมือง

โยม –  แล้วมันจะบ้ากันอีกรอบมั้ยคะนี่

พระอาจารย์ –  เรื่องความเห็นน่ะ มันไม่มีทางแก้ได้อยู่แล้ว ตราบใดที่มันมีความเห็นต่าง ก็รับผลกรรมกันไป ใครทำอะไรไว้ก็ได้รับผลกรรมไป

อยู่เมืองไทยนี่ ถ้าจะอยู่อย่างสงบต้องเอาหูไปนาเอาตาไปไร่  อยู่เฉยๆ ดูมัน อย่าไปออกความเห็นแบ่งข้างเลือกข้างอะไรกัน เก็บไว้ในใจ แล้วก็ดูไป ...เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน

หมดยุคโน้น หมดคนนี้ หมดกลุ่มนี้ ก็เปลี่ยนกันไป ไม่มีอะไรหรอก เขาเล่นละครลิงให้ดู ...อย่าไปจริงจังมั่นหมายเกินไป จนติดอยู่ในจิตในใจ  แล้วมันจะเป็นกรรมวิบาก ติดหนี้กรรมไม่จบไม่สิ้น

แล้วไอ้เรื่องกรรมวิบาก คนสมัยนี้มันมองไม่ค่อยเห็น มันไม่ค่อยเชื่อ  มันก็คิดว่าทำอะไรไปแล้วก็ไม่เป็นไร เพื่อผลประโยชน์ในปัจจุบัน

แต่ว่าการได้มามีเป็นนี่ มันจะต้องมีการกระทบกระเทือนกับบุคคลหลายส่วน หลายกลุ่ม ...มันก็เบียดเบียนซึ่งกันและกัน...โดยไม่ได้เจตนาก็ตาม หรือเจตนาด้วยก็ตาม ...มันก็มีผลหมด

ตราบใดที่มันกระทบกระทั่งเบียดเบียนกันด้วยกายวาจานี่ มันผูกกรรมไว้หมด ...แล้วขึ้นชื่อว่ากรรมนี่ ไม่มีคำว่าสูญ  ยังไง..ยังงั้น...เป็นกฎ มันเป็นกฎตายตัวเลย

ทำอย่างไรได้อย่างนั้น เท่านั้น ไม่มีมากไม่มีน้อย ไม่มีเลี่ยงไม่มีหลบได้ ไม่มีทำให้มันดับสูญได้ ...ต้องเป็นไปตามวิถีของมัน เป็นวงจร ...มันเป็นกฎธรรมชาติ

มีวิธีเดียวคือ...ต้องอยู่เหนือกรรม ไม่อยู่ใต้อำนาจของกรรม ...เพราะนั้น ตัวที่จะอยู่เหนืออำนาจของกรรมได้ ก็ต้องอยู่ด้วยปัญญา...เข้าใจ ยอมรับ แล้วก็ไม่ไปเป็นไปตามสภาพแห่งอำนาจกรรมนั้นๆ

นี่ มันต้องทวน แล้วก็ให้มันอยู่เหนือกระแสกรรม ไม่อยู่ใต้กระแสกรรม ...แต่ไม่ได้หมายความว่าไปหนี ไปลบล้าง ...นี่ ไม่มีใครทำได้ แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังทำไม่ได้ ยังต้องเป็นไปตามวิถีกรรม

เพราะนั้น การที่เราจะเผชิญกับกรรมนี่ได้ ตั้งรับกับกรรมที่เราไม่รู้ว่ามันจะได้อะไรมานี่...ซึ่งเราไม่รู้หรอก เราเคยทำกรรมอะไรไว้กับใคร แล้วมันถึงวาระแห่งกรรมนั้นที่มันต้องเป็นไป

ซึ่งมันเลือกไม่ได้ ห้ามไม่ได้ แก้ไม่ได้ ...เพราะนั้นมันก็ต้องฝึกฝนอบรมจิตไปเรื่อย ให้มันมีปัญญา ฉลาดในการตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดหมายคาดหวังมาก่อน ...แล้วมันเจอ มันประสบขึ้นมา

