วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 15/18 (1)


พระอาจารย์
15/18 (570615D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 มิถุนายน 2557
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  พอมันเต็มศีล เต็มสมาธิ มีปัญญาในระดับนึงปุ๊บ ...กายมันก็จะขาดกระเด็นไป ศีลสมาธิปัญญาก็จะหดตัวลงไป หดตัวลงมาที่ใจที่เดียว

เพราะมันวางมือจากกาย มันวางจากศีล...ที่เรียกว่ากายเป็นศีล วางจากมหาศีล...ที่เรียกว่าศีลโดยรวม ธรรมโดยรวม 

มันจะออก...ผลักกระเด็นออกไป ทิ้ง ขาด ...ขาดปุ๊บ ศีลสมาธิปัญญามันรวมเป็นหนึ่ง สมัคคีสมังคีอยู่ภายในใจดวงเดียว


โยม –  อย่างนี้ท่านยังใช้เป็นวิหารธรรมรึเปล่าคะ คือไม่แน่ใจ อย่างในพระไตรปิฎก พระอานนท์ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ แล้วท่านเดินจงกรม ก็ยังรู้กายไปเป็นวิหารธรรม

พระอาจารย์ –  อือ เพราะท่านยังมีเจตนาในเรานั่นแหละ พอท่านถึงวาระที่กำลังล้มตัวลงนอนนี่ ท่านทิ้งเจตนา ท่านวาง...วางเรา ท่านวางเจตนาในเรานั้น ...ภาวะธรรมก็บังเกิด 

เห็นธรรมตรงนั้น เห็นความที่สุดของธรรมอยู่ตรงนั้น ความสมบูรณ์ในธรรมเกิดตรงนั้น อรหัตตมรรคอรหัตตผลเกิดตรงนั้น ตรงที่วางความเป็นเราตรงนั้น ตัวที่เราเป็นตัวปิดบังธรรม บิดเบือนธรรม


โยม –  มันวางเอง ไม่ใช่ว่าเราตั้งใจจะวาง

พระอาจารย์ –  คือพระอานนท์นี่เป็นพหูสูตนะ  พระพุทธเจ้าพูดคำไหน จำหมดทุกคำพูดเลยนะ  อันนี้เป็นข้อตกลงกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับพระอานนท์เลยนะ


โยม –  อันนี้รึเปล่าคะ ที่ทำให้เนิ่นช้า มัวแต่คิดแต่จำ

พระอาจารย์ –  ใช่ มันลบไม่ได้...สัญญา  แล้วก็พยายามจะเอาสัญญานั่นมาเป็นตัวปฏิบัติ ...นี่คือว่าท่านไม่ได้ตั้งใจหรอก แต่มันจำเองน่ะ


โยม –  ท่านตั้งความปรารถนาไว้

พระอาจารย์ –  ปรารถนาไว้อย่างนั้น...พหูสูตน่ะ ...ว่าธรรมใดที่พระพุทธเจ้าไปเทศน์ไปสอนโดยที่ไม่มีพระอานนท์ไปด้วยนี่ กลับมาพระพุทธเจ้าต้องมาเทศน์ซ้ำให้ฟังนะ รีพีทนะ 

นี่คือเงื่อนไขที่จะเป็นอุปัฏฐากนะ ...ถ้าพระพุทธเจ้าไม่รับ พระอานนท์ก็ไม่รับเป็นอุปัฏฐาก  นี่ ตั้งเงื่อนไขไว้อย่างนี้เลย


โยม –  เพื่อที่จะได้ช่วยคนอื่น

พระอาจารย์ –  เพื่อจะได้ไม่ให้ธรรมนี้ตกหล่น เคลื่อนไปจากโลก ...นี่คืออธิษฐานจิตของท่านมา

เพราะนั้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะไปเทศน์ดาวดึงส์ เทศน์ที่ไหนซึ่งพระอานนท์ไม่ได้ติดตามเสด็จไปนี่  กลับมาแล้วพระพุทธเจ้าต้องมาบอก มาสอนต่อกับพระอานนท์คนเดียวนี่ 

แล้วพระอานนท์นี่เป็นแบบหูคอมพิวเตอร์น่ะ เมมโมรี่...ทุกเม็ดทุกประโยคเลย ไม่มีคำว่าลืมเลย ไม่ต้องจดด้วย ...เพราะนั้นความรู้ในธรรม ภาษาธรรมนี่ มากเท่ากับที่พระพุทธเจ้าแสดงเลย