นี่ ใจมันจะได้ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของกรรมร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบหนักอึ้ง เป็นทุกข์ เป็นอะไรมากมาย  จนหาทางเดินไม่ได้ หาทางไปไม่ถูก

เพราะนั้น การที่เผชิญกับปัญหาอะไรก็ตาม  ก็ตั้งจิตให้มั่น ยอมรับอย่างเดียว ...ตั้งใจยอมรับไป เท่าที่จะยอมได้...ด้วยความเข้มแข็งอดทน

เหล่านี้มันก็คือวิถีการเผชิญต่ออำนาจของกรรมอย่างดีที่สุด กลางที่สุด ...นี่ การต่อสู้กับกรรม การรับกรรมนี่ ต้องให้กลางที่สุดเลย 

อย่างวิบากขันธ์ มันก็เป็นกรรมของร่างกาย แก่เฒ่ามา โรคภัยไข้เจ็บนี่ ...มันก็คือกรรมอันหนึ่ง วิบากของร่างกาย วิบากขันธ์นี่ มันก็แสดงวิถีกรรมเป็นไปของมัน สู่ความเสื่อม ความดับ

แล้วในระหว่างที่มันเป็นไปสู่ความเสื่อมความดับนี่ มันก็จะมีเวทนาทวีขึ้นไป ด้วยแรงความแปรปรวนแห่งขันธ์...ซึ่งมันเป็นกฎธรรมดา ...เพราะนั้นการจะต่อต้าน หรือว่าหนีมันโดยร้อยเปอร์เซ็นต์นี่ ...ทำไม่ได้

ทำไม่ได้ ...ได้แต่การเยียวยาพอบรรเทานี่ พอทำได้  พอประคับประคองได้ ก็พอทุเลา บรรเทาเท่านั้นเอง ...แต่ว่าสุดท้ายนี่ มันก็เป็นไปสู่ความดับ  ยังไงก็ตาย ยังไงก็ดับ เป็นวาระสุดท้าย

เพราะนั้นการที่เผชิญกับช่วงระยะเวลาที่มันกำลังแผดเผาของกรรมแห่งขันธ์ วิถีกรรมแห่งกายที่มันกำลังไปสู่ความเสื่อมดับนี่ ...มันจะตั้งรับตั้งสู้กันอย่างไร

มันก็ต้องตั้งรับตั้งสู้ด้วยการยอมรับให้ได้มากที่สุด ...เพราะนั้นจิตที่มันยอมรับได้มากที่สุดกับความเป็นไปของขันธ์ ของกายที่มันกำลังเสื่อมนี่  มันทำให้ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ของเรานี่น้อยลง

แต่มันไม่ได้หมายความว่าไอ้ความเป็นทุกข์ในขันธ์นี่มันจะน้อยลงตามนะ ...มันก็ไม่ได้น้อยลง มันก็ทวีขึ้นไปเรื่อย มันก็ดำเนินไปในวิถีแห่งความเสื่อม

ก็บรรเทา เยียวยาไป พอเอาตัวรอดไป พออยู่กับมันได้โดยไม่ทุกขเวทนาเกินไป ...แต่ว่ามันก็เดินหน้ารุดหน้าของมันไปอยู่ไม่หยุดยั้ง คือมันจะเดินไปสู่วิถีแห่งความดับ

สุดท้าย คือวาระสุดท้ายของทุกสิ่ง...มันเป็นไปสู่ความดับหมด ...มันก็ไป รุดหน้าของมันไป ห้ามก็ไม่ฟัง บอกก็ไม่หยุด มันก็เป็นไป

คราวนี้ถ้าตั้งจิตให้เป็นกลาง ยอมรับกับสภาพ ด้วยความยินยอมในระดับหนึ่ง ...นี่ มันก็อยู่ด้วยปัญญาของคนนั้น ที่ฝึกภาวนากันมา

ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการที่ว่า...ภาวนามามากรึเปล่า ภาวนาให้เกิดปัญญารึเปล่า แล้วมันสามารถยอมรับได้ในระดับแค่ไหน
 