เพราะนั้นเหล่านี้คือความฟุ้งในธรรม...ตลอด  จนใกล้รุ่งใกล้แจ้งแล้วยังไปไหนไม่ได้เลยน่ะ ...จนตัดสินใจว่า ไม่เอาแล้ว เขาไม่ให้เข้าไปสังคายนาก็ไม่ไปแล้ว เขาก็ทำกันได้

นี่ ก็ทิ้ง...ทอดธุระแล้ว ก็จะนอนแล้ว ไม่เอาอะไรแล้ว ...แค่นั้นแหละ ความเจตนาในเรา อะไรพวกนี้ มันหยุดหมด หยุดๆๆ ...สภาวธรรมแท้จริงบังเกิด สภาวะขันธ์แท้จริงบังเกิด

ญาณมันมีอยู่แล้ว มันพร้อมอยู่แล้ว แต่มันติดข้องอยู่ที่ “เรา” ตัวเดียวนั่นแหละ ที่มันอธิบายธรรมแล้วก็แจกแจงธรรมอยู่ด้วยภาษานี่ ตีความในธรรมอยู่อย่างนั้น ตีไม่แตก มันตีไม่แตก ...มาแตกตอนที่ไม่เอา


โยม –  พระอาจารย์คะ อย่างคนที่เขาอธิษฐานจิตมานี่ แล้วเขายังทำไม่ถึง เขาจะละได้ยังไง ...อย่างโยมน่ะค่ะ เคยมีคนทักว่าโยมน่ะเหมือนอธิษฐานจิตจะช่วยคนมา ก็เลยทำให้โยมต้องเรียนรู้อะไรเยอะ 

แต่ว่าพอภาวนาแล้วโยมก็ อย่างที่พระอาจารย์บอก โยมก็เห็นว่ามันติดข้อง  คือโยมก็พยายามละนะคะ แต่มันยังเป็น...เป็นสันดานที่ชอบ

พระอาจารย์ –  ก็ละด้วยศีลสมาธิปัญญา คือน้อมจิตลงไปที่นี้บ่อยๆ อย่าไปอยู่ในอารมณ์ความปรารถนาใดปรารถนาหนึ่งนานๆ อย่าไปยินดีพอใจในอารมณ์นั้น

ก็ถอยถอนกลับมาอยู่ที่ตัวเอง...ตัวกาย ตัวใจ  เอาตัวเองเป็นหลักใหญ่ คนอื่นไม่สน ...คือต้องเอาศีลสมาธิปัญญา เอากายใจน่ะเป็นตัวตัด


โยม –  เดี๋ยวพอตัวนี้มันรวมกำลัง มันก็จะตัดอธิษฐานเอง

พระอาจารย์ – ไม่ต้องไปอธิษฐานซ้ำซ้อน เข้าใจมั้ย ...ตัดด้วยศีลสมาธิปัญญาลงไปในปัจจุบันเลย ละลงในปัจจุบันทันทีเลย...บ่อยๆ  แล้วมันจะลบล้างพันธนาการในสัญญาไว้

อธิษฐานพวกนี้...เป็นอธิษฐานด้วยกิเลสหมด มันเป็นพันธนาการที่ผูกรัด ...มันก็จะค่อยจางไป มันก็ค่อยๆ ปลดเชือกปลดโซ่ไปทีละข้อๆ เองน่ะ 

มัดไว้แน่น มัดไว้หลายชาติก็หลายข้อล่ะวะกู...กว่าจะคลายออก มันก็ต้องใช้เวลา ...แต่ว่าอย่าไปจมแช่ แล้วก็ไปวาดฝัน วาดฝันคือสร้างอนาคตภพ 'นี่ถ้าเขาได้ฟังได้อ่านที่เราเขียนแล้วเขาสำเร็จธรรม โห' 

ก็นั่งยิ่มกริ่ม เนี่ย เรียกว่าวาดฝัน มันก็เกิดความทะยานอยากขึ้น มันก็ผูกขึ้นไปอีกแล้ว มันก็ผูกไปแล้วก็ไปลิงก์กับไอ้โซ่ข้อเดิม ก็ผูกไปอีก ...เรียกว่าพิรอด ๕ ชั้น กูก็ผูกเป็น ๑๐ ชั้น

แต่พอเราไม่ไปจมแช่อยู่ในความคิดคำนึง ในอนาคตธรรม ในผลที่เราทำแล้วมันได้ แล้วมันได้ประโยชน์ด้วย ...เนี่ย มันวาดฝัน เขาเรียกว่าวาดภพไปข้างหน้า


โยม –  คือทำได้ แต่ว่า...

พระอาจารย์ – อย่าไปหมาย อย่าไปจริงจัง เท่านั้นเอง ทำก็ทำไปอย่างนั้น แล้วก็ระวังความคิด เท่าทันอารมณ์ แล้วก็กลับมาอยู่กับตรงนี้ ...มันก็จะค่อยๆ คลายจากพันธนาการเดิมไปเองแหละ

ไอ้ที่พันธนาการยังเหนียวแน่น หนาแน่น  เพราะมันมีภพข้างหน้ารองรับ เข้าใจมั้ย ...จิตมันสร้างภพ สร้างความที่ว่าคนนั้นคนนี้เขาอ่าน คนนั้นคนนี้เขาได้ประโยชน์จากเรา

มันมีความพึงพอใจน่ะ เป็นสุขในธรรม เป็นสุขในบุญ เป็นสุขในธรรมทาน นี่ อะไรก็ตาม มันไปหมาย นี่ก็มัดแน่นขึ้นไปเรื่อยๆ ...สัญญา...ความเข้มข้นในอธิษฐานก็มัดขึ้นไป

นี่เขาเรียกว่ากิเลสมันเป็นตัวหลอกล่อให้เกิดความยึด กิเลสเป็นตัวหลอกล่อให้เกิดความสืบเนื่อง...ในการเกิดและการตาย


โยม –  แต่โยมคิดอะไรยาวๆ ไม่ได้แล้ว ...เดี๋ยวนี้คิดอะไรยาวๆ ไม่ค่อยได้

พระอาจารย์ – ไม่ต้องเขียน ไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ...รู้โง่ๆ รู้เงียบๆ  ละจิตทุกดวง ดับจิตทุกดวง...ด้วยสติ สมาธิปัญญา 

ไม่ให้จิตมันเพ่นพ่านออกมาได้...ไม่ว่าแง่บุญแง่กุศล ไม่ว่าแง่บาปแง่อกุศล ...ดีก็ไม่คิด ชั่วก็ไม่คิด ถูกก็ไม่คิด ผิดก็ไม่คิด ข้างหน้าก็ไม่คิด ข้างหลังก็ไม่คิด

ถ้าปล่อยให้มันคิดน่ะ อารมณ์มันก็จะเต็มหัวอกหัวใจ เต็มหัวจิตหัวใจอยู่ตลอด  ภายในมันจะเต็มไปด้วยความคิดกับเต็มไปด้วยอารมณ์ เต็มไปด้วยอดีต เต็มไปด้วยอนาคต ...มันเต็มขันธ์อยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเราชำระออก ไม่คิด ไม่ตาม ไม่สร้าง ...ภายในนี่ มันจะเต็มไปด้วยรู้ เต็มไปด้วยศีล เต็มไปด้วยกายที่ปรากฏ เต็มไปด้วยความเป็นจริงของขันธ์ที่เขาดำเนิน

มันไม่เต็มไปด้วยความคิดความจำ สิ่งหลอกลวงฉาบทาเลย  มันจะเต็มด้วยรู้ เต็มด้วยศีลในขันธ์น่ะ มันมีอยู่แค่นั้นเอง ....แล้วเราจะต้องสร้างความคุ้นเคยกับศีล สร้างความคุ้นเคยกับสมาธิ

พอมันอยู่นิ่งๆ เงียบๆ แล้วไม่มีความคิดความปรุง แล้วว่าง...ว่างจากอารมณ์ ...แล้วเชื่อมั้ย เดี๋ยวมันก็แอบว่า..."เอ๊ ไม่เห็นได้อะไร ไม่สบาย ไม่สนุก สู้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้"

นี่ มันเปรียบเทียบกับความสุขที่มันเคยได้จากเรา มันก็อดหวนไม่ได้ ...ก็ต้องรีบตัดไฟแต่ต้นลม


โยม –  แล้วอย่างคนที่เขาทำงานทางธุรกิจล่ะคะ เขาก็ยังต้องวางแผน ต้องทำอะไรอยู่นี่

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้วไง มันดึงเวลาออกไปอยู่แล้ว มันก็ต้องปล่อยเวลายกให้เขาไป