ถ้าเป็นปัญญาขั้นสูงสุดก็หมายความว่ายอมรับได้โดยสิ้นเชิง ไม่อนาทรร้อนใจของเราขึ้นมาได้เลย ...แต่ถ้าต่ำกว่านั้น ภูมิปัญญาต่ำกว่านั้น ก็ยอมรับได้ในระดับแต่ละระดับของภูมิปัญญาไป

ถ้าเกินลิมิทแห่งความยึดมั่นถือมั่นตรงที่จะทานทนได้ มันก็เกิดความเป็นทุกข์ของเราขึ้นมา ...ปัญญามันเข้าไม่ถึง หรือว่าเข้าไปไม่ขาด มันก็จะภาวะทุรนทุราย

ก็ไม่มีทางหนี ก็ต้องอดทนอย่างเดียว ...ถ้ามันเกิดภาวะทุรนทุรายของเราขึ้นมา ไม่มีน่ะจะไปตีอกชกหัว หรือจะไปหาทางแก้หาทางปัดเป่าอะไร มันทำอะไรไม่ได้ ...ก็อดทน

ในระหว่างที่มันอดทนน่ะ มันไม่ใช่อดทนแล้วมันจะโง่ หรือว่าเสียเปรียบ หรือว่ามันเสียหาย ...แต่ว่าในระหว่างที่มันอดทนอยู่กับทุกข์ที่มันแก้ไม่ได้ แล้วมันยึดอย่างยิ่งนี่

ในระหว่างที่มันอดทน แล้วตั้งมั่นอยู่บนความอดทนนี่ ...ปัญญามันทำงานอยู่ในตัวของมัน ปัญญามันจะทำงาน ขุดค้น ค้นคว้าหาสาเหตุ

มันหาสาเหตุแห่งทุกข์นี้ แห่งการปรากฏของทุกข์นี้ แห่งความเป็นทุกข์ของเรานี้ ...ว่าต้นตอ ต้นเหตุที่แท้จริงของมัน...อยู่ที่ไหน คืออะไร

ทีแรกถ้ามันกำลังตกอยู่ภายใต้อารมณ์ขุ่นมัวนี่ มันก็จะคิดว่าโน่นนี่นั่นเป็นเหตุ...ร่างกายมันไม่ดี เป็นเพราะนั่นไม่ดี อันนี้ไม่ดี เป็นเคราะห์ เป็นกรรม เป็นอะไร

มันยิ่งไปคิดหาโทษหาสาเหตุ มันก็ยิ่งทุกข์มากขึ้น  ก็มันไม่ใช่เหตุที่แท้จริง ...เพราะว่าการเข้าไปเห็นเหตุที่แท้จริงนี่ พระพุทธเจ้ายังตรัสเลยว่า...มันจะละ มันจะข้ามทุกข์ได้ เพราะแก้ที่เหตุ

จนมันเห็นว่า ไอ้เหตุที่มันไปว่าอย่างนั้นอย่างนี้ โทษสิ่งนั้นโทษสิ่งนี้ โทษอดีตโทษอนาคตนั้นนี้ ...ยิ่งคิดยิ่งทุกข์ ยิ่งเข้าไปจับที่เหตุนั้นเท่าไหร่ ยิ่งไปจริงจังกับเหตุนั้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งทุกข์

ยิ่งมีความขุ่นมัวเศร้าหมอง ยิ่งทุรนทุรายกระวนกระวาย กระสับกระส่าย ...นี่ พอวัดผลได้ว่ามากขึ้นเพราะ "เรา"  มันก็ค่อยๆ สืบค้น ทวนลงไปถึงต้นตอที่แท้จริง

ก็จะเห็นเข้าไปเป็นชั้นๆ ชั้นๆ ลงไป ว่าสาเหตุที่แท้จริงน่ะมันอยู่ที่ไหน ...มันก็จะไม่เจออะไรหรอก จะเจอแต่ว่า...มันเกิดจากความยึดมั่นถือมั่นของเราเป็นเหตุใหญ่