โยม –  ช่วงเวลานั้นก็ต้องให้เขาไป เวลาอยู่ส่วนตัวนี่ก็ตัดออก อันไหนแรงกว่ากันอันนั้นก็ให้รู้

พระอาจารย์ –  อย่าไปเยิ่นเย้อกับมันมาก แค่นั้นเอง ...คิดน่ะคิดได้ ไม่ได้ห้าม โปรเจ็คท์โครงงานอะไรก็ทำไป คิดไปถึงอนาคตในหน้าที่การงานก็คิดไป ...แต่อย่าไปอยู่กับมันอย่างนั้นเป็นกิจวัตร

เมื่อมีสติระลึกได้...กลับมา เมื่อมีสติระลึกได้เมื่อไหร่...กลับมา ...ท่ามกลางความคิด ขณะที่กำลังคิดก็ได้ ตรงไหนก็ได้ ...เมื่อมีสติขึ้นมาเมื่อไหร่...กลับมา เข้าใจมั้ย

อยู่อย่างนี้...สร้างความเคยชินอย่างนี้อยู่บ่อยๆ  การเผลอเพลิน การลุ่มหลงไปในความคิดแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะค่อยๆ อ่อนลง


ผู้ถาม –  พระอาจารย์บอกว่ารู้แล้วก็กลับมา ก็แสดงว่าความคิดมันดับไปแล้ว เราก็เห็นไตรลักษณ์ของการดับของความคิดตรงนั้นอยู่แล้ว

พระอาจารย์ –  ขณะนั้นน่ะ มันลดทอนความจริงจังในความคิดแล้ว


ผู้ถาม –  ตรงนี้ก็คือการสะสมปัญญาหรือครับ

พระอาจารย์ –  สะสมศีลสมาธิปัญญาพร้อมกันเลย เป็นขณิกะๆ ...เพราะนั้นคำว่ากลับมานี่ คือกลับมาที่ศีล กลับมาที่กาย กลับมาที่อิริยาบถปัจจุบัน กลับมาที่รู้ ...ตรงนี้ กลับมาตรงนี้บ่อยๆ

ท่ามกลางความคิด ท่ามกลางอารมณ์นั้นน่ะ ไม่ได้ห้ามอารมณ์ ไม่ได้ห้ามคิด แต่กลับบ่อยๆ ...เพราะเราจะต้องใช้ประโยชน์จากความคิด ใช้ประโยชน์จากอารมณ์อยู่

แล้วเรายังทิ้งประโยชน์จากความคิดจากอารมณ์ไม่ได้ เข้าใจมั้ย  เพราะว่ามันติดเงื่อนไขหน้าที่การงาน มันติดเงื่อนไขในการหาเงิน ...นั่น มันติดหลายเงื่อนไข ที่ยังไม่สามารถละได้

แต่ก็เอาศีลสมาธิปัญญาสอดแทรกเข้าไป นี่ คือเป็นตัวสอดแทรกเข้าไป ...ถึงบอกว่า มันเป็นกรรมที่พวกเราจะต้องปฏิบัติกันอย่างนี้  เพราะมันไม่เอื้อโดยตรง เข้าใจมั้ย

ถ้าอย่างเรานี่ เอื้อโดยตรง เพราะว่ามันมีเนกขัมมะ เราบำเพ็ญทางเนกขัมมะมาเยอะ ...คำว่าเนกขัมมะคือนักบวช ...เพราะนั้นนิสัยนักบวช นิสัยการบวชนี่มันมี มันมีมาตั้งแต่เกิด มันเหมือนติดมาเลย

การทำงานทางโลก การเรียนการศึกษาก็ไม่ได้เรียนเก่งเรียนดี หาเงินหาทองได้เก่งได้ดี มันไม่ได้มุ่งไปทางนั้นโดยตรง ...ทุกอย่างมันก็เอื้อสงเคราะห์ลงที่ว่า...นี่ ยังไงก็ต้องอย่างนี้


โยม –  ก็คือควรสะสม

พระอาจารย์ –  มันก็สะสมมาทุกคนแหละ แต่ใครจะเน้นไหนล่ะ ...ส่วนมากมันก็มีว่าเน้นตรงไหน


ผู้ถาม –  เวลาเราทำงาน พอเผลอเราก็รู้ๆ ก็ถือว่าพอจะไปได้

พระอาจารย์ –  ใช่ เรียกว่าประคับประคองอยู่ด้วยศีลสมาธิ...เป็นเกราะไว้ ...แล้วทีนี้เวลากลับมาอยู่คนเดียวนี่  ทีนี้อย่าปล่อย อย่าพัก อย่าคิดว่าสบายแล้ว จะนอนสบาย จะเที่ยวสบายแล้วอย่างนี้