นี่ มีความรู้สึกเป็นเราขึ้นมา มีความรู้สึกของเราขึ้นมา มีความเป็นตัวเป็นตนของเราขึ้นมานั่นเอง

แล้วความรู้สึกเป็นเราของเรามันก็จะเข้าไปแตะต้องจับต้องกับอาการใดอาการหนึ่ง...ภายในขันธ์ก็ตาม ภายนอกขันธ์ก็ตาม ...มันจะเกิดภาวะเข้าไปถือครอง เป็นเจ้าของ

แล้วก็คิดว่า สามารถจัดแจง จัดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรมันได้ ...ตรงเนี้ย แล้วพอมันจัดการไม่ได้ มันจึงเกิดสภาวะต่อต้าน เป็นความรู้สึกไม่สมดั่งใจเราขึ้นมาเท่านั้นเอง

เมื่อมันทวนไปถึงเหตุตัวนี้บ่อยๆ เห็นเหตุแห่งทุกข์บ่อยๆ ว่าเหตุตรงนี้เป็นเหตุที่แท้จริง ...เพราะนั้นแล้วจะไปแก้ที่ไหน มันก็ต้องแก้ที่ “เรา”

มันไม่ได้แก้ที่กาย มันไม่ได้แก้ที่รูปเสียงกลิ่นรสภายนอก มันไม่ได้แก้ที่บุคคลอื่น มันไม่ได้แก้ที่วัตถุ สถานที่ เหตุการณ์ ...แต่มันแก้อยู่ที่เดียวจุดเดียวคือแก้ที่ "เรา" 

แก้ที่ "เรา" แก้ยังไง ...คืออย่าไปจริงจังกับ "เรา"  อย่าไปจริงจังกับความรู้สึกของ "เรา"  อย่าไปเชื่อความเห็นของ "เรา"  อย่าไปให้ “เรา” มามีความรู้สึกไปจับจองเป็นอะไรของใคร...ตั้งแต่กายนี้เป็นต้นไป 

ระวังเท่าทันอยู่ตรงนั้น ...แล้วก็จะเห็นผลอยู่ภายในตัวของมันเองว่า ทุกข์จะเริ่มคลายลง ...ทุกข์ในที่นี้หมายถึงทุกข์ของเรานะ ไม่ใช่ทุกข์ของขันธ์ ไม่ใช่ทุกข์ของเรื่องราวนะ

ทุกอย่างเขาก็อยู่ของเขา ก็เป็นอย่างที่มันเป็นน่ะ ...ท้องฟ้าคือท้องฟ้า อากาศคืออากาศ ดินน้ำไฟลมก็คือดินน้ำไฟลม มันก็อยู่ของมันอย่างที่มันเป็น

แต่ว่าไอ้ "ทุกข์ของเรา" นี่ มันไม่มี หรือมันน้อยลง ...ความรู้สึกเป็นทุกข์กับมันน้อยลง เพราะว่ามันไม่มีความเข้าไปหมายครอง จับจอง ไปถือสิทธิ์ครอบครอง

โดยจิตหรือเรานี่มันเข้าไปถือสิทธิ์ครอบครองสิ่งต่างๆ นี่ ด้วยความอหังการ ...อหังการคือความอวดตัวของมันเองว่า นี่ เป็นของเราจริงๆ มันเป็นความอหังการของจิต

มันก็จับไปหมด อะไรที่ปรากฏขึ้นในกายในขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเวทนาขันธ์ ไม่ว่าจะเป็นธาตุ ลักษณะของก้อนธาตุ ลักษณะของความคิดความจำ ลักษณะของอารมณ์

ไม่ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นปรากฏขึ้น ...จิตผู้ไม่รู้นี่ มันจะเข้าไปครอบครองหมดเลย ว่าเป็นเรื่องของเรา เป็นสิ่งที่มาจากเรา เราเป็นผู้สร้าง แล้วก็เราเป็นผู้ที่สามารถจะทำอะไรกับมันก็ได้


(ต่อแทร็ก 15/20  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น