อย่าไปพัก ...ต้องทำงานภายในเลย...อย่างเข้มงวด  ตั้งหน้าตั้งตา ตั้งอกตั้งใจรู้ตัวจริงๆ ...ต้องตั้งใจจริงๆ นะ ในช่วงเวลาที่หาได้ยากน่ะ เพราะมันยังขึ้นกับหน้าที่การงาน

แต่ในระหว่างหน้าที่การงาน...ก็อย่าปล่อยให้มันทะลุทะลวง ลุ่มหลงไปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ...คอยน้อมคอยหยั่งๆ เป็นหย่อม เป็นจุดไว้ 

ได้หย่อม...เอาหย่อม ได้จุด...เอาจุด ได้ยาว...เอายาว ไม่จำกัดนะ ...ได้จุดนี่ก็ถือว่าเก่งแล้วนะ  บางคนมันไม่ได้สักจุดเลยน่ะ ใช่มั้ย ...ก็เอาให้ได้หลายๆ จุด ...จากจุดนี่มันจะขยายเป็นหย่อม 

หย่อมคือเป็นชั่วอึดใจนึง นี่ รู้ช่วงนึง อาจจะสักห้าวิ สิบวิ นี่ก็เรียกว่าอึดนึง หย่อมนึงแล้ว ...แต่ถ้ารู้เป็นขณะๆ นี่ก็เป็นจุดๆ ...ก็ให้มันได้เป็นจุดเป็นหย่อมไป ศีลสมาธิปัญญา


โยม –  พระอาจารย์คะ คือมันต้องกลับมาที่กาย  ถ้าดูจิตอย่างเดียว ปกติถ้ามันออกไปได้ มันก็คือมีความอยากอยู่แล้ว

พระอาจารย์ –  ใช่ ก็ความหมายของเราก็คือกลับมาที่ฐาน...คือที่กายนะ ...ถ้ากลับมาที่จิต จิตในความหมายของเรานี่ คือ “รู้” นะ ...ไม่ใช่ความคิดนะ ไม่ใช่มาดูความคิด


โยม –  มันมีรู้ที่อยู่กับกาย

พระอาจารย์ –  เออ เพราะนั้นตัวรู้มันจะชัดก็ต่อเมื่อรู้มันอยู่กับกาย  จึงจะเห็นว่ารู้กับกายนี่...รู้คือยังไง กายคือยังไง

แต่ถ้ารู้กับจิตนี่ บางทีมันจะปน มันจะปนกัน รู้กับอารมณ์นี่จะปนกัน  ไม่รู้อันไหนเป็นรู้ อันไหนเป็นอารมณ์ ...เพราะว่าสมาธิเรายังไม่มั่นคงพอ


โยม –  มันเหมือนเป้านิ่งกับเป้าบิน

พระอาจารย์ –  อือ มันลอยน่ะ มันไม่ใช่บินอย่างเดียว มันลอย แล้วมันบางเบา ...คือนาม เข้าใจคำว่านามกับธาตุมั้ย ...มันคนละส่วนกันเลยกับธาตุที่มันหยาบนี่ 

เราถึงบอกว่าในระดับปุถุชนนี่ กายหยาบนี่เป็นตัวที่แยกกายแยกรู้ได้ชัดที่สุดแล้ว ...แล้วมันจึงจะสามารถตั้งสมาธิตั้งรู้ขึ้นมาได้...ด้วยความต่อเนื่องและยาวนาน

แต่ถ้าจะไปตั้งรู้กับนามธรรม คือจิต อารมณ์ นี่ มันจะตั้งรู้ไม่ได้ ตั้งฐานสมาธิไม่ได้ ...ได้ก็ได้แค่หย่อม แล้วก็หายไปเลย ...หายแล้วหายเข้ากลีบเมฆไปเลยน่ะ

แต่กับกายนี่มันสามารถเรียกหาเรียกใช้ได้อยู่ตลอด รู้นี่สามารถเรียกขึ้นมาได้ตลอด เรียกสมาธิขึ้นมาได้ตลอด และสามารถจะดำรงความต่อเนื่องของสมาธิได้ด้วย ...เพราะกายมันไม่เคยหาย


(ต่อแทร็ก 15/18  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น